ThaiPublica > คนในข่าว > ‘วิษณุ เครืองาม’ นักกฎหมายระดับราชสีห์ คู่บารมี 9 นายกฯ 13 คณะรัฐบาล เปิดเคล็ดวิชาเก่งกาจ

‘วิษณุ เครืองาม’ นักกฎหมายระดับราชสีห์ คู่บารมี 9 นายกฯ 13 คณะรัฐบาล เปิดเคล็ดวิชาเก่งกาจ

31 พฤษภาคม 2024


นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ราวกับรองนายกรัฐมนตรี แต่มิได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นับว่าเป็นอีกครั้ง ที่ดร.วิษณุ ได้ใช้เคล็ดวิชากฎหมายไร้ร่องรอย

ดร.มีชัย ฤชุพันธ์-ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ฉายา ดร.วิษณุว่าอะไร ติดตามได้ในบทความชิ้นนี้

ยุคที่ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 9 ปี ขึ้นเป็นข้าราชการระดับซี 11 ด้วยวัย 42 ปี ที่โต๊ะทำงานของเขาเต็มไปด้วยกระดาษ “โพสต์อิท-posit” หลากสี เพราะในฐานะเลขาธิการ ครม. ต้องแยกแยะความเห็นที่เป็นลายลักษณ์อักษรทางกฎหมายหลากหลายเรื่อง บางเรื่องให้ความเห็นจบต้องทำลายเอกสารทิ้ง บางเรื่องให้ความเห็นแล้ว ต้องลบออกจากระบบ และบางเรื่องเป็นความเห็นที่อาจจะล่อแหลมทางกฎหมาย ต้องทำเป็น “สัญลักษณ์” ไว้เพื่อง่ายต่อการจัดการ

ด้วยทักษะครบเครื่องดังนี้ ดร.วิษณุ จึงผงาดขึ้นเป็น รองนายกรัฐมนตรี คู่บารมี ทักษิณ ชินวัตร 2 สมัย 4 ปี ได้ฉายาจากผู้สื่อข่าวทำเนียบว่า “เนติบริกร”

หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 จบลง ดร.มีชัย ฤชุพันธ์ นักกฎหมายรุ่นพี่ ที่ ดร.วิษณุ ให้ฉายาว่า เป็นพญาครุฑทางกฎหมายหนึ่งเดียวในเมืองไทย เป็นแสงส่องให้ฉายา ดร.วิษณุ ไว้ว่า เป็นนักกฎหมายระดับราชสีห์ หากเป็นที่ปรึกษาก็ให้ฉายาระดับพญาอินทรี

ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 และเส้นทางแม่น้ำ 5 สาย ส่งให้ ดร.วิษณุ ก้าวเข้าทำเนียรัฐบาล ในเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ราชสีห์คู่บารมีนายกฯจากค่ายบูรพาพยัคฆ์ 2 สมัย 9 ปี

ก่อนหน้านั้น ดร.วิษณุ ขึ้น-ลงตึกไทยคู่ฟ้ามากว่า 13 ปี ปรึกษา “ความ-คน” ให้กับนายกรัฐมนตรี ในทำเนียบถึง 8 คน ภายใต้คณะรัฐมนตรี 12 คณะ หากนับคณะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รวมเป็นคณะที่ 13

ด้วยเส้นทางการทำงานกฎหมายและการเมือง ดร.วิษณุ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) ระดับ “พระยาพานทอง”

ปีนี้ ดร.วิษณุ จะครบ 72 ปี ในเดือนกันยายน 2567 เขาเพิ่งเขียนหนังสือเล่มล่าสุด ชื่อ “ชีวิตดั่งหาดทรายและทะเล” ที่เขียนขึ้นในวาระครบ 6 รอบนักษัตรของตัวเอง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเล่าเรื่องชีวิตตั้งแต่เกิด เรียนหนังสือ ทำงาน และชีวิตครอบครัว ต่างจากหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่ ดร.วิษณุ จะเขียนเรื่องการเมือง-อำนาจและผู้นำ

ในชีวิตดั่งหาดทรายและทะเล ตอนหนึ่ง ดร.วิษณุ เขียนถึงพงศ์เผ่าของฝ่ายภรรยาที่สืบสกุลตรงมาจากตระกูล “อภัยวงศ์” คือคุณวราภา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัชราภรณ์ จบคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นบุตรสาว พลเรือตรี สวิส วรทัต กับ จิตราภา อภัยวงศ์ จิตราภา-แม่ยาย ดร.วิษณุ ถือว่าเป็นทายาทสายตรง-ของแท้แห่งสกุล อภัยวงศ์ เป็นบุตรีของ พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) กับ ม.ล.อาภา กุญชร

พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ เกิดที่พระตะบอง เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) มีศักดิ์เป็นน้องชายของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) ซึ่งเป็นพระบิดาของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งคุณช่วง ผู้เป็นใหญ่สุดในสกุลอภัยวงศ์ เป็น “พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ” และพระอภัยวงศ์วรเศรษฐ ผู้นี้ยังเป็นพี่ชายคนละมารดากับนายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ตระกูลอภัยวงศ์นั้น เป็นนักบริจาคมาแต่ต้นตระกูล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือชุ่ม เป็นคนมั่งคั่งและมีบารมี เคยเป็นผู้บริจาคเงินซื้อเครื่องบินรุ่นแรก ยกให้กองทัพสยาม นอกจากนี้ ยังมีมรดก-ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็ตกเป็นของ “พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ” หรือบิดา ของแม่ยาย ดร.วิษณุ แทบทั้งสิ้น

รายการทรัพย์สินที่ต้นทาง-ต้นตระกูลอภัยวงศ์ ญาติฝ่ายภรรยา ดร.วิษณุนั้น ได้กลายเป็นมรดกตกทองและได้บริจาคสาธารณประโยชน์ใหญ่หลวง เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญ คือบ้านที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเคยอยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ เชิงสะพานกษัตริย์ศึก บริจาคให้หน่วยงานรัฐ
อาคารโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในปัจจุบัน คืออดีตคฤหาสน์หลังใหญ่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างไว้เพื่ออยู่อาศัยเอง แต่เมื่อสร้างเสร็จได้ใช้เป็นสถานที่รับเสด็จรัชกาลที่ 6 ต่อมาเมื่อทรงสถาปนาพระนางเจ้าสุวัทนา เป็นพระวรราชเทวี พระอภัยวงศ์วรเศรษฐ และบรรดาน้อง ๆ จึงน้อมเกล้าฯ ถวายคฤหาสน์หลังนี้ เป็นของทูลพระขวัญจากตระกูล “อภัยวงศ์”

ความอำมาตย์ของญาติฝ่ายภรรยา-แม่ยาย ดร.วิษณุ ก็นับว่าไม่ธรรมดา คุณยายของนางวัชราภรณ์คือ ม.ล.อาภา เป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เจ้าของวังบ้านหม้อ กับหม่อมละมัย กุญชร ณ อยุธยา

รายการบัญชีทรัพย์สินของ ด.วิษณุ ล่าสุด (10 พฤศจิกายน 2566) แจ้งมีทรัพย์สินรวมกับคู่สมรส 118,935,550 บาท ส่วนที่เป็นของ ดร. วิษณุ ประกอบด้วย เงินสด 500,000 บาท เงินฝาก 11,722,203.27 บาท เงินลงทุน 18,370,158.58 บาท ที่ดิน 40,400,000 บาท (88 แปลง) บ้าน 5 หลัง 10,000,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 80,000 บาท

คู่สมรสคือ นางวัชราภรณ์ มีเงินสด 500,000 บาท เงินฝาก 20,252,801 บาท เงินลงทุน 11,730,386.86 บาท ที่ดิน 4,600,000 บาท (10 แปลง) สิทธิและสัมปทาน 180,000 บาท มีรายได้ต่อปีรวม 2,955,722 บาท แบ่งเป็นเงินเดือน 1,699,500 บาท ค่าให้เช่าที่ดิน 600,000 บาท ค่าขายไฟฟ้า 26,000 บาท กองมรดกเจ้าพระยาเทเวศฯ 630,000 บาท ทั้งคู่ไม่มีหนี้สิน
ในบททะเลการเมือง ดร.วิษณุ เล่าเรื่องผู้นำระดับนายกรัฐมนตรี ในอดีต ไว้ว่า

  • พระยาพหลฯ, สัญญา ธรรมศักดิ์, พล.อ.เปรม และนายชวน เป็นนักการเมืองที่ซื่อสัตย์ สุจริต สมถะ
  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พล.อ.ชาติชาย, ทักษิณ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล
  • นายบรรหาร, พล.อ.ประยุทธ์, เป็นผู้นำที่ขยัน บากบั่นตั้งอกตั้งใจทำงานเอาจริงเอาจัง
  • จอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาด
  • นายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้นำที่ประนีประนอมประสานประโยชน์ตามจังหวะเวลาที่จำเป็น
  • ส่วนนายกรัฐมนตรี ในช่วง 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ดร.วิษณุ เล่าว่า

  • รัฐบาลท่านอานันท์ ปันยารชุน ต้องมาเสียเวลาครึ่งหนึ่งของรัฐบาลไปกับการแก้ปัญหาศึกตุลาการ
  • รัฐบาลท่าน พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องมาเสียงบประมาณ ใช้เวลาไปจำนวนมาก กับการแก้ปัญหาน้ำท่วมใน 48 จังหวัดจนเกือบจะไม่ได้ทำอย่างอื่น
  • รัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวช และคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ลงท้ายก็ไม่ได้ทำอะไร ได้ใช้เงิน เวลา หัวคิด ไปกับการแก้ปัญหาเรื่องม็อบ
  • รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหานี้ ก็ผลักดันนโยบายออกมาได้บางส่วน
  • รัฐบาลคุณทักษิณ เมื่อตอนปลายรัฐบาล มีงบประมาณเหลือมากพอที่จะไม่เก็บภาษีประชาชน 1 ปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ชั่วข้ามคืนอย่างสึนามิในภาคใต้ ต้องเอางบประมาณ สมอง เวลาทั้งหมดมาใช้กับการแก้ปัญหานั้น
  • อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ทำงานคู่กับ ดร.วิษณุ เล่าเรื่องเนติบริกร ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ทำงานยุคต้นของคณะ คสช. ตอนหนึ่งว่า “ระดับความเชี่ยวชาญในการอธิบาย เทคนิกการปลดล็อก แก้กฎหมาย การแก้คำสั่งที่เป็นจุดอ่อนการเมืองบางประการ ของ คสช. นั้น นับวันจะเก่งกาจกว่า ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ นักกฎหมายรุ่นพี่เสียแล้ว”

    มีคนถามกันมากว่า ดร.วิษณุ เก่งกาจขนาดนี้ มีวิธีการเล่าเรียนแบบไหน ได้เป็นศาสตราจารย์วัย 24 ปีเท่านั้น คำถามนี้ มี 1 ในจำนวนคนตอบได้ดี คือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะรุ่นพี่-ญาติผู้พี่ เขาบอกว่า “ดร.วิษณุ” เป็นคนฉลาดมหัศจรรย์พันลึก

    ดร.บวรศักดิ์ เล่าว่า “สมัยก่อนตอนเรียนชั้นมัธยม พักอยู่ด้วยกัน ที่บ้านญาติข้างวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร อารามหลวงชั้นโท มักจะมีการพระราชทานเพลิงศพบรรดาเจ้านาย ผู้มีบรรดาศักดิ์ และในงานจะมีการแจกหนังสืองานศพที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางกฎหมาย ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ ดร.วิษณุจะไปรับหนังสือเหล่านั้นมาอ่านจนจบ จากนั้นก็ปิดหนังสือ แล้วลงมือเขียนทั้งหมดที่อ่านมา แล้วนำมาเทียบว่าเขียนถูกทั้งหมดหรือไม่ ปรากฏว่าส่วนใหญ่เขียนถูกทั้งหมด…”

    ที่บ้านใหญ่หลังปัจจุบัน-หลังเดียวกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เดินทางไปเยือนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2567 นั้น ดร.วิษณุ รีโนเวต ในช่วง 15 ปีก่อน แม้ไม่ใช่บ้านนักการเมืองใหญ่ แต่บ้านหลังนี้มักคลาคล่ำไปด้วยคนการเมือง นายทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจ สื่อมวลชน ผ่านมาพบและผูกพันสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งของตัวบ้าน เป็นห้องประชุมรูปวงรี มีที่นั่งราว 25 ที่นั่ง

    แขกของบ้านในอดีต ที่เป็นบุคคลวีไอพี อาทิ วิชัย ทองแตง, บรรพต หงษ์ทอง, พินิจ จารุสมบัติ, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น วิทยาลัยการตลาดทุน “วตท.9”

    หากเอ่ยชื่อ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร.ที่เกษียณในตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม, นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกฯ หรือนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย ล้วนเคยเป็นแขกของบ้าน ดร.วิษณุ มาแล้ว
    ความครบเครื่องเรื่องกฎ-กติกาประเทศไทย “ดร.วิษณุ” ไม่น่าจะเป็นรองใคร แม้ในชีวิตจริงจะขึ้นตำแหน่งการเมืองสูงสุดคือรองนายกรัฐมนตรี และครั้งล่าสุดนี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ราวกับรองนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ต้องมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

  • ‘วิษณุ เครืองาม’ คอนเนกชันมหัศจรรย์ 10 นายกฯ 10 อรหันต์ กุนซือ คสช. ยังอึ้ง