“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ที่เคยผ่านการนอนคุกมาแล้ว 5 ครั้ง เล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตในคุก คนจนล้นคุก วีไอพีคุกมีจริงหรือไม่ การปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ควรปฏิรูปหรือยัง ในวันที่ถูกตั้งคำถาม 2 มาตรฐาน หนักหน่วงที่สุดในห้วงเวลานี้

อาจจะบอกได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลักนิติธรรม (Rule of Law) ถูกตั้งคำถามแบบหนักหน่วงต่อเนื่องมากที่สุดในเรื่อง “สองมาตรฐาน” โดยเฉพาะเหตุการณ์ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ กับการควบคุมตัวอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ทำให้คำกล่าวที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ดูจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป
จากการสำรวจดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ปี 2024 โดยองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร The World Justice Project (WJP) ซึ่งประเทศไทยได้ 0.49 จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (0.55) จัดอยู่ในอันดับที่ 82 จาก 142 ประเทศทั่วโลก และได้คะแนนต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจมา
จากตัวอย่างข้างต้นเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยสอบตกดัชนีความยุติธรรม
สำหรับเรื่องคุกๆ คงไม่มีใครตอบคำถาม หรือบอกเล่าเรื่องราวของ “คุก” และ กระบวนการยุติธรรม ได้เท่ากับคนที่มีประสบการณ์ อย่าง “จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านการติดคุกมาแล้ว 5 ครั้ง โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี 12 เดือน
ปัจจุบัน “จตุพร” เรียกตัวเองว่า คนการเมือง หรืออีกสถานะหนึ่งคือ “นักเล่าความจริง” ผ่านรายการ ประเทศไทยต้องมาก่อน ร่วมกับ นิติธร ล้ำเหลือ คณะหลอมรวมประชาชน ผ่านทางเฟซบุ๊กและyoutube ของตัวเอง
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พูดคุยกับ “จตุพร” ถึงเรื่องราวของกรมราชทัณฑ์ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ‘คุก’ กับเรื่องอื้อฉาวที่สุดของชั้น 14 รพ.ตำรวจ กรณีการควบคุมตัวอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า 2 มาตรฐานของ ที่ทำให้หลักนิติธรรมตกต่ำ รวมทั้งคดี 112 ของเยาวชนที่ไม่สามารถประกันตัวได้
“จตุพร” บอกว่า ปัญหาเรื่องคุกเป็นเพียงแค่ส่วนปลายของกระบวนการยุติธรรมไทย หากจะนับรวมกระบวนการยุติธรรมที่ต้องปฏิรูปต้องเริ่มตั้งแต่ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์และกรมควบคุมประพฤติ ต้องมีการปฏิรูปพร้อมกันทั้งหมด
ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมไม่เคยมีการปฏิรูปพร้อมกัน มีเพียงศาลยุติธรรม ที่มีการปฏิรูปไปแล้วอย่างสมบูรณ์จากเดิมในงานธุรการศาลทั้งเรื่องการสร้าง หรือการใช้งบประมาณ จะขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม แต่เมื่อมีการปฏิรูปศาล ตั้งสำงานศาลยุติธรรม ทำหน้าที่ในงานธุรการศาล และมีการจัดระบบโครงสร้าง
อัยการสูงสุดเป็นอีกหน่วยงานที่มีการปรับโครงสร้างจากเดิมที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยก็ยกเครื่องใหม่ แยกออกมาเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ตั้งสำนักงานอัยการสูงสุด โดยปฏิรูปโครงสร้างแบบเดียวกับศาลยุติธรรม แยกสำนักงานอัยการสูงสุดออกจากฝ่ายการเมือง ทำให้ปัญหาในการพิจารณาคดีน้อยลง แม้จะปัญหาบ้างก็ไม่ใช่เรื่องระบบแต่ก็เป็นเรื่องของปัจเจกมากกว่า
ส่วนตำรวจมีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเช่นกัน จากเดิมสังกัดกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนจากกรมตำรวจมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยังมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ
การแต่งตั้งโยกย้ายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงเกี่ยวพันกับการเมือง ทำให้ตำรวจที่ถือเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมยังมีปัญหามากที่สุด เนื่องจากตำรวจ ยังเป็นอาชีพที่ต้องมีการวิ่งเต้นตำแหน่งตลอดเวลา โดยหากสำรวจในทุกสถานีตำรวจ(สน.) ผู้กำกับฯส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า รองผู้กำกับฯ
“รองผู้กำกับฯไม่ได้มีเส้นสายไม่มีวิ่งเต้น ทำให้ส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่าผู้กำกับ เป็นแบบนี้ ทุกสน. ยังไม่นับระดับต่างๆ ผู้การฯ ผู้บัญชาการ ฯ ซึ่งมีลักษณะไม่แตกต่างกัน”
ดังนั้นตำรวจจึงยังใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เป็นช่องทางทำมาหากิน ทำให้ยังปรากฎข่าวระบบส่วยต่างๆ แตกต่างจากระบบศาลยุติธรรม เพราะหากเทียบเงินเดือนของตำรวจ กับ ศาลและอัยการ พบว่าอัตราเงินเดือนห่างกันค่อนข้างมาก
“เคยมีคนบอกว่าในอดีตผู้กำกับฯ หนึ่งคน หากย้ายไปประจำตำแหน่งที่ไหนต้องพกแอร์ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องพิมพ์ดีดต้องไปเอง กระดาษต้องซื้อเอง ถ้าใช้โน๊ตบุ๊คก็เป็นของใครของมัน หากันไปเอง เวลาย้ายก็ขนกลับไปด้วย ดังนั้นผมเห็นว่า ตำรวจยังเป็นปัญหา”
จตุพรบอกว่าด้วยปัญหาของตำรวจ ทำให้ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจและบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีการปฏิรูปแต่ก็ไม่ได้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง แม้จะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งยังสังกัดกระทรวงยุติธรรม จะมีปัญหาแต่มีไม่มากเท่ากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากมีบุคลากรไม่มาก
“ปัญหาของวงการตำรวจ ชัดเจนว่าในช่วงฤดูโยกย้าย ก็ประหัตประหารกัน บางคนก็ซื้อเพื่ออยู่ บางคนซื่อเพื่อที่จะไป สารพัด ซึ่งทุกอย่างคือเงิน และเงินมีการตั้งข้อสังเกตว่า การได้เงินมาจากของผิดกฎหมาย”

คนล้นคุก: ราชทัณฑ์อ่อนไหว การเมือง
มาถึงเรื่องของราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนปลายของกระบวนการยุติธรรม ‘จตุพร’ บอกว่า กรมราชทัณฑ์เป็นเรื่องอ่อนไหวละเอียดอ่อนกับฝ่ายการเมืองมาก ทำให้ยังมีระบบแบบ “นายกับลูกน้อง” ไม่แตกต่างจากตำรวจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาจำนวนผู้ต้องขังมากกว่าพื้นที่ของคุกจะรองรับได้
“ศาล ตำรวจ อัยการ มีหน้าที่ในการสั่งฟ้องคดี ตัดสินคดี แต่ไม่ได้ดูศักยภาพของเรือนจำว่า จะรับได้จำนวนเท่าไหร ผู้ต้องขังที่จะรับได้ประมาณแสนเศษๆ บางช่วงมีมากถึงสี่แสนคน ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ต้องขังประมาณ 2.8 แสนคน ทำให้คนคุกอยู่ค่อนข้างแออัด”
‘จตุพร’ อธิบายถึงความคับแคบของคุก ว่าพื้นที่นอนขนาดตามปกติ กระเบื้อง 3 แผ่น ปกติที่ผู้ต้องขังจำนวนไม่มากก็ถือว่าลำบากแล้ว โดยผู้ต้องขัง 1 คนจะมีที่นอนเป็นกระเบื้องขนาด 8×8 นิ้ว 3 แผ่น ผ้าห่ม 3 ผืน หนุนหัวหนึ่ง ปูนอนหนึ่ง ห่มหนึ่ง ซึ่งเวลาปกติก็นอนไม่ค่อยสบายนัก แต่หากบางช่วงที่มีผู้ต้องขังมากพื้นที่นอนในคุกก็จะเล็กแคบลงไปอีก
“ผมติดคุกที่เรือนจำพิเศษ มีผู้ต้องขังที่เคยอยู่เรือนจำต่างจังหวัด เล่าให้ฟังว่าช่วงแน่นๆ ต้องผูกเปลตามลูกกรง เหมือนกับรังนกเลยนั่นคือความแออัดของคุก”
‘จตุพร’ ยังบอกว่าปัญหาเหล่านี้เขาเคยเล่าให้อธิบดีศาลแห่งหนึ่งที่เคยเข้ามาศึกษาดูงานเรือนจำฟังถึงสภาพความแออัดของคุกและสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง
“สิ่งแรกที่เราพูดคือสิ่งที่ท่านเห็น ท่านอย่าได้เข้าใจผิด ตรงนี้เป็นแดนแรกรับ ซึ่งปริมาณคนจะหมุนเวียน โดยเวลาส่งตัวจากแดนหนึ่งไปยังอีก 7 แดนนั้น ก็กระจาย 15 วัน แดนข้างในความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังแน่น แน่นอย่างมากเลย ถ้าท่านเข้าใจว่าผู้ต้องขังยังน้อยอยู่ท่านจะส่งคนมาเพิ่ม(คำพิพากษา)ก็ทำให้แออัดมากขึ้น ประเด็นนี้ไม่ได้มีการคุยร่วมกันว่าจะแก้ทั้งระบบอย่างไร”
‘จตุพร’ บอกว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องมีการหารือกันทั้งระบบ ไม่ใชปฏิรูปเฉพาะหน่วยงาน เพราะพบว่าในหลายคดี มีการคุมขังระหว่างการพิจารณา ทั้งที่คดียังไม่ติดสินถึงที่สุด แต่ถูกนำเข้าไปขังในเรือนจำรวมกับผู้ติดคุกอื่นๆที่คดีถูกตัดสินแล้ว
“สิ่งที่ผมเห็นคือ ประชาชน ตาสี ตาสา ยายมา ยายมี เมื่อถูกฟ้องคดี ไม่มีเงินจ้างทนาย ศาลก็ส่งทนายอาสามาทำคดีให้ ซึ่งทนายอาสาส่วนใหญ่จะแนะนำให้สารภาพ และจะได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง บางคนไม่ได้กระทำความผิดเลย ไม่มีจิตใจเป็นอาชญากร แต่พอต้องติดคุก ชีวิตมันก็เจ็บ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ไปเจอกับอาชญากร ถ่ายทอดวิชาที่จะก่ออาชญากรรม จากคนดีกลายเป็นคนชั่วเพราะฉะนั้นหลักคิดว่า ‘คืนคนดีเข้าสู่สังคม’ นั้น มันไม่ได้ แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะคืนคนดีให้สังคม แต่ไม่ได้ทำเป็นระบบอะไร ”

“ลอกท่อระบายน้ำ”:ฝันของคนคุก
‘จตุพร’ เล่าถึงสภาพผู้ต้องขังภายในคุกว่ามีความหลากหลาย ซึ่งไม่น่าเชื่อคนอยู่ในคุก ความใฝ่ฝันมากที่สุดคืออยากมาลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งศัพท์ที่เรียกกันคือ การไปอยู่ที่กองลอก หมายความว่าไปลอกท่อหนึ่งวันได้ลดโทษหนึ่งวันเพราะฉะนั้นคนคุกจริงๆเมื่อมีโอกาสมาลอกท่อ ถือว่าเหมือนได้รับการปูนบำเหน็จความดี ความชอบ
“ผมเองครั้งหนึ่ง กระเซ้าว่า…นี่อยากไปลอกท่อเพราะว่าติดคุกหลายครั้งแล้ว ผู้คุมก็บอกว่าขอร้องเลยคุณจตุพร คือ หมายความว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ว่าถ้าออกไป เดี๋ยววงแตก จะกลายเป็นปัญหา ผมก็หัวเราะเอิ๊กอ๊าก เอิ๊กอ๊าก ไป”
ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังก็มีทุกรูปแบบที่การใช้ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นกัน จตุพร บอกว่าเคยมีโครงการวิจัยมาให้ผู้ต้องขังทดลองยา วันละ 100 บาท โดยกินยา หรือ ฉีดยาเข้าไปแล้ว หนึ่งเดือนจะมาติดตามอาการอีกครั้ง
“มีผู้ต้องขังไปกันเยอะมาก ตอนแรกผมถามว่าเขาไปไหน เขาบอกว่าไปกินยาทดลองได้วันละ 100 บาท ซึ่งก็เป็นรายได้ของผู้ต้องขัง เพื่อว่าจะได้มีเงินไปสั่งอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารเรือนจำได้บ้าง หรือแม้แต่ซื้ออุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งต้องการมากกว่าสิ่งที่เรือนจำให้มา”
รายได้ของผู้ต้องขังไม่เพียงแค่ร่วมการทดลองวิจัย ผู้ต้องขังยังสามารถมีรายได้จากการพับถุงกระดาษ ซึ่งห้างสรรพสินค้า นำถุงกระดาษไปให้ผู้ต้องขัง พับ ติดกาว เพื่อสร้างรายได้ และในอดีตก็มีการทำฟอร์นิเจอร์ต่างๆจำนวนมากมาย
“คนในคุกเต็มไปด้วยคนที่มีศักยภาพ แต่ว่าระบบของคุก มันเป็นระบบปิด แล้วที่ผ่านมาไม่ได้มีการสังคายนา ยกระดับคุณภาพของตั้งแต่ ข้าราชการที่เป็นผู้คุม ซึ่งผมเข้าคุกหลายครั้ง สิ่งที่ผมเห็นคือ ผู้คุม กินอาหารอย่างเดียวกันกับผู้ต้องขัง อยู่ในสภาพอากาศอย่างเดียวกันทำให้มีผู้คุมมีอาการ สโตรก ไหลตาย ขณะที่ผู้ต้องขังก็ไม่ต่างกันเสียชีวิตแปลกๆ รวมถึงผูกคอตาย”
‘จตุพร’ เคยพบเหตุการณ์ผู้ต้องขังผูกคอตายครั้งหนึ่งด้วยสาเหตุอะไรไม่ชัดเจน ผู้ต้องขังรายนี้ผูกคอตายกับราวตากผ้า แล้วนั่งขัดสมาด กลั้นหายใจตาย แล้วต้องนั่งแบบนั้นจนกว่าตำรวจจะมาชันสูตร ดังนั้นจะเห็นว่า คุณภาพชีวิต คุกก็เป็นคุกวันยังค่ำ
ความงดงามของ’คนคุก’
แม้จะสภาพความเป็นอยู่ภายในคุกจะแออัด ลำบาก แต่ก็มีความงดงามของความเป็นมนุษย์ที่เอื้อเฟื้อกันละกัน เรื่องราวที่ประทับใจ ‘จตุพร’มากที่สุดเรื่องหนึ่งในระหว่างการถูกคุมขังคือน้ำใจของผู้ต้องขังรายหนึ่งในการดูแลอดีตข้าราชการ รู้สึกว่าจะเป็นกรมที่ดิน หรือกรมป่าไม้ มีคุณสมบัติ 10 ข้อ เข้าเงื่อนไขในการพักโทษเพราะดูแลตัวเองไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาบน้ำไม่ได้ แต่งตัวเองไม่ได้ กินข้าวไม่ได้ คุมการขับถ่ายไม่ได้ แต่ทางเรือนจำตามหาลูกหลาน ไม่มีใครอยากรับไปเป็นภาระ แต่มีผู้ต้องขังชายรานี้ที่เป็นโจร ช่วยดูแลในคุกมาตลอด
“วันหนึ่ง คนดูแลคือผู้ต้องขังคนนี้ จะได้รับการพักโทษเพราะว่าถูกขังมานาน เขาก็เดินคิดหลายวัน เพราะถ้าเขาพักโทษไปในเวลา 3 เดือนลุงคนนี้ ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ไม่มีใครอาบน้ำแต่งตัว ป้อนข้าว พ่อก็ไม่ใช่ พี่น้องไม่ใช่ แต่ผู้ต้องขังชายคนนี้ จัดสินใจยอมติดคุกต่ออีก 3 เดือนเพื่อดูแลลุงคนนี้ มันคือในเรือนจำมีความงดงาม โจรแท้ๆ ดูหน้าอย่างไรก็เป็นโจร แต่มันก็มีจิตใจดีที่ดูแลผู้ต้องขังด้วยกัน”
ด้วยเหตุผลและรูปแบบหลากหลายของคนคุก ‘จตุพร’ เห็นว่า รูปแบบการและการคุมประพฤติก็ควรจะมีหลากหลายเช่นกัน โดยจะเห็นว่าขบวนการยุติธรรมของหลายประเทศ กรมคุมประพฤติ มีลักษณะ องค์กรที่ใหญ่มากและมีรูปแบบการคุมประพฤติที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องขังในเรือนจำตลอดเวลา ซึ่งการคุมประพฤติ อาจจะการติดกำไล กังขังในบริเวณบ้าน เมื่อผู้ต้องขังพ้นประตูบ้านสัญญาญดังแล้ว
“ผมเคย เจอผู้ต้องขังอายุ 80 ปี เป็นรัฐวิสาหกิจคนหนึ่ง ข้าราชการคนหนึ่ง เคยทำงานกรมเร่งรัดพัฒนาชนบท อีกคนหนึ่งเป็น ผอ.องค์การโทรศัพท์ มาติดอายุ 80 กว่าปีเหมือนกัน คนหนึ่งนอนห้องเดียวกับผม อีกคนหนึ่งผมไปเจอตอนเข้าโรงพยาบาลอายุมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำมาขังไว้ในคุก เพราะว่านักโทษล้น 2.8 แสนคน มันล้นคุก ในยุคที่คุกแน่นๆ เวลานอน ต้องนอนตะแคงกัน เวลาเข้าห้องน้ำ กลับเข้ามานอนที่เดิมไม่ได้”
สำหรับ ‘จตุพร’ เคยนอนห้องขังหลายขนาด บางครั้งห้อง 30 กว่าคน บางครั้งห้อง10 กว่าคน ก็ถือเป็นขนาดเล็กมาก และในช่วงป่วยโควิด19 ถูกกักโรคขังไว้คนเดียว มีพลาสติกหุ้ม มีหน้าต่าง ไม่เจอแดด 97 วันต้องใช้ชีวิตในห้องนั้น
“ช่วงติดโรค ช่วงโควิดระบาดเขาเอาไว้ในแดนกักโรค ออกมาหิวแสงมากเพราะว่าไม่เจอแสงมา 97 วัน บางวันมือต้องล้วง เปิดมุ้งลวดออกไปให้เจอแดดสักหน่อย คุกก็คือคุก แต่ว่าเราวางใจ ให้เย็นพอ ทำตัวเหมือนคนที่ตายแล้ว เหมือนคนไปบวช เหมือนอยู่ในสุสานคนเป็นได้ก็จบ”

สังคายนา “ขบวนการยุติธรรม”
ด้วยปัญหาคนล้นคุก และคำถามถึงมาตรฐานของการควบคุม ทำให้ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชุมร่วมกันจัดระบบว่า แบ่งประเภทคดีแบบไหนควรจะขัง หรือดำเนินการอย่างไร
ขณะที่ศาลยุติธรรม คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ควรจะขัง เพราะมีการคุมขังผู้ที่ยังไม่ได้เป็นนักโทษ หรือยังคดียังไม่สิ้นสุดเกิดขึ้นจำนวนมาก
นอกจากสิ่งที่ต้องทำคือ ควรจะต้องเข้มงวดในการฝึกอาชีพมากขึ้น เพราะผู้ต้องขังจำนวนมากที่ทำผิดซ้ำและกลับมารับโทษใหม่ กลายเป็นนักโทษชั้นเลว หมดโอกาสได้รับการลดโทษ ดังนั้น ผู้ต้องขังที่ทำผิดซ้ำ ควรจะได้รับการฝึกอาชีพ สร้างอาชีพ แบบจริงจัง เพื่อให้เขาสามารถเอาชีวิตรอดได้ เพราะคนเหล่าออกไปก็ใช้ชีวิตไม่เป็น แล้วท้ายที่สุดก็กลับไปก่ออาชญากรรม ทำให้มีบางคนรู้สึกว่า อยู่ในคุกมันจะไม่อดตายทำผิดซ้ำเพื่อรับโทษอีกครั้งดีกว่า
“ต้องเข้มงวดเรื่องการสร้างอาชีพ ยกเว้นพวกที่มี อาการทางจิตอันนี้ยังไงก็ปล่อยให้เป็นปกติไม่ได้ เช่น ฆาตกรต่อเนื่อง ทั้งหลาย พวกนี้เวลาอยู่เรือนจำเป็นปกติ อยู่กับผู้คุมเป็นปกติ แต่พอไปข้างนอกไปเจอเพศตรงข้ามที่อ่อนแอกว่า มันต้องฆ่าอย่างเดียว ทั้งที่ก่อนที่จะปล่อยตัว ไม่มีอาการ ผู้คุมจะชอบว่า นิสัยดี ขยันขันแข็ง ไม่มี วี่แว่วว่าจะก่อเหตุ คนพวกนี้ก็ไม่ควรปล่อยออกไป”
‘จตุพร’ บอกว่า ทั้งศาลเอง อัยการ ตำรวจ ดีเอสไอ ราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ รวมทั้งกรมคุมครองสิทธิเสรีภาพ ต้องมีสังคยานาร่วมกันว่า คุกรับนักโทษได้เท่าไหร และมีคดีไหนบ้างที่ไม่ควรจะขัง ระหว่างการพิจารณาคดี ควรคุมขังคดีแบบไหน โดยอาจจะพิจารณาการใช้ระบบกำไลและสร้างระบบตรวจสอบให้เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยภาระให้รัฐและยกภาระให้กับตัวเขาเอง และครอบครัวในระหว่างการพิจารณาคดี
‘การประกันตัว’ ถือเป็นสิทธิและหน้าที่
‘จตุพร’ ให้ความสำคัญกับการให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เพราะถือเป็นสิทธิ โดย อาจารย์คณิต ณ นคร ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดในขณะนั้น เคยบัญญัติว่าการประกันตัว ถือว่าเป็นสิทธิ ถือเป็นหน้าที่ซึ่งหมายความว่าการได้รับการประกันตัวต้องเป็นสิทธิและหน้าที่ ต้องยึดหลักฎหมายว่า จนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์
“ในบางคดีที่ไม่เป็นอันตราย คดีฆ่าคนตายก็ยังมีหลายกรณีมาก ทีนี้มันปัญหาคือว่าการได้ประกันหรือไม่ได้ประกัน มันไม่ได้เกี่ยวกับโทษ หรือจำนวนปีที่จะได้รับโทษ การไม่ให้ประกัน เหมือนกับการพิพากษาล่วงหน้าโดยที่ยังไม่มีการพิจารณาคดี กรณีของเด็กก็เช่นเดียวกัน (หมายถึงนักศึกษาที่โดนคดี 112) เด็กถูกผิดนี้ก็ว่ากันตามเนื้อผ้า นะครับ แต่ว่าหลักของกฎหมายจนกว่าคำพิพากษาจะถึงที่สุดเขาต้องได้รับ สิทธิในการประกันตัว”
เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรม คดีทางการเมือง ซึ่งมีการเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และมีการวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะให้ยกเว้นไม่ครอบคลุม คดี ม.112 แต่ ‘จตุพร’ เห็นว่า ไม่ควรทิ้งเยาวชนที่โดนคดี ม.112 เอาไว้ เพราะว่าบรรดาเยาวชนทั้งหลาย หากนับอายุที่เหลืออยู่กับคดีที่กำลังพิจารณายังไม่เพียงพอที่จะติดคุก เนื่องจากแต่ละคนโดนกันคนละหลายคดี ซึ่งหากลงโทษ 4 ปีก็มีจำนวนคดีที่ต้องรับโทษจำนวนมาก ขณะที่การลดโทษใช้วิธีการลดโทษได้ทีละคดี หมายความว่าพ้นโทษในคดีแรกก่อนจึงมาเริ่มต้น นับในคดีที่สอง
“ผมเห็นว่า สังคมเรารู้จักการให้อภัย เหมือนดังเช่นแนวทาง 66/23 ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งสมัยนั้นนักศึกษาจับอาวุธยิงกัน แต่เยาวชนในสมัยนี้ มีแค่ปากเป็นส่วนใหญ่ มีปากกับมือพิมพ์ ซึ่งถ้าเราปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไปก็ได้ แต่ผมความเห็นว่าสังคมรู้จักการให้อภัยและเราใช้ความเป็นมนุษย์ในการแก้ไขปัญหาการขังเพื่ออะไร ถ้าเพื่อเข็ดหลาบหรือไม่ แต่อันนี้ไม่ใช่เพื่อเข็ดหลาบ แต่ขังเพื่อให้ตาย เพื่อให้จบชีวิต ในเรือนจำ เพราะเยาวชนมีโทษกันหลายคดี ซึ่งเยาวชนบางคนหากรับตามโทษ จะใช้ชีวิตได้อีกครั้ง ก็ในวัยชรา หรือว่าเอาร่างออกจากเรือนจำเท่านั้น”

นิรโทษกรรม:แก้ความขัดแย้งทางการเมือง
อย่างไรก็ตามในส่วนของการรับโทษทางการเมืองทั้งมาจากการชุมนุมจากทุกฝ่าย หรือ จากแนวคิดการเมืองที่แตกต่างกัน ‘จตุพร’ มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองควรจะหาทางออกโดยยึดแนวทาง 66/23 เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านเขาได้มีโอกาสคุยกับทีมงาน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ถึงขั้นตอนวิธีการ ในการดำเนินการอย่างไร เช่น การที่ นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้า เพื่อขอคำแนะนำให้ยุติสงครามการเมืองเพราะคนไทยฆ่ากันตาย ควรจะยุติให้เสียงปืนดับและให้คนอยู่ในป่าก็เข้ามาในเมืองเพราะก็เป็นคนไทยทั้งสิ้นนั้นทำอย่างไร
“พลเอกชวลิต ใช้วิธี เจรจา และพูดคุยกับสหายนำพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อ ว่าอยู่ใน กรุงเทพทั้งหมด เจรจาที่ละคน วันเดียวไม่เข้าใจก็คุย สองวัน คุยจนเข้าใจ คนนี้เข้าใจแล้วก็คุยกับคนที่สอง คุยจนครบถ้วนว่าก็ประสานไปยังฐานที่มั่น เพื่อคุยกับคนที่ถือปืนจับอาวุธ จนทำให้เกิดปฏิบัติการ 66/23 สำเร็จ”
‘จตุพร’ แนะนำว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ควรจะยุติปัญหาเช่นกัน โดยอาจจะให้ผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เช่น นายกรัฐมนตรี ควรจะขอเข้าเฝ้านำความกราบบังคมทูล เช่น เรื่องปัญหาหลักคือ มาตรา 112 เพราะการนิรโทษกรรมทางการเมืองจากคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง ขณะนี้ทุกฝ่ายทุกพรรคการเมืองไม่ขัดข้องเห็นว่าควรจะนิรโทษกรรม แต่ไม่มีใคร เห็นด้วย ยกเว้นพรรคก้าวไกล ในการนิรโทษกรรม มาตรา112 แต่เห็นว่าไม่ควรทิ้งเยาวชนเหล่านี้เอาไว้แบบนี้
“เราทิ้งบรรดาเยาวชนไว้ได้อย่างไร แล้วความขัดแย้งนี้ คือความขัดแย้งที่กระทบต่อสถาบัน เพราะฉะนั้น คือการจงรักภักดี ก็ต้องจงรักภักดีภายใต้ที่ตัวเองต้องไม่หวังผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ต้องเป็นความจงรักภักดีที่ต้องการที่จะให้สถาบันกษัตริย์มีความแข็งแรง เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งภาระให้กับสถาบันฯ ผมเสนอให้นายกรัฐมนตรีควรจะขอเข้าเฝ้านำความกราบบังคมทูล”
‘จตุพร’ ย้ำว่า หากจะนิรโทษกรรมควรจะรวมเอาเยาวชนที่โดนคดี ม.112 ไม่ควรเหลือทิ้งเยาวชนอาไว้ มันควรที่จะเลิกแล้วต่อกัน เนื่องจากกฎหมายก็ยังมีอยู่ เยาวชนอาจทำผิดอีกได้ โดยถือว่าคดีที่ผ่านมาได้ให้โอกาสแล้ว
“การให้อภัยเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว และที่ผ่านมา คนรุ่น 14 ตุลาฯ2516 ที่เข้าไปเป็นรัฐบาลจำนวนมากในขณะนี้ ควรจะเข้าใจเพราะสมัยนั้นก็เคยเข้าป่า จับอาวุธหนักกว่า เยาวชนเหล่านี้มีแค่ปากกับโทรศัพท์มือถือ ถ้าไม่มีการให้อภัยในสมัยนั้น คนรุ่น 14 ตุลาฯ จะมานั่งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ผมคิดว่า มาตรา 112 หากไม่มีการอภัย ปัญหาก็จะยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม”
ปฎิรูป “ราชทัณฑ์” คืนคนดีให้สังคม
‘จตุพร’ เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมต้องสังคายนาร่วมกันตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยในส่วนราชทัณฑ์ เขาไม่เห็นด้วยกับการขยายเรือนจำ แต่ควรจะปรับระบบการคุมประพฤติให้เพิ่มมากขึ้น
“เลิกคิดเรื่องการขยายเรือนจำเพราะ หากต้องการขยายคุกแสดว่าเรามีความสุขที่ต้องการบริวารเพิ่ม ต้องการยอดเพิ่ม แต่ควรจะมาจัดระบบ โดยบางคดีไม่ควรเอาเขาไปขัง จนกว่าการพิจารณาคดีถึงทีสุด ยกเว้นคดีที่เป็นอันตราย ซึ่งก็มีจำนวนน้อย แล้วก็มีเงื่อนไขในการให้ประกันตัว เช่น ขังในบ้าน พ้นประตูบ้านไม่ได้ พ้นรั้วก็เสียงดังอะไรทำนองนี้”
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ควรปรับปรุงสวัสดิการ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมในลักษณะความรับผิดชอบ ไม่ให้เขาไปแสวงหาผลประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาพบว่ามี ผู้คุมที่ถูกไล่ออก เช่น ยอมเสี่ยงเอามือถือเข้าไปเพราะรายได้อาจจะมากถึงเครื่องเป็น 5แสน-1ล้านบาท ดังนั้นควรปรับสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ให้มีรายได้ไม่แตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เช่น ศาล
รวมทั้งปรับให้ระบบสวัสดิการมันดีแบบศาล เจ้าหน้าที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการพัฒนา ไม่มีระบบเส้นสายอะไรต่างๆ ส่วนผู้ต้องขังต้องจัดระบบให้ดี ฝึกอาชีพไม่ให้กระทำผิดซ้ำ ทำให้สังคมเปิดโอกาสให้พวกเขาใช้ชีวิตในสังคมได้ ถ้าเราไม่ไว้ใจ ก็ควรจะใช้ระบบกำไล คุมอาณาเขต เหมือนกับการพักโทษของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กำหนดพื้นที่ภูมิลำเนา กรุงเทพมหานคร ออกนอกพื้นที่ ต้องขออนุญาต แต่กรณีของ นายทักษิณนี้ ถือว่ามีความพิเศษ ซึ่งคนทั่วไปเขาควรจะได้รับเหมือนกัน
ส่วนการฝึกอาชีพผู้ต้องขังต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบเพราะที่ผ่านมายังไม่ได้ผลมากนัก แม้ว่าจะมีความพยายามดำเนินการ แต่ยังขาดความจริงจัง โดยอาจจะด้วยข้อจำกัด เรื่องของบุคลากร เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอเนื่องจากพบว่าเจ้าหน้าที่เข้าเวร 2-3คน ต้องดูแลผู้ต้องขังประมาณ 500-600 คน อาจจะไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง แต่หากมีระบบการจัดการที่ดีเชื่อว่า สามารถสร้างระบบการฝึกอาชีพที่ทำให้ผู้ต้องขังออกไปแล้วใช้ชีวิตในสังคมได้
จตุพรกล่าวว่าส่วนใหญ่คนติดคุกไม่อยากมีปัญหา เพราะว่าถ้าถูกสอบวินัย หากมีพระราชทานอภัยก็ไม่ได้ลดโทษ แล้วมีการลดชั้นนักโทษจากเป็นชั้นกลาง แต่ถ้าทำผิดซ้ำมาก็กลายเป็นชั้นเลว อาจจะถึงเลวมาก แล้วต้องติดคุกตามกำหนดไม่มีการอภัยให้กับจำนวนโทษที่เหลือเพราะฉะนั้นเห็นว่าการฝึกฝนคนเพื่อสร้าง’โอกาส’ เมื่อเขาได้รับอิสรภาพ เขาใช้ชีวิตได้ ไม่ใช่ออกจากคุกไปแล้วกระทำความผิด ใหม่
‘จาตุพร’ เสนอว่า ราชทัณฑ์ หรือ กรมควบคุมประพฤติ ต้องฝึกให้ผู้ต้องขังแข็งแรงสอนให้เก่งจนประกอบอาชีพได้ โดยอาจจะดูจากพื้นฐานครอบครัวมาจากพื้นฐานอาชีพเรื่องอะไร ถ้าครอบครัวเกษตรกรรม ก็ฝึก สอนเกษตรกรรม หรือ ถนัดเรื่องช่างก็ฝึกจนมั่นใจว่าเขาไปประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ต้องมีมาตรการการควบคุมทุกเดือนต้องมารายงานตัวผู้คุมประพฤติต้องคอยติดตามตัว ดูแลความเคลื่อนไหว กระทั่งเขาไปอยู่กับสังคมได้

พักโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” : คำถาม ขบวนการยุติธรรม
กรณีการพักโทษ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขพิเศษ 10 หัวข้อหรือไม่ ซึ่ง ‘จตุพร’ บอกว่า เงื่อนไขพิเศษที่สามารถพักโทษได้ กรณี อายุ 70 ปีขึ้นไป ต้องป่วยเป็นกรณีพิเศษ คือ กินอาหารเองไม่ได้ แต่ภาพปรากฏเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 อดีตนายกฯทักษิณ ได้พาครอบครัวไหว้บรรพบุรุษ ที่เชียงใหม่ หลังได้รับการพักโทษ ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่มีใครป้อนข้าว ใช่หรือไม่
ส่วนเงื่อนไขข้อที่ 2 ใช้ห้องน้ำด้วยตัวเองไม่ได้ 3 ชำระล้างกายด้วยตัวเองไม่ได้ 4.สวมใส่เสื้อผ้าด้วยตัวเองไม่ได้ 5.เดินไปในบ้านด้วยตัวเองไม่ได้ 6.ลุกจากเตียงไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้ 7.เดินขึ้นบันไดด้วยตัวเองไม่ได้ 8. อาบน้ำด้วยตัวเองไม่ได้ 9.กลั้นอุจจาระไม่ได้ 10 กลั้นปัสสาวะไม่ได้
“ภาพปรากฏชัดว่า อดีตฯนายกรัฐมนตรีทักษิณ เข้าเงื่อนไขทั้ง 10 ข้อหรือไม่ เรื่องนี้ประชาชนน่าจะมีคำตอบอยู่แล้ว”
‘จตุพร’ บอกว่า กรณีการพักโทษของอดีตฯนายกรัฐมนตรีทักษิณทำลายขบวนการยุติธรรม พังพินาศย่อยยับ คำพิพากษาของศาลไม่มีความหมาย ตั้งแต่ป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ถามว่าใครเชื่อบ้าง หลังปรากฏตัวที่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นก็ใช้ชีวิตตามปกติ ต่อมามีคำถามว่า อยู่ รพ.ตำรวจจริงหรือไม่ก็พิสูจน์ไม่ได้กระทั่งได้รับการพักโทษ
สังคมไทยเป็นสังคมที่อดทน ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ ก็อยู่กันไปแบบนี้
ส่วนกรณีอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลับประเทศไทยได้หรือไม่ ‘จตุพร’ เชื่อเช่นกันว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับไทย แน่นอน แต่อาจจะไม่ใช้สูตรอายุ 70 ปีแบบเดียวกับอดีตนายกฯทักษิณ
“มันคือข้อตกลงครับ แต่ข้อตกลงนี้มันต้องแลกกับการทำลายกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ในทางการเมืองต้องตระบัดสัตย์ ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว คือความเลวร้ายที่สุด ส่วนในทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมก็ต้องสูญเสียนะครับ คือมันแลกแต่ถ้าแลกคนต่อคนมันไม่เป็นไร แต่คนหนึ่งคนมาแลกกับกระบวนการยุติธรรม แล้วการตระบัดสัตย์การได้มาซึ่งรัฐบาล มันเป็น การแลกกับความต้องการของคน กับประชาชนทั้งประเทศ”
“คุกวีไอพี” ไม่มี-เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้
สำหรับคำถามที่มักจะถูกถามบ่อยๆ เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในคุก คือ คุกวีไอพี สำหรับ อภิสิทธิ์ชน ‘จตุพร’ บอกว่า ไม่มี เพราะเงินไม่ได้ซื้อทุกอย่างในคุกได้ มากที่สุดของคนที่มีเงินคือ สามารถสั่งอาหารที่มีมากกว่าที่เรือนจำจัดหาให้ แต่ก็เป็นอาหารที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนักเพราะมาจากร้านสวัสดิการของเรือนจำ
“มีเงินในคุกก็ไม่ได้หมายความว่าซื้อทุกอย่างได้เสียทีเดียว คืออาจจะสั่งซื้ออาหาร ของใช้เฉพาะร้านสวัสดิการของทางเรือนจำเท่านั้น ดีกว่านักโทษคนอื่นที่เขาไม่ได้มีเงิน ที่ต้องทานอาหารของเรือนจำตามสภาพไป”
ส่วนเรื่องของที่นอน ไม่ได้แตกต่างกัน ยังเป็นผ้าห่ม 3 ผืนกระเบื้อง3 แผ่นเหมือนกัน โดยแบ่งเป็นใช้หนุนหัว1 ผืน อีกผืนห่มไม่ได้ปู แต่ใช้วิธีพันตัว เพราะฉะนั้น คุกวีไอพีไม่มีอยู่จริง
“ในห้องขังที่ผมอยู่ ตรงติดประตูมีหม่อมราชวงศ์ ภรรยาก็เป็นตระกูลเจ้าสัวใหญ่มูลค่าหมื่นล้าน และมีนักธุรกิจหมื่นล้านในห้อง นอนเหมือนกัน หมดซึ่งผมเป็นเด็กวัดเก่า หลับได้ดีกว่า ทุกข์น้อยกว่าคนรวยที่ติดคุกแน่นอน”
‘จตุพร’ ย้ำว่า คุกวีไอพีไม่มีหรอก แต่ถ้ามีในความหมายของคำว่า คุกวีไอพี ก็เห็นเพียงผู้ต้องขังอายุมาก เขาจะจัดให้อยู่ในห้องที่มีคนไม่มาก แต่ความสบายไม่มีในคุก เพราะไม่มีเสรีภาพ มีเงินอาจจะมีความสบายเพิ่มขึ้นมาบ้าง ตรงที่สามารถนำเงินไปจ้างผู้ต้องขังที่ลำบากให้ซักผ้า กางเกงขาสั้น กับเสื้อยืด เพราะเวลาตากต้องเฝ้า ไม่อย่างนั้นจะหาย โดยคนที่รับซักผ้าก็มีหน้าที ดูแลทั้งหมด แลกกับค่าจ้างเพื่อให้มีเงินเอาไว้จับจ่ายซื้อของใช้ในเรือนจำได้บ้าง
“คือว่าพอมีเงินก็สบายขึ้นมานิดหนึ่ง ไม่ต้องไปกินข้าวรวมกับผู้ต้องขัง สั่งมากินได้ แต่มีเงินแสนล้านก็จ่ายได้แค่ค่าอาหารค่าของใช้ไม่เกิน 300 บาทเท่านั้นมันจะมีความหมายอะไร”
ส่วนกรณีการพักโทษ อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” และการรักษาตัวบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมสั่นคลอนหรือไม่ ‘จตุพร’ บอกว่า เป็นเรื่องที่คาดกันว่าอาจจะการตกลงกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ซึ่งพบว่าขั้นตอนทั้งหมดมันผิดปกติมาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่เข้ามา อดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งถือเป็นผู้ต้องหาที่โดนหมายจับต้องคำพิพากษามีโทษ 12 ปี ขาดอายุความไป2 ปีเหลือ 10 ปี ถ้าเป็นปกติแล้ว ตำรวจต้องจับทันที ไม่ใช่เดินมาโบกมือ ไม่ได้เลย และสองต้องนั่งรถตำรวจควบคุมตัวไปส่งศาล แล้วก็ศาลอ่านคำพิพากษา ซึ่งเคยอ่านไปแล้วให้ฟัง หลังจากนั้นต้องนั่งรถทางราชการที่ขนผู้ต้องขังนำตัวเข้าไปไปเรือนจำ
“วันนั้นที่ อดีตนายกฯทักษิณกลับมาก็ไม่ใช่รถตำรวจ ไม่ใช่รถของราชการที่มารับตัว ขณะที่ทราบข่าวว่าตอนเย็นก็มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเข้าไปพบ พอตอนดึกก็ไปโรงพยาบาลซึ่งปกติก็ไป รพ.ราชทัณฑ์ก่อน แต่นี้ก็เป็นการสอบเทียบไป รพ.ตำรวจเลย ไม่ได้เข้า รพ.ราชทัณฑ์”

อยู่ในคุก: ต้องลืมความแค้น
วางเรื่องการนิโทษกรรมทางการเมือง ย้อนกลับไปถามถึง การใช้ชีวิตในคุก ‘จตุพร’ มีวิธีทำใจอย่างไร กับการเดินเข้าเรือนจำกว่า 5 ครั้ง ขณะที่ยังเหลือคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 4-5 คดี การทำใจให้เดินเข้าออกเรือนจำต้องมากขนาดไหนถึงจะยอมรับได้
‘จตุพร’ บอกว่า การติดคุกทั้ง 5 ครั้งของเขา เขารู้ว่าโดนศาลลงโทษจำคุกแน่ประมาณ 3 ครั้ง ส่วนอีก 2 ครั้ง ไม่รู้ ทำให้รู้สึกโกธรบ้าง เพราะเป็นคดีเล็กๆน้อยๆ หมิ่นประมาทเคยสั่งปล่อยแล้วแต่กลับคำพิพากษาลงโทษ แต่เมื่อยึดหลักที่สำคัญ คือต้องไม่พกความคับแค้นเข้าไปไม่พกความคับแค้นออกมา และระหว่างทางจะต้องไม่คิดว่าตัวเองเคยเป็นใครแล้วจะออกไปจะเป็นอะไร ให้รู้ตัวแค่เป็นนักโทษเท่านั้น ต้องวางให้เป็น แต่หลายคนไม่ วางเลย
“มีโกธรบ้างในบางคดี ที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะถูกสั่งลงโทษ แต่ด้วยความเป็นคนการเมืองเราเป็นเป้าหมายที่เขาอยากทำอะไรก็ได้ ก็ปล่อยไปอยากทำอะไรก็เชิญ ถ้าเราไปทุกข์ร้อนตามก็เครียด ขังก็คือขัง ปล่อยมาก็ ใช้ชีวิตตามปกติ กลับมาดูร่างกายตัวเอง เพราะติดคุกใช้เวลา 3 วัน กว่ารางกายจะปรับได้ ไม่ว่าจะติดคุกกี่ครั้งก็ตามต้องปรับตัว เพราะในเรือนจำ นอนต้องเปิดไฟตลอด การกินอยู่ ใช้ชีวิตยากกว่าข้างนอก บางคนเข้าคุกอาจจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการปรับตัว และ 3 วันแรกไม่เข้าห้องน้ำ นอนไม่หลับ เครียด ผมเป็นคนเก่า พกยาระบายไว้ ขออนุญาตสั่งซื้อเข้ามา เพื่อนเข้ามาก็ให้ไปเพื่อให้เขาปรับสภาพความเป็นอยู่ได้”
‘จตุพร’ ย้ำว่า ถ้าไม่ปล่อยวางแล้วคิดว่าตัวเองเคยใหญ่โต และพกความคับแค้นเข้าไปจะทุกข์ นอนไม่หลับ เพราะฉะนั้นในคุกต้องพยายามทำตัวเหมือนคนตายอยู่ในสุสานคนเป็นเพราะว่าถ้าคิดว่าเราเคยใหญ่สามารถทำอะไรได้ คนทุกข์ที่สุดก็เป็นเรา
“คุกก็มีคำสอน อยู่ให้เป็นเย็นให้พอ รอให้ได้ เท่านั้น คือหมายความว่า อย่าไปกดดันตัวเองเร่งตัวเอง สุดท้ายใจเหนื่อย คนเรา แพ้กายเรื่องเล็ก แต่แพ้ใจเรื่องใหญ่ แต่พอมันปล่อยวางไปแล้ว นอนพื้นปูนก็หลับได้ หลับสนิทด้วย อาหารยังไงก็เลยความอร่อย ผมเคยกินข้าวตอนเข้าคุก รอบหลังๆเป็นอาหาร มังสวิรัติ มื้อเดียว หกโมงเช้า ทั้งวันไม่กินเลยกินแต่น้ำเพราะมันไม่ต้องใช้แรง ใช้พลังงานอะไร ก็อยู่ได้ทั้งวัน”
พร้อมให้เปรียบการใช้เวลาในคุกเหมือนการบวชเป็นพระ เหมือนจำพรรษา ทำให้ช่วงติดคุกนานเป็นปี ปฏิบัติตัวเหมือนนักบวช คือ ตื่นตีสามทุกวัน ก่อนสองทุ่มหลับ ตีสามตื่น ล้างหน้าล้างตาเสร็จ นั่งสมาธิ จนกระทั่งตีห้าครึ่งมาสวดมนต์ร่วมกับทางผู้ต้องขังคนอื่นในเรือนจำ กรวดน้ำ จิตใจก็เบิกบาน
“ในคุกเดือนสองเดือน ทางเรือนจำจะให้พระมาบิณฑบาต ผู้ต้องขังก็ตักบาตรกันเต็ม เพราะคนติดคุกมันทุกข์อยู่แล้วอยากทำบุญ ให้จิตใจผ่องแผ้ว ผมก็เหมือนกัน คิดว่าไปบวช เข้าคุกหนึ่งปีก็คิดว่าบวช 3-4 พรรษาไป แล้วก็หลับง่าย ตอนเย็นก็สวดมนต์ตามเรือนจำ ตอนเช้าก็เบิกบาน พอเรารู้ว่าเราต้องใช้ชีวิตยังไง เราก็คุมสภาพของเราได้ วางแผนแก้ปัญหาก็ปลอดโปร่ง ถ้าติดคุกด้วยพกความเครียดไปด้วยแย่แน่ๆ”
คุก : ต้องเปลี่ยนคนดีให้สังคม
สุดท้ายสิ่งที่ ‘จตุพร’ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง หลังจากการเข้าออกเรือนจำมาหลายครั้ง คือ การปฏิรูปขบวนการยุติธรรมทั้งระบบและเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำให้ดีขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขัง
“คุกมันไม่ใช่สถานที่หลงทางเพื่อให้เกิดความคับแค้น แต่ควรจะเป็นพื้นที่คืนคนดีสู่สังคมผมว่าตรงนี้เป็นหัวใจหลัก อะไรที่จะสร้างให้ไปใช้ชีวิตในสังคมได้ มีอาชีพ สังคมให้โอกาส”
เรือนจำต้องหาวิธีฝึกคน ให้ออกมาเป็นคนดีให้สังคม โดยฝึกอาชีพจนกระทั่งว่า สังคมปลอดภัย เขามีชีวิตอยู่ได้ เพราะเชื่อว่าคนที่เคยทำผิดเลิกได้ ยกเว้นคนที่ทำผิดจากการป่วยทางจิต เพราะฉะนั้น ต้องวางมาตรการในควบคุมพิเศษ เป็นบุคคลพิศษ เพื่อไม่ให้เขาทำผิดซ้ำ และกลับไปชีวิตปกติในสังคมได้ คนปกติทั่วไป ไม่มีใครอยากอยู่ในคุก เพราะชีวิตในคุกไม่ง่าย