ThaiPublica > Sustainability > Headline > “เซ็นทรัล ทำ” ถอดแบบ 2 หลักการ สู่การปฏิบัติ ‘ความยั่งยืน’

“เซ็นทรัล ทำ” ถอดแบบ 2 หลักการ สู่การปฏิบัติ ‘ความยั่งยืน’

28 มิถุนายน 2024


กลุ่มเซ็นทรัล กางผลงานความยั่งยืน 4 BU ตั้งแต่ เซ็นทรัลกรุ๊ป เซ็นทรัลรีเทล (CRC) เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) โชว์จุดร่วมคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม-ลดการใช้พลังงาน-จับมือพันธมิตรสีเขียว

นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล มุ่งมั่นในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” โครงการเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล โดยหนึ่งในกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนคือ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญและการลงมือปฏิบัติในการอนุรักษ์ปกป้อง และแก้ไขปัญาสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ ขยะ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งล้วนเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของโลก

บทบาทและทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มเซ็นทรัล มี 2 ข้อสำคัญ คือ

(1) การให้ความสำคัญกับมนุษย์ที่เป็นผู้ใช้ทรัพยากรและเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น

นายพิชัย อธิบายว่า กลุ่มเซ็นทรัลเป็นองค์กรภาคเอกชนกลุ่มแรกในการขับเคลื่อน ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รวมถึงผลักดันให้สินค้าและกิจกรรมในชุมชนเป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อความยั่งยืนทางธรรมชาติ เช่น Say No to Plastic Bag เป็นต้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร และดำเนินโครงการสร้างความตระหนักรู้และฝึกทักษะให้กับเจเนอเรชั่นใหม่ เช่น พนักงาน นักเรียน เป็นต้น

(2) โครงการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง #GenerationRestoration 2 เป้าหมาย คือ (1) ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม และ (2) ป้องกันและหยุดยั้งการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดย นายพิชัย ยกตัวอย่างโครงการที่อยู่ภายใต้แคมเปญ Love the Earth เช่น

  • การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวคลอบคลุมพื้นที่มากกว่า 50,000 ไร่ ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำ
  • โครงการ Journey to Zero นำแนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์มาประยุกต์ใช้ เน้นการลดขยะที่ต้นทาง โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง การคัดแยกประเภทขยะ การรีไซเคิล เพื่อหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ และลดปริมาณขยะลงสู่หลุมฝังกลบ
  • การคัดเลือกสินค้าที่ส่งผลต่อความยั่งยืน เช่น มีตัวเลือกสินค้าที่เป็น Eco-products เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการผลิตอย่างรับผิดชอบ วัสดุย่อยสลายหรือรีไซเคิลได้สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน และฟื้นฟูดิน
  • กระบวนการในห่วงโซ่อุปทานที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเดิม เช่น การขนส่งโดยใช้พลังงานทางเลือก (รถบรรทุก EV) และการสนับสนุนพลังงานสะอาด โดยการใช้ โซลาร์เซลล์
  • การสนับสนุนชุมชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Community Climate Action : CCA)
นายพิชัย  จิราธิวัฒน์  กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล

อย่างไรก็ตาม บทบาทและทิศทางดังกล่าวเป็นโจทย์ที่บริษัทในเครือจะต้องนำไปปรับใช้ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN และบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) หรือ CENTEL โดยแต่ละบริษัทมีตัวอย่างการปรับใช้ ดังนี้

CRC: ใช้รถบรรทุกไฟฟ้า – ดันแพคเกจจิ้งสีเขียว

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ดำเนินมิติความยั่งยืนผ่าน RC “ReNEW” โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขวิกฤติสภาพอากาศโลก และมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กร Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยการดำเนินงานของ CRC มีดังนี้

(1) Reduce Greenhouse Gas Emissions (การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เช่น การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในการขนส่งสินค้ารวม 22 คัน และใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น การติดตั้งระบบทำความเย็นอนุรักษ์พลังงานในซูเปอร์มาร์เก็ต 777 สาขาทั่วประเทศ

(2) Navigate Environmental Responsibility (การสร้างสังคมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม) ไม่ว่าจะเป็น การอบรมเรื่อง ESG ให้พนักงานระดับผู้บริหาร สร้างทักษะและความพร้อมด้าน ESG ให้กับผู้บริหารและพนักงาน ผ่านโครงการ Future Skills Development ที่มีผู้เข้าอบรมมากกว่า 24,000 คน และ Strategic Camp ที่มีการสอดแทรกประเด็นด้านการจัดการพลังงาน และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดจนการจัดโปรแกรมเรื่อง ESG ร่วมกับคู่ค้ารายสำคัญ โดยร่วมมือกับคู่ค้า กว่า 135 ราย จัดโครงการอบรม Central Retail Logistics for SME and Sustainability Program เพื่อส่งเสริมการจัดการด้านความยั่งยืน

(3) Eco-friendly Materials (การส่งเสริมสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) เช่น การสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ร้อยละ 28 การสนับสนุนสินค้าแฟชั่นและบิวตี้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การจำหน่ายกางเกงยีนส์ แบรนด์ Wrangler จากคอลเลคชั่น Pineapple ที่มีส่วนผสมของใยสับปะรด และใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าการผลิตผ้าชนิดอื่น ตลอดจนมีคอลเลคชั่น Central Edition ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์โดยชุมชนกับดีไซน์เนอร์ไทยรุ่นใหม่ 24 คน แล้วนำวัสดุเหลือใช้กลับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดประโยชน์ ควบคู่กับการใช้ทักษะของคนในชุมชน เพื่อสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชน

(4) Waste Management Solutions (การจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ) ผ่านโครงการส่งฝาแลกฝัน ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด โดยนำฝาขวดน้ำพลาสติกเหลือทิ้งมารีไซเคิล และเปิดโอกาสให้นักศึกษาออกแบบ และผลิตเป็นชั้นวางหนังสือในห้องสมุดให้กับโรงเรียนที่มีความต้องการต่อไป

ในมิติการจัดการขยะ ยังมีเรื่องการรณรงค์คัดแยกขยะอย่างถูกวิธีกับทุกภาคส่วน การจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของขยะ การบริจาคอาหารส่วนเกินให้แก่ผู้เปราะบาง และการจำหน่าย Surprise Bags ในราคาประหยัด และการแปรรูปอาหารส่วนเกินที่ไม่สามารถบริโภคได้เป็นผลิตภัณฑ์ขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงและการนำขยะอาหารไปแปลงเป็นปุ๋ย

ทั้งนี้ CRC ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI World และ Emerging Markets และอยู่ในระดับ Top 5% ในกลุ่ม Retailing จากการประกาศผล Sustainability Yearbook 2024 โดย S&P Global

CPN: ติดโซลาร์ 80% ในศูนย์การค้า – สร้างพันธมิตรสีเขียว

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ใช้กลยุทธ์ ‘The Ecosystem for All’ โดยเน้นไปที่ Better People และ Better Planet ควบคู่กัน สะท้อนผ่านการออกแบบและการก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและน้ำ การใช้พลังงานสะอาดด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา และพื้นที่สีเขียว

CPN จะมุ่งเน้นไปที่การลดการใช้พลังงานภายในอสังหาริมทรัพย์ โดยปัจจุบันติดตั้งได้แล้วกว่า 80% ของจำนวนศูนย์การค้าทั้งหมด ผลิตไฟฟ้าได้ 26,011 MWh เพิ่มขึ้น 188% จากปี 2562 และมีเป้าหมายสร้างพื้นที่สีเขียว พื้นที่จอดรถจักรยาน ติดตั้ง EV Charging Station รวมกว่า 400 ช่องจอด ในศูนย์การค้า 40 แห่ง 19 จังหวัดทั่วประเทศ

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อธิบายว่า บริษัทวางบทบาทเป็น Place Maker ผู้พัฒนา ‘พื้นที่’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชน และ ‘สิ่งแวดล้อม’ เชื่อมโยงทั้ง Place-People-Planet

นอกจากนี้ CPN ยังจับมือกับพันธมิตร-คู่ค้า และผู้ประกอบการร้านค้า (Green partnership) กว่า 150 ราย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปีแรกสามารถผลักดันให้เกิดการลดพลังงานได้ 719 MWh และลดขยะฝังกลบได้กว่า 60 ตัน สอดคล้องกับโครงการ Green Partnership มีแบรนด์คู่ค้าชั้นนำกว่า 50 แบรนด์ รวม 1,000 สาขาทั่วประเทศเข้าร่วม ร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 719,171 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หวังมุ่งสู่ NET Zero 2050

ทั้งนี้ CPN ได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทชั้นนำในด้านความยั่งยืนอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์จากการประกาศผล Sustainability Yearbook 2024 โดย S&P Global 

CENTEL: ขยายพื้นที่สีเขียวในโรงแรม – ฟื้นฟูปะการัง

ขณะที่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) หรือ CENTEL ไม่ได้มีสโลแกนความยั่งยืนที่ชัดเจน แต่จะมุ่งเน้นไปที่ ‘ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม’ จากการดำเนินงานของบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม

วิธีการที่ CENTEL นำมาใช้คือ การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากร จัดการของเสียอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การเก็บข้อมูลและการวัดผลความคืบหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานและพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยมีตัวอย่าง ดังนี้

  • การดูแลรักษาพื้นที่สีเขียว สัดส่วนพื้นที่สีเขียวทั้งหมดของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา คิดเป็น 37% ของพื้นที่ทั้งหมด
  • โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นำร่องเป็นโรงแรมต้นแบบแห่งแรกของเครือเซ็นทารา ทำฟาร์มผักออร์แกนิก โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่บริเวณชั้น 26 ของโรงแรมปลูกผักและสมุนไพรตามฤดูกาลหลากหลายชนิด
  • โรงแรมในประเทศและต่างประเทศได้ร่วมกันปลูกต้นไม้รวม 1,009 ต้น ทั้งภายในพื้นที่โรงแรมและพื้นที่สาธารณะรอบโรงแรม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในโรงแรมและพื้นที่โดยรอบ พร้อมทั้งดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่และต้นไม้ท้องถิ่น อาทิต้นจามจุรี ต้นก้ามปู ต้นกระฮุง
  • โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังรอบโรงแรม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ไอส์แลนด์ รีสอร์ทและสปา มัลดีฟส์ และเซ็นทารา ราส ฟูชิ รีสอร์ท แอนด์ สปา มัลดีฟส์ ดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังรอบโรงแรม ด้วยวิธีการย้ายปลูกปะการัง (Transplantation) นำปะการังเขากวาง (Acropora) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora) ที่แตกหักตามธรรมชาติหรือตกหล่นบนพื้นทรายผูกติดกับโครงสร้างเหล็กเส้น และนำตัวโครงเหล็กวางลงใต้น้ำบนพื้นทราย ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูปะการังตั้งแต่ปี 2557 โดยทำกิจกรรมร่วมกับทั้งลูกค้าและพนักงานทุกเดือน โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ปลูกปะการังไปแล้วมากกว่า 1,000 กิ่ง

ทั้งนี้ เซ็นทารา เป็นกลุ่มโรงแรมแรกในไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน GSTC (Global Sustainable Tourism Council) ปัจจุบันมี 24 โรงแรมผ่านการรับรองแล้ว และตั้งเป้าภายในปี 2025 ทุกโรงแรมในเครือต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GSTC มีระบบภายในที่ใช้ในหลักในการดำเนินงาน ภายใต้ชื่อ Centara Earthcare ซึ่งเป็นมาตรฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเซ็นทาราที่ได้รับการรับรอง GSTC-Recognised Standard จาก GSTC ถือเป็นกลุ่มโรงแรมแรกในเอเชียที่นำเกณฑ์ของ GSTC มาใช้ในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจโรงแรม