ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลุยด้านความยั่งยืน 6 ปี ชุมชนเงินสะพัด 1.5 พันล้าน จ้างงานผู้พิการ 1,011 คน

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ ลุยด้านความยั่งยืน 6 ปี ชุมชนเงินสะพัด 1.5 พันล้าน จ้างงานผู้พิการ 1,011 คน

4 เมษายน 2024


(ซ้าย) นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัลและ (ขวา) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น

‘กลุ่มเซ็นทรัล’ หรือ ‘Central Group’ ในฐานะศูนย์กลางของธุรกิจในเครือ ยังคงตอกย้ำทิศทางดังกล่าวผ่านโครงการ “เซ็นทรัล ทํา” ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การสร้างสมดุลกับมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs-Sustainable Development Goals) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ตลอด 77 ปีของกลุ่มเซ็นทรัล ได้เริ่มปักธงทิศทางธุรกิจสู่ความยั่งยืนในปีที่ 70 หรือตั้งแต่ปี 2560 และปัจจุบันปี 2567 กลุ่มเซ็นทรัลได้ดำเนินโครงการ “เซ็นทรัล ทํา” มาแล้วกว่า 7 ปี ภายใต้การนำของ ‘พิชัย จิราธิวัฒน์’

นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า นับเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่กลุ่มเซ็นทรัล ได้ริเริ่มโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ โครงการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values – CSV) ระหว่างธุรกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

นายพิชัย กล่าวต่อว่า เซ็นทรัล ทำ หมายถึงการ “ร่วมกันลงมือทำ” เพื่อส่งมอบคุณค่าในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมต่อทุกภาคส่วน

“ด้วยความเชี่ยวชาญด้านค้าปลีกและบริการ…เราพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและยังสามารถส่งต่อองค์ความรู้ไปยังชุมชนใกล้เคียงผ่านศูนย์การเรียนรู้ ต่อยอดสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ลดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งมอบโอกาสทางอาชีพและส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนและครู และสร้างโลกสีเขียว” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ว่า กลุ่มเซ็นทรัลสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,700 ล้านบาทต่อปี สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนกว่า 150,000 ราย สร้างงานและสนับสนุนอาชีพคนพิการ 1,011 คนมุ่งสู่ Net Zero ด้วยการลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบกว่า 20,830 ตัน, ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา 170 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่า 114,200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ฯลฯ

  • “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” สวมหมวก ‘เซ็นทรัล’ ใช้พลังธุรกิจเชื่อมความยั่งยืน เร่งสปีดคนข้างหลัง-ประเทศ
  • เปิด 6 โครงการ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

    ความยั่งยืนมิติแรกของกลุ่มเซ็นทรัลคือ ‘ชุมชน’ โดย นายพิชัย บอกว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะมุ่งไปที่ 2 แกนหลักคือ ‘การพัฒนาศักยภาพ’ และ ‘ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน’

    นายพิชัย กล่าวถึงวิธีการว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพส่งเสริมสินค้าให้มีเอกลักษณ์เป็นที่ต้องการของตลาดสนับสนุนด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์และดีไซน์ต่างๆ รวมทั้งมอบช่องทางการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์พัฒนายกระดับสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ต่อยอดการท่องเที่ยวยั่งยืนในเชิงเกษตรอินทรีย์และเชิงวัฒนธรรมในบริเวณโดยรอบของชุมชน

    วิธีการดังกล่าวนำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มเกษตรกรและชุมชนต่างๆ อย่างยั่งยืนโดยในปี 2566 ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 44 จังหวัด สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชนต่างๆ กว่า 150,000 ราย สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน ผ่านการรับซื้อหรือสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายไปแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท

    โดยมีโครงการด้านพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ทั้งสิ้น 6 โครงการ ดังนี้

    (1) ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560 ที่เซ็นทรัล ทำ ร่วมกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ดำเนินโครงการวิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา บนพื้นที่ 9 ไร่ สนับสนุนโครงการด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ผลิตแหล่งอาหารที่ปลอดภัยกลับคืนสู่สังคมโดยให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาผลผลิต การรับซื้อ การสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างมั่นคง และยังสามารถแบ่งปันความรู้สู่ชุมชนใกล้เคียง

    นายพิชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันชุมชนแม่ทาได้ขยายผลการดำเนินงานสู่ การจัดทำโฮมสเตย์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีกิจกรรมเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน เช่น การเก็บไข่ไก่อารมณ์ดี, การลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน, การทำขนมปัง โดยดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 1 หลัง และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว ทั้งนี้ในอนาคตมีแผนที่จะร่วมกับ ททท. จัดทำแพคเกจ One Day Trip ทั้งหมดสามารถช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนในปี 66 มากกว่า 8.4 ล้านบาทโดยมีชุมชนเข้าร่วมกว่า 110 ราย โดยในส่วนของการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม 1,500 คนต่อปี สร้างรายได้จากการเข้าอบรมและท่องเที่ยวกว่า 3.8 แสนบาท

    (2)ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง โดยกลุ่มเซ็นทรัลสนับสนุนการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมผ้าทอมือโบราณอายุกว่า 200 ปี ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้เลือนหายตามกาลเวลา ต่อมาถูกยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าทอนาหมื่นศรี อบรมให้ลูกหลานชาวนาหมื่นศรีและนักเรียนโรงเรียนนบ้านควนสวรรค์ให้เป็นมัคคุเทศก์ในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ด้วยการจัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวในตำบลนาหมื่นศรีให้กับนักท่องเที่ยว

    นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2566 สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 9.2 ล้านบาท ครอบคลุมสมาชิก 155 ครัวเรือน ปัจจุบัน “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี” นับเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม โดยมีนักท่องเที่ยวและผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้ากว่า 21,000 คนต่อปี

    (3) ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านเทพพนา- สวนเทพพนา จ.ชัยภูมิ โดยสนับสนุนด้านการจัดจำหน่ายผลผลิตส่งเข้า Tops และจริงใจ Farmer’s Market สนับสนุนการก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เป็นต้นแบบด้านการทำเกษตรอัจฉริยะในภาคอีสาน เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การปลูกอะโวคาโด และเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตอื่นๆ เช่น เสาวรส ทุเรียน โอโซน แมคคาเดเมีย จากชุมชนใกล้เคียงเพื่อส่งขายให้กับธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล

    ทั้งนี้ ปี 2566 ศูนย์การเรียนรู้บ้านเทพพนา มีจำนวนสมาชิก 500 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 41 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวและผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้าเป็นจำนวนกว่า 10,000 คนต่อปี จำนวนผู้เข้าอบรมการปลูกอะโวคาโด 3,000 คนต่อปี และเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3,000 ไร่

    (4) ศูนย์การเรียนรู้การทำฟาร์ม เมล่อน Smile Melon จ.อยุธยา โดยกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปสนับสนุนปัจจัยการผลิตในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรือนเพาะปลูก อาคารคัดแยกผลผลิต เพื่อให้สามารถปลูกเมล่อนได้อย่างหมุนเวียน ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานโมเดิร์นเทรด ขยายผลสู่การรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมยกระดับ ศูนย์การเรียนรู้การทำฟาร์ม เมล่อน Smile Melon ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 15.2 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวและผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้าเป็นจำนวนกว่า 7,200 คนต่อปี

    (5) จริงใจฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต หรือตลาดจริงใจ โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 33 สาขา ใน 29 จังหวัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจริงใจ มาร์เก็ต จ. เชียงใหม่ 1 สาขา และในพื้นที่ศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในจังหวัดต่างๆ อีก 32 สาขา โดยในปี 2566 สามารถสร้างรายได้กว่า 231 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรกว่า 10,200 ครัวเรือน

    good goods (กุ๊ด กุ๊ดส์) ร้านจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นดีไซน์ร่วมสมัย

    (6) good goods (กุ๊ด กุ๊ดส์) ร้านจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นดีไซน์ร่วมสมัย ผลิตโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม “เซ็นทรัล ทำ” ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล โดยกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดจะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชนต่อไป นอกเหนือจากการอนุรักษ์สินค้าท้องถิ่นแล้ว เซ็นทรัล ทำ ยังมุ่งส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ต้องการสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น คนพิการในการพัฒนาทักษะด้านการผลิตสินค้า ผ่านการดำเนินโครงการตะกร้าสานผู้พิการ ร่วมมือกับสมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี เพื่อนำมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods

    โดยระหว่างปี 2562-2566 สามารถสร้างอาชีพให้ผู้พิการและเครือข่ายกว่า 200 คน สร้างรายได้ให้คนพิการในสมาคมผ่านการรับซื้อสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในร้าน good goods คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 12 ล้านบาท และสามารถสร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท จากการรับซื้อสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นจำนวน 39 ชุมชน

    อ่าน กลุ่มเซ็นทรัล เปลี่ยนโจทย์ทำบุญ ‘การศึกษา’ สู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน

    อ่าน “ซีพีเอ็น” ก้าวความยั่งยืนจาก “ข้างใน” กับการปลูก ESG ให้อยู่ในชีวิตประจำวัน

    ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการพัฒนาคน

    มิติที่สองคือ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม โดย นายพิชัย อธิบายว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะเน้นการสร้างโอกาสโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาให้กับเยาวชนผ่านการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ Project – Based Learning ที่เน้นลงมือปฏิบัติด้วยประสบการณ์จริง ต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในด้านต่างๆ

    นายพิชัย ยกตัวอย่างโครงการยกระดับการศึกษาโรงเรียนบ้านตากแดด จ.พังงา โดยกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปพัฒนาโรงเรียนให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ข้าวไร่ดอกข่า” พร้อมกับจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ดอกข่า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ สนับสนุนเครื่องซีลข้าวสูญญากาศและช่องทางการจำหน่าย สร้างรายได้จากการจำหน่ายข้าวไร่ดอกข่ากลับคืนสู่โรงเรียน

    ปัจจุบันโรงเรียนบ้านตากแดดมี นักเรียนเพิ่มขึ้นจาก 47 คนในปี 2559 เป็น 85 คนในปี 2566 ส่งผลให้โรงเรียนบ้านตากแดดเป็น โรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ของชุมชน ที่มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทุกปี

    ขณะที่ภายในองค์กร นายพิชัย ให้ข้อมูลว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีโครงกาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมและหลักสูตรอบรมต่างๆ การออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพนักงาน (Training Roadmap) กว่า 50 เส้นทาง และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสายงานกว่า 200 หลักสูตร ครอบคลุม 6 สายงานหลักของธุรกิจ ได้แก่ Merchandising, Marketing, Operation, Omni-Channel, Property และ Human Resource

    นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ในการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานที่เฉพาะเจาะจงกับหน่วยธุรกิจ เช่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ดำเนินโครงการอบรมภาษาจีนเพื่อการสื่อสารในงานบริการให้พนักงานกลุ่ม Central Pattana ในพื้นที่ การอบรมเรื่องความยั่งยืนให้กับพนักงานในกลุ่มธุรกิจ Central Retail และ Centara ตลอดจนการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารให้พนักงานกลุ่ม Central Restaurant Group เป็นต้น

    นายพิชัย เสริมว่า กลุ่มเซ็นทรัลยังจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งกายและจิตใจ ปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้คุณค่าของความหลากหลายและเสมอภาคด้วยแนวคิด DEI (Diversity หลากหลาย – Equity เท่าเทียม – Inclusion เปิดรับความแตกต่าง) ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมบทบาทและความสำเร็จของผู้บริหารหญิง สะท้อนความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งส่งเสริมการจ้างงานการจ้างงานผู้สูงอายุในตำแหน่งบริการลูกค้าหน้าร้าน รวมทั้งการจ้างงานคนพิการ 

    ตลอดจนซสอดแทรกแนวคิดด้านความยั่งยืน ภายในองค์กรผ่านการแข่งขันกีฬา 5 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล แบตมินตัน เทเบิลเทนนิส ขบวนพาเหรด การแข่งขันเชียร์ลีดเดอร์และกองเชียร์ และรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านแนวคิด the first ever carbon-neutral sports day in Thailand โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการขยะภายในงานอย่างมีประสิทธิภาพ

    มุ่งสู่ Net Zero เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน – ฟื้นฟูป่า

    ประเด็นสุดท้ายคือเศรษฐกิจหมุนเวียน และการฟื้นฟูสภาพอากาศ โดย นายพิชัย กล่าวถึงโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 2 โครงการ คือ โครงการจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus Management) และโครงการบริหารจัดการขยะพลาสติก (Plastic Waste Management)

    โครงการจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus Management) ร่วมมือกับมูลนิธิ SOS , Yindii เป็นต้น โดยในปี 66 บริจาคอาหารส่วนเกินไปกว่า 2,681,476 มื้อ ลดปริมาณขยะลงสู่หลุมฝังกลบ 641 ตัน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ได้ถึง 1,486 ตันคาร์บอน นอกจากนี้ อาหารส่วนเกินที่ไม่สามารถรับประทานได้ จะถูกนำไปแปรรูปขยะอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ

    โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติก (Plastic Waste Management) มุ่งเน้นการลดขยะพลาสติกผ่าน 3 แนวทาง คือ (1) ลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือ single-use plastic (2) เพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ และ (3) การส่งเสริมกระบวนการรีไซเคิล

    นายพิชัย ให้ข้อมูลว่า กลุ่มเซ็นทรัล จัดเก็บขยะขวดพลาสติก PET เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (upcycled) ในปี 66 ได้ 1,020,009 ขวด แบ่งเป็นดำเนินงานโดยเซ็นทรัล รีเทล จัดเก็บขยะขวดพลาสติก PET จากพื้นที่ธุรกิจ 492,009 ขวด และโครงการขวดเปล่าไม่สูญเปล่าดำเนินการโดย เซ็นทรัล ทำ รวบรวมขวดเปล่าได้ 528,000 ขวด เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เช่น กระเป๋า เสื้อกั๊ก หรือผ้าห่ม จำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods หรือส่งมอบให้กับผู้ประสบภัย

    นอกจากนี้เซ็นทรัลพัฒนายังได้ดำเนินโครงการ Journey to Zero คัดแยกขยะรีไซเคิลทุกประเภท เช่น พลาสติก กระดาษ อลูมิเนียม โลหะ ขวดแก้ว ได้กว่า 10,585 ตัน คิดเป็น 13% ของขยะทั้งหมด และโรงแรมในเครือเซ็นทารากว่า 37 แห่ง ยังได้ดำเนินโครงการ Plastics Only, Please (P-O-P) ถังขยะรูปทรงปลาทะเล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล โดยสามารถนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด 1.7 ตัน ในปี 66

    ด้านการฟื้นฟูสภาพอากาศ กลุ่มเซ็นทรัลตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด (Renewable Energy) ของธุรกิจในกลุ่ม รวมทั้งการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานและผู้บริหารในองค์กรคู่ค้า ลูกค้า พันธมิตร

    โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่าน Solar Rooftops โดยติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ กว่า 170 แห่ง ในพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัฒนา ,ห้างเซ็นทรัล โรบินสัน และไทวัสดุ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ,โรงแรมในเครือเซ็นทาราและโรงงานภายในเครือเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เองได้ทั้งหมด 114,200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ต่อปี นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า กว่า 1,356 สถานี ภายในพื้นที่ของหน่วยธุรกิจเซ็นทรัล รีเทล, เซ็นทรัลพัฒนา, โรงแรมในเครือเซ็นทารา อีกด้วย

    โครงการส่งเสริมลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากระบบขนส่งสินค้า โดยไทวัสดุมีการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Truck เข้ามาใช้ในระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน โดยปี 2567 มีจำนวนรถขนส่งขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 22 คัน สามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงกว่า 180,000 ลิตร

    ต่อมาคือการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดำเนินการผ่านการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (sustainable agriculture) และระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (regenerative agriculture) ควบคู่ไปกับการปลูกป่าแจกจ่ายต้นไม้ให้กับประชาชน

    ทั้งนี้ ปี 2566 สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่าได้กว่า 9,411 ไร่ ลดคาร์บอนได้ 7,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

    นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในปี 67 มีแผนดำเนินโครงการ Community Climate Action (CCA) ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว 50,000 ไร่ ใน 6 จังหวัด เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายในระยะเวลา 5 ปี ให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม 50,000 ไร่ ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน ชัยภูมิ จันทบุรี นครพนม และพังงา ที่ประสบปัญหาคุณภาพดินเสื่อมโทรมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    นายพิชัยเพิ่มเติมว่า “เซ็นทรัล ทำ” เชื่อว่าการเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดจากร่วมมือร่วมใจกันลงมือทำบูรณาการและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเจริญเติบโตรอบด้านในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ โดยหวังผลลัพธ์เชิงบวกสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระยะยาว เพื่อส่งมอบอนาคตที่มีคุณภาพให้กับสังคม ประเทศชาติ และคนรุ่นหลังต่อไป