ThaiPublica > Native Ad > ความมั่นคงไฟฟ้าสั่นคลอน เมื่อ ‘PDP 2024’ มุ่งเป้าลดกำลังการผลิต กฟผ. เหลือ 17%

ความมั่นคงไฟฟ้าสั่นคลอน เมื่อ ‘PDP 2024’ มุ่งเป้าลดกำลังการผลิต กฟผ. เหลือ 17%

27 มิถุนายน 2024


หลังจากที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้นำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567 – 2580 หรือ “Power Development Plan : PDP 2024” ออกมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เดิมทีแผน PDP ฉบับใหม่นี้เริ่มจัดทำกันมาตั้งแต่ปี 2564 ช่วงปลายสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามกำหนดการเดิมนั้น คาดว่าจะนำมาใช้ในปี 2565 ปรากฏว่าแก้กันไป แก้กันมา กว่าเสร็จ ทำให้การบังคับใช้แผน PDP ฉบับใหม่ล่าช้าออกไป 2 ปี ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์กันไปต่างๆนานา

สำหรับการจัดทำแผน PDP 2024 ฉบับนี้จะอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1. เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) 2. ต้นทุนค่าไฟฟ้า อยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) 3. ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) และการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีทางเลือก โดยมีเป้าหมายลดการปล่อย CO2 ในภาคการผลิตไฟฟ้า ภายในแผนจึงกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ต้องนำก๊าซไฮโดรเจนมาผสมกับก๊าซธรรมชาติ และส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน, พลังงานน้ำสูบกลับ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆมาใช้ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน, การตอบสนองด้านโหลด(Demand Response) และแหล่งพลังงานแบบกระจายตัว (Distributed Energy Resource) เป็นต้น

ดังนั้น ในการพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิต และการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ ตั้งแต่ปี 2574 – 2580 จึงกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้า (GWh) จากพลังงานสะอาด หรือ พลังงานหมุนเวียนใหม่เอาไว้ ณ ปลายแผน ปี 2580 ต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ตามแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan)

โดยในช่วงปี 2567-2580 กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ และระบบกักเก็บพลังงานของโรงไฟฟ้าทุกประเภทจะมียอดรวมอยู่ที่ 60,208 เมกะวัตต์ (ไม่รวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพัน) ประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์, รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ , อื่นๆ (DR, V2G) 2,000 เมกะวัตต์ , พลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ในช่วงปี 2567-2580 ได้กำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าเอาไว้ที่ 34,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ พลังลม 5,345 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์ เป็นต้น

จากการปรับสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยให้น้ำหนักไปที่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนกำลังจะเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก ตามที่กำหนดไว้ในแผน PDP 2024 ส่งผลทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลง

“ปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 29% ของกำลังการผลิตโดยรวม ช่วงปลายแผน PDP 2024 ในปี 2580 ถูกปรับลดลงเหลือ 17% หรือ ประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ อาจทำให้ความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศถูกสั่นคลอน เนื่องจาก กฟผ.เหลือกำลังผลิตไม่เพียงพอจะเข้ากู้คืนระบบ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจากกรณีระบบผลิต หรือ ระบบส่งไฟฟ้าของประเทศมีปัญหา”

ดังบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา สปป.ลาว ส่งผลทำให้กำลังผลิตไฟฟ้า 1,300 เมกะวัตต์ ที่ต้องส่งเข้าระบบไฟฟ้าของไทยหายไปทันที และความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลงจากมาตรฐานปกติอยู่ที่ 50 เฮิร์ท แต่ระหว่างที่ระบบตอบสนองความถี่อัตโนมัติกำลังทำงาน เพื่อรักษาระบบอยู่นั้น ปรากฎโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 37 ราย ได้ปลดเครื่องผลิตไฟฟ้า ดีดตัวเองออกจากระบบ ทั้งที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ความถี่ของระบบไฟฟ้าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าเสียกำลังผลิตไปอีก 2,516 เมกะวัตต์ (เทียบเท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประมาณ 3 โรง) และเกิดไฟฟ้าดับทั้งในภาคเหนือ กลาง และอีสาน กว่า 30 จังหวัด

ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติจึงสั่งการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่อย่างเร่งด่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ.โดยสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และเครื่องกังหันก๊าซที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 5-30 นาที เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนลำตะคอง โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าวังน้อย ทำให้สามารถกลับมาจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 50 นาที นับตั้งแต่เกิดเหตุ

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ชี้ให้เห็นว่า เมื่อถึงยามคับขัน โรงไฟฟ้าเอกชนต่างหนีเอาตัวรอด ยอมจ่ายค่าปรับ ยกเว้น กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องเข้าไปช่วยพยุงระบบและกู้ระบบกลับคืนมา

ที่ผ่านมาถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า กรณีที่กระทรวงพลังงานให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าจนทำให้กำลังการผลิตของรัฐมีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อเสนอแนะ “ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำหนดกรอบ หรือ เพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า และปริมาณไฟฟ้าสำรองของภาคเอกชนที่อาจส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ให้สอดคล้อง และใกล้เคียงกับความเป็นจริง ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่น หรือ ศาลอื่นได้”

ปรากฎว่าในแผน PDP 2024 ก็ไม่ได้มีการกำหนดกรอบ หรือ เพดานการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนเอาไว้อย่างชัดเจน ตามศาลรัฐธรรมนูญแนะนำแต่อย่างใด ขณะเดียวกันกลับลดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในช่วงปลายแผนเหลือเพียง 17% ซึ่งประเด็นนี้นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สนพ. ชี้แจงกว้างๆว่า “การจัดทำแผน PDP 2024 ในครั้งนี้ ได้คำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้พิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.และภาครัฐให้เหมาะสมแล้ว โดยการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่นี้ ได้คำนึงถึงความมั่นคงไฟฟ้าประเทศเป็นหลัก”

สำหรับข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นของการกำหนดกรอบ หรือ เพดานปริมาณไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของภาคเอกชนที่อาจส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนนั้น ในแผน PDP 2024 ได้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าใหม่ จากเดิมใช้เกณฑ์ Reserve Margin กำหนดให้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองโดยรวมไม่ต่ำกว่า 15% ส่วนแผน PDP ฉบับใหม่ เปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ “Loss of Load Expectation : LOLE” แทน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า หรือ โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับ คำนวณออกมาเป็นจำนวนชั่วโมงต่อปีที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเกินความสามารถในการจ่ายไฟฟ้า โดยอัตราที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 0.7 วันต่อปี หรือ ไม่เกิน 16.8 ชั่วโมงต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานให้เหตุผลที่ต้องนำเกณฑ์ “LOLE” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีความหลากหลายของประเภทโรงไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนสูงขึ้น การนำเกณฑ์ LOLE มาใช้จะคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้า รวมทั้งลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Profile) และการพิจารณาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าตลอดทุกช่วงเวลา จึงมีความเหมาะสมกว่าการใช้เกณฑ์เดิม Reserved Margin ที่พิจารณาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าครอบคลุมในทุกช่วงเวลา

ดังนั้น การใช้เกณฑ์ LOLE จึงมีความเหมาะสมกว่าการใช้เกณฑ์ Reserve Margin ที่พิจารณาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไม่ครอบคลุมในทุกช่วงเวลา และไม่พิจารณาถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้า

จากการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไปสู่พลังงานสะอาดตามที่กล่าวข้างต้น โดยทยอยปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลงแล้ว หากเกิดวิกฤตพลังงาน หรือ เหตุฉุกเฉินที่คาดไม่ถึง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ถามว่า กฟผ.จะเอากำลังผลิตที่ไหนมากู้ระบบให้กลับคืนมา โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงในยามคับขันเป็นเรื่องที่สำคัญ ตนเท่านั้นที่จะต้องเป็นที่พึ่งของตนเอง การไปยืมจมูกคนอื่นหายใจ หรือ หวังพึ่งพาโรงไฟฟ้าเอกชน ก็อาจเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างท่วงที อาจทำให้เกิดความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในฐานะที่ กฟผ.เป็นกลไกของรัฐในการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงขอฝากไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. ให้ช่วยพิจารณาทบทวน หรือ ปรับเพิ่มกำลังผลิตของภาครัฐให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพียงพอที่จะรับมือวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต