ThaiPublica > Data Visualization > Infographic > เอกชนโวย! มหาวิทยาลัยรัฐแย่งงาน

เอกชนโวย! มหาวิทยาลัยรัฐแย่งงาน

21 มิถุนายน 2024


จากผลการศึกษาปัญหามหาวิทยาลัยของรัฐแย่งงานเอกชนเมื่อปี 2559 ที่จัดทำโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2555 – 2559 มีมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง เข้าไปรับงานที่ปรึกษาให้กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจประมาณ 4,219 โครงการ คิดเป็นวงเงินตามสัญญา 14,027 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีงานบางโครงการเข้าข่ายเป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือ สถาปัตยกรรมควบคุม แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิศวกร หรือ สภาสถาปนิก โดยผลการศึกษาของ สตง.ได้มีข้อสังเกตว่า การที่มหาวิทยาลัยของรัฐ และอาจารย์มหาวิทยาลัยไปรับงานที่ปรึกษาโครงการกันเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานประจำในฐานะอาจารย์ที่ต้องทำหน้าที่ และอุทิศเวลาให้กับการเรียน การสอน การวิจัย การบริการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมวันละ 7 ชั่วโมง ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่องมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2558 และยังต้องแบ่งเวลาไปทำงานที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆอีกวันละ 8 ชั่วโมง ตามที่กระทรวงการคลังโดยศูนย์ที่ปรึกษาไทยได้กำหนดมาตรฐานในการคำนวณระยะเวลาการทำงานของที่ปรึกษาเอาไว้

เวลาผ่านมา 6 ปี สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ไปตรวจค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับงานจ้างมหาวิทยาลัย หรือ สถาบันอุดมศึกษา มาเป็น “ที่ปรึกษา” หรือ “จ้างศึกษา” ผ่านแพลตฟอร์มระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และเว็บไซต์ actai.co พบว่ามหาวิทยาลัยของรัฐยังคงเข้าไปรับงานที่ปรึกษาให้กับส่วนราชการกันเป็นจำนวนมาก เฉพาะปี 2566 ปีเดียว มีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั้งหมด 85 แห่ง เข้าไปรับงานที่ปรึกษา หรือ รับจ้างศึกษาโครงการต่างๆให้กับส่วนราชการประมาณ 1,265 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณตามสัญญาจ้าง 2,887 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 1,016 โครงการ จัดซื้อจัดจ้างโดยใช้ “วิธีเฉพาะเจาะจง” คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80.32% ของโครงการทั้งหมด โดยมูลค่างานที่น้อยที่สุด 9,000 บาท ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่มูลค่างาน 142 ล้านบาท

ที่ผ่านมาสมาชิกของสภาวิศวกร และสภาสถาปนิก เคยทำหนังสือร้องเรียนพร้อมข้อเสนอแนะไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), กรมบัญชีกลาง , กระทรวงการคลัง และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาปนิก (ฉบับ) พ.ศ. ..สภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อภาคเอกชนมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากภาคเอกชนต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายประจำ ทั้งการลงทุนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่อง หรือ ค่าเช่าอาคารสถานที่ทำการ ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลทุกปี ได้รับยกเว้นภาษีทุกประเภท อาคารสถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ก็มาจากเงินภาษีของประชาชน แต่ถูกนำมาใช้ในการรับจ้างหารายได้แข่งกับเอกชน และยังได้รับสิทธิและเงื่อนไขพิเศษ ตามมติ ครม.ที่เปิดช่อง ให้หน่วยงานของรัฐสามารถจ้างมหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษา โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้อีกด้วย ถามว่าภาคเอกชนจะเอาอะไรไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัยของรัฐ?

ทั้ง ๆที่มหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ หน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัย ควรต้องอุทิศเวลา ทุ่มเททรัพยากรของทางราชการ ทั้งอาจารย์ บุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆไปในเรื่องการเรียนการสอน ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือ สนับสนุนงานด้านวิชาการ วิจัย และวิชาชีพชั้นสูงให้แก่ภาคเอกชนได้มีทักษะความรู้ที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น (Upskill – Reskill) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน แต่กลับเบียดบังเวลาราชการที่ต้องใช้ในการเรียนการสอน มาหารายได้เสริม และใช้ทรัพยากรของรัฐ มารับจ้างหน่วยงานของรัฐแข่งกับภาคเอกชนโดยไม่มีขอบเขต ซึ่งสุดท้ายกลับกลายเป็นรายได้ส่วนตัวเพิ่มจากเงินเดือนประจำในฐานะอาจารย์ โดยอ้างว่าเป็นการให้บริการด้านวิชาการ งานวิจัย หรือ วิชาชีพชั้นสูง

…สมาชิกสภาวิศวกร และสภาสถาปนิก จึงขอฝากไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เคยอยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ให้ช่วยพิจารณาปรับปรุง หรือ แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงวิธีการหารายได้ของมหาวิทยาลัยของรัฐในลักษณะนี้ให้มีความถูกต้อง และชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือ สถาปัตยกรรมของภาคเอกชนในระยะยาว โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐต้องเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันด้วยคุณภาพ ควรยกเลิกการให้สิทธิหน่วยงานของรัฐใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างมหาวิทยาลัยของรัฐ แบบเฉพาะเจาะจง และที่สำคัญหากเกิดคดีพิพาทกันระหว่างหน่วยงานของรัฐกับมหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว สุดท้ายรัฐก็คือผู้เสียหาย เพราะหน่วยงานของรัฐไม่สามารถฟ้องร้องกันเองได้ รวมทั้งการปรับปรุงระบบภาษีให้มีความเป็นธรรมต่อภาคเอกชน…

  • เอกชนโวย! มหาวิทยาลัยรัฐแย่งงาน
  • เจาะงบฯปี’66 มหาวิทยาลัย 85 แห่ง รับงานที่ปรึกษา 1,256 โครงการ 2,887 ล้าน-ก.คมนาคมจ้างเยอะสุด