ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่า สตง.คนใหม่ เผยเล็งเชื่อมฐานข้อมูล ‘มหาดไทย-กรมภาษี-บัญชีกลาง-ที่ดิน’ ตรวจสอบการใช้งบฯ

ผู้ว่า สตง.คนใหม่ เผยเล็งเชื่อมฐานข้อมูล ‘มหาดไทย-กรมภาษี-บัญชีกลาง-ที่ดิน’ ตรวจสอบการใช้งบฯ

19 มิถุนายน 2024


เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงวิสัยทัศน์ และแนวทางการบริหารงานตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมกับเปิดตัวโฆษก และทีมงาน ณ ห้องโถงรับรองชั้น 1 อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

‘มณเฑียร เจริญผล’ ผู้ว่า สตง.คนใหม่ เตรียมเชื่อมฐานข้อมูล ‘มหาดไทย – กรมภาษี – บัญชีกลาง – ที่ดิน’ ลุยตรวจการใช้จ่ายงบฯ พร้อมตั้งโฆษกฯ แถลงผลสอบทุกเดือน

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงวิสัยทัศน์ และแนวทางการบริหารงานตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมกับเปิดตัวโฆษก และทีมงาน ณ ห้องโถงรับรองชั้น 1 อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยนายมณเฑียร กล่าวว่า ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเชื่อมโยง และนำนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มาสู่การปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ และแนวทางการบริหารงานตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 6 ปี นับจากนี้จะมุ่งเน้น “สร้างคนเก่งคนดี มีความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ยึดมั่นจิตสาธารณะ” ทั้งนี้ เพื่อนำองค์กรการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในช่วงของการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น “องค์กรตรวจสอบ และเสริมสร้างวินัยการเงินการคลัง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของหน่วยรับตรวจ สาธารณชน และชุมชนตรวจเงินแผ่นดินในระดับสากล”

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า “สร้างคนเก่งคนดี” ถือเป็นเป้าหมายแรก เนื่องจากทรัพยากรมนุษย์เป็นสินทรัพย์และองค์ประกอบสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ โดยจะวางระบบการบริหารและพัฒนาที่มีความต่อเนื่องในทุกสายงานและทุกระดับ เพื่อให้บุคลากรของ สตง. มีความเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านในเชิงลึก และมีความรอบรู้ในทางกว้างในรูปแบบสหสาขาวิชา (Multi – Disciplinary) เพื่อรองรับทิศทางการตรวจสอบที่เน้นการตรวจสอบเชิงบูรณาการ รวมถึงการตรวจสอบในเรื่องที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะกำหนดกลยุทธ์ และกระบวนการภายใน เพื่อเสริมสร้าง สนับสนุน และส่งเสริมคนดีให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเข้มแข็ง โดยใช้กระบวนการในการบริหารและพัฒนาบุคลากรที่มีความโปร่งใสและยุติธรรม รวมถึงกำหนดแนวทางในการจูงใจบุคลากร เช่น การมอบรางวัล ประกาศเกียรติคุณ ฯลฯ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรผู้ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นคนดีและทำความดี

นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

นอกจากนี้ ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้ส่งผลกระทบ (Disrupt) ทั้งต่อชีวิตประจำวัน และการทำงานของทุกองค์กรอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สตง. จึงจำเป็นต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ที่มีความพร้อม และมีสมรรถนะสูงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการตรวจเงินแผ่นดินให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด “มีความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล” จึงครอบคลุมทั้งในส่วนของ Software Hardware และ Peopleware กล่าวคือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ CIO (Chief Information Officer) ได้มีการเตรียมความพร้อมและวางรากฐานทางด้าน Software โดยวางระบบการทำงานแบบดิจิทัลทั้งหมด ทั้งในส่วนของงานตรวจสอบ (ระบบ e-Audit) และงานสนับสนุน (ระบบ e-Office)

สำหรับด้าน Hardware ได้มีการเตรียมความพร้อมในการวางแผนจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์และระบบเครือข่ายในการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นในการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดีอี กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน ฯลฯ รวมถึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการตรวจสอบโดยใช้ระบบดิจิทัลไปพร้อมกัน ส่วนด้าน Peopleware ได้มีการอบรมพัฒนาข้าราชการกลุ่มนำร่องเพื่อให้มีความรู้ ทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานเฉพาะทาง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Data Analytic) การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการตรวจสอบ ฯลฯ และจะดำเนินการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรของ สตง.ในทุกสายงาน ทุกตำแหน่ง และทุกระดับอย่างต่อเนื่องต่อไป ตลอดจนพัฒนา Web Application เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดงาน และการแข่งขันกีฬาให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงาน

“ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในช่วงวาระ 6 ปี ของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผลสัมฤทธิ์ของการสร้างบุคลากร สตง. ให้เป็นทั้งคนแก่งและคนดี มีความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบกับการมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมบุคลากรให้เป็นผู้เสียสละ ร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดเอาประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน จะเป็นการยืนยันถึงอัตลักษณ์ของคนตรวจเงินแผ่นดินที่ “ยึดมั่นจิตสาธารณะ” และจะเป็นการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งให้แก่ สตง. ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักดีว่า “เงินแผ่นดินคือเงินของประชาชนทั้งชาติ” ซึ่งเป็นความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานให้แก่ สตง. และคนตรวจเงินแผ่นดินทุกคนได้เทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดมา” นายมณเฑียร กล่าว

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ โฆษก สตง.

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารองค์กร การประชาสัมพันธ์นโยบาย บทบาท ภารกิจ และเผยแพร่ผลการดำเนินงาน ผลการตรวจสอบของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ สตง. ออกไปสู่สาธารณชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตรงประเด็นและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่โฆษก สตง. พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานโฆษกในส่วนภูมิภาคทั้ง 15 ภูมิภาค ซึ่งรับผิดชอบเขตพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีหน้าที่หลักในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแถลงข่าว ให้ข่าว ชี้แจงข้อเท็จจริง และการประชาสัมพันธ์ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและระงับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ทางราชการ โดย สตง.จะจัดให้มีการแถลงข่าวผลงานการตรวจสอบของ สตง. พร้อมตอบข้อสอบถามของสื่อมวลชนเป็นประจำทุกเดือน ณ ห้องโถงรับรองชั้น 1 อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน