“มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ เข้ารับตำแหน่ง ท่ามกลางความคาดหวังมากมายว่าเขาจะสามารถสานต่องานสำคัญที่รัฐมนตรีคนก่อนได้เริ่มต้นเอาไว้เมื่อ 8 เดือนก่อน เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันให้เป็นจริงให้ได้ นั่นคือการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางทะเลและแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมกับกัมพูชา
นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงต่อรัฐสภาถึงความสำคัญของปัญหาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ว่าพื้นที่ซึ่งมีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตรนั้น มีทรัพยากรปิโตรเลียมอยู่จำนวนมากมายมหาศาลที่จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนานำขึ้นมาใช้เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจในเร็ววัน
นายกรัฐมนตรีของไทยได้หารือในประเด็นนี้ ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ของกัมพูชาเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และได้ประกาศต่อหน้าผู้นำกัมพูชาและสาธารณชนทั้งหลายในการแถลงข่าวว่า ทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะหารือกันต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนของสองประเทศ ในเวลาเดียวกัน ได้ให้ความสำคัญกับการปักปันเขตแดนทางทะเลและตกลงกันในอันที่จะหารือในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน
นอกจากนี้ถ้อยแถลงอันจะทำให้ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่จะต้องสานต่องานสำคัญในเรื่องนี้ คือส่วนที่ว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงพลังงานและกองทัพเรือ ในประเด็นดังกล่าวเพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป
กล่าวโดยย่อ กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมาย แต่รัฐมนตรีคนก่อนยังไม่ได้ดำเนินการ มีดังต่อไปนี้
อย่างแรก หารือและหาทางเปิดการเจรจาแสวงหาความร่วมมือกับกัมพูชา ในอันที่จะร่วมกันพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ที่สองประเทศอ้างสิทธิทับซ้อนกัน ไปพร้อมๆ กับการปักปันเขตแดนทางทะเล ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ในบันทึกความเข้าใจที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกันเอาไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2544 คือเมื่อ 23 ปีที่แล้ว
อย่างที่สอง กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ให้ประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ ได้แก่ กระทรวงพลังงานและกองทัพเรือ เพราะเรื่องนี้มีทั้งประเด็นปัญหาเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงานซึ่งไม่ใช่งานของกระทรวงการต่างประเทศ และงานทางด้านเขตแดนซึ่งหน่วยงานทางด้านความมั่นคงคือกองทัพจะต้องมาเกี่ยวข้อง
ถ้าหากนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ไม่เปลี่ยนใจที่จะปรับปรุงคำสั่งเดิม นายมาริษในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการในเรื่องสำคัญที่สุดเพื่อผลักดันให้สามารถเดินหน้าในเรื่องนี้ให้คืบหน้าต่อไปคือ แรกที่สุดเลยจะต้องพิจารณาโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee – JTC) ตามที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้เตรียมการเอาไว้ ว่าเหมาะสมที่จะไปประกบคู่เพื่อทำการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาได้หรือไม่ จากนั้นจึงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
สิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ คณะกรรมการนี้ถูกกำหนดเอาไว้ในบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2544 เอาไว้โดยจัดแจ้งแล้วว่า จะต้องเจรจาเรื่องการแบ่งอาณาเขตทางทะเล ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ขนาด 10,000 ตารางกิโลเมตร เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ ไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ได้แบ่งแยกให้เป็นแพคเกจเดียวกันกับการเจรจา เพื่อจัดทำระบอบพัฒนาร่วมเพื่อที่จะร่วมกันขุดค้นเอาทรัพยากรปิโตรเลียมจากพื้นที่ขนาด 16,000 ตารางกิโลเมตร บริเวณใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นมาใช้และแบ่งปันผลประโยชน์กัน
เรื่องนี้จัดได้ว่าเป็นงานหินที่สุดของรัฐมนตรีต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้การเจรจา 2 เรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงให้ไปด้วยกันได้ให้เป็นแพคเกจเดียวกัน คนที่จะมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการนี้หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ที่จะต้องเป็นหัวหน้าคณะเจรจากับฝ่ายกัมพูชา นั้นจะต้องเป็นคนที่มีความรู้รอบด้านทั้งทางเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน และการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานเฉพาะอย่างยิ่งปิโตรเลียม
รัฐมนตรีมาริษ มีทางเลือกว่าจะนั่งเป็นประธานเสียเอง หรือจะเสนอให้บุคคลอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมมาทำหน้าที่นี้แทนก็ได้ และผู้ที่เป็นประธานอาจจะพิจารณาตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการอีกอย่างน้อย 2 ชุด เพื่อให้พิจารณาและเจรจาในรายละเอียดทางเทคนิคในส่วนของการปักปันเขตแดนทางทะเล และในส่วนของการพัฒนาร่วม โดยโครงสร้างเดิมที่มีการเสนอกันเอาไว้นั้น คณะอนุกรรมการทางด้านเขตแดนจะมีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายของกระทรวงต่างประเทศเป็นหน้าคณะ และมีผู้แทนจากฝ่ายความมั่นคงมานั่งเป็นองค์ประกอบ ส่วนคณะอนุกรรมการทางด้านการจัดตั้งระบอบพัฒนาร่วมนั้น จะให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีองค์ประกอบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานเข้ามาร่วม
ในการนี้อาจจะมีการแต่งตั้งผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญทั้งสองด้าน เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการด้วยก็ได้ แต่อาจจะต้องระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งหากมีผู้ยกขึ้นมาเป็นประเด็นคัดค้านก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคทำให้การเจรจาเดินหน้าลำบาก หรือบางกรณีก็ทำให้การดำเนินงานในเรื่องนี้ถึงกับหยุดชะงักไปก็เคยมีมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ มีอิสระในการริเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้ตามสมควร เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนยังไม่ได้ดำเนินการอะไรที่เป็นรูปธรรม หรือมีข้อผูกมัดอะไรมากมายนัก หากพิจารณาจากประวัติการทำงาน รัฐมนตรีมาริษ น่าจะได้รับแรงส่งที่สำคัญจากฝ่ายการเมือง เนื่องจากเป็นผู้ที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลกัมพูชาอย่างยิ่ง
แต่ก็อาจจะมีสิ่งท้าทายอยู่ไม่น้อย กล่าวคือนายมาริษ ไม่เคยมีประสบการณ์ในฐานะผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศ เขาเคยเป็นเอกอัครราชทูตหลายประเทศ เช่นในเครือออสเตรเลีย ฟิจิ เนปาล และแคนาดา แต่เขาไม่เคยเป็นอธิบดีกรมใด ไม่เคยเป็นรองปลัดหรือปลัดกระทรวงต่างประเทศ ที่จะทำให้มีอิทธิพลต่อข้าราชการหรือรุ่นน้องในกระทรวง
ยิ่งไปกว่านั้นนายมาริษ มีเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ตำแหน่งเดียว ไม่มีอำนาจสั่งการไปยังกระทรวงอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงพลังงาน ซึ่งอยู่ในความดูแลของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินการให้เกิดการเจรจาไปในทิศทางที่สอดคล้องกันได้
สิ่งท้าทายอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจจะมองข้ามได้คือ การที่มีผู้ไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบันทึกความเข้าใจ ปี 2544 นั้นอาจจะทำให้การดำเนินการในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค เพื่อเปิดเจรจากับกัมพูชาพบกับอุปสรรคได้ เนื่องจากผู้ถูกร้องคือ กระทรวงการต่างประเทศและกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นธรรมดาอยู่ที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบจะต้องคิดหาหนทางรับมือและแก้ไข
แต่ด้วยประสบการณ์ทางการทูตที่ยาวนาน และรัฐมนตรีมาริษ เคยช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงสมัยรัฐบาลของทักษิณ ในช่วงที่มีการลงนามในบันทึกความข้าใจปี 2544 แม้ว่าผู้รับผิดชอบหลักในเวลานั้นคือ รัฐมนตรีต่างประเทศ แต่รัฐมนตรีมาริษ ก็อยู่ในฐานะที่จะรับรู้รับทราบการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ อีกทั้งก่อนหน้าที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ นายมาริษ ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อน เขาก็น่าจะสานต่อการดำเนินการในประเด็นนี้ได้ไม่ยากนัก จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะขับเคลื่อนการเจรจานี้ต่อไปอย่างไร