ThaiPublica > คนในข่าว > พลโทอาวุโส “โต เลิม” ขึ้นประธานาธิบดีเวียดนาม

พลโทอาวุโส “โต เลิม” ขึ้นประธานาธิบดีเวียดนาม

22 พฤษภาคม 2024


พลโทอาวุโส โต เลิม สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เวียดนาม ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/to-lam-becomes-new-state-president-post287368.vnp

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ที่ประชุมสภาแห่งชาติ (National Assembly:NA) สมัยที่ 15 ได้ลงคะแนนเสียงให้ “พลโทอาวุโส โต เลิม” (To Lam) สมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร (Politburo) และรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนาม ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

หลังจากรับฟังร่างมติเลือกพลโทอาวุโสโต เลิม สมาชิกกรมการเมือง รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และรองประธานสภาแห่งชาติคณะที่ 15 เป็นประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งปี 2564-2569 ซึ่งมีการเสนอโดยเลขาธิการและประธานสภาแห่งชาติ “บุ่ย วาน เกือง”

สมาชิกสภาได้ลงคะแนนอนุมัติมติดังกล่าวโดยใช้ระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยคะแนนเสียง “ยอมรับ” 472 เสียงจากสมาชิกเข้าร่วม 473 คน หรือคิดเป็น 96.92% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด สภาแห่งชาติจึงอนุมัติข้อเสนอดังกล่าว

มตินี้มีผลทันทีหลังจากได้รับอนุมัติ

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามชุดที่ 13 ยอมรับการลาออกจากสมาชิกกรมการเมืองและจากตำแหน่งประธานาธิบดีของโว วัน เถือง ตามที่ยื่นขอ

ในระหว่างการประชุมสมัยวิสามัญซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม สภาแห่งชาติได้มีมติให้ถอดถอนนายเถือง ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งรัฐและสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ 15 ซึ่งในวันเดียวกันนั้น รองประธานาธิบดี หวอ ถิ แองห์ ซวน ได้รับการเสนอชื่อให้รักษาการประธานาธิบดี

การประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 15 สมัยที่ 7 มีขึ้นในวันจันทร์ และคาดว่าจะปิดการประชุมในวันที่ 28 มิถุนายน
ในระหว่างพิธีสาบานตน ประธานาธิบดีที่เพิ่งได้รับเลือกกล่าวว่า เขาจะบากบั่นและตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพรรค รัฐ และประชาชน

พลโทอาวุโส โต เลิม เกิดเมื่อปี 2500 มาจากจังหวัดฮึงเอียนทางตอนเหนือ เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามวันที่ 22 สิงหาคม 2524 และได้การยอมรับเข้าพรรคอย่างเป็นทางการในอีก 1 ปีต่อมา สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคสมัยที่ 11, 12 และ 13 เป็นสมาชิกสมัยที่ 12 และ 13 กรมการเมือง

นอกจากนี้ยังเป็นรองประธานสภาแห่งชาติสมัยที่ 14 และ 15

พลโทอาวุโส โต เลิม เริ่มงานในกระทรวงมหาดไทย(Ministry of Home Affairs ที่ปัจจุบันคือ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ หรือMinistry of Public Security)ในปี 2522 และเข้าทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะตั้งแต่เดือนเมษายน 2559

โต เลิม วัย 66 ปี ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ เป็นบุคคลสำคัญในการรณรงค์กวาดล้างการรับสินบน หรือที่เรียกกันว่า “เตาหลอมที่ลุกโชน”(blazing furnace) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดการคอร์รัปชั่นในวงกว้าง แต่นักวิจารณ์ก็มองว่าเป็นเครื่องมือเช่นกัน เพื่อกีดกันฝ่ายตรงข้ามในระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองแบบเผชิญหน้า

ในทางกลับกัน กำลังส่งผลกระทบต่อความน่าดึงดูดของประเทศในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ลดการถือครองหลักทรัพย์ของตนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องมาจากข่าวการเมืองในทางไม่ดี นอกจากนี้ยังทำให้การบริหารราชการชะงักด้วยเงินหลายพันล้านดอลลาร์ในความช่วยเหลือจากต่างประเทศและกองทุนสาธารณะไม่ได้นำไปใช้

หลังได้รับการเลือก โต เลิมบอกกับสมาชิกสภาแห่งชาติว่าเขาจะ “ต่อสู้กับการทุจริตต่อไปอย่างเด็ดเดี่ยวและต่อเนื่อง”

ประธานาธิบดีของประเทศมีบทบาทในเชิงพิธีการเป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นหนึ่งในสี่ตำแหน่งทางการเมืองอันดับต้นๆ ของประเทศ หรือที่เรียกว่า “สี่เสาหลัก” โดยเสาหลักอื่นๆ ได้แก่ หัวหน้าพรรค นายกรัฐมนตรี และประธานสภาแห่งชาติ

ความขัดแย้งทางการเมืองคาดว่าจะสงบลงชั่วคราวหลังจากโต เลิมได้รับการคัดเลือก จากความเห็นของคาร์ล เทเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณและผู้เชี่ยวชาญเวียดนามจากสถาบัน Australian Defense Force Academy ในแคนเบอร์รา

แต่การต่อสู้ครั้งสำคัญยังคงต้องสู้กันต่อ ขณะที่การดำรงตำแหน่ง 5 ปีวาระที่สามของนายเหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่ของพรรคจะสิ้นสุดลงในปี 2569 หรือเร็วกว่านั้นหากเขาลาออกจากตำแหน่งก่อนที่ครบวาระ

“โต เลิม สามารถใช้ตำแหน่งของเขาในฐานะหนึ่งใน “สี่เสาหลัก” เป็นก้าวสำคัญในการเป็นเลขาธิการพรรค” เทเยอร์ กล่าว

“ด้วยการเลื่อนตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เห็นได้ชัดว่าโต เลิม มีความมุ่งหวังมากกว่าการเกษียณ” ฟลอเรียน เฟเยราเบนด์ ตัวแทนในเวียดนามของมูลนิธิ Konrad Adenauer Foundation ของเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมอง กล่าว โดยระบุว่าตำแหน่งดังกล่าวอาจเป็น “ฐานสำคัญ” เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เฟเยราเบนด์คาดว่าจะมีการต่อสู้แบบเผชิญหน้ากันต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญครบหมด ซึ่งเขาให้นิยามไว้ว่าเป็น “ระเบียบปฏิบัติของระบบ”

เหงียน คัก ซางนักวิเคราะห์จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak แห่งสิงคโปร์ ก็มีความเห็นไม่ต่างกันว่า การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นในพิธีการ แต่บทบาทใหม่ของเขาในฐานะประมุขแห่งประเทศ ทำให้ชายวัย 66 ปีรายนี้อยู่ใน “ตำแหน่งที่แข็งแกร่งมาก” ที่จะก้าวเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนต่อไป ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในประเทศ

เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ เหงียน ฝู จ่อง ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ในปี 2564 แต่เมื่ออายุ 80 ปี เขาอาจไม่แสวงหาวาระต่อไปอีกหลังจากปี 2569

เหงียน ฝู จ่อง เป็นนักอุดมการณ์ที่มองว่า การทุจริตเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดที่พรรคเผชิญ ในฐานะผู้นำสูงสุดด้านความมั่นคงของเวียดนาม โต เลิมป็นผู้นำการกวาดกล้างการทุจริตของเหงียน ฝู จ่อง

โต เลิมทำงาน ในกระทรวงความมั่นคงสาธารณะมานานกว่าสี่ทศวรรษก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีในปี 2559 เขาผงาดขึ้นในขณะที่โปลิตบูโรของเวียดนามสูญเสียสมาชิก 6 คนจากทั้งหมด 18 คน ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดีสองคนและประธานสภาแห่งชาติของเวียดนาม ท่ามกลางการรณรงค์ต่อต้านการรับสินบนที่ขยายวงมากขึ้น

โต เลิม อยู่เบื้องหลังการสืบสวนที่เกี่ยวกับนักการเมืองชื่อดังจำนวนมาก

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สภาแห่งชาติยังได้ลงมติให้โต เลิม พ้นจากตำแหน่งผู้นำตำรวจ ตามรายงานของสื่อของรัฐ ซึ่งการดำเนินการนี้ไม่ได้อยู่ในกำหนดการเดิม

นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิ๋งห์ จิ๋งห์ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ เจิ่น ก๊วก โต วัย 62 ปี เป็นรัฐมนตรีของกระทรวงชั่วคราว จากการรายงานของ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ VietnamNet

ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/biography-of-state-president-to-lam-post135780.html

การเลื่อนชั้นของโต เลิม ไม่ได้ปราศจากความขัดแย้งเสียทีเดียว

ในปี 2564 เชฟผู้มีชื่อเสียง Nusret Gokce หรือที่รู้จักในชื่อ “Salt Bae” ได้อัปโหลดวิดีโอของตัวเองกำลังป้อนสเต็กห่อทองให้โต เลิม ที่ร้านอาหารของเขาในลอนดอน ขณะที่เวียดนามอยู่ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์เนื่องจากโควิด-19 วิดีโอดังกล่าวกลายไปไวรัลก่อนที่เชฟชาวตุรกีจะลบออก

พ่อค้าบะหมี่รายหนึ่งซึ่งฟอลโลว์วิดีโอล้อเลียน “Salt Bae” ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี ฐานโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ

โต เลิม เป็นรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ เมื่อในปี 2560 ทางการเยอรมนีกล่าวว่า นักธุรกิจชาวเวียดนามและอดีตนักการเมือง จึง ซวน แทงห์ และเพื่อนคนหนึ่งถูกลักพาตัวและลากเข้าไปในรถตู้ในย่านใจกลางกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นั่นบอกว่า “สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและเห็นได้ชัดเจน ถึงการละเมิดกฎหมายเยอรมันและกฎหมายระหว่างประเทศ”

(จีง ซวน แทงห์ นักธุรกิจชาวเวียดนามที่พยายามขอลี้ภัยในเยอรมนี ถูกลักพาตัวในกรุงเบอร์ลิน และถูกพาตัวกลับประเทศ และถูกดำเนินคดี ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 2561 หลังถูกพิจารณาคดีในเวียดนาม และเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหานี้ เกิดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนามเดินทางเยือนสโลวะเกียในเดือน กรกฎาคม2560)

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเวียดนามในปี 2023 เตือนถึงการละเมิดที่สำคัญโดยกองกำลังความมั่นคง และอ้างถึง “รายงานที่น่าเชื่อถือว่าสมาชิกของกองกำลังความมั่นคงได้กระทำการละเมิดหลายครั้ง”

ในช่วงหลายปีระหว่างที่โต เลิมดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรเฝ้าระวังอื่นๆ ได้วิพากษ์วิจารณ์เวียดนามอย่างรุนแรงถึงการคุกคามและข่มขู่ผู้วิพากษ์วิจารณ์

ในปี 2564 ศาลตัดสินลงโทษบุคคลอย่างน้อย 32 คนฐานโพสต์ความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและตัดสินให้จำคุกหลายปี ในขณะที่ตำรวจจับกุมอีกอย่างน้อย 26 คนในข้อหาสร้างข่าวปลอม จากรายงานของ Human Rights Watch

ภายใต้การอำนาจของโต เลิมในฐานะหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงสูงสุดของเวียดนาม ภาคประชาสังคมต้องเผชิญกับการควบคุมเพิ่มขึ้น ได้มีออกกฎการรับช่วยเหลือจากต่างประเทศในปี 2564 และปรับให้เข้มงวดขึ้นในปี 2566 ประเทศจำคุกนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ และการนำกฎหมายมาใช้ในการเซ็นเซอร์โซเชียลมีเดีย จากการให้ข้อมูลของเบน สวอนตัน จากProject 88 กลุ่มที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกในเวียดนาม

“ด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของโต เลิม ขณะนี้เวียดนามกลายเป็นรัฐตำรวจอย่างแท้จริง” สวอนตันกล่าว พร้อมเสริมว่า ขณะนี้พรรคการเมืองของเวียดนามถูกครอบงำโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทั้งในปัจจุบันและอดีต สวอนตันคาดว่าการปราบปรามจะเข้มข้นขึ้นอีก