ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 4)

ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 4)

6 มิถุนายน 2024


อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ต่อจากตอนที่3

สำหรับภาษีคาร์บอน และ HCFCs ที่เก็บจากส่วนที่ผลิตในประเทศและเก็บในส่วนที่นำเข้าและเครดิตคืนในส่วนที่ส่งออก ไม่ว่าประเทศไหนก็สามารถเริ่มทำตรงนี้ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเจรจาหรือตกลงอะไรกับประเทศอื่น

เนื่องจากในชุดมาตรการภาษี มีการเก็บในส่วนที่นำเข้าและชดเชยในส่วนที่ส่งออกอยู่แล้ว การเก็บภาษีตรงนี้จึงไม่ได้มีผลในเชิงลบมากนักกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตรงกันข้าม กลับน่าจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นในระยะ 3-5 ปีด้วย เพราะเศรษฐกิจจะปรับตัวไปในทิศทางที่ควรจะเป็น และสามาถแข่งขันได้ดีขึ้น

ดังนั้น จึงขอเพียงให้มีประเทศ 1-2 ประเทศนำมาตรการชุดนี้ไปใช้ ซึ่งอาจจะเป็นประเทศไหนก็ได้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ หรือจะมีระดับรายได้อยู่ที่ระดับสูง ปานกลางหรือต่ำ เมื่อมีการนำไปใช้จริง ประเทศอื่นๆก็สามารถจะเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตรงนี้ได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่า จะเห็นผลลัพท์ชัดเจนในเพียง 2-3 ปี (แต่ต้องกำหนดอัตราภาษีที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคตให้ชัดเจนเสียตั้งแต่วันแรก เพื่อให้ทุกคนรับรู้และลงมือปรับตัวทันทีแม้อัตราภาษีในช่วงแรกๆจะยังต่ำอยู่) ว่ามาตรการนี้ได้ผลดีเพียงใด จากนั้น ก็จะมีประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศหันมาทำตาม และได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน และก็จะดึงให้ประเทศอื่นหันมาทำตามๆกันในที่สุด

ส่วนมาตรการเก็บภาษีจากการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อนำเงินที่ได้ไปให้เป็นผลตอบแทนและแรงจูงใจให้ประเทศที่รักษาป่าไม้ของตนไว้และลดการปล่อยก๊าซมีเทนไปด้วยในเวลาเดียวกัน ตรงนี้ต้องใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงต้องมีการเจรจาและให้มีประเทศที่เข้าร่วมตกลงมากพอ ซึ่งไม่ง่าย

ดังนั้น ที่ต้องการคือให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง นำเสนอเรื่องนี้ให้พิจารณากันในเวทีระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะพิจารณากันโดยเทียบกับทางเลือกอื่นๆ และมีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม ผลกระทบกับประเทศต่างๆที่เข้าร่วม และผลกระทบการควบคุมก๊าซเรือนกระจกโดยรวม ว่าเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับข้อเสนออื่นๆที่พิจารณากันอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่า จะยังคงตกลงกันไม่ได้จนกว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤติทางสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน (เช่นแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์พังทลายจนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นหนึ่งเซ็นติเมตรในชั่วข้ามคืน) ทำให้แรงต่อต้านสำคัญต่างๆหายไป กลายเป็นความตื่นตระหนกว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างโดยเร็วแทน ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง ถ้าข้อเสนอนี้อยู่ในขั้นตอนที่มีการถกเถียงกันอยู่แล้ว และหลายฝ่ายตระหนักดีแล้วว่านี่เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด และได้ผลมากและเร็วที่สุด โดยมีผลกระทบทางเศรษฐกิจกับโลกโดยรวมน้อยที่สุด ก็จะสามารถถูกนำมาบังคับใช้ได้ในแทบจะทันที

แต่ผมเชื่อว่ามาตรการนี้โดยลำพัง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆยอมรับแม้จะมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้นแล้วก็ตาม เพราะต้นทุนการขนส่งและการเดินทางที่สูงขึ้นจะมีผลอย่างมากกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่เขาต้องแบกรับผลกระทบทางลบจากภาวะโลกร้อนที่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก่อนหน้านี้นานแล้ว และยังไม่ได้มีการรับผิดชอบความเสียหายในส่วนนี้แต่อย่างใด ดังนั้น ผมเชื่อว่าการจะให้มาตรการนี้จะได้รับการยอมรับจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้ จะต้องมีรับผิดชอบในส่วนของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาแล้วก่อนหน้านี้ด้วย

นี่จึงเป็นที่มาของข้อเสนออีกอันของผมที่จะต้องทำไปควบคู่กัน คือการให้ทุกประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ไม่นับก๊าซอื่น เพราะข้อมูลในอดีตยังดีไม่พอ) เฉพาะจากในส่วนการใช้เชื้อเพลิง (ไม่นับจากการตัดไม้ทำลายป่า) นับตั้งแต่ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นมาในปี 1850 ว่าจะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินอย่างน้อย 1 USD ต่อ CO2 1 ตัน โดยนับทุกประเทศ ไม่ว่าจะจนหรือรวย โดยเงินดังกล่าว จะต้องถูกนำไปให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่มีรายได้ต่อคนต่ำกว่าประเทศของตน โดยแต่ละประเทศจะให้เงินช่วยเหลือนี้แก่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ไม่เกิน 5% เพื่อป้องกันการโยกเงินไปให้แค่บางประเทศ ส่วนประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Development Countries – LDCs) ตามนิยามของธนาคารโลก (ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 45 ประเทศ ในแถบบ้านเราก็คือพม่า ลาว และกัมพูชา) ให้สามารถใช้เงินตรงนี้เพื่อพัฒนาประเทศตัวเองได้ทั้งหมดตราบใดที่ยังอยู่ในสถานะ LDCs แต่เมื่อเจริญจนพ้นจากการเป็น LDCs ไปแล้ว ก็จะต้องให้เงินส่วนที่เหลือแก่ประเทศที่รายได้ต่อหัวต่ำกว่า

เงินดังกล่าว ส่วนที่ยังไม่ได้จ่ายออกไปก็จะมีดอกเบี้ยทบต้นด้วย โดยอาจคิดให้เท่ากับอัตรากู้ยืมพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ โดยเริ่มนับตั้งแต่ปีที่ตกลงกัน ส่วนเงินที่ว่าเป็น 1 USD ต่อ CO2 1 ตันนั้น นี่คืออัตราต่ำสุด โดยอัตราที่แท้จริงจะตกลงกันอีกที โดยผู้มีอำนาจโหวตก็จะเป็นไปตามสัดส่วนของเงินที่ได้ให้ไปแล้ว คือประเทศไหนให้เงินมากกกว่า ก็จะมีอำนาจโหวตสูงกว่าประเทศที่ยังไม่ได้ให้เงินไปช่วยเหลือใคร

ส่วนการช่วยเหลือ (หรือการช่วยตัวเอง ในกรณี LDCs) จะต้องเป็นไปในเชิงการเปลี่ยนผ่านไป Net zero และช่วยในการปรับตัวจากสภาวะโลกร้อนเท่านั้น และที่สำคัญคือห้ามนำไปซื้ออาวุธหรือผ่อนชำระดอกเบี้ยจากการซื้ออาวุธ และห้ามนำไปใช้ในการป้องกันประเทศหรือสร้างความสงบเรียบร้อยในประเทศ เพราะนั่นจะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้เงินตรงนี้มาทำสงครามหรือสงครามกลางเมืองกัน

เงินกู้ เงินลงทุนจากภาคเอกชน หรือวงเงินค้ำประกัน ไม่ถือเป็นเงินช่วยเหลือตรงนี้ เพราะจะนับแต่เงินที่ให้เปล่าเท่านั้น โดยองค์กร CBOGT ที่กล่าวถึงในตอนที่แล้วจะเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ จดบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้

ที่อัตรา 1 USD ต่อ CO2 1 ตัน จะทำให้มีเงินก้อนนี้ราว 1.7 ล้านล้านเหรียญ และเพิ่มขึ้นราวปีละ 40,000 ล้านเหรียญ โดยประเทศที่มีภาระมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ สหรัฐฯ ($427billion) จีน ($261billion) รัสเซีย ($119billion) เยอรมัน ($94b) และ สหราชอาณาจักร ($75b) ซึ่งก็สามารถจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้มากมาย และน่าจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายสามารถยินยอมทำข้อตกลงทั้งหมดข้างต้นได้ แต่ปัญหาจะไปอยู่ที่ประเทศพัฒนาแล้วที่น่าจะพยายามบ่ายเบี่ยง และจะพยายามนำเสนอข้อเสนอลักษณะอื่นที่ไม่มีการให้เงินเปล่าแต่จะให้เป็นเงินกู้หรือความช่วยเหลือทางทหารและความมั่นคงแทน ดังนั้น ตัวแปรที่สำคัญจริงๆคือประเทศจีน ซึ่งถ้าหากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย สามารถเจรจาให้ประเทศจีนเข้าร่วมในข้อเสนอนี้ได้ พร้อมๆกับประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกา (ซึ่งมีความต้องการตรงนี้มากที่สุด) และบางส่วนของยุโรป เอเชียและอเมริกาใต้ นั่นก็จะเป็นการกดดันให้ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆต้องเข้าร่วมในข้อตกลงทั้งหมดนี้ในที่สุด

ส่วนประเทศไทยเราควรอยู่ตรงไหนในข้อเสนอนี้ ผมจะมานำเสนอต่อไปในตอนที่ 5 ครับ