ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำความรู้จัก Pride Month กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จัก Pride Month กับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

16 มิถุนายน 2024


พิเศษ เสตเสถียร

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Pride_Month#/media/File:Rainbow_flag_breeze.jpg

เดือนมิถุนายนนี้ผ่านไปที่ไหน ๆ ก็จะเห็นการประดับประดาตกแต่งด้วยสีรุ้งหลากสี อันเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

LGBTQ+ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัว เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศโดย L–Lesbian, G–Gay, B–Bisexual, T–Transgender(แปลงเพศ) และ Q – Queer (คนที่ไม่จำกัดตนเองเป็นเพศใด ๆ) ส่วนเครื่องหมาย + ตอนท้ายก็หมายความว่ารวมพวกบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ

ผมเป็นคนที่ไม่ได้เป็น LGBTQ+ ประเภทใด ๆ แต่เห็นเขามีการเฉลิมฉลอง Pride Month ไปทั่ว ก็เลยสนใจไปศึกษารายละเอียดของ Pride Month และผลทางกฎหมายของกลุ่มบุคคล LGBTQ+ เหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง

Pride Month เกิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 1969 ที่ Stonewall Inn ในเมืองนิวยอร์ก เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผู้คนในบาร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ได้ลุกขึ้นต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันในสังคม

ประธานาธิบดี Bill Clinton ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น “Gay & Lesbian Pride Month” (เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน) ต่อมา ประธานาธิบดี Barack Obama ก็ได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month” (เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ) และประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนาย Joe Biden ก็เพิ่งประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น Pride Month ของพวก LGBTQI+ โดยเพิ่ม I – Intersex (ผู้ที่มีสภาพเพศที่ผิดปกติมาตั้งแต่เกิด) เข้าไปอีกตัวอักษรหนึ่ง แต่บางคนก็เห็นว่าเป็นการหาเสียงทางการเมืองของนาย Biden เพราะใกล้เลือกตั้งครั้งใหม่

ส่วนธงสีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์ของพวก LGBTQ+ นี้ ก็ออกแบบโดยศิลปิน Gilbert Baker (ซึ่งก็เป็นเกย์) เปิดตัวในปี ค.ศ. 1978 เป็นแถบสี 8 สี หมายถึงความหลากหลายทางเพศ การออกแบบนี้ได้รับการแก้ไขหลายครั้ง ธงสีรุ้งในปัจจุบันประกอบด้วยแถบสี 6 แถบ ได้แก่ แดง สีส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน และม่วง

ในเรื่องของกฎหมาย ก็มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศของประเทศไทยมีชื่อว่า “พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558” โดยมีเหตผลในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า

“โดยที่ปัจจุบันไม่มีมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่ชัดเจนส่งผลให้บุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร สมควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบ้ติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี”

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ยึดหลักการไม่เลือกปฏิบัติระหว่างเพศในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยได้นิยามคำว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ไว้ว่า

“การกระทำหรือไม่กระทำการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด”

สร้างกลไกในการร้องเรียนและเยียวยาผู้ถูกเลือกปฏิบัติ โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ แล้วก็ยังมี “คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” (“คณะกรรมการ วลพ.”) ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

ในกรณีที่คณะกรรมการวลพ. วินิจฉัยว่า การกระทำใดเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ก็ให้มีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีใดที่เห็นเหมาะสม เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งให้การชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายด้วย

ดูเหมือนเราจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังว่ามีการร้องเรียนอันเนื่องมาจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศกัน แต่ในต่างประเทศจะมีการอ้างกันอยู่เสมอโดยเฉพาะคดีแรงงาน เมื่อลูกจ้างมิได้รับค่าจ้าง การโปรโมท การซุบซิบนินทา หรือแม้แต่การใช้ห้องน้ำ ก็มักจะอ้างว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเสมอ ซึ่งก็จะเป็นปัญหาให้กับนายจ้างไม่น้อย

กฎหมายที่กลุ่ม LGBTQ+ ยังเฝ้ารออยู่ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพราะในปัจจุบันการก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส สมควรมีกฎหมายรองรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าว

เข้าใจว่า กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วและกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ของวุฒิสภา

ถ้ากฎหมายฉบับนี้มีผ่านรัฐสภาและผลใช้บังคับเมื่อไหร่ นอกจากจะเป็นที่สมใจแก่กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งรอคอยสิทธิเช่นนี้มานานแล้ว ก็จะเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับกฎหมายไทย นับตั้งแต่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ตั้งแต่ปี พ.ศ 2478 เลยทีเดียว