ThaiPublica > คอลัมน์ > การจากลา 101 : ความรู้เบื้องต้นของการจากลา

การจากลา 101 : ความรู้เบื้องต้นของการจากลา

28 พฤษภาคม 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

การมีชีวิตอยู่นับเป็น “พร” อย่างหนึ่ง หากมองแบบพุทธกาลยังมีลมหายใจอยู่ถูกมองได้สองแง่ กล่าวคือ อยู่เพื่อ “ชดใช้กรรม” ส่วนหนึ่งหรืออยู่เพื่อ “เสวยบุญ”ก็ใช่ส่วนหนึ่ง

หากปักหมุดชีวิตวัยกลางคนที่อายุ 40 ปี เป็นต้นมา ผมคิดว่าเราเริ่มลงทะเบียนเรียนวิชาการจากลา 101 หรือทำให้ดูอินเตอร์หน่อย เรียกว่า Farewell 101 ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาสำคัญของ Death Literacy

โดยส่วนตัวแล้ว ผมจำแนกการจากลาออกเป็นสองแบบ คือ (1) จากเป็น และ (2) จากตาย

การจากทั้งสองแบบ ล้วนแต่นำมาซึ่งความโศกเศร้าของคนที่รักเรา

การศึกษาการจากลามักเกี่ยวข้องกับความตายและการสูญเสียคนที่เรารัก…นั่นจึงทำให้การศึกษาเรื่องการจากลาดูมีความเป็นวิชาการและเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ที่มาภาพ : amazon.sg

ใน”บรรณพิภพ” หนังสือว่าด้วยการจากลา…งานคลาสสิคเรื่อง On Death and Dyingข ของ Elisabeth Kübler-Ross นับว่าทำความเข้าใจกับสภาวะการจากตายได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นระบบ

Elisabeth Kübler-Ross เป็นจิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1969

หนังสือเล่มนี้นับเป็นผลงานบุกเบิกที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “ความเศร้าโศก” ที่มีอยู่ห้าขั้นตอน

คุณหมอ Ross นำเสนอ 5 ขั้นตอนที่คนส่วนใหญ่มักจะประสบเมื่อเผชิญกับความตายหรือการสูญเสียครั้งใหญ่ ได้แก่ ปฏิเสธ (Denial), โกรธ (Anger), ต่อรอง (Bargaining), ซึมเศร้า (Depression) และยอมรับ (Acceptance)

การศึกษาเรื่องการจากตายของคุณหมอเป็นการถอดบทเรียนจากบทสัมภาษณ์ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนมากที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกของพวกเขาในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

จุดเด่นของหนังสือ On Death and Dying ช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการของความเศร้าโศกและการสูญเสียได้ดีขึ้น ทำให้เราสามารถรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

…แน่นอนว่าไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องความตายหรือ การสูญเสีย แต่สภาวะนี้ คือ สัจธรรมชีวิตของเราทุกคนที่ไม่มีใครหนีพ้นหลุมฝังศพหรือเชิงตะกอน

หนังสือของคุณหมอ Ross ทำให้เราเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับคนที่เรารักและรักเรา

หากผมสรุปเอาเองจากการอ่านหนังสือเล่มนี้…

ผมมองว่าเราควรใช้ชีวิตอย่าง “คุ้มค่า” กล่าวคือ ใช้ให้เป็น แต่อย่าใช้ให้เปลือง

…ขณะเดียวกัน เราควรใช้ชีวิตอย่างมี “คุณค่า” กับตัวเองและคนที่เรารัก ครอบครัว มิตรสหาย รวมทั้งงานที่เราทำ มากกว่าปล่อยลมหายใจเข้าออกไปวัน ๆ

ที่มาภาพ : amazon.sg

หนังสืออีกเล่มที่จัดว่าคลาสสิคสำหรับเรื่อง Death Literacy คือ The Denial of Death ของ Ernest Becker

The Denial of Death เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1974

Ernest Becker นักมานุษยวิทยาเชิงวัฒนธรรม ได้นำเสนอแนวคิดที่ว่ามนุษย์มีความกลัวตายเป็นพื้นฐาน และพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ล้วนเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความจริงเรื่องความตาย

ประเด็นสำคัญของหนังสือ The Denial of Death ที่ Becker อธิบาย คือ มนุษย์ทุกคนล้วนกลัวตายซึ่งเป็นสัญชาตญาณ

…และความกลัวตายนี้เองเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม

ขณะเดียวกันมนุษย์พัฒนากลไกป้องกันทางจิตวิทยาเพื่อรับมือกับความกลัวตาย เช่น สร้างความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย โลกหน้า ภพหน้า ความพยายามที่จะทำให้โลกได้จดจำเราในฐานะผู้ประสบความสำเร็จ หรือยึดมั่นในอุดมการณ์ต่าง ๆ

มนุษย์พยายามสร้างความเป็นอมตะเชิงสัญลักษณ์ผ่านการสร้างสรรค์ผลงาน การมีลูก หรือการสร้างคุณูปการต่อสังคม… เพื่อให้ชื่อเรายังคงอยู่และไม่มีใครลืม นั่นหมายถึง เรามีความเป็น”อมตะ”

จุดเด่นของหนังสือ The Denial of Death เล่มนี้ทำให้เราได้ฉุกคิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิตและความตาย

…ยิ่งเราอายุมากขึ้น เราเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องนี้ทุกวัน

การสอบเรียนจบวิชาการจากลา 101 คือ การได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตทบทวนคิดถึง ระลึกสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา …

เราควรออกแบบความตายที่ดีของเราได้…ควรเรียบง่าย สงบด้วยการหลับตาลงช้า ยิ้มที่มุมปากน้อย ๆ ก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายจะบอกลาชีวิตเรา