ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงาน ADB ชี้ประเทศกำลังพัฒนาเอเชียและแปซิฟิก ขาดการเตรียมพร้อมรับมือกับประชากรสูงวัย

รายงาน ADB ชี้ประเทศกำลังพัฒนาเอเชียและแปซิฟิก ขาดการเตรียมพร้อมรับมือกับประชากรสูงวัย

2 พฤษภาคม 2024


ที่มาภาพ: https://www.adb.org/th/news/developing-asia-and-pacific-unprepared-challenges-aging-population

ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกยังไม่ได้เตรียมพร้อมในการรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรสูงวัย(aging population)ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านต่างๆ ตั้งแต่ความคุ้มครองเงินบำนาญที่ต่ำไปจนถึงปัญหาสุขภาพ การแยกตัวทางสังคม และการเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างจำกัด

รายงาน Aging Well in Asia: Asian Development Policy Report ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้(2 พฤษภาคม 2567) โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ในงานประชุมประจำปีครั้งที่ 57 ที่เมืองทบิลิซิ ประเทศจอร์เจีย เปิดเผยว่า แม้ว่าอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นจะสะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาของภูมิภาค แต่การปฏิรูปนโยบายที่ครอบคลุมมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนสวัสดิการของผู้สูงอายุ

ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกำลังประสบกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป โดยมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนผู้สูงอายุของภูมิภาคต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 5.9% ในปี 2503 เป็น 8.2% ในปี 2543 และ 13.5% ในปี 2565 จำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 567.7 ล้านคนในปี 2565 เป็น 1.2 พันล้านในปี 2593 หรือ ประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ความต้องการในเรื่องโครงการบำนาญ สวัสดิการ และบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจมีโอกาสที่จะได้เก็บเกี่ยว ‘silver dividend’ ในรูปแบบของการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภูมิภาคได้ร้อยละ 0.9 โดยเฉลี่ย

บางประเทศในเอเชียก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในปี 2565 มี 8 ประเทศและเขตปกครองจาก 46 ประเทศในภูมิภาคที่มีสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เกิน 20% ได้แก่ ฮ่องกง(จีน) สาธารณรัฐเกาหลี ไทเป(จีน) จอร์เจีย นีอูเอ สิงคโปร์ ไทย และอาร์เมเนีย

“ถึงแม้ว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเอเชียและแปซิฟิกนับเป็นความสำเร็จของภูมิภาค แต่ในขณะเดียวกันได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ครั้งใหญ่ และมีความกดดันเพิ่มสูงขึ้นด้วย” นายอัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบี กล่าว “รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุหลายร้อยล้านคนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้เป็นอย่างดี ส่วนนโยบายควรมุ่งสนับสนุนการลงทุนตลอดชีวิตในด้านสุขภาพ การศึกษา ทักษะต่างๆ และการเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุ โดยความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมนับเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมประชากรผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีและมีประสิทธิผลมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มการมีส่วนร่วมต่อสังคมได้มากที่สุดด้วย”

รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า ร้อยละ 40 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในเอเชียและแปซิฟิกไม่สามารถเข้าถึงเงินบำนาญในรูปแบบต่างๆ โดยผู้หญิงได้รับผลกระทบดังกล่าวในสัดส่วนที่สูงกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานในบ้านที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมากในภูมิภาคไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำงานเกินวัยเกษียณเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ ร้อยละ 94 ของผู้ที่ยังทำงานเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไปหรือมากกว่า เป็นผู้ทำงานนอกระบบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานหรือเงินบำนาญ

เงินที่ได้จากครอบครัวยังคงเป็นรายได้หลักของผู้สูงอายุจำนวนมาก แม้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปไปสู่การอาศัยอย่างเป็นอิสระมากขึ้น ผู้สูงอายุในภูมิภาคยังคงอยู่พึ่งพาการเงินที่ได้และการสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ จากครอบครัวเป็นอย่างมาก เงินที่ได้จากครอบครัวนี้คิดเป็นอย่างน้อยหนึ่งในสามของรายได้ของผู้สูงอายุในประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย และบ่อยครั้งมากกว่าสองในสาม การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมอาจเปลี่ยนแปลงการจัดการเหล่านี้ในอนาคต ทำให้การเตรียมความพร้อมทางการเงินมีความสำคัญมากขึ้นในการปกป้องผู้สูงอายุให้พ้นจากความยากจน

การเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุแตกต่างกันไปทั่วทั้งภูมิภาค ดัชนีการเตรียมความพร้อมทางการเงินที่พัฒนาขึ้นใหม่แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้ที่อยู่ใกล้วัยเกษียณซึ่งเตรียมเงินไว้ภายใน 5 ปีหรือก่อนเกษียณ จะสูงถึง 86% ในญี่ปุ่นและ 73% ในอินเดีย แต่ค่อนข้างต่ำกว่าที่ 64% ใน จีน และ 58 % ใน เกาหลี มีช่องว่างอย่างมากของการเตรียมความพร้อมในชนบทและในเมืองใน จีน โดยมีเพียง 44% ของผู้อยู่อาศัยในชนบทที่เตรียมพร้อม หรือเกือบครึ่งหนึ่งของ 82% ของชาวเมืองที่เตรียมพร้อม ส่วนในอินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี 80%–90% ของทรัพยากรทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุมาจากรายได้และทรัพย์สินส่วนตัว ไม่ใช่เงินบำนาญจากรัฐหรือความช่วยเหลือทางสังคม

ความท้าทายด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นตามอายุเช่นกัน ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 60 ในเอเชียและแปซิฟิกไม่เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ในขณะที่ร้อยละ 31 รายงานว่ามีอาการซึมเศร้าเนื่องจากการเจ็บป่วย การแยกตัวทางสังคม และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยหญิงสูงอายุในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มจะเผชิญปัญหาสุขภาพที่ไม่ดีมากกว่าชายสูงอายุ ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้า เบาหวาน รวมไปถึงความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ รายงานยังได้แนะนำมาตรการเชิงนโยบายที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มาตรการเหล่านี้ ได้แก่ การประกันสุขภาพและแผนบำนาญที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่ได้รับการปรับให้ดีขึ้น และการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีรวมถึงการประเมินรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งผู้กำหนดนโยบายควรมุ่งเป้าไปที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในขณะที่การคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานควรครอบคลุมไปถึงแรงงานสูงวัยนอกระบบด้วย

การส่งเสริมให้วัยเกษียณอายุในภาคบังคับมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีสุขภาพที่ดีต่อเนื่อง มีโอกาสทำงานที่เหมาะสม มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตพร้อมพัฒนาทักษะด้านต่างๆ จะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคสามารถยืดอายุผู้สูงวัยในการทำงานและสร้างประสิทธิผลได้ยาวนานขึ้น

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค