ThaiPublica > คนในข่าว > DIB TALK ครั้งที่ 2 สองตัวอย่างเล็กๆกับความยั่งยืน “บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม” ต้นแบบบ้านลดคาร์บอนในเมือง – “ชุมชนกับป่า” อยู่ร่วม ไม่เบียดเบียน

DIB TALK ครั้งที่ 2 สองตัวอย่างเล็กๆกับความยั่งยืน “บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม” ต้นแบบบ้านลดคาร์บอนในเมือง – “ชุมชนกับป่า” อยู่ร่วม ไม่เบียดเบียน

28 พฤษภาคม 2015


เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 24 พฤษภาคม 2558 ณ ห้อง ดร.ถาวร พรประภา ออดิธอเรียม ชั้น 5 ตึกสยามกลการ ป่าสาละ จัดงานเสวนา DIB TALK (Do It Better Talk) ครั้งที่ 2 เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นความยั่งยืน โดยมีบุคคลหลากหลายอาชีพที่ลงมือเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนด้วยวิถีของพวกเขาเองร่วมแลกเปลี่ยน ในหัวข้อ “ในฐานะคนตัวเล็กๆ เราจะทำอะไรดีๆ ให้โลกได้บ้าง”

ผู้ร่วม DIB TALK ประกอบด้วย

ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day “นักสื่อสาร DIB”

ทรงกลด อดีตนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอ ที่ผันตัวมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร a day นิตยสารzcongขวัญใจคนรุ่นใหม่ ทรงกลดเชื่อว่าด้วยพลังของนักสื่อสาร เขาสามารถทำหน้าที่เล่าเรื่องต่างๆ เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจปัญหา เกิดแรงบันดาลใจ และสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในวงกว้างได้ ทรงกลดตั้งข้อสงสัยว่า เหตุที่งานภาคสังคมยังเข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่ในกระแสหลักอาจเป็นเพราะขาดนักสื่อสารที่ดี ทุกวันนี้ทรงกลดทำงานสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านงานเขียน การเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมที่พาคนเมืองไปสัมผัสประเด็นสังคมต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง

พ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ “ผู้นำชุมชน DIB”

ในฐานะผู้นำชุมชน พ่อหลวงพรมมินทร์เชื่อว่า การพัฒนาชุมชนต้องอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองได้2อย่างยั่งยืนเขาจึงเริ่มต้นโครงการพัฒนาชุมชนที่ใส่ใจทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกลุ่มฝึกอบรมอาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบรรเทาปัญหาความยากจน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เคยเสื่อมโทรม สร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ พัฒนากระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากน้ำตก ทำให้คนทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีไฟฟ้าใช้ และขายคืนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง คนและป่าจึงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

อ.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ :”นักเศรษฐศาสตร์และเจ้าของบ้าน”ยั่งยืน” DIB”

นักเศรษฐศาสตร์ด้านพลังงาน อดีตกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 ของ4รัฐธรรมนูญ (คณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด) และเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป ผู้พัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใช้พลังงานชีวมวลเพื่อการใช้พลังงานอย่าง “ยั่งยืน” รวมถึงยังเปลี่ยนบ้านตนเองเป็น “ต้นแบบ” บ้านยั่งยืน ด้วยการออกแบบให้เป็นบ้านประหยัดพลังงานและน้ำ มีสวนผักและฟาร์มผลิตอาหารได้เอง ลดรอยเท้าคาร์บอนและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการสวิง (SWING: Service Workers in Group Foundation)”เพื่อนพนักงานบริการ (ทางเพศ) DIB”

สุรางค์ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและคนชายขอบในสังคม เธอจึงก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ 3(สวิง) ขึ้นเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ อาทิ การฝึกทักษะด้านต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ให้พนักงานบริการ เพื่อให้พวกเขามีความรู้มากขึ้นหากต้องการเปลี่ยนอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ยังให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ ด้วยการจัดตั้งคลินิกตรวจโรค จัดหาถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นคุณภาพมาจำหน่ายให้พนักงานบริการในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะถุงยางจากการบริจาคไม่สามารถหาได้อย่างสม่ำเสมอ และสินค้าที่จำหน่ายในตลาดมีราคาสูงเกินไป

ในตอนที่1 ได้เล่าเรื่องราวปัญหาความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ โดยนางสาวสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ตอนที่ 2 จะนำเสนอแนวคิดในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและธรรมชาติ ของ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์และเจ้าของบ้าน “ยั่งยืน” และพ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลาผู้นำชุมชน บ้านแม่กำปอง จ. เชียงใหม่

บ้านในเมืองต้นแบบลด คาร์บอน

อ.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
อ.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านพลังงาน ผู้พัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใช้พลังงานชีวมวลเพื่อการใช้พลังงานอย่าง “ยั่งยืน” รวมถึงยังเปลี่ยนบ้านตนเองเป็น “ต้นแบบ” บ้านยั่งยืน ด้วยการออกแบบให้เป็นบ้านประหยัดพลังงานและน้ำ มีสวนผักและฟาร์มผลิตอาหารได้เอง  ลดรอยเท้าคาร์บอนและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการทำบ้านยั่งยืนว่า

“ผมเป็นอาจารย์อยู่คณะเศรษฐศาสตร์ ครุ่นคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มาเป็นเวลานาน ดูเหมือนจะตกผลึกในตัวเองว่าถ้าเศรษฐศาสตร์ไม่กลับทางจะไม่มีทางไปต่อ เราก็เลยขอยกตัวอย่างที่บ้านของเรา “บ้านต้นคิดทิพย์ธรรม” ภรรยาผมชื่อทิพย์ ฟังจากชื่อแล้ว ต้นเป็นแค่คนคิดเท่านั้น ถ้าถามในรายละเอียดอาจจะตอบได้ไม่มาก คนลงมือทำคือคุณทิพย์ ก็จะมาพูดในฐานะของพ่อบ้านเชื่อมโยงกับวิชาเศรษฐศาสตร์ของเรา

เศรษฐศาสตร์มีหลายคำนิยาม แต่ที่มักจะพูดอยู่เสมอคือ เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อสนองต่อความต้องการอันไม่จำกัด ถ้ามีความต้องการยังไม่จำกัด ทรัพยากรที่เหลืออยู่จำกัดมันจะไปรอดหรือไม่ เวลาเรามองปัญหา หลวงปู่ชาบอกว่า เวลาเรามองจะมองพุ่งออกไปข้างนอกเหมือนไฟฉาย อาจจะดูว่าใครทำผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่สิ่งที่อาจจะไม่ได้คิดถึงคือตัวเองว่าเราทำอะไรบ้าง ท่านก็เลยให้เรามองแบบเป็นเทียน เทียนก็จะเห็นทั้งผู้อื่นและเห็นทั้งตัวเราเอง ถ้าเกิดว่าเราจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วบ้านเรามีส่วนทำอะไรบ้างถ้าเขาต้องผลิตมาให้เรา

บ้านต้นคิดใช้ไฟ 300 หน่วย/เดือน ถ้าไฟนี้มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 3.2 ตัน/ปี ต้องใช้ถ่านหิน 30 ตันตลอดระยะเวลา 20 ปี แล้วก็ต้องมีพื้นที่ป่าเพื่อที่ต้องมาดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยเฉพาะบ้านเราบ้านเดียวอีกประมาณ 2.7 ไร่ แค่นี้ทุกคนในบ้านก็หนาวแล้ว สุดท้ายต้องมีการปล่อยกากเถ้าของถ่านหิน 247 กิโลกรัม/ปี รวม 20 ปีก็เกือบ 5 ตัน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าบ้านเราใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

DSCF9340

บ้านของเรากว่าจะเสร็จก็เหนื่อยเหมือนกัน สร้างเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จริงๆ สร้างไม่ยาก เอาแบบบ้านประหยัดพลังงานมาจากกระทรวงพลังงาน มีเพื่อนแนะนำให้ใช้โฟมเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อป้องกันความร้อน เสร็จแล้วจะมีการฉาบปูนรอบบ้าน การฉาบปูนในที่เอียงเป็นเรื่องโหดและหินมาก จนในที่สุดก็ออกมาเป็นบ้าน บ้านเราไม่มีเครื่องปรับอากาศ จุดสำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ที่โฟมอย่างเดียว อยู่ที่ 2 องค์ประกอบหลัก องค์ประกอบแรกต้องป้องกันทางทิศตะวันตก เพราะช่วงบ่ายแสงแดดจะโจมตี ต้องเหลือพื้นที่ให้มีต้นไม้หรือระแนงก็ได้ เอาห้องน้ำ ห้องครัว บันไดไว้ทางทิศตะวันตกหมด เมื่อแดดมาจะเป็นฉนวนได้ส่วนหนึ่ง องค์ประกอบที่ 2 คือ ต้องมีลมเข้า-ลมออกตรงข้างบนสุด ตอนนี้บ้านเรากำลังจะติดโซลาร์เซลล์ด้วย

ข้างบ้านเรามีบ่อน้ำขนาดใหญ่ มีคนถามว่าทำไมให้มันใหญ่ขนาดนี้ ตอบง่ายๆ เลยว่าไม่มีเงินถม พอไม่มีเงินก็ทิ้งไว้เป็นบ่อน้ำ เราเคยตั้งความหวังว่าในบ้านเราจะมีต้นไม้ 100 ชนิด ในพื้นที่ 1 ไร่ ตอนนี้เราก็บรรลุเป้าหมายนี้แล้ว และยังปลูกเพิ่มไปได้อีก

“ปลูกผัก-เลี้ยงปลา”แค่บริหารจัดการให้ดีขึ้น

สิ่งที่สนุกคือการปลูกผักในบ้าน นับที่กินได้ก็มีสัก 60 ชนิด เวียนมาให้กินเล็กๆ น้อยๆ สิ่งที่สำคัญคือความสะอาด ปลอดภัย โดยเฉพาะเห็ดถ้าเราปลูกกินเองนี่อร่อยมากเลย ตอนแรกเราก็ทำเล็กๆ ตอนหลังเราก็ทำโรงเห็ดเป็นเรื่องเป็นราว นำไปแบ่งให้เพื่อนๆ กินด้วย

เราเก็บน้ำจากหลังคาได้มาก ตอนแรกเก็บใส่ตุ่ม แต่น้ำมาได้ไม่นานก็เต็ม เพราะฉะนั้นอย่าหวังให้โอ่งเก็บน้ำ เอาไปประดับบ้านดีกว่า เราก็ขุดเป็นบ่อเก็บน้ำใต้ดิน แต่ก็ไม่พออีก เราก็เลยต่อลงบ่อ ในบ่อน้ำนั้นลูกบอกว่าอยากเลี้ยงปลาคาร์ฟ แต่ราคามันแพงมาก ก็เลยบอกลูกว่าเอาปลาทับทิมแล้วกัน ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นหมัน ไม่แพร่พันธุ์ ปรากฏว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ ปลาทับทิมที่เป็นหมันคือปลาที่ได้รับฮอร์โมนให้แปลงเป็นเพศผู้ แต่ผมไปซื้อมาในรุ่นที่เขาไม่ได้รับฮอร์โมน ก็ได้ปลาทับทิมเต็มสระ แล้วก็มีปลายี่สก มีปู เอามาทำเป็นปลาแดดเดียว บ้านผมก็เลยมีปลาทับทิมที่มีไข่ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการจัดการกับความต้องการของเรา แต่ความต้องการเราไม่ได้ลดลง เพียงแค่เราจัดการความต้องการให้ดีขึ้น เพียงแต่ว่ารอนิดหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นมาเอง สนุกดี

ผมไม่มีความเชี่ยวชาญอะไรสักเรื่องในบ้าน เพียงแต่ว่าเราลงมือทำแล้วสนุกกับมัน เช่น ภรรยาผมเขาช่วยขายข้าวอินทรีย์ พอมีข้าวอินทรีย์มาตั้งในบ้านมดก็ขึ้นไวมาก ก็เลยแก้ด้วยการเอาแป้งมาโรยรอบๆ ขออย่าให้เป็นช่องก็พอ เพื่อนๆ ชอบมาก ลดปัญหาเรื่องการใช้สารเคมี บ้านก็หอม เราก็ได้ฝึกฝนเด็กๆ ด้วย

สอดส่อง “ความปกติ” ปรับลดการใช้สารเคมีในบ้าน

DSCF9353

นี่เป็นแคมเปญของลูกสาวตอนอยู่ ม. 1 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังต้องตัดผมเท่าติ่งหู ที่มีระเบียบว่า คนไหนผมเท่าติ่งหูถือว่ามีระเบียบวินัย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่มันเป็นวินัยมากมายที่เด็กทำทำไม่ได้ เช่น คุยกันในห้องเรียนสนั่น ลูกสาวผมก็ไปทำในโรงเรียนให้เข้าใจว่า ตกลงแล้วอะไรกันแน่คือสิ่งที่นักเรียนเองอยากให้มีในห้องเรียน วินัยแบบไหน แล้วตกลงมันสำคัญมากกว่าหรือน้อยกว่า “ติ่งหู” นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ชวนคิดเรื่องความปกติ

อีกอย่างที่เป็นเรื่องปกติมานานแล้วว่า เราต้องใช้แชมพูทุกวัน ในที่สุดก็ลองไปเปิดดูว่าในแชมพูมีสารเคมีกี่ชนิด ผมก็ลองเอาแชมพูที่ผมใช้ พบว่ามี 30 ชนิด เพื่อนผมบอกว่าลองสระด้วยน้ำธรรมดาสิ วันแรกๆ จะแปลกๆ หน่อย แต่วันต่อไปจะเข้าที่เอง เขาสถาปนาให้เราว่าถ้าจะปกติก็ต้องใช้แชมพู นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากจะให้ทุกท่านลองคิดดู

DSCF9354

พลังของเราไม่ได้มีแค่ในบ้าน มีไปถึงนอกบ้านด้วย มันคือพลังที่ยิ่งใหญ่ เราจัดทริปไปที่ชุมพรเมื่อปี 2552-2553 พาเด็กไปดูธนาคารต้นไม้ ธนาคารปูม้า พาเด็กไปดูสันทรายชายหาด พาเด็กที่อยู่ในห้องเรียนเดียวกันกับลูกไปเดินดูกัน ถามว่าไปดูแล้วมีพลังตรงไหน สิ่งที่เป็นพลังคือตอนที่เราไปดูเราไม่พูดอะไรสักอย่าง แต่ตอนจบเราชวนชาวบ้านในพื้นที่มาเล่าให้ฟังว่าตกลงในแต่ละพื้นที่มันเป็นอะไร ที่นี่จะสร้างโรงเหล็ก ที่นี่จะสร้างโรงไฟฟ้า ที่นี่จะสร้างโรงงานนิวเคลียร์ คือ แผนของรัฐที่มีอยู่ ทำให้คนที่ไปเที่ยวนั้นเกิดความคิดที่ว่ามันใช่ไหม ก็เกิดวงคุยใหญ่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ชาวบ้านนึกออกว่าจะสื่อสารกับคนเมืองอย่างไร คนไปเที่ยวนี่แหละครับ เขาก็เอาพื้นที่ไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนโยบาย ไม่ใช่การท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์ธรรมดา เป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่

จริงๆ แล้วเราจัดการกับความต้องการของเราได้ บ้านต้นคิดตอนนี้ปล่อยคาร์บอนอยู่ประมาณ 8 ตัน/ปี ถ้าบ้านในลักษณะเดียวกัน อุปกรณ์ใกล้เคียงกัน มีแอร์ ก็จะปล่อยประมาณ 12 ตัน/ปี เราก็ลดมาแล้ว 4 ตัน เห็นว่ารถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการปลายปีนี้ เราก็ตั้งเป้าว่าเมื่อรถไฟฟ้าเปิดเราจะต้องเหลือให้ได้ 5 ตัน/ปี ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขน้อยลง มีความต้องการน้อยลง เพียงแต่จัดการกับความต้องการได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์กลับทางไม่ได้แปลว่าเราจะไปใช้ชีวิตแย่ลงกว่าเดิม”

“ชุมชนกับป่า” อยู่ร่วม ไม่เบียดเบียน ใช้ “น้ำ” สร้าง “ไฟฟ้า”

ด้าน พ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่กำปอง จ. เชียงใหม่ ผู้นำชุมชนที่เชื่อว่า การพัฒนาชุมชนต้องอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เขาจึงเริ่มต้นโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เคยเสื่อมโทรม สร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ พัฒนากระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากน้ำตก พ่อหลวงพรมมินทร์เล่าถึงการเริ่มต้นทำงานว่า

DSCF9370
พ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่

“พูดถึงแม่บ้านแม่กำปองก็เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ลักษณะบ้านเล็กในป่าใหญ่ มีจำนวน 130 กว่าหลังคาแค่นั้นเอง มีประชากร 380 กว่าคน เก่าแก่อยู่พอสมควรอยู่มา 130 กว่าปี

หมู่บ้านเดิมไม่มีอะไรเลย มีแต่ป่าแต่เขา มีอาชีพอย่างเดียว คือ เก็บใบเมี่ยง แต่ตอนนี้มีอาชีพหลากหลายขึ้น ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผมมีโอกาสได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 สมัยนั้นยังเป็นวาระ คราวละ 5 ปี ผมอยู่ 3 สมัยด้วยกัน วาระสุดท้ายอยู่จนเกษียณ ตัวเองมีความตั้งใจที่อยากจะแก้ไขปัญหาให้ชุมชน จะทำอย่างไรให้คนกับป่าอยู่กันอย่างเกื้อกูล พึ่งพา พร้อมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากร ใช้ประโยชน์ให้สูงสุด

คำว่า “แม่กำปอง” หมายถึง ดอกกำปองที่มีอยู่ตามแม่น้ำต่างๆ เมื่อก่อนแม่กำปองไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง อาชีพ รายได้ ชื่อเสียง ไม่มีใครรู้จัก ในหมู่บ้านขาด “ทุน” ในการประกอบอาชีพ ในปี 2540 ผมก่อตั้งสหกรณ์ไฟฟ้า เพราะเมื่อก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ แม่กำปองเป็นหมู่บ้านแรกที่ใช้ “น้ำ” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในการสร้างไฟฟ้า เป็นสหกรณ์ที่เป็นสถาบันการเงินแรกของหมู่บ้าน อันที่สอง คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เริ่มต้นจากคนที่มีเงินน้อยที่สุด เริ่ม 20 บาท/เดือน ใครกำลังมาก 400-500 ก็แล้วแต่ มาจนถึงตอนนี้มีเงินทุนหมุนเวียน 3 ล้านกว่าบาท ฝากได้-ถอนได้ เดือนละ 1 ครั้งของทุกวันที่ 1 ของเดือน

สร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้าง “ทุน” ให้คนประกอบอาชีพ

DSCF9374

จากนั้นก็วางแผนให้หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว จะให้ทำธุรกิจอย่างอื่นก็มองไม่เห็นทาง แต่หมู่บ้านเรามีธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไม่เหมือนพี่น้องที่อยู่ข้างล่าง เป็นหมู่บ้านที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีอัธยาศัยที่ดี สิ่งเหล่านี้น่าจะนำไปสู่การท่องเที่ยวได้ ก็พยายามทำกันเอง ทั้งที่ไม่มีทุน

การทำเมี่ยงเป็นทุกอย่างของเขา ไม่มีพื้นที่ทำนา ผมก็เลยคิดว่าหากมีการท่องเที่ยวก็อาจจะช่วยสร้างอาชีพอื่นให้เขาได้ ใช้เวลาทำความเข้าใจและเตรียมงานอยู่ 4 ปี ก็ช่วยกันทำป้ายซุ้มหมู่บ้าน ทำทางขึ้นน้ำตก โดยแบ่งคนในหมู่บ้านเป็น 6 กลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างคน แบ่งงานผู้ใหญ่บ้าน

นอกจากนี้ยังมีการนวดสมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อก่อนคนที่ออกจากอยู่ไฟหลังการคลอดก็จะมีการ “นั่งสมุนไพร” เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ตอนนี้ก็พัฒนาให้เป็นการอบ ทุกอย่างใช้วัตถุดิบธรรมชาติหมด ส่วนเมี่ยงใบแก่ ที่ไม่มีราคาแล้ว เราก็คิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้ก็มาคิดทำหมอนสมุนไพรใบชา เป็นแห่งแรกของเชียงใหม่ เพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ยังมีส่วนของโฮมสเตย์ หน้าหนาวหนาวมาก หน้าร้อนก็เย็นสบายตลอดทั้งปี ตอนนี้เส้นทางก็มาถึงหมู่บ้าน ทะลุไปอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนได้แค่ 23 กม.

DSCF93701

การปลูกเมี่ยงปลูกกาแฟของเราจะปลูกแทรกไปในป่า ใช้กฎระเบียบ ความเชื่อทางศาสนา บวชป่า สืบชะตาป่าไม้สายน้ำ เมล็ดกาแฟส่งหลายที่ แปรรูปเอง ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย

สิ่งหนึ่งที่เน้นคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน สิ่งที่เป็นอุปสรรคก็มีชาวบ้านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง หลังจากที่เปิดให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ได้หนึ่งปีกว่า ก็ต้องไปพึ่งพาทุนเพื่อการทำงานวิจัยของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย- รูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน) ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจ

แต่หลังจากนั้นความเจริญเข้าไป การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น คนละทิ้ง ลืม การเลี้ยงดูตนเอง เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ผมก็เลยต้องไปพึ่ง สกว. ร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ทำวิจัยอีก ทำให้พลิกฟื้นสภาพเดิมๆ ขึ้นมา

ผมเน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากร มีกฎกติกา ระเบียบในการดูแลรักษาป่าไม้ ห้ามสร้างบ้านขาย มีกฎการใช้ไม้ มีคณะกรรมการในการบริหารชุมชน โฮมสเตย์มีคิวก็เปลี่ยนคิวกันไป ทุกอย่างเป็นคิวหมด ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน หมอนวด

สุดท้าย คือการ บริหารจัดการรายได้ สิ่งหนึ่งที่ท่านที่ไปเที่ยวโฮมสเตย์ ได้ให้อยู่แล้วคือการให้ 100 บาท โดยปริยาย ซึ่งเงินที่หักได้ก็จะแบ่งให้สหกรณ์ไฟฟ้า กองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน ฝ่ายจัดการประชาสัมพันธ์อีก กองทุนสวัสดิการชุมชน ทุนการดำเนินงานคณะกรรมการ

สหกรณ์ฯ เมื่อสิ้นปีคืนกำไรให้สมาชิกในลักกษณะเงินปันผล และยังมีการจ่ายให้การเกิด ตาย เรียนจบ หรือรับขวัญสมาชิกเด็กเกิดใหม่ 1,000 บาท ต่อไปผมจะเปลี่ยนไม่ให้เงินสด จะให้เป็นสมุดเงินฝากให้พ่อแม่ต่อยอด จบการศึกษาก็ให้ตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท ตั้งแต่ ม.ปลายถึง ปริญญาเอก