บพท.รุกสานต่อการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ จับมือสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา เกษตรกรในพื้นที่ ต่อยอดองค์ความรู้พัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพทุเรียน ยกระดับ “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” สร้างโมเดลต้นแบบบริหารจัดการทุเรียนอย่างครบวงจร ชูก้าวต่อไปสร้างกลุ่มผู้ประกอบการแบบเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม เชื่อมต่อกลไกรัฐ ทั้งสภาเกษตรจังหวัดและ ศอ.บต
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า หน่วย บพท. ได้ใช้ชุดความรู้จากงานวิจัย ตลอดจนกระบวนการวิจัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และบริบทพื้นที่เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทุเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ควบคู่ไปกับการเสริมพลังให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนรวมกลุ่มกันในลักษณะเครือข่ายเป็นวิสาหกิจชุมชน เชื่อมโยงกับกลไกรัฐ และกลไกธุรกิจ กระทั่งส่งผลให้ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดชายแดนใต้อื่น
“ทุกวันนี้ชุดความรู้จากงานวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทุเรียน ซึ่ง บพท. ให้การสนับสนุน และพลังจากภาคีความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และสภาเกษตร ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สามารถขายทุเรียนได้ราคาดีขึ้นมาก มีความมั่นคงทางอาชีพ”
ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวต่อไปว่า ผลพลอยได้จากชุดความรู้ในการพัฒนาคุณภาพและผลผลิตทุเรียน มีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นการช่วยเสริมพลังแก่วิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียน โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ(ธารโต) ซึ่งผลจากการยกระดับการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเสริมขีดความสามารถแก่เกษตรกรในการเป็นผู้ประกอบการ เป็นการสร้างความเป็นธรรมและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อย่างแท้จริง
……
สำหรับทุเรียนในจังหวัดชายแดนใต้จะให้ผลผลิตช้ากว่าภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนอย่างชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยทุเรียนจะออกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม-กันยายน ที่ผ่านมาการปลูกทุเรียนของจังหวัดชายแดนใต้จะเป็นลักษณะให้ ‘เทวดาเลี้ยง’ ไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพเฉลี่ยได้ทุเรียนประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากภาคตะวันออกที่สามารถผลิตได้ 2,000 กิโลกรัมต่อไร่
นั่นคือเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพทุเรียนยะลาให้มีผลผลิตต่อไร่ใกล้เคียงกับทางภาคตะวันออก
นอกจากคุณภาพในแง่ปริมาณน้ำหนักแล้ว ที่มากไปกว่านั้นคือ ปัญหาหนอนรู ที่เจาะกินทุเรียน ขณะเดียวกันปัญหาใหญ่ตามมาอีกคือ เกษตรกรต่างคนต่างทำ ต่างขาย ไม่มีล้ง หรือศูนย์กลางในการรับซื้อที่ให้ราคาที่เป็นธรรมกับเกษตรกร
ดังนั้นเมื่อคุณภาพไม่ได้ ราคาก็ถูกกด ปัญหาจึงถูกกองไว้ด้วยกัน
ที่ผ่านมารัฐจะเข้ามาทำหน้ารับซื้อสินค้าเกษตรหรือล้ง แต่ทำแล้วทิ้งร้างไว้มากมาย ไม่มีการสานต่อ เป็นปัญหาเดิมๆที่วนๆอยู่ในวงจรดังกล่าว เกษตรกรจึงยังยากจนซ้ำซาก
การเข้ามาของ บพท. ในฐานะ catalyst ที่จะร่วมแก้ปัญหาทุเรียนราคาตกต่ำ มองว่าในแง่ปริมาณสามารถทำได้ แต่ในแง่คุณภาพและราคาจะหาทางออกอย่างไร โดยเล็งเห็นว่าจะต้องมี ‘ล้ง’ ที่เป็นชุมชนร่วมกันทำ จึงให้ทุนมาวิจัยศึกษา เพราะการจะรับซื้อและขายทุเรียนได้ สิ่งสำคัญคือคุณภาพ และคุณภาพต้องยกระดับขึ้นมาในปริมาณที่มากพอ จึงเป็นโจทย์ที่ชุมชนจะต้องลงมือทำ
การเริ่ม…ด้วยการร่วมทำวิจัยที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการทำเองร่วมกับสถาบันการศึกษาและสภาเกษตรกรในพื้นที่ โดยให้เงินช่วยเหลือเพื่อทำวิจัยยกระดับคุณภาพทุเรียนและคุณภาพชีวิตเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2558-2559 เริ่มตั้งแต่ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเอง สำรวจพื้นที่การปลูกทุเรียนรายแปลงว่าของใครมีทุเรียนกี่ต้น พันธุ์อะไร ผลผลิตออกช่วงไหน จำนวนเท่าไหร่ การดูแลรักษาเป็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร เป็นการเก็บข้อมูลมาพูดคุยร่วมกันระหว่างสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพทุเรียน
ขณะที่การยกระดับองค์ความรู้ มีการไปศึกษาดูงานของการปลูกทุเรียนภาคตะวันออก และชุมพร ว่าเขาดูแลรักษา พัฒนาคุณภาพทุเรียนกันอย่างไร มีการปราบหนอนรูด้วยวิธีไหน การตัดแต่งกิ่งทำกันอย่างไร เป็นต้น จากนั้นนำมาปรับใช้ในพื้นที่
จากสมาชิกที่เริ่มต้นเพียง 5 คน และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สมาชิก 1 ใน 5 คน มีรายหนึ่งที่มีรายได้จากการขายทุเรียนปีละประมาณ 200,000 บาท หลังเข้าร่วมโครงการ 1 ปี สามารถยกระดับคุณภาพทุเรียน ขายได้ประมาณ 500,000 บาท ปีที่2 ขายได้ประมาณ 1 ล้านบาท ปีนี้ขายได้ 1.2 ล้านบาท จากข้อมูลที่จับต้องได้ ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้เกือบ 400 คนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้จากหลักหมื่น เมื่อเข้าโครงการรายได้เพิ่มเป็นหลักแสนและหลักล้าน ตามลำดับ
จากการพัฒนาคุณภาพ วันนี้ชุมชนธารโต จ.ยะลา ต่อยอดจนมี ‘ล้งชุมชน’ ของตนเองในการรับซื้อทุเรียนจากสมาชิก ให้ราคาที่สูง โดยใช้ฐานข้อมูลที่มีการเก็บอย่างต่อเนื่องว่าแต่ละสวนเป็นของสมาชิกรายใด การดูแลรักษาได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าได้ตามเกณฑ์กำหนดก็จะได้ราคาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นเกรดสำหรับส่งออก
สำหรับชุมชนธารโต เป็นแห่งแรกที่มี ‘ล้งชุมชน’ ที่สมาชิกลงขันกันจนสามารถมีห้องเย็น แยกสินค้าที่ตกเกรด แกะเนื้อแช่แข็ง สำหรับส่งออก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ อาทิ ทำพิซซา ไอศครีม และอื่นๆ
ขณะที่ ‘ล้ง’อื่นๆก็มีจำนวนมากที่มารับซื้อทุเรียนในช่วงนี้
ปัจจุบันทุเรียนของกลุ่ม”วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” จะเรียกว่า ‘ทุเรียนหนามเขียว’ เป็นทุเรียนที่ได้การดูแลอย่างดีด้วยธาตุอาหาร ดูดีผิวสวย และเป็นทุเรียนปลอดภัยจากสารเคมีตามมาตรฐาน GAP
…….
นายมะเสาวดี ไสสากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวว่า สภาเกษตรกรจังหวัดยะลา และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ที่ บพท. ให้การสนับสนุน ผสมผสานกับหลักการทางศาสนาอิสลาม ไปพัฒนาศักยภาพแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างได้ผล ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดีขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ความรู้ในการเก็บและใช้ข้อมูลสำหรับการวางแผน ตลอดจนความรู้ในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเป็นส่วนที่ บพท. ให้คำแนะนำ จะนำมาประยุกต์เข้ากับหลักศาสนาอิสลาม 5 ประการได้แก่…
1.”อามานะ” คือความรับผิดชอบต่อโลกและเพื่อนมนุษย์
2.”ชูรอ” คือการปรึกษาหารือร่วมกัน
3.”นาซีฮัต” คือการตักเตือนซึ่งกันและกัน
4. “มูฮาซาบะห์” คือการตรวจสอบติดตามประเมินผล
5. “ญามาอะห์” คือการรวมหมู่ ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ให้ร่วมกันผลิตทุเรียนที่ดีต่อโลกและดีต่อเพื่อนมนุษย์
ผลของการพัฒนาคุณภาพทุเรียนทำให้เกษตรกรขายทุเรียนคุณภาพ ได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว จากเดิม 50 บาท/กก. เป็น 100-150 บาท/กก. ในปัจจุบัน และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณด้วยเฉลี่ย 470-500 ก.ก./ไร่ โดยมีปริมาณรับซื้อและส่งจำหน่ายรวม 3,000 ตัน ในปี 2565
การรวมตัวเป็นกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน การใช้กระบวนการกลุ่ม ระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าทางการตลาดในการจำหน่ายทุเรียน สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดทุเรียนโดยใช้แนวคิดการบูรณาการร่วมระหว่างห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่า โดยมี “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” เป็นศูนย์กลาง จากกลุ่มเล็กๆ ที่ต่างคนต่างทำ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกลุ่มทั้งสิ้น 398 รายใน 11 ชุมชน มีเครือข่าย 20 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดยะลา ได้แก่ธารโต เบตง บันนังสตา กรงปินัง รามัน และอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ปลูกรวมกัน 6,000 ไร่
ภายใต้กระบวนการจัดการทุเรียนคุณภาพของวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ มุ่งเน้นการทำทุเรียนเพื่อส่งออกในนามทุเรียนยะลา สามารถสร้างทุเรียนหนามเขียว ซึ่งเป็นผลผลิตเด่นของยะลา ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ส่งออก สามารถส่งออกไปจีนได้ 27 ตู้คอนเทนเนอร์ สร้างรายได้ 300 ล้านบาท ในปี 2565
“วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต)” เป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการบริหารจัดการแบบครบวงจร นอกจากจะเป็นผู้ปลูกแล้ว ทางกลุ่มยังได้มีการร่วมลงทุนของสมาชิกเปิดตลาดกลางรับซื้อทุเรียน การรวบรวมและการกระจายผลผลิตทุเรียน ทุกเกรดจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ทั้งทุเรียนเกรด ABC ทุเรียนตกไซส์
หรือแม้กระทั่งทุเรียนมีหนอนรู ซึ่งมีกระบวนการจัดการนำมาแกะเนื้อทำเป็นทุเรียนแช่แข็ง เพิ่มมูลค่าทุเรียน โดยกลุ่มมีห้องเย็นเป็นของตัวเอง ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท ถือเป็นห้องเย็นแห่งแรกของจังหวัดยะลาที่มีเป็นกลุ่มเกษตรกรเป็นเจ้าของลงทุนเอง นอกเหนือจากห้องเย็นที่ภาครัฐและผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุน
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่เกษตรกรเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจใหม่และการต่อยอดธุรกิจเดิม ยกระดับการบริหารจัดการ สร้างมูลค่า และคุณภาพ โดยการเพิ่มมาตรฐานการผลิต GAP มาตรฐาน GMP เกิดการเชื่อมโยงด้านการตลาดทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ ยังมีการเชื่อมโยงพันธมิตรทางการค้าการลงทุน เพื่อ ส่งต่อไปยังตลาดคุณภาพ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
สำหรับปี 2566 จะมีปริมาณผลผลิต 5,000 ตันหรือ 5 ล้าน ก.ก. มูลค่า 750 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2565 ประมาณ 43% และในอนาคตมีการวางแผนว่า จะขยายสมาชิกเครือข่ายกลุ่มผลิตทุเรียนคุณภาพ เพิ่มอีก 4,000 ไร่ ภายในปี 2570 โดยเป้าหมายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ คือ พัฒนาทุเรียนคุณภาพยะลาทั้งจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนสะเด็ดน้ำ ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดยะลา ที่สามารถทำราคาเพิ่มได้ดี