ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯนัด ก.ตร.ถก ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับเข้ารับราชการพรุ่งนี้-มติ ครม.ให้ ธ.ก.ส.จ่าย 3 หมื่นล้าน ค่าปุ๋ยชาวนา 500 บาท/ไร่

นายกฯนัด ก.ตร.ถก ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับเข้ารับราชการพรุ่งนี้-มติ ครม.ให้ ธ.ก.ส.จ่าย 3 หมื่นล้าน ค่าปุ๋ยชาวนา 500 บาท/ไร่

25 มิถุนายน 2024


เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯนัด ก.ตร.ถก ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับเข้ารับราชการได้หรือไม่ พรุ่งนี้
  • โต้ ‘สุดารัตน์’ ยันไม่แก้ รธน. ตัดปาร์ตี้ลิสต์ เหลือแค่ สส.เขต
  • ปัดหารือ ‘ธรรมนัส’ ปรับ พปชร.ออก – คุยแต่เรื่องน้ำ
  • ย้ำซื้อเครื่องบินรบ ‘กริพเพน’ ก็ต่อเมื่อมาตั้งฐานผลิตในไทย
  • มอบคลังศึกษาให้ต่างชาติเช่าที่ดิน ย้ำไม่ได้ขาย
  • มติ ครม.สำรองจ่ายเงิน ธ.ก.ส. 3 หมื่นล้าน ช่วยค่าปุ๋ยชาวนา 500 บาท/ไร่
  • จัดงบกลาง 7,606 ล้าน ให้ สนทช.บริหารจัดการน้ำ
  • ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงแรมปีละ 40 บาท ถึงสิ้น มิ.ย.ปี’69
  • ลดค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดเหลือ 2%
  • ควบคุมราคาสินค้า-บริการ 57 รายการต่อ
  • เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา มอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    เว้นภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง ‘คุ้มบางกระเจ้า’

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เนื่องมาจากพระราชดำริสวนสาธารณ์ และสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ คุ้มบางกระเจ้า ให้เป็นพื้นที่นำร่อง (sandbox) ในการประกาศหลักเกณฑ์คุ้มครองพื้นที่ป่า และสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนยังสั่งการให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อนำมาเสนอ ครม. ต่อไป

    จี้กรมประมงเร่งแก้ปัญหากุ้งราคาตกต่ำ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ขอให้กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและหามาตรการแก้ไขปัญหาการสั่งกุ้งเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคากุ้งตกต่ำ ตลอดจนกุ้งที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่ากุ้งในประเทศ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบจากที่ไม่มีโรงงานรับซื้อ

    จัดงบกลาง 7,606 ล้าน แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติอนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 7,606.5 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และแก้ปัญหาน้ำท่วมปี 2567 และเตรียมการแก้ปัญหาน้ำแล้งปี 2568

    “เราทราบกันดีว่าปีนี้จะมีน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10% รัฐมนตรีหลายท่านก็เป็น ส.ส. และผูกพันกับพื้นที่ ก็อยากให้มีการลงพื้นที่และอยากให้พูดคุยกัน เรื่องการใส่เงินเข้าไป การเอางบกลางไปช่วยไม่ท่วมไม่แล้ง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการใส่ใจ เราทุกคนในฐานะที่อยู่ฝ่ายบริหารก็ต้องให้ความสำคัญ” นายเศรษฐา กล่าว

    เห็นชอบจัดงบ ฯอพยพคนไทยในอิสราเอล 291 ล้าน

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณปี 2567 งบกลางจำนวนเงิน 291 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศอิสราเอลเพิ่มเติม โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน รับไปดำเนินการต่อไป

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการเพิ่มเติมว่า ตัวประกันที่เหลืออีก 6 คน ขอให้มีการรายงานความคืบหน้าและขั้นตอนโดยเร่งด่วน รวมถึงการที่เราได้ให้คำมั่นกับรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะให้มีการหยุดยิงในช่วงโอลิมปิก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

    นัด ก.ตร.ถก ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับมารับราชการได้หรือไม่ พรุ่งนี้

    นายเศรษฐา ตอบคำถามถึงประเด็น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (บิ๊กโจ๊ก) ว่า วันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.67) ตนจะเข้าร่วมประชุมการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีประเด็นเรื่องการกลับเข้ารับราชการได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วย แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องกลับหรือไม่กลับเพียงอย่างเดียว เพราะมีขั้นตอนทางกฎหมายด้วย คณะกรรมการที่พิจารณาทางวินัย กับคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมมาร่วมพิจารณาซึ่งจะต้องฟังให้รอบด้าน

    ถามต่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่า หากไม่ได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ใน สตช. จะดำเนินการฟ้องร้องนายกฯ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องการทบทวนแก้ไขปัญหาต่างๆ เราเองไม่นิ่งนอนใจ ในช่วง 3 ถึง 4 เดือนที่ผ่านมา เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่มันมีขั้นตอนกฎหมายที่มันต้องทำ การประชุม ก.ตร. พรุ่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เราต้องเข้าประชุม”

    “เราต้องรับฟังคณะกรรมการวินัยฯ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ผมก็ไม่ทราบจะเสร็จเมื่อไร แต่ถ้าเรื่องเหล่านี้จบแล้ว ก็จะดำเนินการต่อไปได้ ก็เข้าใจ เห็นใจทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เราเองก็ไม่ได้มีความลำเอียงเข้าข้างคนใดคนหนึ่ง ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา ย้ำว่า “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เดือดร้อนและมีความร้อนใจ ในฐานะที่เราเป็นคนทำงานด้วยกัน เราก็เข้าใจความร้อนใจ ผมไม่มองเป็นการขู่”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะฟ้องร้องทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จะปรองดองได้อย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องของความปรองดองทุกๆ ฝ่าย ผมอยากเอาปรองดองเป็นแค่ทางผ่านอันหนึ่ง แต่จุดประสงค์ใหญ่ที่เราอยากให้มีความปรองดอง จะได้ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน เพราะปัจจุบันปัญหาเยอะเหลือเกิน เดี๋ยวก็ก้าวข้ามผ่านไปได้ และหวังว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจเรื่องของขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และกฎหมายทั้งหลาย ทั้งนี้กรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ จากทุกฝ่าย ก็ต้องมีการพิจารณาต่อไป”

    วอนบิ๊ก ตร.ยุติปมขัดแย้ง – สำนึกในหน้าที่ ดูแล ปชช.

    ถามต่อว่า นายกฯ ในฐานะกำกับดูแล สตช. จะให้กำลังใจ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างไร เพราะถูกหางเลขไปด้วย โดย นายเศรษฐา ตอบว่า ผมเชื่อว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ รักษาการฯ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือแม้แต่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เอง เชื่อว่าทุกท่านก็มีปัญหาอยู่แล้ว”

    “ผมอยากจะขอว่า ทุกท่านเองก็มีวุฒิภาวะสูงอยู่แล้ว เรื่องของปัญหาส่วนตัว ก็จะต้องมีการแก้ไขตามกระบวนการกฎหมาย ผมอยากให้ทุกท่านสำนึกว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนเรื่องสำคัญ ผมเชื่อว่าเรื่องของกำลังใจ และทุกท่านก็อยู่ในหน้าที่การงานมา 30 กว่าปีแล้ว ผมเชื่อว่าทุกท่านรู้ว่าหน้าที่คืออะไร” นายเศรษฐา กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายกฯ จะมีวิธีการจัดการอย่างไรเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นตำรวจระดับชั้นผู้ใหญ่ ทำให้ลูกน้องเกิดการแบ่งฝ่ายกัน นายเศรษฐา ตอบว่า ได้มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง และได้ให้แนวทางการปฏิบัติไปว่าเรื่องของทุกข์สุขประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

    ถามต่อว่าได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวหรือไม่กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่มี แต่ในการประชุม ก.ตร. พรุ่งนี้ ถ้าเจอก็จะพูดคุยกัน เพราะเข้าใจว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ก็จะเข้าร่วมประชุมด้วย และก็จะมีการพูดคุยในคณะกรรมการ ก.ตร. ด้วย”

    “และความจริงแล้วในคณะกรรมการตนก็เป็นเพียงแค่หนึ่งเสียง แต่ก็มีคณะกรรมการ ก.ตร. หลายๆ ท่านซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ สูงสุดเป็นอดีตผู้บริหารสูงสุดทั้งนั้นใน สตช. ซึ่งก็ต้องรับฟังความเห็นของพวกท่านเหล่านี้” นายเศรษฐา กล่าว

    ปัดหารือ ‘ธรรมนัส’ ปรับ พปชร.ออก – คุยแต่เรื่องน้ำ

    เมื่อถามถึงกรณีที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าพบเมื่อวานนี้ (24 มิ.ย. 67) ว่าได้มีการพูดคุยถึงกระแสข่าวการพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า ไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว และวันนี้ ก่อนเข้าประชุม ครม. ก็ได้พูดคุยกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ แกนนำพรรค รวมถึงนายอรรถกร ศิริลัทยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้พูดคุยกันแต่เรื่องงานอย่างเดียว ไม่มีปัญหาอะไรเลย ขอให้ดูกันต่อไป

    นายเศรษฐา กล่าวถึง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่า “เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ ร.อ.ธรรมนัสเข้ามาพบก็คุยกันเรื่องน้ำ ที่วันนี้เรามีงบฯกลางเข้าไป ซึ่งอย่างที่บอกเรื่องงบฯ ก็ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้แต่ละพื้นที่มีความละเอียดอ่อน มีปัญหาเฉพาะเขต ซึ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการกรมชลประทาน การกักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ หากปล่อยให้ไหลไปตามกรรมของมันอาจจะไม่ใช่การบริหารที่ดี”

    “ผมเตือนสติทุกท่านไป ใส่เงินก็ส่วนหนึ่ง แต่การใส่ใจสำคัญมากกว่า อย่างที่บอกปีนี้ฝนน่าจะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 10% แต่คงไม่ได้มากขนาดนั้น หากบริหารให้ดีเชื่อว่าผลกระทบจากน้ำท่วมคงไม่มี และถ้าบริหารดีจริงๆ น้ำแล้งก็ไม่มีด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

    ไม่รู้จัก ‘บิ๊กป้อม’ หากมีโอกาสพบจะแสดงความเคารพ

    เมื่อถามถึงกระแสข่าวความขัดแย้งที่ออกมาส่วนใหญ่ออกมาจาก ‘บ้านในป่า’ และ นายกฯ จะถือโอกาสเดินเข้าบ้านป่าฯเพื่อสร้างความเข้าใจหรือไม่ โดย นายเศรษฐา กล่าวติดตลกว่า “ผมไม่เคยทราบ ผมไม่เดินเข้าป่า ผมอยู่ในกรุงครับ แต่ผมไม่ได้หนีอะไร แต่ถ้าคำว่าเดินเข้าบ้าน หรือ เดินป่า ผมไม่เดิน ผมรักความสบาย ผมอยู่ในกรุงดีกว่า”

    ผู้สื่อข่าวจึงขยายความว่า หมายถึงการไปพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่บ้านพักในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ทำให้ นายเศรษฐา ตอบว่า หากมีโอกาสได้พบกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็จะพบ เพราะตนเองก็ไม่เคยรู้จักท่าน หากเจอกันในงานต่างๆ หรือ มาที่สภาฯ เจอกันก็คงไปแสดงความเคารพ เพราะท่านเป็นอดีตรองนายกฯ มาตั้งนาน และเป็นผู้บัญชาการทหารบกมา ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ไปพบ หรือ หลีกเลี่ยงที่จะไม่พบ เพราะพรรคพลังประชารัฐก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

    โต้ ‘สุดารัตน์’ ยันไม่แก้ รธน. ตัดปาร์ตี้ลิสต์ เหลือแค่ สส.เขต

    เมื่อถามถึง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พาดพิงพรรคเพื่อไทยเรื่องเตรียมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีแค่ สส. เขต ไม่มีแบบบัญชีรายชื่อนั้น นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมได้พูดไปแล้ว ไม่เอาแล้ว หลายคนในพรรคร่วมรัฐบาล ก็ออกมาพูดแล้วว่าเราไม่มีความตั้งใจ อย่าไปสร้างประเด็นการเมืองขึ้นมาเลยดีกว่า”

    ถามต่อว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาทำสัญญาประชาคมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แก้ในส่วนเรื่องของ สส. นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมพูดไปแล้ว บอกไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ทำ ไม่มีความตั้งใจตรงนี้”

    ย้ำซื้อเครื่องบินรบ ‘กริพเพน’ ก็ต่อเมื่อมาตั้งฐานผลิตในไทย

    นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังตอบเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ (กริพเพน) โดยรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชย หรือ นโยบายออฟเซ็ต (Offset Policy) หลังจากที่นายมาร์คัส วอลเลนเบิร์ก ประธานกรรมการธนาคาร Skandinaviska Enskilda Banken (SEB) ประเทศสวีเดน เข้าพบเมื่อวานนี้ (24 มิ.ย. 67) ว่า นายมาร์คัส เป็นกรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของสวีเดน เป็นกรรมการบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และเป็นกรรมการบริษัทที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องบินกริพเพน ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสวีเดน กับอังกฤษ และยังเป็นกรรมกรรมการบริษัทรถยนต์ อาทิ วอลโว่

    “กลุ่มบริษัทที่นายมาร์คัสดูแลเป็น 40 % ของจีดีพีประเทศสวีเดน ก็ได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องเครื่องบินกริพเพนด้วย ถ้าเราจะซื้อ ก็อยากให้มีการมาพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีและอากาศยานที่ประเทศไทย เช่น การสร้างโรงงานผลิต โรงงานซ่อม โรงงานผลิตชิ้นส่วน เพื่อเป็นการตอบแทนที่เราไปซื้อของเขา” นายเศรษฐา กล่าว

    “ผมทราบดีว่าธุรกิจในเครือข่ายของเขามีเยอะ และปีหน้าจะเดินทางไปเมืองดาวอสอีก ก็อยากจะจัดเป็นฟอรั่มเล็กๆ ระหว่างไทยกับสวีเดน เพื่อพูดคุยกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกัน” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามว่าหากกองทัพอากาศจะเลือกซื้อเครื่องบินกริพเพน ต้องดูรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชยอย่างที่นายกฯบอก ใช่หรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า ตนไม่ได้ลงรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องบินกริพเพนของกองทัพ แต่ให้พิจารณาแนวทางที่บอกไว้ว่า การจะซื้ออะไรจากใครเป็นเรื่องสำคัญ

    “อย่างที่ทราบดีว่าสหรัฐอเมริกา ถ้าเราจะซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 เขาต้องมาพัฒนาด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยด้วย เหมือนเป็นการต่างตอบแทน และไม่ได้พูดคุยกับสหรัฐอเมริกา เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง ที่จะต้องไปพูดคุยกันเอง ซึ่งได้พูดคุยกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผบ. เหล่าทัพทุกคนที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วว่าถ้าจะซื้อต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน” นายเศรษฐา กล่าว

    มอบคลังศึกษาให้ต่างชาติเช่าที่ดิน ย้ำไม่ได้ขาย

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการแก้ไขกฎหมายช่วยอสังหาริมทรัพย์ ให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ 75% จาก 49% และเช่าที่ดินได้ 99 ปี ซึ่งตอนพรรคเพื่อไทย เป็นฝ่ายค้าน ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ‘กฎหมายขายชาติ’ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ไปศึกษา คือเรื่องของการเช่าระยะยาว ไม่ใช่การขายที่ดิน จึงไม่เกี่ยวอะไรกับการขายชาติ”

    สั่ง อพท.ทำแผนพัฒนา ‘คุ้งบางกะเจ้า’ ชง ครม.

    ด้านนายชัย รายงานข้อสั่งการเรื่องโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ สวนสาธารณะ และสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ (คุ้งบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยนายกฯ มีข้อสั่งการ 2 ข้อ ดังนี้

      • ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาพื้นที่โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สวนสาธารณะ และสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ (คุ้งบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ในการประกาศหลักเกณฑ์คุ้มครองพื้นที่ป่า และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนให้เพิ่มพืชพรรณที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ในบัญชีแนบท้าย ก ของประกาศกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566

      • ให้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคุ้งบางกะเจ้า นำเสนอต่อ ครม. พิจารณา เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล

    จัดงบฯ 20 ล้านยูโร ดึง ‘Formula E’ จัดแข่งขันในไทย

    นายชัย กล่าวต่อว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขันรถ Formula E เพื่อเพิ่มโอกาสให้ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานแข่งขันระดับโลก โดยล่าสุด นายกฯ ได้สั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

      • มอบหมายให้ สสปน. และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เจรจารายละเอียดการจัดงาน ภายใต้กรอบวงเงินประมาณ 15-20 ล้านยูโร โดยให้ สสปน. รับผิดชอบการเจรจาเรื่องค่าลิขสิทธิ์ ส่วนการกีฬา เรื่องค่าบริหารการจัดการแข่งขัน
      • มอบหมายให้ สสปน. และการกีฬาแห่งประเทศไทย ประสานกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเร่งด่วน
      • มอบหมายให้ ผู้ว่าฯ จ.เชียงใหม่ ร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ศึกษารูปแบบการปรับพื้นที่ที่จะใช้เป็นสนามแข่งขันและภูมิทัศน์ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ Formula E
      • มอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางชำระ Track Material ตามกรอบเวลาที่ Formula E กำหนด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม และขอให้เร่งดำเนินการ

    จี้กรมประมงชง ครม.แก้ปัญหากุ้งราคาตกสัปดาห์หน้า

    นายชัย กล่าวถึงปัญหาการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศว่า ในอดีตประเทศไทยเคยผลิต และส่งออกกุ้งทะเลอันดับ 1 ของโลก เคยสูงสุดถึง 6 แสนตันต่อปี แต่ปัจจุบันส่งออกเหลือ 2 แสนต่อปี ทำให้ปัจจุบันต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศกว่า 3 แสนตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเอกวาดอร์

    “ปรากฏว่าราคากุ้งไทยตกต่ำระเนระนาด เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุนกันยับแสนสาหัส นายกฯ จึงสั่งการให้กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและหามาตรการแก้ไขปัญหา ตลอดจนปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งโดยด่วน กรมประมงต้องนำเรื่องนี้มารายงานในที่ประชุม ครม. ภายในหนึ่งสัปดาห์” นายชัย กล่าว

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    สำรองจ่ายเงิน ธ.ก.ส. 3 หมื่นล้าน ช่วยค่าปุ๋ยชาวนา 500 บาท/ไร่

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบโครงการฯ และมอบหมายให้ กษ. โดยกรมการข้าว จัดทำข้อมูลเพื่อนำคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการฯ และงบประมาณต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศ โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ดังนี้

    วัตถุประสงค์

      1. เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
      2. เพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการใช้ปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ในนาข้าวในสูตรและอัตราที่เหมาะสมตามนิเวศน์และสภาพพื้นที่ สร้างเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ปัจจัยการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ
      3. สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 3 เท่าในระยะเวลา 4 ปี

    กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (เกษตรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร) ทั้งนี้ ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้

    ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568

    วิธีดำเนินการและเงื่อนไขโครงการฯ

      1. สนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาครึ่งหนึ่ง (เกษตรกรชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์อีกครึ่งหนึ่ง) ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และชีวภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
      2. เกษตรกร 1 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกหลายพื้นที่ ใช้สิทธิ์รวมได้ไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ซ้ำซ้อน ตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
      3. เกษตรกรต้องนำไปใช้จริง ห้ามนำไปจำหน่าย แจกจ่ายให้บุคคลอื่น
      4. สหกรณ์การเกษตรต้องส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยหากเกษตรกรยังไม่ได้รับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ธ.ก.ส. จะคืนเงินที่เกษตรกรชำระทั้งหมดให้เกษตรกร

    สำหรับปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าวภายใต้โครงการฯ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าว จำนวน 16 รายการ มีดังนี้ (1) ปุ๋ยสูตร 25-7-14 (2) ปุ๋ยสูตร 20-8-20 (3) ปุ๋ยสูตร 20-10-12 (4) ปุ๋ยสูตร 30-3-3 (5) ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 (6) ปุ๋ยสูตร 18-12-6 (7) ปุ๋ยสูตร 16-8-8 (8) ปุ๋ยสูตร 16-12-8 (9) ปุ๋ยสูตร 16-16-8 (10) ปุ๋ยสูตร 16-20-0 (11) ปุ๋ยสูตร 20-20-0 (12) ปุ๋ยสูตร 15-15-15 (13) ปุ๋ยสูตร 16-16-16 (14) ปุ๋ยสูตร 13-13-24 (15) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ (16) ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

    กรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท แบ่งเป็น

      1. เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความต้องการโครงการฯ ในส่วนของ 500 บาทต่อไร่ ที่รัฐบาลสมทบ โดยจัดสรรงบประมาณชดเชยด้วยอัตราต้นทุนทางการเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า บวกค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส (ปัจจุบันอัตราร้อยละ 3.62) และบวกต้นทุนเงินตามระยะเวลา วงเงิน 29,518.02 ล้านบาท

        1.1 วงเงินจ่ายสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกร วงเงิน 28,350.00 ล้านบาท
        1.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ วงเงิน 1,168.02 ล้านบาท 1.2.1 ค่าชดเชยต้นทุนเงิน วงเงิน 1,026.27 ล้านบาท และ 1.2.2 ค่าบริหารโครงการ ร้อยละ 2 เป็นเวลา 3เดือน วงเงิน 141.75 ล้านบาท

      2. งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2567 เป็นค่าดำเนินการของ กษ. ในการจัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และส่งมอบให้เกษตรกร เช่น ค่าบริหารจัดการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรค่าใช้จ่ายสุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ กษ. จะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อ สงป. ตามขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบกำหนดต่อไป วงเงิน 462.15 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท

    ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

      1. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ร้อยละ 10 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และมีอำนาจในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
      2. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวเพื่อตอนบสนองความต้องการของตลาด
      3. การใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการหมุนเวียน และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกช้าว ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท (เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละ 54,300 ล้านบาท-29,980 ล้านบาท)

    จัดงบกลาง 7,606 ล้าน ให้ สนทช.บริหารจัดการน้ำ

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้ที่ 1/2567 วันที่ 27 มีนาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 และมอบอำนาจให้ประธาน กนช. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดแผนงานภายใต้โครงการฯ เพื่อให้การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เป็นไปอย่างทันท่วงที โดยที่มาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2567 ครม. ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการและโครงการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567

    สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2567 ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 โดยได้แจ้งให้หน่วยงานเสนอแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพฯ ซึ่งแผนงานโครงการข้างต้นได้ผ่านการพิจารณาความเหมาะสมจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการแล้วตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐมนตรีเจ้าสังกัดได้พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว ต่อมา สทนช. ได้ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ และกลั่นกรองโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถบรรเทาและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 14,671 รายการ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 36,681.7028 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุม กนช. ได้เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567

    ทั้งนี้ นรม. ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณ ดำเนินการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 4 กระทรวง 9 หน่วยงาน จำนวน 2,668 รายการ ภายในวงเงินงบประมาณ 7,606.4972 ล้านบาท โดยให้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

    โดยเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยน์ประมาณ 125,113 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 114.56 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 67,470 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำได้ประมาณ 0.1463 ล้านตัน รวมถึงสามารถซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 444 แห่ง

    ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงแรมปีละ 40 บาท ถึงสิ้น มิ.ย.ปี’69

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ปีละ 40 บาทต่อห้องพัก เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ

    “มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 27,099,720 บาทต่อปี โดยพิจารณาจากจำนวนห้องพักของโรงแรมประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 677,493 ห้อง ค่าธรรมเนียมห้องละ 40 บาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบและยังไม่อาจฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” นายคารม กล่าว

    จัดงบกลาง 291 ล้าน อพยพคนไทยในอิสราเอล

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 291,953,797 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล (เพิ่มเติม) แก่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

      1. สถานการณ์ความไม่สงบจากภาวะสงครามในรัฐอิสราเอลได้ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของคนไทยที่พำนักอยู่ในรัฐอิสราเอล จำนวนกว่า 30,000 คน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณฉนวนกาซาอันเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงประมาณ 5,000 คน กต. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยออกจากรัฐอิสราเอลในระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566 แล้ว จำนวน 7,470 คน โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานกับคนไทยในพื้นที่เพื่อดำเนินภารกิจดังกล่าว

      2. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินภารกิจการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยออกจากรัฐอิสราเอลตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยที่ผ่านมา กต. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นแล้ว รวม 3 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 515,362,829.80 บาท ดังนี้

        (1) ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ครั้งที่ 1 วงเงิน 97,000,000 บาท

        (2) ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ครั้งที่ 2 วงเงิน 319,043,700 บาท

        (3) เงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 2566 แก่ผู้ที่ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายไปก่อน วงเงิน 99,319,129.80 บาท

    และในครั้งนี้ (ครั้งที่ 3) กต. ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (เพิ่มเติม) จำนวน 291,953,797 บาท สำหรับ กต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) และกระทรวงแรงงาน (รง.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยแล้วตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) รวมทั้ง กห. ยธ. รง. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย

    ออกใบอนุญาตใช้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะแก่บุคคลธรรมดา

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวัสดุนิวเคลียร์ที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถขอรับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้ นำเข้า ส่งออก หรือผ่าน ซึ่งยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ลงมาโดยน้ำหนัก และมีปริมาณตั้งแต่ 20 ตันขึ้นไป เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาสามารถนำวัสดุนิวเคลียร์ดังกล่าวมาใช้ในการประกอบธุรกิจ โดยยูเรเนียมด้อยสมรรถณะดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีและใช้เป็นที่กำบังรังสีในกิจการอื่น ๆ ได้ เช่น การประกอบธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งได้ทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว

    นายคารม กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ(ภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566) ซึ่งคณะรัฐมนตร์ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

    ลดค่าธรรมเนียมขายทอดตลาดเหลือ 2%

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว และปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้น ยธ. จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น กำหนดค่าธรรมเนียมขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด ร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย (ปัจจุบัน ร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย) กำหนดค่าธรรมเนียมจ่ายเงินที่ยึด หรือ อายัดแก่เจ้าหนี้ ร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด (ปัจจุบัน ร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด) รวมทั้งยกเลิกค่าธรรมเนียมเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย (ปัจจุบัน ร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด)

    นายคารม กล่าวต่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากอาจต้องตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และมีความรับผิดตามสัญญาหรือตามกฎหมายหลายประการ ส่งผลให้มีปริมาณการฟ้องร้องบังคับคดีเพิ่มมากขึ้นทั้งคดีแพ่งและคดีล้มละลาย กรณีเป็นปัญหาความเป็นธรรมของประชาชนที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สมควรต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาโดยเร่งด่วน เนื่องจากตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีสูงเกินไป ทำให้ลูกหนี้ต้องรับภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมบางประการที่ไม่จำเป็น เช่น การยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินหรือการอายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และในด้านกฎหมายยังไม่ปรากฏมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งและคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ดังกล่าว

    “การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ยธ. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว โดยกรมบังคับคดีได้สำรวจข้อมูลจำนวนค่าธรรมเนียมประเภทต่าง ๆ ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2567 (ข้อมูลถึงเดือนมกราคม 2567) พบว่าได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเงินทั้งสิ้น 6,842,907,178.19 บาท เมื่อคำนวณเฉพาะค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และค่าธรรมเนียมยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ยกเลิก คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 95,461,667.64 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.40 ของค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งหมด และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น ซึ่งการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวสามารถช่วยสนับสนุนให้คู่ความเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี อันเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ในการเจรจาชำระหนี้ โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะสามารถรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนไม่ให้ถูกขายทอดตลาดและสร้างความยุติธรรมแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม” นายคารม กล่าว

    จัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ – ระยอง

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติและรับทราบตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้เมื่อเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา และกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาครับผิดชอบงานของศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ และศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. …. กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยอง 2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ดังนี้

      1. เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดระยองมีปริมาณคดีแรงงานเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดและจำนวนผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มมากขึ้น แม้ในปัจจุบันจะมีการเปิดทำการสาขาของศาลแรงงานภาค 1 (สาขาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และภาค 2 (สาขาจังหวัดระยอง) อยู่แล้วก็ตาม แต่การเปิดทำการสาขาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ต้องเกลี่ยอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในศาลนั้นมาปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการสาขาทั้ง 2 สาขา ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเกิดความล่าช้าและไม่สะดวกแก่คู่ความในท้องที่ เห็นสมควรให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ และจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดระยองขึ้นในจังหวัดระยอง ให้มีเขตอำนาจตลอดท้องที่จังหวัดระยอง เพื่อให้การพิจารณาแรงงานเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในท้องที่ได้ดียิ่งขึ้น และมีความพร้อมในด้านอัตรากำลังของผู้ปฏิบัติงานในศาลจังหวัดครบถ้วนทุกส่วนงานรองรับภารกิจดังกล่าว

      2. ในการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง จะทำให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในท้องที่ของศาลแรงงานภาค 1 และภาค 2 ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความทับซ้อนของอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัด ทำให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการให้เมื่อเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานจังหวัดนั้นไว้พิจารณาพิพากษา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความทับซ้อนของอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัด ตลอดจนเพื่อให้มีความชัดเจนในการแบ่งแยกเขตอำนาจการพิจารณาคดีของศาล โดยไม่รวมถึงอำนาจการบริหารงานศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาค อีกทั้งศาลแรงงานเป็นศาลคดีชำนัญพิเศษที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เห็นสมควรให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาคเข้ามารับผิดชอบงานของศาลแรงงานจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นในเขตท้องที่ของศาลแรงงานภาคนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของศาลแรงงานจังหวัดเป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าจะได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

      3. ศย. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1. รวม 2 ฉบับ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2566 วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และมอบหมายให้ ศย. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและเสนอร่างกฎหมายไปตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

      4. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวม 2 ฉบับ ศย. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้ 1. ศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 63,901,038 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 10,821,312 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน จำนวน 363,955,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 438,677,710 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 6 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา และ 2.ศาลแรงงานจังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 55,383,438 บาท ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ จำนวน 8,215,704 บาท และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (ยังไม่สามารถจัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุสำหรับใช้ก่อสร้างอาคารสถานที่ จึงไม่อาจระบุค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างอาคารศาลได้) จำนวน 11,092,360 บาท ทำให้จะต้องใช้งบประมาณในระยะ 3 ปีแรก ประมาณ 74,691,502 บาท อัตรากำลังข้าราชการตุลาการที่ต้องใช้ 4 อัตรา และอัตรากำลังข้าราชการศาลยุติธรรมที่ต้องใช้ 24 อัตรา

    ควบคุมราคาสินค้า-บริการ 57 รายการต่อ

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบรายการสินค้าและบริการ จำนวน 57 รายการ (52 สินค้า 5 บริการ) เป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม กกร. ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมได้ โดย ครม. ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมในปี 2566 และ 2567 มาแล้ว 3 ครั้ง รวมทั้ง 57 รายการ ทั้งนี้ ครม. มีมติ (16 มกราคม 2567) กำหนดให้การกำหนดสินค้าและบริการควบคุมในคราวต่อไป ให้ กกร. พิจารณารวบรวมรายการสินค้าและบริการที่จำเป็นต้องควบคุมทั้งหมดให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถพิจารณากำหนดระยะเวลาการควบคุมสินค้าและบริการทั้งหมดให้สิ้นสุดผลบังคับใช้พร้อมกันและให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็วต่อไปก่อนวันสิ้นสุดผลบังคับใช้ที่ได้กำหนดไว้

    โดยที่ผ่านมา กกร. ได้ออกประกาศเรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม รวม 3 ฉบับ และเนื่องจากประกาศ กกร. ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2566 และฉบับที่ 1 พ.ศ. 2567 กำลังจะสิ้นสุดผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 รวมทั้งเพื่อดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 กกร. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 จึงได้มีมติเห็นชอบให้คงรายการสินค้าควบคุม 57 รายการดังกล่าวต่อไป เพื่อให้ กกร. กำหนดมาตรการกำกับดูแลสินค้าและบริการให้มีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกำกับดูแลสินค้าและบริการให้มีราคาที่เหมาะสมและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งเพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีการปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม

    ทั้งนี้ สศช. เห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไปด้วย

    รับทราบข้อเสนอ กสม. กรณี พม. ไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองให้ชาวเขา

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะกรณีหน่วยงานของรัฐไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขา และจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 ไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนชาติพันธุ์ม้ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 247 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (1) และมาตรา 36 ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ

    กสม. รายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาบริเวณหมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล และหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ (ภูทับเบิก) แต่กลับไม่จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเชา และยังจัดทำแผนแม่บทการแก้ปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 ไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนชาติพันธุ์ม้ง บริเวณภูทับเบิก

    ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2505 อนุมัติให้กรมประชาสงเคราะห์ ปัจจุบันคือ พส. จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขา ในบริเวณทิศเหนือของป่าหมายเลข ๒๒ ท้องที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ไม่สามารถจัดตั้งได้ เนื่องจากในขณะนั้นมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ (คอมมิวนิสต์) ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มีป่าไม้ ภูเขาสูง และฝนตกชุกไม่เหมาะสมกับการจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเอง

    ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 ให้ พส. คืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ไปดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน จึงเป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเปลี่ยนแปลงมติเดิม ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2505 ย่อมสิ้นผลไป การที่ พส. ไม่ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาจึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

    พส. ได้ส่งคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 แต่ขอกันพื้นที่ประมาณ 47,021.52 ไร่ ไว้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 แต่แผนแม่บทดังกล่าวไม่ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณภูทับเบิกตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้พื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ พส. และกรมป่าไม้ ซึ่งมีนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่แตกต่างกัน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่มีวิถีวัฒนธรรมและเป็นชุมชนเดียวกันมาตั้งแต่ต้น และกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินสิทธิชุมชน สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ และความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

    กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกัน หรือ แก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

      1. ให้ พส. กรมป่าไม้ และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจัดที่ดินบริเวณหมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล และหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์ (ภูทับเบิก) ทั้งส่วนที่อยู่ในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 และส่วนที่อยู่ในเขตป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ในรูปแบบอื่นตามมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้กับผู้ร้องและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งเพื่ออยู่อาศัยและทำประโยชน์ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ หาก พส. จัดที่ดินบริเวณภูทับเบิกเฉพาะส่วนที่อยู่ในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก พ.ศ. 2560-2565 จะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการวางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการจัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 70 และมาตรา 72 (1) และ (3)

      2. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้พื้นที่ เพื่อจัดที่ดินต่อไปได้ ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

    ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป

    ต่ออายุ O/D สธค.กู้ออมสิน 500 ล้านถึงสิ้น ก.ย.ปี’69

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 เพื่อเป็นเงินทุนสำรองสำหรับหมุนเวียนรับจำนำ และสำหรับใช้จ่ายในการบริหารเงินให้เกิดสภาพคล่องในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ตามที่ พม. เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. มีมติ (2 สิงหาคม 2565) ครั้งล่าสุด อนุมัติให้ พม. ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อเป็นเงินทุนสำรองสำหรับหมุนเวียนรับจำนำและสำหรับใช้จ่ายในการบริหารเงินให้เกิดสภาพคล่องในกิจการ ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก สธค. ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนสำรองหมนุเวียนรับจำนำและอื่นๆ เพื่อให้มีสภาพคล่องในกิจการ ประจำปีงบประมาณ 2568-2569 โดยการกู้เงินประเภทเบิกเกินบัญชี หาก สธค. ไม่ได้เบิกเงินมาใช้จะไม่เสียดอกเบี้ยจ่าย ซึ่ง สธค. มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้อย่างต่อเนื่องและสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินตามที่ กค. กำหนด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารทางการเงินการคลังของรัฐในภาพรวม ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติเห็นชอบการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เห็นชอบการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวของ สธค. แล้ว รวมทั้งวงเงินดังกล่าวได้รับการบรรจุไว้ในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 ด้วยแล้ว

    ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมาของ สธค. จะมีเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินงานและลดความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน ประกอบกับ สธค. ยังคงมีผลประกอบการและมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงให้ความเห็นชอบให้ พม. ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว โดย กค. ไม่ค้ำประกัน ประกัน ตามนัยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ การกู้เงินดังกล่าวต้องกระทำด้วยความรอบคอบและคำนึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการกระจายภาระการชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

    โดยสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 ทั้งนี้ ในการต่ออายุสัญญาดังกล่าวประกอบด้วยหลายขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน โดยภายหลัง ครม. มีมติอนุมัติแล้ว สธค. จะต้องเร่งดำเนินการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้ทันก่อนสัญญาฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลง

    เห็นชอบ MOU โครงสร้างพื้นฐาน-คมนาคม ‘ไทย-สเปน’

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงคมนาคมและการเคลื่อนย้ายอย่างยั่งยืนแห่งราชอาณาจักรสเปน ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงคมนาคมและการเคลื่อนย้ายอย่างยั่งยืนแห่งราชอาณาจักรสเปน มีจุดมุ่งหมายที่จะกำหนดกรอบความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง จึงได้มีการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อกำหนดขอบเขตและกระชับความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งของทั้งสองประเทศ

    เรื่องนี้ คค. ขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งในมิติต่าง ๆ ได้แก่

      (1) ระบบราง
      (2) ถนน และการขนส่งทางบก
      (3) ท่าเรือ และการขนส่งทางน้ำ และ
      (4) การบิน

    ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และการพัฒนาโครงการนำร่อง การให้คำปรึกษา คำแนะนำทางเทคนิคและความช่วยเหลือในการจัดทำและดำเนินโครงการ การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดประชุม สัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการฝึกอบรมและโครงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ

    โดย คค. แจ้งว่า การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ และการดำเนินกิจกรรมภายใต้ขอบเขตความร่วมมือต่าง ๆ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ เช่น (1) ได้รับการแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ด้านระบบราง อาทิ การวางแผนและออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้บุคลากรของไทยมีความรู้ ความสามารถในการพัฒนามาตรฐานระบบรางของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน (2) ได้รับการสร้างความตระหนักรู้และความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีแนวทางในการลดอัตราผู้เสียชีวิตและอุบัติเหตุบนท้องถนน (3) เสริมสร้างการยกระดับความร่วมมือด้านท่าเรือ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของท่าเรือและระบบโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและภูมิภาค และ (4) การบินของไทยมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค

    รับทราบผลการก้ไขปัญหา PM2.5 ปี’67

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบ/เห็นชอบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการ ตามที่ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก.พ.ร. รายงานว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ตามข้อ 2.2) ซึ่ง ก.พ.ร. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ได้พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดให้การลดหรือการควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษทางอากาศ (PM2.5) เป็นตัวชี้วัด (KPLs) ที่สำคัญของแต่ละจังหวัด โดยนำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ของ ทส. ที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาเป็นกรอบในการพิจารณา สรุปได้ ดังนี้

      1. จังหวัดเป้าหมายตามมาตรการฯ ที่สามารถกำหนดให้มีการประเมินตัวชี้วัดค่าเฉลี่ยรายปีของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตาม Joint KPIs ภายใต้ Agenda ประเด็นที่ 5 การลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 39 จังหวัด โดยแบ่งเป็น

      • จังหวัดเป้าหมายที่ดำเนินการกำหนดเป็นตัวชี้วัดอยู่แล้ว จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม
      • จังหวัดเป้าหมายที่กำหนดตัวชี้วัดในการประเมินเพิ่มเติม จำนวน 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา เลย หนองคาย อุบลราชธานี นครพนม เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี บุรีรัมย์ มุกดาหาร สกลนคร และอุดรธานี

      2. จังหวัดเป้าหมายที่จะนำมากำหนดให้มีการประเมินตัวชี้วัดดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 15 จังหวัด เนื่องจากมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในระหว่างปี 2567 ทำให้มีข้อมูลไม่ครบรอบปีที่จะนำมาใช้ในการประเมินตามตัวชี้วัดค่าเฉลี่ยรายปีของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) หรือยังไม่มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ดังนี้

      • จังหวัดเป้าหมายที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้วแต่ข้อมูลยังไม่เพียงพอ จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ สิงห์บุรี นครนายก บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
      • จังหวัดเป้าหมายที่ยังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท อ่างทอง เพชรบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และหนองบัวลำภู

      3. ข้อเสนอแนะให้กรมควบคุมมลพิษติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศสำหรับจังหวัดที่ยังไม่ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดค่าเป้าหมายสำหรับใช้ประเมินในปีถัดไป

      4. ประโยชน์ของการจัดการเพื่อดูแลปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดจะช่วยลดต้นทุนการสร้างความเสียหายต่อคุณภาพดิน น้ำ และการเติบโตของสิ่งมีชีวิตในป่ารวมทั้งความหลากหลายด้านชีวภาพ ซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล ในวิสัยทัศน์ที่ 3 ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ในการยกระดับเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้มากขึ้น 3-4 เท่า พร้อมที่จะเข้าสู่การเป็นครัวของโลก รวมทั้งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่าวชาติและชาวไทย ค่าเสียโอกาสที่เกิดจากปัญหาสุขภาพจากการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หรือค่าใช้จ่ายในการป้องกันมลพิษและการสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งอาจสร้างความเสียหายโดยรวมถึง 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี

    แจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม พ.ศ. … และเห็นชอบให้ ดศ. เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม (ระบบ Cell Broadcast) และเห็นชอบให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะในการพัฒนาระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างระเบียบฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการจัดระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม สำหรับรับข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งเตือนประชาชนตามกฎหมาย และส่งต่อข้อมูลนั้นไปยังอุปกรณ์สื่อสารของประชาชนผ่านระบบของผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม และกำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งเตือนประชาชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แจ้งข้อมูลโดยใช้ระบบการแจ้งเตือนข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม

    ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการแจ้งข้อมูลที่สามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนรับรู้กรณีเกิดเหตุร้าย เหตุฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ในการป้องกันและลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสามารถนำข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาช่วยรองรับการตัดสินใจและสามารถบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องมีแนวทางระเบียบและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่ชัดเจนสำหรับการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม ในการบูรณาการสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาการแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

    โดยในการศึกษาเกี่ยวกับการเตือนภัยระดับชาติเพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนประกอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 รวมถึงอำนาจหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ของ ปภ. ไม่ครอบคลุมเหตุฉุกเฉิน (Emergency) ทั้งหมด นอกจากนี้ การเตือนภัยในภาวะฉุกเฉินในหลาย ๆ กรณีไม่ครอบคลุมตามอำนาจหน้าที่ของ ปภ. สำหรับโครงสร้างของข้อความแจ้งเตือนภัย

    ดศ. จึงได้ยกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการ และให้ ดศ. ประสานกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อลดความซับซ้อน

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เพิ่มเติม