ThaiPublica > คอลัมน์ > รถไฟฟ้าสายสีส้ม “บทเรียนที่ต้องเรียน”

รถไฟฟ้าสายสีส้ม “บทเรียนที่ต้องเรียน”

12 มิถุนายน 2024


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สร้างเสร็จแล้วในปี 2566 แต่ยังเปิดใช้ไม่ได้ น่าเห็นใจประชาชนคนที่เฝ้ารอคอยจะใช้รถไฟฟ้าสายนี้ยิ่งนัก อะไรเป็นเหตุให้ไม่สามารถเปิดใช้รถไฟฟ้าสายนี้ได้ตามกำหนดในเดือนมีนาคม 2567 ต้องติดตาม !

1. “ความสูญเสีย” จากการไม่สามารถเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกได้

แม้ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกจะเสร็จแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากไม่มีผู้เดินรถ ซึ่งการประมูลหาผู้เดินรถตลอดทั้งสายถูกผูกรวมกับการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่การประมูลดังกล่าวมีปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ ทำให้ยังไม่สามารถหาผู้เดินรถได้

การเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้า จะทำให้ประเทศเสียหายเท่าไหร่?

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท/ปี ประกอบด้วย

(1) ค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออก 495 ล้านบาท/ปี
รฟม.จะต้องเสียค่าดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว ประกอบด้วยสถานียกระดับ 7 สถานี เป็นเงิน 103 ล้านบาท/ปี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี เป็นเงิน 392 ล้านบาท/ปี รวมเป็นเงิน 495 ล้านบาท/ปี

(2) ค่าเสียโอกาสเก็บค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก 1,764 ล้านบาท/ปี
รฟม.ประเมินว่าจะเก็บค่าโดยสารส่วนตะวันออกในปีแรกที่เปิดให้บริการได้ 1,764 ล้านบาท/ปี ซึ่งถ้าเปิดช้าจะทำให้เสียโอกาสได้รับค่าโดยสารจำนวนนี้

(3) ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ 40,644 ล้านบาท/ปี
รฟม.ได้ประเมินค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการประหยัดเวลาการเดินทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ และการลดมลพิษ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 40,644 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ เดิม รฟม.มีแผนจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกในเดือนมีนาคม 2567 แผนใหม่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วสุดในปี 2570 ล่าช้าไปถึง 3 ปี ทำให้ประเทศเสียหายถึง 1.3 แสนล้านบาท

ถามว่า “ความสูญเสียอันใหญ่หลวงนี้ ใครจะรับผิดชอบ ?”

2. “บทเรียน” จากการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

การไม่ยึดมั่นในเกณฑ์ประมูล ยอมเปลี่ยนตามการร้องขอของผู้ซื้อเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) เพียงรายเดียวที่ขอให้เปลี่ยนด้วยข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ทั้งๆ ที่ รฟม.ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี แต่สุดท้ายกลับล้มการประมูล แล้วกลับมาใช้เกณฑ์เดิม แสดงให้เห็นว่าเกณฑ์เดิมนั้นดีอยู่แล้ว แต่เกณฑ์ใหม่ที่ได้รับการเปลี่ยนตามการร้องขอนั้นไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการฟ้องร้องหลายคดี เป็นเหตุให้โครงการล่าช้า

เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีกในการประมูลในอนาคต อย่าให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก “สร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่ได้ใช้” ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล นับเป็น “บทเรียนที่ต้องเรียน”

3. “ผลพลอยได้” จากการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้เกิด “ผลพลอยได้” สำหรับการประมูลโครงการอื่นในอนาคตทั้งของ รฟม. และหน่วยงานอื่น (หากโครงการอื่นจะยึดถือเป็นโมเดล) ดังนี้

(1) หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลได้หลังจากปิดขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) แล้ว โดยเป็นไปตามการร้องขอของบริษัทที่ซื้อ RFP แม้ว่าการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจะทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ก็ตาม

(2) หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถล้มการประมูลได้ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้การประมูลเสร็จเร็ว (แต่สุดท้ายกลับล่าช้า) แม้ว่าการล้มการประมูลจะทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ก็ตาม

(3) เมื่อเปิดการประมูลครั้งใหม่ ไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ประมูลใหม่ซึ่งถูกเปลี่ยนตามการร้องขอของผู้เข้าประมูล สามารถกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิมได้ สรุปได้ว่าเกณฑ์ประมูลสามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้

(4) การประมูลครั้งใหม่ หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลได้ แม้ว่าการเปลี่ยนคุณสมบัติจะทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ก็ตาม และแม้ว่าจะทำให้ผู้รับเหมาทั้งโลกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเหลือแค่ผู้รับเหมาไทยเพียง 2 รายเท่านั้นก็ตาม

(5) การประมูลครั้งใหม่ หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้นำกลุ่มบริษัทที่ยื่นประมูลได้ แม้ว่าการเปลี่ยนคุณสมบัติจะทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ก็ตาม

(6) การประมูลครั้งใหม่ หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้น (เดิมก็สูงอยู่แล้ว) ได้ และสูงกว่าโครงการอื่นที่ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกันได้ แม้ว่าการเพิ่มคะแนนจะทำให้เกิดผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ก็ตาม

(7) การประมูลครั้งใหม่ หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถให้เงินสนับสนุนแก่เอกชนที่ชนะการประมูลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการประมูลครั้งแรกได้ แม้จะเกิดข้อครหาว่าเป็นการประมูลที่ไม่ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติก็ตาม

4. สรุป

ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการประมูล หวังว่าจะสามารถช่วยให้ รฟม.เร่งเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกได้ภายใน 3 ปี หลังจากลงนามในสัญญา และจะสามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ รฟม.สามารถเปิดให้บริการเดินรถตลอดทั้งสายได้ภายในปี 2573 (เดิม รฟม.วางแผนจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2569)

แต่อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าจะต้องมีผู้รับผิดชอบกรณีเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้าไปถึง 3 ปี สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติถึง 1.3 แสนล้านบาท

หมายเหตุ: ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์- Dr.Samart Ratchapolsitte