ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กทม.จัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ ยุคผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ 4,298 โครงการ กว่า 2 พันล้าน ใช้วิธีเจาะจง 94%

กทม.จัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ ยุคผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ 4,298 โครงการ กว่า 2 พันล้าน ใช้วิธีเจาะจง 94%

23 มิถุนายน 2024


เปิดผลงานจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ กทม. ยุคผู้ว่าฯ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” 1 ปี 7 เดือน 4,298 โครงการ วงเงินกว่า 2 พันล้านบาท ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง 4,039 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 93.97%, e-bidding 242 โครงการ คัดเลือก 17 โครงการ – จัดซื้อ ‘คอมพิวเตอร์’ รายการยอดฮิต 1,270 โครงการ – รายการใหญ่สุดจัดซื้อคอมพิวเตอร์โรงเรียน 437 แห่ง ใช้งบฯ 93 ล้าน

สำนักข่าวไทยพับลิก้า รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อของ กทม. ในยุคของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2565 (ปีงบประมาณ 2566) เพราะจุดเริ่มต้นของโครงการการจัดซื้อ ภายใต้ยุคนายชัชชาติ และต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายน 2567 (ปีงบประมาณ 2567) สรุประยะเวลาทั้งหมด 1 ปี 7 เดือน หรือ 19 เดือน

โดยคีย์เวิร์ดสำคัญคือ การจัดซื้ออุปกรณ์, การจัดซื้อวัสดุ และการจัดซื้อครุภัณฑ์ แต่นอกจากนี้ หลายโครงการมักใช้วิธีการเขียนโครงการในลักษณะ “พ่วง” หลายวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่น ภายในโครงการเดียวกันมีทั้งการจัดซื้อวัสดุ จ้างซ่อมบำรุง รักษา และจ้างบริหาร แม้ว่าจะมีการจ่ายเงินนอกเหนือไปจากการจัดซื้ออุปกรณ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ แต่เนื่องจากในโครงการมีการจัดซื้อ จึงถูกนับรวมในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วย

ยุค “ชัชชาติ” จัดซื้อครุภัณฑ์ 4,298 โครงการ 94% ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง

จากภาพรวมพบว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. 2565 (ปีงบประมาณ 2566) – เม.ย. 2567 (ปีงบประมาณ 2567) มีโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ ทั้งหมด 4,298 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,093,454,579.43 บาท

ที่น่าสนใจคือ วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะกว่า 4,000 โครงการจาก 4,298 โครงการ ใช้“วิธีเฉพาะเจาะจง”

  • วิธีเฉพาะเจาะจง 4,039 โครงการ คิดเป็น 93.97% ใช้งบประมาณรวม 676,438,251.95 บาท
  • วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 242 โครงการ คิดเป็น 5.63% ใช้งบประมาณรวม 1,396,527,636.28 บาท
  • วิธีการคัดเลือก 17 โครงการ คิดเป็น 0.4% ใช้งบประมาณรวม 20,488,691.20 บาท

ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระบุว่า วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ-หน่วยงานรัฐมี 3 วิธี ได้แก่ (1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป แบ่งเป็น วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และวิธีสอบราคา (2) วิธีคัดเลือก และ (3) วิธีเฉพาะเจาะจง

เกือบทุกโครงการของหน่วยงานภายใต้สังกัด กทม. เลือกใช้วิธีเฉพาะเจาะจงมากกว่า 4,000 โครงการ นำมาสู่คำถามว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยส่วนใหญ่ มีเอกชนเพียงหยิบมือที่ตรงตามวัตถุประสงค์การจัดซื้อของ กทม. หรือไม่

หรือแท้จริงแล้ว ไม่มีเอกชน หรือ ผู้ประกอบการรายใดที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงกับรายที่ต้องการ

ตามนิยาม วิธีการเฉพาะเจาะจง หมายถึง การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดชื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. กรณีใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
  2. กรณีจัดชื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดชื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท
  3. กรณีจัดชื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในประเทศไทย และไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
  4. กรณีมีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัย/ภัยธรรมชาติ หรือโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดชื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าเสียหายอย่างร้ายแรง
  5. กรณีเป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทำการจัดชื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องทำการจัดชื้อจัดจ้างเพิ่มเติมหรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุนั้น
  6. กรณีเป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ
  7. กรณีเป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเป็นต้องชื้อเฉพาะแห่ง
  8. กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

อย่างไรก็ตาม ในข้อ (2) ระบุว่า การจัดชื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ สามารถจัดซื้อได้ไม่เกิน 50,000,000 บาท และผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปหนึ่งขั้น สามารถจัดซื้อได้เกิน 50,000,000 บาท

1 ปี 7 เดือน จัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์กี่โครงการ

เมื่อนับเป็นรายปี สามารถจำแนกได้ ดังนี้

  • เดือนตุลาคมถึงธันวาคม ปี 2565 (ปีงบประมาณ 2566) ทั้งหมด 522 โครงการ งบประมาณรวม 218,509,638 บาท แบ่งเป็นวิธีเฉพาะเจาะจง 503 โครงการ วิธีคัดเลือก 2 โครงกาาร และวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 17 โครงการ
  • เดือนมกราคมถึงธันวาคม ปี 2566 (ปีงบประมาณ 2566 และสามเดือนหลังของปีงบประมาณ 2567) ทั้งหมด 2,874 โครงการ งบประมาณรวม 1,299,502,749 บาท แบ่งเป็นวิธีเฉพาะเจาะจง 2,738 โครงการ วิธีคัดเลือก 12 โครงการ และวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 124 โครงการ
  • เดือนมกราคมถึงเมษายน ปี 2567 (ปีงบประมาณ 2567) ทั้งหมด 902 โครงการ งบประมาณรวม 575,442,192 บาท แบ่งเป็นวิธีเฉพาะเจาะจง 798 โครงการ วิธีคัดเลือก 3 โครงการ และวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 101 โครงการ

โครงการใหญ่สุด – จัดซื้อคอมฯโรงเรียน 437 แห่ง ใช้งบฯ 93 ล้าน

ส่วนโครงการที่ใช้งบประมาณสูงสุดเม็ดเงินสูงสุดอยู่ที่ 93,590,200 บาท คือ การจัดซื้อครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียน 437 โรงเรียน และเมื่อดูประเภทอุปกรณ์-ครุภัณฑ์ของโครงการที่เม็ดเงินสูงสุด 10 อันดับแรก พบว่าเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับกล้องวงจรปิดถึง 4 โครงการ รองลงมาคือโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารจัดการน้ำอีก 3 โครงการ

ทั้งนี้ โครงการที่เม็ดเงินสูงสุด 10 อันดับแรก ตามลำดับ ดังนี้

(1) 93,590,200 บาท – โครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ต่อเนื่อง กิจกรรมที่ 2 จัดซื้อครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียน 437 โรงเรียน จำนวน 598 ห้อง และศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์สำนักการศึกษา จำนวน 1 แห่ง จัดซื้อโดย สำนักการศึกษา

(2) 63,744,180 บาท – ค่าจ้างบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) รวมอุปกรณ์การทำงานพร้อมเชื่อมโยงสัญญาณภาพในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพตะวันออก 1 จัดซื้อโดย สำนักการจราจรและขนส่ง

(3) 58,140,000 บาท – จัดซื้อรถบรรทุกขนาดไม่น้อยกว่า 3 ตัน 6 ล้อ แบบชานเลื่อน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ 12 คัน จัดซื้อโดยสำนักเทศกิจ

(4) 52,690,000 บาท – ซื้อเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ระบบไฮดรอลิก ขนาด 16 นิ้ว ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลไม่น้อยกว่า 125 แรงม้า พร้อมอุปกรณ์ 10 เครื่อง จัดซื้อโดยสำนักการระบายน้ำ

(5) 48,948,108 บาท – จ้างค่าบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) รวมอุปกรณ์การทำงานพร้อมเชื่อมโยงสัญญาณภาพในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพใต้ 1 จัดซื้อโดย สำนักการจราจรและขนส่ง

(6) 47,000,000 บาท – ซื้อรถสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาดความสามารถในการสูบไม่น้อยกว่า 25,000 ลิตร/นาที พร้อมอุปกรณ์ 3 คัน จัดซื้อโดย สำนักการระบายน้ำ

(7) 40,850,000 บาท – ซื้อเครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ดีเซลชนิดล่อน้ำด้วยตัวเอง (self priming) แบบเทรลเลอร์ลากจูง ขนาดท่อส่งน้ำไม่น้อยกว่า 10 นิ้ว อัตราสูบไม่น้อยกว่า 12,000 ลิตร/นาที ระยะสูบส่ง (HEAD) ไม่น้อยกว่า 13.5 เมตร พร้อมอุปกรณ์ 30 เครื่อง จัดซื้อโดย สำนักการระบายน้ำ

(8) 39,396,000 บาท – จ้างค่าบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) รวมอุปกรณ์การทำงานพร้อมเชื่อมโยงสัญญาณภาพในพื้นที่กลุ่มกรุงธนเหนือ 1 จัดซื้อโดย สำนักการจราจรและขนส่ง

(9) 36,300,000 บาท – ประกวดราคาซื้อกล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สำหรับติดตั้งภายในและภายนอกอาคาร สำหรับใช้ในงานรักษาความปลอดภัยทั่วไปและงานอื่นๆ และอุปกรณ์ประกอบพร้อมติดตั้ง 256 กล้อง จัดซื้อโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว

(10) 34,980,000 บาท – ประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์ จำนวน 4 รายการ จัดซื้อโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม จากการจัดซื้อทั้งหมด 4,298 โครงการของ กทม. มีเพียงไม่ถึง 6% หรือ 242 โครงการที่ใช้วิธี e-bidding ซึ่งจากโครงการติดท็อปใช้เงินสูงสุด 50 อันดับแรก มีโครงการที่ใช้วิธี e-bidding ทั้งหมด 46 โครงการ ส่วนอีก 4 โครงการใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง

โครงการเล็กสุด – สั่งซื้อโต๊ะหมู่บูชาพระใช้งบฯ 1,290 บาท

โครงการที่เม็ดเงินต่ำที่สุด 10 อันดับแรกจะเน้นไปที่การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทั่วไป โดยเฉพาะหมวดอุปกรณ์สำนักงาน และใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการที่เม็ดเงินต่ำสุด 10 อันดับแรก ตามลำดับ ดังนี้

(1) 1,290 บาท – จัดซื้ออุปกรณ์จัดโต๊ะหมู่บูชา จัดซื้อโดยสำนักงานสถานธนานุบาล

(2) 1,600 บาท – ซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับการจัดประชุมเครือข่ายการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน ระดับเขต จำนวน 3 รายการ จัดซื้อโดยสำนักงานเขตจอมทอง

(3) 1,610 บาท – ซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับการจัดประชุมเครือข่ายการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน ระดับเขตจำนวน 4 รายการ จัดซื้อโดยสำนักงานเขตจอมทอง

(4) 1,731 บาท – ซื้อวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน จำนวน 9 รายการ จัดซื้อโดยสำนักอนามัย

(5) 1,800 บาท – ซื้ออุปกรณ์ช่วยอ้าปาก จำนวน 12 ชุด จัดซื้อโดยสำนักอนามัย

(6) 1,920 บาท – จ้างทำป้ายประชาสัมพันธ์ ขนาด 120×80 ซม. พร้อมโลโก้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในชุมชนแขวงวชิรพยาบาล จัดซื้อโดยสำนักงานเขตดุสิต

(7) 1,980 บาท – ซื้อวัสดุอุปกรณ์โครงการศึกษาดูงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน จัดซื้อโดยสำนักงานเขตสาทร

(8) 2,000 บาท มี 2 โครงการ – ซื้อวัสดุเครื่องเขียนและอุปกรณ์ จำนวน 3 รายการ การฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน ระดับสถานศึกษา โครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน จัดซื้อโดยสำนักการศึกษา และซื้อวัสดุอุปกรณ์โครงการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดซื้อโดยสำนักงานเขตสาทร

(9) 2,200 บาท – ซื้อวัสดุ เครื่องเขียน และอุปกรณ์ จำนวน 3 รายการ จัดซื้อโดยสำนักงานเขตดุสิต

(10) 2,210 บาท – ซื้อชุดอุปกรณ์สุขภัณฑ์ห้องน้ำ จัดซื้อโดยสำนักงานสถานธนานุบาล

จำแนกตามหน่วยงานในสังกัด กทม.

เมื่อจัดอันดับสำนัก-หน่วยงานย่อย ภายใต้สังกัด กทม. ตามเกณฑ์จำนวนโครงการและเม็ดเงินที่ได้รับ พบรายละเอียด ดังนี้

สำนัก-หน่วยงานย่อยที่ใช้เงินกับโครงการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์และครุภัณฑ์ ตามลำดับ ได้แก่ (1) สำนักงานเขต ทั้งหมด 50 เขต 569,867,083 บาท (2) สำนักการระบายน้ำ 382,666,584.91 บาท (3) สำนักการจราจรและขนส่ง 369,151,818.34 บาท (4) สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว 303,354,617.52 บาท (5) สำนักการศึกษา 104,728,805.62 บาท (6) สำนักสิ่งแวดล้อม 76,877,158.70 บาท (7) สำนักเทศกิจ 72,724,746.84 บาท (8) สำนักการโยธา 71,241,256.48 บาท (9) สำนักอนามัย 43,711,374.43 บาท (10) สำนักพัฒนาสังคม 25,005,036 บาท (11) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 18,494,229.25 บาท (12) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 9,786,133 บาท (13) สำนักการคลัง 8,136,678.41 บาท (14) สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 7,897,400.86 บาท (15) สำนักงานตลาด 5,104,037.06 บาท (16) สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 4,984,782 บาท (17) โรงเรียนในสังกัด กทม. 4,980,893 บาท (18) สำนักการแพทย์ 4,960,166 บาท (19) สำนักงานเลขานุการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 3,445,128 บาท (20) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร 3,006,837.69 บาท (21) สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร 1,185,060 บาท (22) สำนักงบประมาณ 1,027,944.50 บาท (23) สำนักงานสถานธนานุบาล 872,740.76 บาท และ (24) สำนักงานกฎหมายและคดี 244,067 บาท

สำนัก-หน่วยงานย่อยที่มีโครงการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์และครุภัณฑ์ ตามลำดับ ได้แก่ สำนักงานเขต ทั้งหมด 50 เขต 2,789 โครงการ (2) สำนักอนามัย 233 โครงการ (3) สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว 224 โครงการ (4) สำนักการระบายน้ำ 200 โครงการ (5) สำนักการโยธา 140 โครงการ (6) สำนักพัฒนาสังคม 130 โครงการ (7) สำนักสิ่งแวดล้อม 107 โครงการ (8) สำนักการศึกษา 85 โครงการ (9) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 58 โครงการ (10) สำนักการคลัง 41 โครงการ (11) สำนักการจราจรและขนส่ง 36 โครงการ (12) โรงเรียนในสังกัด กทม. 35 โครงการ (13) สำนักการแพทย์ 34 โครงการ (14) สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 32 โครงการ (15) สำนักงานตลาด 31 โครงการ (16) สำนักเทศกิจ 29 โครงการ (17) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 25 โครงการ (18) สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 17 โครงการ (19) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร 16 โครงการ (20) สำนักงานสถานธนานุบาล 14 โครงการ (21) สำนักงานเลขานุการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 9 โครงการ (22-23) สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร 5 โครงการ และ สำนักงบประมาณ 5 โครงการ และ (24) สำนักงานกฎหมายและคดี 3 โครงการ

“บางบอน สวนหลวง จตุจักร” ติด TOP 3

เห็นได้ว่า “สำนักงานเขต” เป็นหน่วยหนึ่งที่จัดซื้อและใช้งบประมาณสูงที่สุด แต่เมื่อจำแนกออกมารายเขตตามจำนวนโครงการ พบรายละเอียดดังนี้

  1. สำนักงานเขตบางบอน 98 โครงการ 11,229,528 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 96 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  2. สำนักงานเขตสวนหลวง 95 โครงการ 25,703,627.60 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 92 โครงการ และ e-bidding 3 โครงการ
  3. สำนักงานเขตจตุจักร 92 โครงการ 14,782,402 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 91 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  4. สำนักงานเขตบางคอแหลม 90 โครงการ 9,269,609.39 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 89 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  5. สำนักงานเขตคลองเตย 80 โครงการ 9,668,965.41 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 79 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  6. สำนักงานเขตสายไหม 78 โครงการ 11,194,950 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 76 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  7. สำนักงานเขตมีนบุรี 75 โครงการ 15,276,306 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 68 โครงการ และ e-bidding 7 โครงการ
  8. สำนักงานเขตทุ่งครุ 75 โครงการ 11,669,775 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 73 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  9. สำนักงานเขตทวีวัฒนา 71 โครงการ 12,574,585 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 71 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  10. สำนักงานเขตบึงกุ่ม 69 โครงการ 39,661,716 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 55 โครงการ และ e-bidding 14 โครงการ
  11. สำนักงานเขตดอนเมือง 69 โครงการ 9,321,669.50 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 66 โครงการ และ e-bidding 3 โครงการ
  12. สำนักงานเขตห้วยขวาง 66 โครงการ 9,172,578 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 63 โครงการ และ e-bidding 3 โครงการ
  13. สำนักงานเขตบางขุนเทียน 66 โครงการ 8,512,049.10 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 1 โครงการ เฉพาะเจาะจง 64 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  14. สำนักงานเขตบางกอกน้อย 66 โครงการ 7,512,125 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 65 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  15. สำนักงานเขตดินแดง 64 โครงการ 27,742,500.50 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 76 โครงการ และ e-bidding 8 โครงการ
  16. สำนักงานเขตจอมทอง 63 โครงการ 40,394,315 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 55 โครงการ และ e-bidding 8 โครงการ
  17. สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ 61 โครงการ 16,956,259 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 58 โครงการ และ e-bidding 3 โครงการ
  18. สำนักงานเขตคลองสามวา 59 โครงการ 9,097,218.90 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 57 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  19. สำนักงานเขตหนองแขม 59 โครงการ 7,199,979 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 58 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  20. สำนักงานเขตประเวศ 58 โครงการ 19,754,545 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 50 โครงการ และ e-bidding 8 โครงการ
  21. สำนักงานเขตยานนาวา 58 โครงการ 4,588,598.30 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 58 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  22. สำนักงานเขตลาดพร้าว 56 โครงการ 9,812,374 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 53 โครงการ และ e-bidding 3 โครงการ
  23. สำนักงานเขตวัฒนา 56 โครงการ 6,251,088 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 56 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  24. สำนักงานเขตลาดกระบัง 54 โครงการ 7,808,355.60 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 51 โครงการ และ e-bidding 3 โครงการ
  25. สำนักงานเขตธนบุรี 53 โครงการ 13,779,916.66 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 53 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  26. สำนักงานเขตวังทองหลาง 53 โครงการ 6,726,546 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 52 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  27. สำนักงานเขตดุสิต 53 โครงการ 6,170,168.50 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 52 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  28. สำนักงานเขตหนองจอก 52 โครงการ 10,216,757 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 50 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  29. สำนักงานเขตหลักสี่ 52 โครงการ 9,121,195.40 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 50 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  30. สำนักงานเขตสาทร 52 โครงการ 5,801,746 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 51 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  31. สำนักงานเขตบางแค 51 โครงการ 11,276,614 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 51 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  32. สำนักงานเขตคันนายาว 48 โครงการ 6,322,115.50 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 46 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  33. สำนักงานเขตสะพานสูง 46 โครงการ 4,812,062 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 45 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  34. สำนักงานเขตบางกะปิ 45 โครงการ 13,373,508 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 41 โครงการ และ e-bidding 4 โครงการ
  35. สำนักงานเขตภาษีเจริญ 45 โครงการ 12,516,728 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 43 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  36. สำนักงานเขตตลิ่งชัน 45 โครงการ 11,537,489.70 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 39 โครงการ และ e-bidding 6 โครงการ
  37. สำนักงานเขตบางซื่อ 44 โครงการ 14,381,709 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 42 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  38. สำนักงานเขตบางพลัด 44 โครงการ 4,831,277.07 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 43 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  39. สำนักงานเขตราชเทวี 43 โครงการ 3,911,608 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 43 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  40. สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ 41 โครงการ 6,018,799.85 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 39 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  41. สำนักงานเขตพญาไท 40 โครงการ 34,631,597.60 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 36 โครงการ และ e-bidding 4 โครงการ
  42. สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ 40 โครงการ 6,436,933.59 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 39 โครงการ และ e-bidding 1 โครงการ
  43. สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 39 โครงการ 3,059,100.74 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 39 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  44. สำนักงานเขตบางนา 37 โครงการ 3,594,882 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 37 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  45. สำนักงานเขตบางเขน 35 โครงการ 16,881,137.85 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 31 โครงการ และ e-bidding 4 โครงการ
  46. สำนักงานเขตปทุมวัน 34 โครงการ 6,183,402.30 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 32 โครงการ และ e-bidding 2 โครงการ
  47. สำนักงานเขตบางรัก 33 โครงการ 2,571,168 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 33 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  48. สำนักงานเขตคลองสาน 30 โครงการ 5,911,615 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 30 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  49. สำนักงานเขตพระโขนง 28 โครงการ 2,377,647 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 28 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ
  50. สำนักงานเขตพระนคร 28 โครงการ 2,266,239 บาท แบ่งเป็น วิธีคัดเลือก 0 โครงการ เฉพาะเจาะจง 28 โครงการ และ e-bidding 0 โครงการ

จัดซื้อ “คอมพิวเตอร์” 1,270 โครงการ รายการยอดฮิตของ กทม.

เมื่อค้นหาคีย์เวิร์ดประเภทการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ แต่ละรูปแบบ พบว่า สิ่งที่ กทม. นิยมจัดซื้อมากที่สุดคือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีมากถึง 1,270 โครงการ

โดยโครงการที่ใช้งบมากสุดคือ จัดซื้อครุภัณฑ์ประกอบห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียน 437 โรงเรียน จำนวน 598 ห้อง และศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์สำนักการศึกษา ด้วยวิธี e-bidding จัดซื้อโดยสำนักการศึกษา รองลงมาคือ บำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ศูนย์ข้อมูล (data center) ของกรุงเทพมหานคร งบประมาณ 6,281,249.94 บาท ด้วยวิธี e-bidding จัดซื้อโดยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ส่วนโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ที่ใช้งบประมาณต่ำสุดคือ ซื้อวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำนวน 1 รายการ งบประมาณ 2,900 บาท ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง จัดซื้อโดย สำนักงานเขตสาทร

สั่งซื้อ “อุปกรณ์สำนักงาน-เครื่องเขียน” 778 โครงการ

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่นิยมจัดซื้อคือ อุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียน โดยอุปกรณ์สำนักงาน วัสดุสำนักงานมีมากถึง 778 โครงการ ส่วนเครื่องเขียนมี 338 โครงการ อย่างไรก็ตาม การเขียนชื่อโครงการเหล่านี้มีทั้งคำที่ซ้ำซ้อนกัน ตั้งแต่อุปกรณ์สำนักงาน วัสดุ เครื่องเขียน แบบพิมพ์ รวมถึงคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่จากการสืบค้นพบว่ามีอย่างน้อย 778 โครงการที่จัดซื้อของเหล่านี้

ตัวอย่างโครงการอุปกรณ์สำนักงานมีราคาสูงสุดที่ 12,600,000 บาท คือการจัดซื้อครุภัณฑ์ชุดแสดงจอภาพเพื่อการเผยแพร่และสนับสนุนการเรียนการสอน 48 ชุด ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตบึงกุ่ม จำนวน 8 โรงเรียน ด้วยวิธี e-bidding จัดซื้อโดยสำนักานเขตบึงกุ่ม ส่วนโครงการที่ใช้เงินต่ำสุดอยู่ที่ 1,731 บาท คือการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน จำนวน 9 รายการ ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง จัดซื้อโดยสำนักอนามัย

จ้าง “ซ่อม-บำรุง” มี 230 โครงการ – งานใหญ่สุดซ่อม CCTV ใช้งบฯ 63 ล้าน

โครงการที่เกี่ยวข้องกับการซ่อม ซ่อมแซม และบำรุง โดยพ่วงการจัดซื้ออุปกรณ์ไปด้วยก็เป็นกลุ่มที่ใช้งบประมาณอยู่ไม่น้อย โครงการที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงมี 230 โครงการ และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมมี 141 โครงการ

ทั้งนี้ หลายโครงการเขียนชื่อโครงการโดยมีคีย์เวิร์ดทั้ง 3 คำ นอกจากนี้บางสำนัก-หน่วยงานก็ซื้ออุปกรณ์ไปซ่อมแซมเอง แต่เบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่า มีโครงการซ่อมและบำรุงอย่างน้อยที่สุด 230 โครงการ

โครงการที่ใช้งบประมาณสูงสุดอยู่ที่ราคา 63,744,180 บาท คือจ้างค่าบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) รวมอุปกรณ์การทำงานพร้อมเชื่อมโยงสัญญาณภาพในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพตะวันออก 1 ด้วยวิธี e-bidding จัดซื้อโดย สำนักการจราจรและขนส่ง ส่วนโครงการที่ใช้งบต่ำสุดจะมีราคาไล่เลี่ยกันตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท

จัดซื้อเครื่องสูบน้ำ 200 โครงการ ใช้งบฯ 382 ล้าน

สำนักการระบายน้ำ เป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจัดซื้อสูงสุดเป็นอันดับ 2 รวม 382,666,584.91 บาท และมีจำนวนโครงการสูงเป็นลำดับ 4 ที่ 200 โครงการ โดยมุ่งเน้นไปที่การซื้อเครื่องสูบน้ำมากที่สุด และยังมีรถสูบน้ำ เซนเซอร์เครื่องสูบน้ำ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตัวอย่างโครงการ ดังนี้

  • จัดซื้อเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ระบบไฮดรอลิค ขนาด 16 นิ้ว ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลไม่น้อยกว่า 125 แรงม้า พร้อมอุปกรณ์ 10 เครื่อง ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 52,690,000 บาท
  • ซื้อรถสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาดความสามารถในการสูบไม่น้อยกว่า 25,000 ลิตร/นาที พร้อมอุปกรณ์ 3 คัน ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 47,000,000 บาท
  • ซื้อเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดจุ่ม SUBMERSIBLE PROPELLER ขนาดความสามารถสูบน้ำได้ไม่น้อยกว่า 60 ลบ.ม./นาที ที่ระยะสูบส่ง (HEAD) ไม่น้อยกว่า 4 เมตร พร้อมอุปกรณ์ 14 เครื่อง ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 26,985,000 บาท
  • จ้างเหมาซ่อมเปลี่ยนชุดท่อดูด (COLUMN PIPE) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,200 มม. พร้อมอุปกรณ์ และซ่อมพื้นทางเดินที่ประตูระบายน้ำคลองนา ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 2,545,000 บาท
  • ซื้อวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานซ่อมบำรุง ที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 17 รายการ ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 483,676 บาท

จัดซื้อ ‘กล้อง – CCTV’ 43 โครงการ ใช้งบฯมากสุด 63 ล้านบาท

ถัดมาเป็นสำนักการจราจรและขนส่ง นับเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจัดซื้อสูงสุดเป็นอันดับ 3 รวม 369,151,818.34 บาท และมีจำนวนโครงการสูงเป็นลำดับ 11 ที่ 36 โครงการ

โครงการยอดนิยมและเม็ดเงินสูงของสำนักการจราจรและขนส่ง คือการจัดซื้อกล้อง (ทุกประเภท) จำนวน 43 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นกล้อง CCTV จำนวน 22 โครงการ โดยโครงการเม็ดเงินสูงสุดอยู่ที่ 63,744,180 บาท คือจ้างค่าบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) รวมอุปกรณ์การทำงานพร้อมเชื่อมโยงสัญญาณภาพในพื้นที่กลุ่มกรุงเทพตะวันออก 1 ด้วยวิธี e-bidding ส่วนโครงการเกี่ยวกับกล้องที่เม็ดเงินต่ำสุดอยู่ที่ 564,639 บาท คือจ้างบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) พร้อมอุปกรณ์ประกอบบริเวณสะพานพระราม 8 ด้วยวิธี e-bidding

ทั้งนี้ สำนักนี้มีถึง 3 โครงการที่ติดลำดับโครงการที่ใช้งบประมาณสูงสุด 10 อันดับแรก

จัดซื้อหมวด‘กีฬา-ออกกำลังกาย-สมรรถภาพ’224 โครงการ ใช้งบฯ 303 ล้าน

หมวดการกีฬา และออกกำลังกาย ซึ่งรับผิดชอบโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว หน่วยงานที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 303,354,617.52 บาท สูงเป็นลำดับ 4 ของการใช้งบประมาณทั้งหมด และมีการจัดซื้อจำนวน 224 โครงการ สูงเป็นลำดับ 3 ของทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์และครุภัณฑ์หมวดการกีฬา ไม่ได้มีแค่สำนักวัฒนธรรมฯ แต่สำนักงานเขต และสำนัก-หน่วยงานอื่นๆ ก็จัดซื้อด้วยเช่นกัน เพียงแต่สำนักวัฒนธรรมฯ จะเน้นไปที่การซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายในสวนสาธารณะและพื้นที่ต่างๆ ส่วนหน่วยงานอื่นจะเขียนว่าซื้อวัสดุอุปกรณ์กีฬา อาจเพื่อใช้ประโยชน์ภายในเท่านั้น

การเขียนโครงการในหมวดนี้ มีตั้งแต่คำว่า กีฬา 221 โครงการ ออกกำลังกาย 30 โครงการ และสมรรถภาพ 12 โครงการ ทั้งนี้ หลายโครงการเขียนชื่อโครงการโดยมีคีย์เวิร์ดทั้ง 3 คำ แต่เบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่า มีโครงการหมวดที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและการออกกำลังกายอย่างน้อยที่สุด 221 โครงการ

ตัวอย่างโครงการในหมวดนี้ ได้แก่

  • ซื้อสกอร์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์อเนกประสงค์ พร้อมอุปกรณ์จับเวลาการแข่งขันกีฬาประเภทลู่ 3 ชุด ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 32,790,000 บาท จัดซื้อโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว
  • ซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายสำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดส่วนนันทนาการ จำนวน 13 รายการ ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 17,900,000 บาท จัดซื้อโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว
  • ซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย ๒๑ รายการ (ศูนย์กีฬาอ่อนนุช) ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 15,366,200 บาท จัดซื้อโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว
  • ซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย ๒๑ รายการ (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา) ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 11,820,000 บาท จัดซื้อโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว
  • ซื้อเครื่องเล่นเด็ก เครื่องออกกำลังกายและอุปกรณ์กีฬา เพื่อสมาชิกในชุมชน ด้วยวิธี e-bidding งบประมาณ 1,394,000 บาท จัดซื้อโดย สำนักงานเขตสายไหม
  • ซื้อครุภัณฑ์ออกกำลังกาย ตามโครงการโรงเรียนพรหมราษฎร์ฯ Healthy ของโรงเรียนพรหมราษฎร์รังสรรค์ ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง งบประมาณ 14,445 บาท จัดซื้อโดย สำนักงานเขตสายไหม

จ้างทำความสะอาด 165 โครงการ ใช้งบฯมากสุด 8 แสนบาท

สุดท้าย ‘ความสะอาด’ ก็เป็นโครงการที่หน่วยงานภายใต้สังกัด กทม. นิยมจัดซื้อ โดยมีจำนวนโครงการที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด 165 โครงการ งบประมาณสูงสุดของกลุ่มนี้อยู่ที่ 801,000 บาท คือการจัดซื้อวัสดุบำรุงรักษาทำความสะอาดและวัสดุอุปกรณ์ประจำสระว่ายน้ำ ด้วยวิธี e-bidding จัดซื้อโดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ส่วนโครงการที่ใช้งบต่ำสุดอยู่ที่ 2,960 บาท โดยซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการรักษาความสะอาดตามโครงการอาสาสมัครชักลากมูลฝอยในชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 4 รายการ จัดซื้อโดยสำนักงานเขตหลักสี่

ทั้งนี้ แทบทุกสำนักงานเขต มีการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์และครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดทั้งหมด

ป้ายคำ :