ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ดร.วิษณุ เครืองาม คอนเนกชันมหัศจรรย์ 4 ทศวรรษ 10 นายกฯ 10 อรหันต์กุนซือ คสช. ยังอึ้ง โชว์นวัตกรรมรัฐธรรมนูญ-รัฐประหารการช่าง เผยเคล็ดลับสมองกลเรียนเก่งแบบ “วิษณุ”

ดร.วิษณุ เครืองาม คอนเนกชันมหัศจรรย์ 4 ทศวรรษ 10 นายกฯ 10 อรหันต์กุนซือ คสช. ยังอึ้ง โชว์นวัตกรรมรัฐธรรมนูญ-รัฐประหารการช่าง เผยเคล็ดลับสมองกลเรียนเก่งแบบ “วิษณุ”

23 กรกฎาคม 2014


ชื่อ ดร.วิษณุ เครืองาม ปรากฏในทำเนียบอีกครั้ง หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำเร็จ

การที่ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในโครงสร้างอำนาจพิเศษไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะครั้งใดที่มีรัฐประหาร ชื่อของเขามักเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นที่ต้องการในด่านแรก ในการใช้เป็นเครื่องมือรื้อ-ร่างกฎหมาย และเขียนคำสั่ง-คิดคำประกาศ แบบเรียบแต่ลึก ทุกคำ-ทุกข้อ ให้บริการระดับ “เนติบริกร” ยากที่ฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายที่ถูก “ยึด” จะลุกขึ้นมาแย้งได้

ทันทีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประวัติศาสตร์ส่วนตัวของ ดร.วิษณุ ก็ถูกบันทึกเพิ่มเติม ว่าเขาคือหัวหน้าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ตามรอยกงล้อประวัติเก่า ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

นายวิษณุ เครืองาม
นายวิษณุ เครืองาม

ถ้อยคำในการแถลง ต่อสื่อมวลชนทั่วโลก ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ของ ดร.วิษณุ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ทำให้คนฟังแทบมองไม่เห็น “รอยต่อ-รอยร้าวและจุดบกพร่องของรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับ 2557″

เนื้อหารัฐธรรมนูญทั้ง 48 มาตรา ถูก ดร.วิษณุจาระไนแบบคมชัดภายใน 20 นาที มีคำที่เคยถูกค่อนแคะว่ามีนัยในทางลบต่อ คสช. ถูกถ่ายทอดใหม่ด้วยการกล่าวถึงการเลือกตั้งเป็นประเด็นแรก อาทิ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะถูกนำไปจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็น ให้เสร็จสิ้น เพื่อเข้าสู่โรดแมปที่ 3 คือมีการเลือกตั้ง อันเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข คืนสู่ประเทศชาติ”

ก่อนจะเปิดให้มีคำถาม ดร.วิษณุ ชิงตอบโจทย์ ไขข้อข้องใจ เรื่องเหตุผล ความจำเป็นของการยึดอำนาจด้วยคณะรัฐประหาร และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์ การลงทุนลงแรง ของ คสช. ด้วยวรรคสำคัญที่ว่า “จะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่า อุตส่าห์ลงแรงกันมา 2 เดือนแล้วไม่เสียของ-สูญเปล่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่ 19 จึงวางหลักการไว้อย่างเข้มงวด กวดขัน พะรุงพะรัง…แต่จำเป็น”

จากนั้นก็ชักแม่น้ำทั้งห้า อธิบายโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นต้นสายของแม่น้ำทั้ง 5 สายหลัก บอกอำนาจหน้าที่ครบถ้วน คือ สภานิติบัญญัติ-คณะรัฐมนตรี-สภาปฏิรูปแห่งชาติ-คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

จุดที่ย้อนยุคไปถึง 82 ปี คือร่างรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับ พ.ศ. 2557 ที่ ดร.วิษณุพยายามอธิบายคือ มีบางประเด็นที่ไม่เปลี่ยนแปลง เขียนตามกันมาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พ.ศ. 2475 เช่น การเปิดทางให้ “ใครก็ได้” ที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เป็นข้าราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นคณะรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินชั่วคราว 1 ปี

ประเด็นที่อ่อนไหวและถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทุกครั้งหลังรัฐประหารทุกยุคทุกสมัย ที่ ดร.วิษณุ “อ้างถึง” คือมาตราที่อาจทำให้ถูกมองว่าให้อำนาจคณะรัฐประหารแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครอบคลุมทั้งฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-และตุลาการ ในมาตรานี้ ถูกอธิบายจากร้ายกลายเป็นดี ว่า “เรื่องนี้จำเป็นสุดขีด ที่ให้ คสช. ใช้อำนาจพิเศษได้ในบางเรื่องไปในทางที่สร้างสรรค์กับฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งกฎหมายอื่นอาจใช้ยาก…”

อีกประเด็นที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ ทุกครั้งหลังรัฐประหาร จะมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ต้องมีการ “นิรโทษกรรม” คณะรัฐประหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร

ดร.วิษณุได้คิดค้นนวัตกรรมทางกฎหมายมาให้บริการ คสช. ด้วยการนำเสนอมาตราที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในครั้งที่ผ่านๆ มา เพื่อยืนยันและตอบโจทย์ว่า การปฏิบัติการยึดอำนาจใน พ.ศ. 2557 “จะไม่เสียของ-สูญเปล่า” เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจในการแต่งตั้ง-ถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ และมีการเพิ่มอำนาจให้กับคณะรัฐมนตรีอีก 2 เรื่อง คือ ต้องปฏิบัติภารกิจปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน และสร้างความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์

เครื่องมืออีกชนิด ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาได้เพราะมีแรงบันดาลใจจาก “นักการเมืองโกง” และไม่เคยมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน คือ “คุณสมบัติต้องห้าม” ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ดังนี้ 1. ย้อนหลังไป 3 ปีต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 2. ไม่เคยมีตำแหน่งในองค์กรอิสระมาก่อน 3. ในอนาคตภายใน 2 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ห้ามกรรมาธิการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด

โจทย์ที่ว่าต้อง “ล้าง-ถอนรากถอนโคน” คำว่า “ทุจริตเลือกตั้ง” ก็ถูกนำมาตีความ และเขียนเป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย โดยมีกรอบในการร่าง 4 ข้อ คือ 1. ต้องร่างตามกรอบที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการ (20 เสียง) 2. ต้องเป็นรัฐเดี่ยว 3. ต้องป้องกันไม่ให้คนทุจริตโกงเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด 4. ต้องป้องกันไม่ให้มีการใช้งบประมาณแผ่นดินไปใช้หาเสียง และ 5. ต้องทบทวนบทบาทองค์กรอิสระบางแห่ง ว่ายังจำเป็นอยู่หรือไม่

ปมปัญหาบางมาตราในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับที่ผ่านมา ที่ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 7 ที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองมักนำมาอ้างเพื่อแก้โจทย์-ปลดล็อกทางการเมืองทุกครั้ง ที่ต้องการขับไล่นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งให้พ้นจากตำแหน่ง คือต้องการใช้ประเพณีในการปกครอง และการอ้างพระราชอำนาจ การถวายคืนพระราชอำนาจ

โจทย์ข้อนี้ ดร.วิษณุนำมาบัญญัติไว้ในนวัตกรรมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วยว่า “มาตรา 7 ยังจำเป็นต้องเขียนไว้ ไม่เขียนไม่ได้ แต่คราวนี้เปิดโอกาสให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความล่วงหน้าได้ว่า ประเด็นที่สงสัยกันนั้น เข้าข่ายประเพณีการปกครองตามมาตรา 7 ได้หรือไม่”

นับเป็นอีกหนึ่งผลงาน การออกแบบพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ ที่มีบางส่วนย้อนสมัย-บางประเด็น ปิดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็งให้กับฝ่ายอำนาจใหม่

นายมีชัย ฤชุพันธุ์  ที่มาภาพ :http://host103.hunsa.com/img2/load_cpic.php?fid=130536&mime=image/jpeg&ext=jpg
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มาภาพ :http://host103.hunsa.com/img2/load_cpic.php?fid=130536&mime=image/jpeg&ext=jpg

ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นนักกฎหมายเครือข่ายเดียวกับ ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ และ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ญาติผู้น้องของเขา

ชื่อชั้นของนักกฎหมายทั้ง 3 คนนี้ อาจยากที่จะหาใครมาเทียบเทียม ทั้งในระดับความเชี่ยวชาญและความกว้างขวาง ลึกล้ำ เป็นเครือข่ายได้ทั้งกับฝ่ายอำนาจพิเศษ และฝ่ายอำนาจทุนนิยมใหม่

เพราะทั้ง ดร.วิษณุ เครืองาม และ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต่างก็เคยอยู่ในโครงสร้างอำนาจของฝ่าย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และฝ่ายอำนาจหลังรัฐประหาร 2549 ในแถวของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี

เพราะความเป็นผู้รู้ด้านกฎหมาย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ทำให้ใน 24 ชั่วโมงของ ดร.วิษณุ มักถูกแบ่งภาคให้อยู่ในวงของฝ่ายบุคคลชั้นสูง อำมาตย์ นักธุรกิจ นักการเมือง และชนชั้นนำ แทบจะตลอดเวลา

เพราะเคยเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึง 9 นายกรัฐมนตรี ตรวจประวัติรัฐมนตรี ลงนามด้วยลายมือตัวเองมาแล้วนับพันคน พัวพันกับประมุข 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติและตุลาการมาแล้วกว่า 4 ทศวรรษ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ที่มาภาพ : http://www.tv5.org/cms/userdata/c_bloc/273/273215/273215_vignette_Thaksin-Shinawatra-001.jpg
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ: http://www.tv5.org/cms/userdata/c_bloc/273/273215/273215_vignette_Thaksin-Shinawatra-001.jpg

เมื่อคราวที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าประจำการที่ตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะนายกรัฐมนตรีใหม่ถอดด้าม ดร.วิษณุ ให้คำปรึกษาทำนองว่า “ต้องแยกให้ออกว่าถ้าเป็นปัญหาของคุณทักษิณ ก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ควรกระโดดเข้าไปแก้ไข ถ้าจะแก้ไขก็ต้องเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ด้วย ปัญหามันคืออะไร ต้องแก้ให้ถูกจุด ต้องตอบถามประชาชนได้”

เขาเคยทำนายไว้ด้วยว่า หากพรรคเพื่อไทยจะพยายามเอาทรัพย์สินของ พ.ต.ท. ทักษิณที่ถูกยึดไปกลับคืนมา จะประสบปัญหาคือ 1. จะบริหารประเทศโดยไม่ปกติสุข 2. จะเกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในบ้านเมือง

หากเอ่ยชื่อนายกรัฐมนตรีย้อนหลังไป 10 คน ในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ดร.วิษณุสามารถเล่าประวัตินายกรัฐมนตรีทุกคนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งวิธีการทำงาน วิธีคิด และมีเกร็ดเรื่องส่วนตัวผสมแนบท้าย

ดร.วิษณุเล่าว่า รัฐบาลท่านอานันท์ (ปันยารชุน) ต้องมาเสียเวลาครึ่งหนึ่งของรัฐบาลไปกับการแก้ปัญหาศึกตุลาการ

รัฐบาลท่าน พล.อ. สุรยุทธ์ (จุลานนท์) ต้องมาเสียงบประมาณ ใช้เวลาไปจำนวนมาก กับการแก้ปัญหาน้ำท่วมใน 48 จังหวัดจนเกือบจะไม่ได้ทำอย่างอื่น

รัฐบาลคุณสมัคร (สุนทรเวช) คุณสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ลงท้ายก็ไม่ได้ทำอะไร ได้ใช้เงิน เวลา หัวคิด ไปกับการแก้ปัญหาเรื่องม็อบ แม้แต่คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็ใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหานี้ ก็ผลักดันนโยบายออกมาได้บางส่วน

แม้แต่คุณทักษิณเอง เมื่อตอนปลายรัฐบาล มีงบประมาณเหลือมากพอที่จะไม่เก็บภาษีประชาชน 1 ปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ชั่วข้ามคืนอย่างสึนามิในภาคใต้ ต้องเอางบประมาณ สมอง เวลาทั้งหมดมาใช้กับการแก้ปัญหานั้น

แหล่งข่าวในคณะ 10 อรหันต์ ที่ปรึกษา คสช. ที่มีทั้งนายพล นักธุรกิจ อดีตรัฐมนตรีทั้ง “ยุคขิงแก่” และ “ยุคทักษิณ” เล่าว่า เมื่อได้ฟัง ดร.วิษณุอภิปรายประเด็นเทคนิคกฎหมาย การบริหาร การออกคำสั่ง ประกาศ หลังรัฐประหาร ในวงประชุมในค่ายทหาร ย่านวิภาวดี ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษา และกรรมการคนอื่นๆ ต่างนิ่งอึ้ง และซูฮกในความสามารถหลักแหลมของ ดร.วิษณุ

บางคนถึงกับออกปากว่า “ระดับความเชี่ยวชาญในการอธิบาย เทคนิกการปลดล็อก แก้กฎหมาย การแก้คำสั่งที่เป็นจุดอ่อนการเมืองบางประการ ของ คสช. นั้น นับวันจะเก่งกาจกว่า ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ นักกฎหมายรุ่นพี่เสียแล้ว”

ในอดีต ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยเล่าถึงที่มาของความเก่งกาจ แบบมหัศจรรย์พันลึก ของ ดร.วิษณุ ญาติผู้พี่ ว่า “สมัยก่อนตอนเรียนชั้นมัธยม พักอยู่ด้วยกัน ที่บ้านญาติข้างวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร อารามหลวงชั้นโท มักจะมีการพระราชทานเพลิงศพบรรดาเจ้านาย ผู้มีบรรดาศักดิ์ และในงานจะมีการแจกหนังสืองานศพที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางกฎหมาย ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ ดร.วิษณุจะไปรับหนังสือเหล่านั้นมาอ่านจนจบ จากนั้นก็ปิดหนังสือ แล้วลงมือเขียนทั้งหมดที่อ่านมา แล้วนำมาเทียบว่าเขียนถูกทั้งหมดหรือไม่ ปรากฏว่าส่วนใหญ่เขียนถูกทั้งหมด…” นี่คือวิธีการเรียนหนังสือของผู้ได้เป็นศาสตราจารย์ด้วยวัยเพียง 24 ปี เป็นข้าราชการระดับซี 11 ด้วยวัย 42 ปี

ก่อนจะมาปรากฏตัวในนามที่ปรึกษา คสช. นั้น ดร.วิษณุหลบไปทำงานอาชีพ “ที่ปรึกษา” ให้กับองค์กรธุรกิจ และ “อาจารย์” คู่กับ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ รวมทั้งกลับไปเป็น “นักศึกษา” หลักสูตรที่โด่งดัง เต็มไปด้วยบุคคลระดับวีไอพี ที่ “วิทยาลัยการตลาดทุน” รุ่น “วตท.9” เพื่อนร่วมรุ่นของเขาคือ วิชัย ทองแตง, บรรพต หงษ์ทอง, พินิจ จารุสมบัติ, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร., นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกฯ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย, และนักธุรกิจ-ดาราดังระดับซูเปอร์สตาร์ ล้วนเคยเป็นแขกในงานปาร์ตี้ที่บ้านของ ดร.วิษณุ เครืองาม

ที่บ้านของ ดร.วิษณุ แม้ไม่ใช่บ้านนักการเมืองใหญ่ แต่มักคลาคล่ำไปด้วยคนการเมือง นายทหาร ตำรวจ เขาจัดเก้าอี้ไว้ในห้องประชุมเกือบเท่าๆ กับเก้าอี้ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

เพราะความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ด้านพุทธศาสนา เขาจึงมักถูกเชิญเป็นมัคคุเทศก์วีไอพี ในการจัดทริปท่องเที่ยวในดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนา และต่างประเทศเสมอ ทั้งทริปเปิด-และทริปลับส่วนตัว ทั้งในอาเซียนและยุโรป

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ที่มาภาพ :  เฟซบุ๊กสุเทพ เทือกสุบรรณ https://www.facebook.com/suthep.fb?ref=br_tf
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กสุเทพ เทือกสุบรรณ https://www.facebook.com/suthep.fb?ref=br_tf

ครั้งหนึ่งเมื่อเขาเดินทางโดยสายการบินในประเทศ ได้พบปะกับนักการเมืองคนดัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เขาถูกเทียบเชิญแบบ “ด่วนที่สุด” ให้ไปรับประทานอาหารปักษ์ใต้รสเลิศที่บ้านมาแล้ว

งานด้านการกุศล ดร.วิษณุก็ครบเครื่อง-ควบคู่ ดร.มีชัย ในฐานะเป็นผู้ร่วมจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิมีชัย-คุณหญิงอัมพร ฤชุพันธุ์ โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานคือ ดร.นายวิษณุ เครืองาม และคุณพรทิพย์ จาละ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นรองประธานกรรมการ และ ดร.บวรศักดิ์ ร่วมเป็นกรรมการ

ชื่อ ดร.วิษณุ เครืองาม ไม่ว่าเอ่ยในวงการใด ย่อมไม่มีใครไม่กล้ายอมรับ ทั้งในฐานะผู้ออกแบบประเทศไทย และผู้คลุกวงในกับนายกรัฐมนตรี ในรอบ 4 ทศวรรษ

อ่านเพิ่มเติม วาทกรรม “ยิ่งลักษณ์” วาระกรรมรัฐบาล คำเตือน “วิษณุ” วันไร้เงา “เนติบริกร”