กระทรวง อว. โดย หน่วย บพท. ร่วมกับเครือข่ายมรภ.และเครือข่าย มทร. ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและกระทรวง อว. จัดมหกรรมเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ระดมผลงานศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาของคณาจารย์ นักวิจัยในเครือข่ายรวม 47 แห่งทั่วประเทศ กว่า 2,300 ผลงาน แสดงให้ประชาชนนำไปต่อยอด ขยายผลใช้ประโยชน์ เพื่อแก้หนี้-แก้จน และสร้างความมั่นคงแก่เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานราก ตามบริบทของแต่ละพื้นที่

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. มอบนโยบายให้หน่วย บพท. เป็นหน่วยงานหลัก ในการขยายผลวิจัยเทคโนโลยีพร้อมใช้ สู่รูปธรรมในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำเทคโนโลยีพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน จำนวน 2,316 ผลงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้งานได้จริงมาแล้ว ออกแสดงให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปต่อยอด ขยายผลใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานราก
“การจัดงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืนในพื้นที่ภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ เราจัดเป็นมหกรรมเทคโนโลยีพร้อมใช้ ที่รวมเอาผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีพร้อมใช้ในทุกภูมิภาคของประเทศมารวมกันไว้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถสัมผัสได้แบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว และคาดหวังว่างานมหกรรมเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่จัดขึ้นนี้จะได้รับความสนใจนำไปต่อยอด ขยายผลในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง”
ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.เป็นต้นมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ที่จัดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อเนื่องมาครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา และครั้งที่ 3 ในพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สนใจจากหลากหลายกลุ่มอาชีพเข้าร่วมงานกว่า 1,700 คน มีการจับคู่นำเอาเทคโนโลยีพร้อมใช้ไปพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์กว่า 900 คู่
“สำหรับการจัดมหกรรมเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานครนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน และคาดหมายจะมีการจับคู่นำเอาเทคโนโลยีพร้อมใช้ไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 200 คู่ ส่งผลให้การจัดงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภาคทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วมงานรวมกันกว่า 2,200 คน และมีการจับคู่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพร้อมใช้ไม่น้อยกว่า 1,100 คู่”
…….

กิจกรรมเวที Appropriate Technology MATCHING DAY 2024 ภายใต้แผนงาน RU การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง
การขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ มีแนวคิดการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเชิงนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ใน 2 มิติ คือ ระบบการทำงาน อว. ส่วนหน้า ที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นกลไกตัวแทนของ อว. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัด โดยดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่เรียกว่า Chief Technical Officer (CTO) ที่มีการทำงานแบบบุกเบิกโดยร่วมกับภาคีเครือข่ายจากฝั่ง Demand side ควบคู่กับการสร้างระบบการจัดการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ที่ระบุให้ผลงานวิจัยเป็นทรัพย์สินของผู้วิจัยสามารถนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งการดำเนินงานอาจก่อให้เกิดข้อค้นพบทั้งแง่ของโอกาส ข้อจำกัด ที่สามารถส่งต่อเป็นข้อสังเคราะห์เชิงนโยบายต่อไป การขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยเป็นการวิจัยขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ที่นำองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่ยังจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการเพิ่มเติมเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สมบูรณ์เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ เช่น การทดสอบ (Testing) การจัดทำต้นแบบ (Prototype) การดำเนินการในระดับนำร่อง (Pilot Scale) หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประยุกต์หรือตอบสนองความต้องการเชิงเฉพาะของพื้นที่ (Area-Specific Development and Applications) เป็นต้น รวมไปถึงการขยายผลงานวิจัย(Implementation) โดยการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติให้สามารถประยุกต์กับงาน หรือขยายผลได้อย่างเหมาะสม เน้นการ บูรณาการและเสริมแรงการทำงานร่วมกับภาคีทั้งจากภายใน อว. ที่เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านความรู้ เทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ มหาวิทยาลัย หน่วยวิจัย ที่มีฐานการทำงานระดับพื้นที่และเป้าหมายสร้างนวัตกรชุมชนที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถด้วยความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ด้วยการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ได้รับการยอมรับสร้างการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
จากทุนการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในปีงบประมาณ 2563 – 2566 ภายใต้แผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมโดยกลไกการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลแล้วสร้างตัวแบบการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation platform) ของชุมชนผ่านการสร้างนวัตกรชุมชนเพื่อให้กลไกพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมระดับชุมชนสามารถวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนตนเองได้อย่างแม่นยำ รวมถึงมีการยอมรับปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนนั้น สามารถดำเนินการ ให้เกิดชุมชนนวัตกรรม 954 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด เกิดการสร้างนวัตกรชุมชนจำนวน 4,224 คน และเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชนทั้งสิ้น 965 นวัตกรรม ที่ใช้ยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 20 อีกทั้งยังเกิดการนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาตำบล/ท้องถิ่น โดยผ่าน Learning and Innovation Platform (LIP)
ในการนี้ หน่วย บพท. ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูล ทั้งฝั่ง Demand-side และ Supply side ดังนี้
1) ระบบฐานข้อมูลฝั่ง Demand Side ได้แก่ ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัดเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและ ฐานทุนครัวเรือนยากจน และระบบการติดตามและบูรณาการความช่วยเหลือ และระบบปฏิบัติการเกื้อกูล (มหาชน) (Local Enterprise’s Operating System: LEOS) ซึ่งเป็นระบบรวบรวมฐานข้อมูลของผู้ประกอบการ (LE) และระบบฐานข้อมูลนวัตกรชุมชน อีกทั้งหน่วย บพท. ยังได้ทำความประสานความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการพัฒนาผู้นำชุมชน/แกนนำชาวบ้าน
2) ระบบฐานข้อมูลฝั่ง Supply Side ได้แก่ Technology and Innovation Library และ Village profile ของประเทศ รวมถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์เหล่านี้จะก่อให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบที่ทำให้ บพท. สามารถสร้าง Critical mass ในระดับรากฐานของประเทศ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนได้มีวิธีคิดและวิเคราะห์ปัญหา ที่แท้จริง ตระหนักถึงศักยภาพและปัญหาที่สำคัญ สามารถแก้ไขปัญหาและลงมือทำด้วยตนเอง ยกระดับขีดความสามารถของประชาชนในพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่ให้กว้างขึ้น
ทั้งนี้จากโอกาสภูมิปัญญาชาวบ้าน (Local Wisdom) และองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม/นวัตกรรมพร้อมใช้ที่ประยุกต์ใช้ในบริบทใด บริบทหนึ่งแล้วสำเร็จ ที่มีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา และปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงและขยายผลยังไม่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม กลุ่มเป้าหมายยังมีปัญหาการเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม/นวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับบริบทของตนเอง ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา หน่วย บพท.จึงเกิดแนวคิดการเชื่อมโยง Demand-Supply Matching โดยพัฒนากรอบการวิจัย “เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสร้างโอกาสทางสังคม (Appropriate Technology for Social Mobility)” ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ด้วยแนวคิดเชื่อมโยงและขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยี ที่เหมาะสมจากฐานข้อมูลของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล นำไปใช้ในการช่วยเหลือคนจนกลุ่มเป้าหมายจากฐานระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ มีทักษะอาชีพ ยกระดับรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ให้เข้าถึงโอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ให้หลุดพ้นจากความยากจน ผลการดำเนินงานเกิดการออกแบบและสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อรับ ปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่คนจนเป้าหมายภายใต้โมเดลแก้จน 19 โมเดล 210 เทคโนโลยีที่เหมาะสม คลอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา ส่งผลให้ครัวเรือนยากจน 6,049 ครัวเรือนจากระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัด (PPPConnext) มีขีดความสามารถในการพัฒนาอาชีพด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566)
ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2567 หน่วย บพท. จึงวางเป้าหมายขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate technology) บนความร่วมมือระหว่างหน่วย บพท. กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ผ่านการจัดกิจกรรม Appropriate Technology Matching Day ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม/นวัตกรรมพร้อมใช้ (Appropriate Technology) จากผลงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ กับโจทย์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ (Demand-Supply Matching) และสร้างโอกาสในการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการและสร้างการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนจัดการแก้ปัญหาคนจนลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี พร้อมทั้งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน