ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ทำไมต้อง 30×30: แกะรอยที่มาของเป้าหมายใหม่การอนุรักษ์โลก

ทำไมต้อง 30×30: แกะรอยที่มาของเป้าหมายใหม่การอนุรักษ์โลก

20 มิถุนายน 2024


ดร.เพชร มโนปวิตร

โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ นั่นคือ เราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติให้ได้มากเพียงพอเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและกลไกการทำงานของโลกในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตินานัปการโดยเฉพาะปรากฏการณ์โลกรวน ทะเลเดือดในปัจจุบัน คำถามสำคัญคือแล้วเราต้องอนุรักษ์พื้นที่เท่าไหร่ถึงจะพอ?ข้อตกลง 30×30 ที่กำหนดให้โลกควรมีพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปีค.ศ.2030 มีที่มาอย่างไร และจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ในทศวรรษชี้เป็นชี้ตายของโลกได้จริงไหม

ผมพบกับ Dr Stephen Woodley ผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมาธิการด้านพื้นที่คุ้มครอง (WCPA) ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เมื่อปลายปีที่ผ่านมาในงานประชุมด้านพื้นที่คุ้มครองที่เมือง Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ จึงได้มีโอกาสพูดคุยถึงเบื้องหลังการผลักดันวาระ 30×30 ที่กลายมาเป็นเป้าหมายใหม่ของการอนุรักษ์ระดับโลกในปัจจุบัน

Stephen เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองจากแคนาดา เขามีประสบการณ์ยาวนานในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ และยังเป็น Chief Scientist คนแรกของกรมอุทยานแห่งชาติของแคนาดา (Parks Canada) เขาเล่าให้ฟังว่าพื้นที่คุ้มครองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติช่วยรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ และเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสมดุลและความยั่งยืนของโลก พื้นที่ธรรมชาติเหล่านี้ช่วยปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ที่เชื่อมต่อกันก็จะช่วยให้สิ่งมีชีวิตสามารถเคลื่อนย้ายและแพร่กระจายพันธุกรรมได้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปรับตัวและวิวัฒนาการ

“แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเรายังปกป้องธรรมชาติไม่เพียงพอ ทุกปีเรายังคงสูญเสียระบบนิเวศดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ในทางนโยบายเราก็ตั้งเป้าหมายต่ำเกินไป เรามีพื้นที่อนุรักษ์จำนวนเพิ่มขึ้นมากก็จริง แต่มักอยู่อย่างกระจัดกระจายเหมือนเกาะ และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเผชิญกับวิกฤติต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Stephen เล่าถึงสถานการณ์ของพื้นที่คุ้มครองในปัจจุบัน

พื้นที่ธรรมชาติยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากกว่าพื้นที่เล็กๆ ที่แยกขาดจากกันเป็นหย่อมๆ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ระบบนิเวศสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกรวน

นอกจากนี้พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศในมหาสมุทรยังมีบทบาทสำคัญในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติจึงช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ยังไม่ต้องพูดถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่ทำหน้าที่ให้บริการที่สำคัญต่อมนุษย์อย่างสัตย์ซื่อมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแหล่งอาหาร ทำหน้าที่ผสมเกสร เป็นแหล่งต้นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ช่วยควบคุมสภาพอากาศ บรรเทาภัยพิบัติ การอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการจัดตั้งเป็นพื้นที่คุ้มครองในทางกฎหมายหรือพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงนับเป็น Nature-based Solution หรือการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานที่ทรงพลังที่สุด

Stephen ถามผมว่า “คุณเคยได้ยินทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (Island Biogeography) ไหม” “รู้จักสิ รู้จักดีเลย” ผมตอบ ความจริงก็คือทฤษฎีนี้ทำให้ผมเริ่มหันมาสนใจศาสตร์ด้านชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ (Conservation Biology) อย่างจริงจังเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

ทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะถูกนำเสนอครั้งแรกในหนังสือชื่อเดียวกันคือ “The Theory of Island Biogeography” โดย Robert MacArthur และ E.O. Wilson ตีพิมพ์ในปี 1967 หนังสือเล่มนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวภูมิศาสตร์สมัยใหม่ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการกระจายตัวและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

จุดเริ่มต้นของทฤษฎีนี้มาจากการสังเกตรูปแบบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนเกาะต่างๆ ในมหาสมุทร พวกเขาพบว่า เกาะขนาดใหญ่และอยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่มักจะมีจำนวนชนิดมากกว่าเกาะขนาดเล็กและอยู่ห่างไกล ทั้งคู่ทำการวิเคราะห์ความหลากหลายของชนิดเทียบกับขนาดพื้นที่และระยะทางจากแผ่นดินใหญ่และนำเสนอว่านี่เป็นผลมาจากสมดุลระหว่างอัตราการเพิ่มชนิดใหม่จากการอพยพเข้ามา (immigration) และอัตราการสูญพันธุ์ (extinction) ของชนิดที่มีอยู่

เกาะขนาดใหญ่สามารถรองรับประชากรขนาดใหญ่ได้ ทำให้มีโอกาสสูญพันธุ์น้อยกว่า ขณะที่เกาะที่อยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่ก็ง่ายต่อการอพยพเข้ามาของชนิดใหม่ ความสมดุลนี้ทำให้เกิดจำนวนชนิดที่ค่อนข้างคงที่ในระยะยาว ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “equilibrium number of species” เกาะยิ่งเล็ก ยิ่งห่างไกลยิ่งมีจำนวนชนิดน้อย เกาะยิ่งใหญ่ ยิ่งอยู่ใกล้ฝั่งก็ยิ่งมีจำนวนชนิดมาก

สิ่งสำคัญคือ MacArthur และ Wilson ชี้ให้เห็นว่า หลักการเดียวกันนี้สามารถประยุกต์ใช้กับระบบนิเวศบนแผ่นดินเช่นเดียวกัน เพราะพื้นที่ธรรมชาติในปัจจุบันถูกล้อมรอบไปด้วยกิจกรรมมนุษย์และภัยคุกคามต่างๆ พื้นที่ยิ่งมีขนาดเล็กก็ยิ่งมีชนิดน้อย เช่นเดียวกับพื้นที่ที่ถูกตัดขาดและอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ธรรมชาติแห่งอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม พื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่และพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งธรรมชาติแหล่งอื่นๆ ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้มากกว่า

แนวคิดนี้ส่งผลอย่างมากต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะชี้ให้เห็นความจำเป็นในการรักษาพื้นที่ขนาดใหญ่และเชื่อมต่อถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติเข้าด้วยกัน ทฤษฎีนี้ยังถูกใช้อย่างกว้างขวางในการคาดการณ์ผลกระทบของการสูญเสียและแตกแยกถิ่นที่อยู่ (fragmentation) ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมีบทบาทสำคัญในการวางแผนเครือข่ายพื้นที่อนุรักษ์ทั่วโลก

เมื่อย้อนกลับไปดู เป้าหมายเดิมภายใต้แผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 2011-2020 (Aichi Target 11) กำหนดว่าโลกควรจะมีพื้นที่อนุรักษ์บนบกและแหล่งน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 17 และพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2020 ที่ผ่านมา เป้าหมายดังกล่าวไม่เพียงแต่ไม่บรรลุผล แต่ยังถูกมองว่าเป็นการตั้งเป้าที่ต่ำเกินไป และไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาสมดุลของโลกได้จริง

Stephen เป็นกำลังสำคัญร่วมกับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์จากทั่วโลก พยายามผลักดันให้มีการยกระดับเป้าหมายการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม Stephen และคณะได้ทบทวนและไล่เรียงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเป้าหมายการอนุรักษ์พื้นที่ในระดับโลกที่สำคัญดังนี้

1.การศึกษาของ Svancara et al. (2005) เรื่อง “Policy-driven versus Evidence-based Conservation: A Review of Political Targets and Biological Needs” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BioScience เปรียบเทียบเป้าหมายการอนุรักษ์ที่กำหนดโดยนโยบาย (policy-driven targets) กับข้อเสนอแนะที่ได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ (evidence-based conservation) โดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเชิงพื้นที่ (area-based targets) สำหรับการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ งานวิจัยซึ่งทบทวนงานวิจัยมากกว่า 159 ชิ้น พบว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยนโยบายมักอยู่ที่ประมาณ 10-12% ของพื้นที่ซึ่งค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ทางชีววิทยาชี้ว่า ควรสงวนรักษาพื้นที่อย่างน้อย 30-40% เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ให้คงอยู่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของนักอนุรักษ์หลายฝ่าย

2.ข้อเสนอของ Noss et al. (2012) เรื่อง “Bolder Thinking for Conservation” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Biology นำเสนอว่า เป้าหมายการอนุรักษ์ที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ เช่น การสงวนรักษาพื้นที่ 10-12% ให้เป็นพื้นที่คุ้มครอง (protected areas) นั้น ไม่เพียงพอต่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศได้จริง อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพควรตั้งเป้าหมายที่ท้าทายกว่านี้ นั่นคือสงวนรักษาพื้นที่ให้ได้อย่างน้อย 50% ของระบบนิเวศทางบกและทางทะเลไว้ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และสงวนพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่เอาไว้ บทความนี้ยังเสนอให้เพิ่มการเชื่อมโยงพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

3.แนวคิด Half-Earth หรือการปกป้องพื้นที่ของโลกให้ได้ครึ่งหนึ่ง ของ Edward O. Wilson นักชีววิทยาและนักอนุรักษ์ชื่อดัง เป็นแนวคิดที่เสนอให้มนุษย์จัดสรรพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโลก (หรือร้อยละ 50) ให้เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตนานาชนิด Wilson เชื่อว่าการสงวนรักษาพื้นที่ธรรมชาติครึ่งโลกไว้ จะช่วยอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ และช่วยให้ระบบนิเวศต่างๆสามารถฟื้นฟูและดำรงอยู่ได้ในระยะยาว การจัดสรรพื้นที่ครึ่งโลกเป็นเขตอนุรักษ์นั้น Wilson มองว่าต้องทำอย่างมีระบบและเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่แค่กำหนดพื้นที่สงวนหย่อมๆกระจายกันไป โดยพื้นที่เหล่านี้ต้องครอบคลุมระบบนิเวศที่หลากหลาย เช่น ป่าดิบชื้น ป่าชายเลน ทุ่งหญ้า ทะเลทราย ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ที่มีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นอยู่ด้วย เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้มากที่สุด

ส่วนตัว Stephen คิดว่าแนวคิด Half Earth เป็นแนวทางที่น่าสนใจแต่ก็มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์เรายังต้องการใช้พื้นที่ในการดำรงชีวิต ทำการเกษตร และพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดสรรพื้นที่ให้ลงตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เขาก็เชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ต้องร่วมมือกันทำให้สำเร็จ เพราะในปัจจุบัน มนุษย์ได้บุกรุกทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติไปมาก ทำให้เราสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในอัตรารวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้สิ่งมีชีวิตนับล้านชนิดตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต

หลังทบทวนงานวิจัยจำนวนมาก ในปี 2019 Stephen Woodley และคณะ ได้เสนอเป้าหมายพื้นที่อนุรักษ์ในระดับโลก ว่าควรต้องสงวนรักษาพื้นที่อย่างน้อย 30% ของพื้นที่ทางบกและทางทะเลให้เป็นพื้นที่คุ้มครอง (protected areas) หรือพื้นที่ที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพรูปแบบอื่นๆ (OECMs) ภายในปี 2030 โดยเน้นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังเสนอให้ขยับเป้าหมายการอนุรักษ์ขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ของพื้นที่โลกภายในปี 2050 เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตามแนวทางสร้างธรรมชาติเชิงบวก (Nature positive) ซึ่งจะนำไปสู่การปกป้องการทำงานของระบบนิเวศ และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน การศึกษาของ Dinerstein และคณะ (2019) ได้เสนอ “ข้อตกลงเพื่อธรรมชาติของโลก” (A Global Deal for Nature) ที่วางหลักการและเป้าหมายเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ บรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดการคุกคามต่อธรรมชาติ โดยตั้งเป้าว่าควรมีการอนุรักษ์พื้นที่ร้อยละ 30 ของพื้นที่โลกภายในปี 2030 เช่นกัน และควรกำหนดให้พื้นที่อีกร้อยละ 20 ควรมีการจัดการเพื่อเป็นพื้นที่รักษาเสถียรภาพสภาพภูมิอากาศ (climate stabilization areas) ซึ่งเมื่อรวมกันจะเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่โลก ซึ่งตรงกับแนวคิด Half Earth ของ Edward Wilson

เมื่องานวิชาการเริ่มตกผลึกและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง จึงมีความพยายามขับเคลื่อนในเชิงนโยบายภายใต้การประชุมภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) การบรรลุข้อตกลงระดับนานาชาติที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนธันวาคม 2022 ในชื่อกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) จึงถือเป็นชัยชนะสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกประเทศต้องยกระดับความพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ภายใต้กรอบงานใหม่นี้ ทั่วโลกมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานและท้าทายร่วมกัน 23 เป้าหมายภายในปี 2030 อาทิการหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติที่ยังมีความสมบูรณ์ทุกรูปแบบ การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมให้ได้ราวหนึ่งในสาม การลดการใช้สารเคมีกำจัดศตรูพืชและการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และหนึ่งในเป้าหมายที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดคงจะเป็นเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบกและทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 หรือ 30×30 นั่นเอง

อย่างไรก็ดี Stephen ก็ได้ย้ำว่า เป้าหมาย 30×30 ไม่ได้มุ่งแค่การเพิ่มปริมาณพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพการบริหารจัดการ (Management Effectiveness) ของพื้นที่อนุรักษ์เดิม รวมไปถึงแนวทางการอนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครองด้วยมาตราการที่มีประสิทธิภาพอื่นๆ (OECMs) ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการบูรณาการมิติทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาด้วย

โลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรงหลายด้าน ทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความไม่เท่าเทียมในการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อกันและกัน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อสร้างโลกที่เท่าเทียม เป็นบวกต่อธรรมชาติ และเป็นกลางทางคาร์บอน (equitable, nature-positive, carbon-neutral world)

เป้าหมาย 30×30 ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับโลกที่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมมือกันทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เริ่มต้นฟื้นฟูและนำพาโลกกลับสู่ความสมดุลอีกครั้ง มันอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่มันคือความหวังและโอกาสครั้งสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดร่วมกันของมนุษยชาติ และอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้