ThaiPublica > เกาะกระแส > ความสำเร็จของการเคหะสิงคโปร์ ตัวอย่าง “มหานคร” ที่การบริหารคือภารกิจ “การสร้างชาติ”

ความสำเร็จของการเคหะสิงคโปร์ ตัวอย่าง “มหานคร” ที่การบริหารคือภารกิจ “การสร้างชาติ”

27 พฤษภาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Lim-Kim-San-Builder-Singapore/dp/9812309284

ในหนังสือชีวประวัติ “ลิม คิมซาน” (Lim Kim San) นักการเมืองรุ่นเก่า คนร่วมสมัยของ ลี กวนยู ที่สร้างสิงคโปร์ขึ้นมา เขียนไว้ว่า ในปี 1960 หลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน “คณะกรรมการการเคหะและการพัฒนา” ของสิงคโปร์ (HDB- Housing and Development Board)

ลิม คิมซาน ได้เดินไปแหล่งสลัมในพื้นที่ไชน่าทาวน์ เขาเห็นคนงานนอนบนเตียงมีผ้าห่มคลุมตัว ถามไปว่าไม่สบายหรือ คนงานตอบว่า เปล่า แต่ไม่มีกางเกงใส่ ลิม คิมซาน กล่าวในเวลาต่อมาว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในเวลานั้น ทำให้เห็นว่า คนในสิงคโปร์ยากจนมากขนาดไหน พวกเขาต้องแบ่งปันกางเกงเสื้อผ้า ในสมัยนั้น สิงคโปร์มีร้านขายเสื้อผ้าและรองเท้าของคนที่ตายแล้ว จุดนี้ทำให้เขาคิดว่า ต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้

บุรุษผู้สร้าง “การเคหะสิงคโปร์”

ลิม ซิมซาน มาจากครอบครัวนักธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จ ในช่วงสิงคโปร์เป็นอาณานิคมอังกฤษ ความรุ่งเรืองในยุคอาณานิคมมีทั้งผลดีและผลเสีย ความรุ่งเรืองมีตั้งแต่สมัยที่ Stamford Raffles ผู้บริหารบริษัท British East India และในปี 1819 เป็นผู้สร้างสิงคโปร์ ให้กลายเป็นคลังสินค้าของบริษัท British East India ในการค้าขายกับจีน

เวลาต่อมา สิงคโปร์กลายเป็นเมืองการค้า การเงิน และประกันภัย ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น จากกว่า 2 แสนคนในปี 1901 เป็นกว่า 9 แสนคนในปี 1947 และเพิ่มอีกเท่าตัวใน 10 ปีต่อมา ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน อาชญากรรม และความขัดแย้งทางเชื้อชาติ สภาพชีวิตในสิงคโปร์ที่เป็น 2 โลกที่แตกต่างกัน ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของลิม ซิมซาน

การเคหะของรัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในสิงคโปร์ ถือเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ที่จับต้องได้ให้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) พรรครัฐบาล สามารถแสดงฝีมือให้คนสิงคโปร์มองเห็นว่า เป็นพรรคที่บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลี กวนยู เคยกล่าวยกย่อง ลิม ซิมซาน ไว้ว่า

“ปี 1960 เมื่อเราตั้งเขาเป็นประธาน ‘คณะกรรมการการเคหะและการพัฒนา” (HDB) เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตาย หากเราล้มเหลว เราจะไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่”

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/dd/Block_45_Stirling_Road

สองปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธาน HDB ลิม ซิมซาน สร้างห้องพักอาศัยได้ถึง 26,168 หน่วย เท่ากับที่หน่วยงานเดิมเคยสร้างมาในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ในปี 1962 ลิม ซิมซาน ได้รับ “เครื่องอิสรียาภรณ์สูงสุด” ชื่อว่า Order of Temasek ของรัฐบาลสิงคโปร์ จากผลงานการแก้ปัญหาที่พักอาศัย ในปี 1965 ฟิลิปปินส์มอบรางวัลแม็กไซไซ แก่เขาในสาขาผู้นำชุมชน

เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน HDB ลิม ซิมซาน ตระหนักทันทีว่า ภาระหน้าที่ของเขาประกอบด้วยอะไรบ้าง ในทางกายภาพ หมายถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนที่รุนแรงเรื่องที่พักอาศัย ในทางการเมืองหมายถึงทั้งการจัดหาที่พักอาศัยแก่คนสิงคโปร์ รวมถึงการทำให้คนสิงคโปร์มีส่วนได้ประโยชน์ในสิ่งที่ที่จับต้องได้ จากสังคมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามว่า ทำไม โครงการ “ที่พักอาศัยราคาไม่แพง” จึงไม่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ลิม ซิมซาน ตอบว่า “ปัญหาเรื่องความุ่งมั่นทางการเมือง (political will) คือต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมือง ที่จะทำอะไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมาย”

ลิม ซิมซาน มองว่า ตัวเขาเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือมืออาชีพ หรือนักเทคโนแครท แต่ปรัชญาการบริหารงานของเขาคือ “การรับฟังผู้เชี่ยวชาญ และพวกมืออาชีพ ใช้สามัญสำนึกตั้งคำถามต่างๆ หากพวกเขาตกลงกันไม่ได้ ผมจะเป็นคนตัดสินใจเอง แต่ทั้งหมดคือการรับฟังคนอื่น” เพราะฉะนั้น การบริหารงานของลิม ซิมซาน คือ การรับฟังผู้เชี่ยวชาญ ใช้สามัญสำนึกของตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นของตัวเอง

“ปี 1982 ย้ายคนออกจากสลัมให้หมด”

บทรายงานของ New York Times เรื่อง The Architect Who made Singapore’s Public Housing the Envy of the World กล่าวไว้ว่า ตึกที่พักอาศัยเป็นอาคารสูงของสิงคโปร์ มีพื้นที่มากพอที่ครอบครัวจะอาศัยอยู่ เป็นโครงการเคหะของรัฐ ที่มีราคาที่คนสิงคโปร์มีเงินพอจะซื้อได้ ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการเป็นเจ้าของที่พักของประชาชนสูงมาก แต่ทุกวันนี้ บางห้องพักซื้อขายในราคาถึง 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ไม่มีใครคาดคิดว่าจะสูงขนาดนี้

Liu Thai Ker คือคนที่วางฝังเมืองแก่สิงคโปร์ และดูแลการก่อสร้างห้องพักมากกว่า 500,000 ห้อง จากทั้งหมดกว่า 1 ล้านห้อง ที่เป็นโครงการเคหะของรัฐบาล สำหรับคนสิงคโปร์ 5.6 ล้านคน เขากล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่การซื้อขายห้องพักมีราคาสูงขนาดนั้น เพราะการเคหะของรัฐจะต้องให้คนสามารถซื้อได้อย่างเท่าเทียมกัน

Lui Thai Ker ศึกษาในสหรัฐฯด้านการวางแผนเมือง ปี 1969 เขากลับมาสิงคโปร์ มารับผิดชอบเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบและวิจัยของ HDB งานหลักของเขาคือการสร้าง “เมืองใหม่” ในเวลานั้น ไม่มีใครรู้ว่ามีความหมายอย่างไร แต่จากการทำวิจัยทำให้เขาได้แนวคิดที่ว่า เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมือง ที่ผู้คนอาศัยอยู่โดยมีสิ่งต่างๆที่จำเป็นมากที่สุด เช่น โรงเรียน ร้านค้า ร้านอาหารนอกอาคาร และสนามออกกำลังกาย

ที่มาภาพ : gov.sg

เมื่อมีการสร้างอาคารที่พักอาศัยตามแนวคิดดังกล่าว และความสำเร็จได้รับการยอมรับ นายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ได้มอบหมายภารกิจแก่ Liu Thai Ker ว่า ให้ย้ายทุกคนที่ยังอยู่สลัมออกมาให้หมดภายในปี 1982 ดังนั้น พอถึงปี 1985 คนสิงคโปร์แทบทุกคนจะมีบ้านที่พักของตัวเอง Liu Thai Ker กล่าวถึงลี กวนยูว่า

“ท่านมักจะบอกกับผมว่า อาการที่แสดงถึงความล้าหลังของเมืองคือ หนึ่ง ประชาชนไร้ที่อยู่ สอง จราจรติดขัด สาม น้ำท่วม และสี่ อากาศเป็นพิษ”

บทรายงานของ New York Times กล่าวว่า การสร้างที่พักอาศัย ในราคาที่คนสิงคโปร์ซื้อได้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “สนับสนุนครอบครัว” ของรัฐบาล ปี 1989 ก่อนจะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลลี กวนยู ประกาศนโยบายที่เขตที่พักอาศัยจะต้องมีการอยู่ร่วมกันระหว่างกลุ่มเชื้อชาติหลักของสิงคโปร์ คือ คนจีน มาเลย์ และอินเดีย เพื่อไม่ให้เกิดสภาพที่พักอาศัยเป็นของคนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง

ในปี 1991 Liu Thai Ker สร้าง “แผนทางแนวคิด” แบ่งสิงคโปร์ออกมาเป็น 5 เขต ทำให้แต่ละเขตเหมือนเป็นเมืองเล็กในตัวเอง โดยคนอาศัยอยู่ไม่ต้องเดินทางออกนอกเขต ไปชอปปิ้งหรือไปพบแพทย์ เพราะฉะนั้น ความสะดวกในการดำรงชีวิตของคนสิงคโปร์ในปัจจุบัน มาจากการวางฝังเมืองของ Liu Thai Ker และคณะทำงานของเขา

Liu Thai Ker บอกกับ New York Times ว่า งานหลักอย่างหนึ่งของเขา ในช่วงทำงานด้านโครงการเคหะของรัฐบาล คือ ดูแลว่าราคาที่พักอาศัยจะเพิ่มขึ้นแบบช้าๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านพักอาศัยรู้สึกว่า ตัวเองเป็นเจ้าของทรัพย์สินบางอย่าง ที่มีค่าทางพาณิชย์ และก็ดูแลไม่ให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้บ้านพักอาศัยของรัฐ มีราคาแพงจนคนทั่วไปไม่มีเงินพอที่จะซื้อ

ทุกวันนี้ แม้สิงคโปร์จะเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ที่พักอาศัยของรัฐยังคงมีราคาที่คนสิงคโปร์สามารถซื้อได้ โดยเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐ ในการซื้อที่พักอาศัย คนสิงคโปร์ราว 80% พักอยู่ในโครงการเคหะของรัฐบาล และ 90% ของห้องพักเป็นการเช่าอาศัยเป็นเวลา 99 ปี

ความสำเร็จของสิงคโปร์ในโครงการสร้างที่พักอาศัยแก่คนสิงคโปร์อย่างทั่วถึง แสดงให้เห็นถึงภารกิจของผู้นำสิงคโปร์ ที่บริหารเมืองหรือนครรัฐ เหมือนกับ “การสร้างชาติ” (nation building) ประเทศที่มีภารกิจสร้างชาติ ผู้นำต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และสร้างค่านิยมหลัก เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ

กล่าวกันว่า ค่านิยมสำคัญของผู้นำสิงคโปร์ในการสร้างชาติ และสื่อสารให้คนสิงคโปร์ยอมรับ ประกอบด้วย (1) การสร้างความอยู่ดีกินดีทางวัตถุ (2) ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และ (3) การยึดหลักคุณธรรมความสามารถ (meritocracy)

เอกสารประกอบ
Lim Kim San: A Builder of Singapore, Asad-ul Iqbal Latif, Institute of Southeast Asia Studies, 2009.
The Architect Who Made Singapore’s Public Housing the Envy of the World, May24, 2204, nytimes.com