ThaiPublica > Thaipublica Sustainability > บพท.ใช้ “นวัตรกรรม-เทคโนโลยี” ยกระดับโคเนื้อคุณภาพ จ.น่าน

บพท.ใช้ “นวัตรกรรม-เทคโนโลยี” ยกระดับโคเนื้อคุณภาพ จ.น่าน

20 พฤศจิกายน 2023


บพท. จับมือ จุฬาฯ หนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่วิเคราะห์ปัญหาเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ นำเทคโนโลยีการผสมเทียม เพิ่มขีดความสามารถตั้งแต่การผลิตถึงการตลาด สร้างเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืนให้ชาวบ้าน 17 ตำบล 10 อำเภอ จังหวัดน่าน

“คงไม่สามารถตัดเสื้อโหลเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรทุกพื้นที่ให้เหมือนกันได้” รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.)บอกถึง แนวทางการสร้างกลไกการพัฒนาเกษตรกร ว่าอาจจะต้องมีระบวนการทำงานในพื้นที่ สร้างเครือข่าย นักวิชาการเกษตรกร หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน เพื่อหาปัญหาและแนวทางการจัดการปัญหาในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน

จังหวัดน่านจึงเป็นอีกพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพ ทั้งภาคการท่องเที่ยว และ ภาคการเกษตร มีกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง เปิดรับองค์ความรู้และเทคโนโลยี พร้อมเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ขณะที่ภาคส่วนต่างๆให้การสนับสนุนแบบมีส่วนร่วม

บพท. จึงร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที “การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่น ด้วยความรู้และนวัตกรรม” เพื่อพัฒนาสมรรถนะของเกษตรกร กลไกความร่วมมือ และขยายโอกาส การพัฒนาโคเนื้ออย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน  โดยในปี 2563 ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาระบบการผสมเทียมโคเนื้อสำหรับเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดน่าน”  เพื่อหนุนเสริมความรู้และเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ในพื้นที่ 17 ตำบล 10 อำเภอ จากทั้งหมด 15 อำเภอของจังหวัดน่าน ซึ่งมีตัวแทนภาคเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการสถาบันการศึกษา

“เราได้ดำเนินการใน 17 ตำบล 10 อำเภอ ซึ่งต้องขยายผล โดยใช้กลไกหลัก คือ นวัตกรชุมชน ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี และเอาความรู้ลงสู่กลุ่มเกษตรกรและชุมชน ให้มีการจัดการด้วยเทคโนโลยีและความรู้วิชาการ สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของได้”

รศ.ดร.ปุ่น  กล่าวว่าเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงพื้นที่ คือการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ สังคม ท้องถิ่น ด้วยความรู้และนวัตกรรม ขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์หนุนเสริมและเชื่อมโยงกลไกการทำงาน ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อสร้างกลไกในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง เกิดการบูรณาการและเป็นการพัฒนาด้วยกระบวนการอย่างมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท.

ขณะที่ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาระบบการผสมเทียมโคเนื้อสำหรับเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดน่าน” กล่าวว่า  เป้าหมายของโครงการ คือการนำความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้าไปพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรให้สามารถผลิตโคเนื้อได้อย่างมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรนำไปสู่การยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

“หลังการดำเนินการมา 2 ปี ได้เครือข่ายการทำงานเรื่องโคเนื้อ ทั้งภาครัฐ เช่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์ และชาวบ้านมารรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การเลี้ยงโคเนื้อมากขึ้น”

2 ปีสร้างเครือข่ายพัฒนาโคเนื้อคุณภาพจ.น่าน

โครงการ “การพัฒนาระบบการผสมเทียมโคเนื้อสำหรับเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดน่าน” เมื่อปี 2563 ที่มุ่งแก้ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อในระดับต่ำ เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ ขาดบุคลากรและกระบวนการจัดการเรื่องผสมเทียมโคเนื้อ ซึ่งผลดำเนินการ ส่งผลให้มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงโคเนื้อ การรวมกลุ่มนักผสมเทียมในพื้นที่น่าน และจัดตั้งกองทุนการผสมเทียมโคเนื้อขึ้น มีการให้บริการการผสมเทียมโคเนื้ออย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตลูกโคที่มีพันธุกรรมที่ดี มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วและตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรยอมรับการผสมเทียมมากขึ้นและสามารถวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพได้ผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

“เดิมเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่านมีปัญหาในเรื่องโคเนื้อเพราะมีความเชื่อเรื่องการผสมเทียมจะทำให้วัวไม่แข็งแรง ทำให้ไม่ยอมรับเทคโนโลยี แต่หลังจากดำเนินการมาได้ 2 ปี สามารถแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อถึง 7,738 ราย มีโคทั้งหมด 47,563 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโคเนื้อลูกผสมพันธ์พื้นเมือง”

โครงการ เน้นการสร้างกลไกกระบวนการพัฒนาโคเนื้อของจังหวัดน่านให้เป็นรูปธรรม โดยสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ใช้ความรู้และเทคโนโลยีการผสมเทียม แอปพลิเคชัน Mor More เทคโนโลยีการเหนี่ยวนำการเป็นสัด ความรู้ด้านสุขภาพสัตว์ อาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ นวัตกร ทั้งระดับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสามารถพัฒนานวัตกรชุมชนได้ 62 คน นวัตกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ 12 คน และนวัตกรที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ 18 คน ดำเนินการร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ใน 17 ตำบล พื้นที่ 10 อำเภอของจังหวัดน่าน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อได้ 245 ครัวเรือน  มีโคเนื้อจำนวน 1,452 ตัว

นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเครือข่ายการผลิตโคเนื้อคุณภาพ และพัฒนาเกษตรกรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาดได้ เช่น กลุ่มแปลงใหญ่โคเนื้ออำเภอนาน้อย จ.น่าน

ผศ.น.สพ.ดร.วินัย บอกด้วยว่าผลการดำเนินโครงการ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค มีความสามารถในการจัดการฟาร์ม จัดการระบบเลี้ยงโคที่มีมาตรฐาน เกิดอาสาสมัครผสมเทียม ทำให้เกิดการลงทุนระหว่างเกษตรกรในเครือข่าย ที่คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี

ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รวมเกษตรกรแปลงใหญ่ ทำตลาดครบวงจร

ด้านนางอชิตรัตน์ ต๊ะชุ่ม ประธานวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อคุณภาพ อำเภอนาน้อย  จ.น่าน หรือ แปลงใหญ่โคเนื้อนาน้อย เล่าว่า เดิมเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน กลับบ้านมาปลูกข้าวโพดแต่ราคาไม่ดี จึงหันมาเลี้ยงโค แต่ประสบปัญหาเรื่องราคาการขายตกต่ำ เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดน่านไม่มีโรงเชือด โรงชำแหละโค ทำให้พ่อค้าคนกลาง เข้ามารับซื้อโคและลูกโคเป็นตัวในราคาไม่แพงมากนักจึงคิดว่าถ้ารวมกลุ่มเกษตรกรน่าจะสามารถต่อรองราคาได้

“ทีมวิจัยได้เข้ามาสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี ต่างๆ ทำให้มีการวางแผนตั้งแต่การเลี้ยงผลิต ไปจนการแปรรูปและช่องทางการตลาด และมีอำนาจในการต่อรองราคาการซื้อขายมากขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากโรงเชือดโรงชำแหละที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน จะยิ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อด้วย”

นางอชิตรัตน์เล่าวว่า  เมื่อก่อนสมาชิกยังไม่มีการพัฒนาพันธุ์วัว ผสมพันธุ์พื้นเมือง แต่สายพันธุ์พื้นเมืองไทใหญ่ แคระแกร็นทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ที่ไม่ดีขึ้น  เราจึงเห็นว่าควรตั้งกองทุนผสมเทียม ที่ได้รับการสนับสนุนน้ำเชื้อจากทางจุฬาฯเข้ามาช่วย รวมถึงกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมรายได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตทำตลาดให้ครบวงจรไปเลย

กลุ่มนาแปลงใหญ่โคเนื้อนาน้อย ได้ผลักดันให้เกิดระบบที่ครบวงจร ตั้งแต่โรงเชือด เขียงเนื้อ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งในอนาคตเราจะส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเยอะกว่านี้ จากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากเกษตรกร หลายตำบลทั้งผาสิงห์ ท่าวังผา บ้านหลวง เราเชื่อมโยงเครือข่ายในจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดระบบการผลิตและการตลาด ที่จะกระจายผลิตภัณฑ์ ไปสู่ทุกพื้นที่ในจังหวัดน่านได้

นางอชิตรัตน์ ต๊ะชุ่ม ประธานวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อคุณภาพ อำเภอนาน้อย จ.น่าน

เกษตรกรท่าวังผา เรียนรู้วิธีเลี้ยงโคเนื้อ

ด้านนายชาติชาย แซ่เติ๋น ผู้ใหญ่บ้านน้ำแป่ง อ.ท่าวังผา จ.น่าน เล่าว่า ชาวบ้านในพื้นที่บ้านน้ำแป่ง อยู่ห่างไกลอำเภอ ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำอาชีพเพาะปลูกเป็นหลัก  แต่การทำปศุสัตว์เพิ่งเริ่มเมื่อ 2-3 ปี ด้วยการส่งเสริมของภาครัฐ นำสัตว์มาให้เกษตรกรได้ทดลองเลี้ยง  แต่การเลี้ยงไม่ค่อยได้ผลดีมากนัก เพราะเกษตรกรขาดความรู้ ทั้งในเรื่องอาหารโคเนื้อ การผสมพันธ์ และการตลาด

“เราขาดความรู้เรื่องอาหาร ไม่รู้ในการให้อาหารวัวจำนวนมากน้อยขนาดไหนถึงจะเพียงพอ รวมเรื่องปัญหาโรคต่างๆการฉีดยา  และการผสมเทียม แต่ตอนนี้ได้ไปอบรมเราสามารถทำเองได้หมดทุกรายแล้ว”

นายชาติชายบอกว่า “การเลี้ยงวัว เป็นอาชีพเสริม เป็นเงินออม ที่เราลงทุนเลี้ยงไปแล้ว สักวันก็จะได้คืนกลับมา เพราะเลี้ยงแม่วัวเอาไว้ขายลูกวัว สามารถเป็นเงินฉุกเฉิน เอาไปขายเสริมรายได้ เป้าหมายผมอยากจะให้ชาวบ้านเลี้ยงไว้ติดบ้าน เมื่อเรามีความต้องการเงิน แทนที่เราจะไปกู้ยืมเงิน เป็นหนี้นอกระบบ เราสามารถขายลูกวัวไปก่อน แล้วปีหน้าวัวก็จะออกมาใหม่”

นายชาติชาย แซ่เติ๋น ผู้ใหญ่บ้านน้ำแป่ง อ.ท่าวังผา จ.น่าน

เช่นเดียวกับนายสุรินทร์ คำชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน  บอกว่า เลี้ยงโคเนื้อ 7 ตัว เดิมไม่มีความรู้เรื่องการโคเนื้อเลย เลี้ยงเฉพาะวัวพื้นบ้าน มีปัญหาเรื่องการพัฒนาพันธุ์ จนได้มีความรู้เรื่องการผสมเทียม ทำให้เลี้ยงโคได้มีคุณภาพมากขึ้น

“ผมคิดว่าเลี้ยงโคเนื้อช่วยอาชีพเสริมเกษตรกรมากเพราะว่า ถ้ามีพันธุ์ที่มีคุณภาพดีมาผสมเทียม ก็จะได้ลูกวัวที่มีคุณภาพและขายได้ราคามากขึ้น”

ทั้งนี้โครงการ “การพัฒนาระบบการผสมเทียมโคเนื้อสำหรับเกษตรกรรายย่อยในจังหวัดน่าน” สามารถขยายความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรไปยังหน่วยงานเอกเชนและหน่วยงานราชการ เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(สวพส.) (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ให้หันมาเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพทางเลือกเสริมเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น