ThaiPublica > เกาะกระแส > “เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน 6 ข้อมูลเชิงลึก ‘financial inclusion’ (ตอน2)

“เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน 6 ข้อมูลเชิงลึก ‘financial inclusion’ (ตอน2)

16 เมษายน 2024


นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด(มหาชน) ได้เขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในรายงานประจำปี 2566 เพื่อรายงานและให้ข้อมูลถึงแนวคิด เป้าหมาย รวมทั้งบทบาทต่อการให้บริการทางการเงินที่ ‘เข้าใจ เข้าถึงและเป็นธรรม’ ในฐานะตัวกลางทางการเงิน ‘ไมโครไฟแนนซ์’ ที่มุ่งให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม (financial inclusion) แก่กลุ่มเปราะบาง

ต่อจากตอนที่ 1

  • ข้อมูลเชิงลึก 3. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปีเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับการกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้นอกระบบรวมถึงเพื่อนและครอบครัว
  • นายปิยะศักดิ์อธิบายว่าเหตุผลที่ลูกค้าของเงินติดล้อสามารถจ่ายอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปีได้อย่างง่ายดาย ก็คือเราเป็นแหล่งเงินกู้ที่ค่อนข้างถูก อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่เราเคยเห็นจากผู้ให้กู้นอกระบบคือร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 60 ต่อปี ซึ่งคำนวณเป็นอัตราแท้จริงที่เกินร้อยละ 100 ต่อปี เป็นเรื่องปกติที่ผู้ให้กู้นอกระบบจะเรียกเก็บเงินห้าถึงหกเท่าของอัตรานี้ หรือในอัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ประมาณร้อยละ 20-30 ต่อเดือน

    อัตราที่เราพบบ่อยที่สุดคืออัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ร้อยละ 15 ต่อเดือน (ร้อยละ 251 ต่อปี) เมื่อพิจารณาทางเลือกเหล่านี้ของผู้กู้ หากพวกเขาสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ การตัดสินใจเลือกเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 24 ต่อปีก็ไม่ใช่เรื่องยาก นั่นเท่ากับอัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่น้อยกว่าร้อยละ 1.2 ต่อเดือน พูดง่ายๆ ก็คือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการยืมจากแหล่งเงินกู้นอกระบบมาก

    ตัวอย่างและเหตุผลทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของเงินติดล้อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ แต่ก็มีพนักงานประจำจำนวนมากที่เข้ามาขอสินเชื่อที่เงินติดล้อ เพราะพวกเขาต้องการเงินลงทุนสำหรับธุรกิจใหม่ มีความจำเป็นฉุกเฉิน หรือต้องการรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่มีอยู่เพื่อลดภาระผูกพันทางการเงิน รายเดือน การใช้บริการผู้ให้กู้อย่างเงินติดล้อเพื่อวัตถุประสงค์เหล่านี้เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะทางเลือกอื่นคือการหันไปใช้การกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ

    ภายในเงินติดล้อเอง เราให้ความรู้กับพนักงานของเราให้ตระหนักว่า พนักงานประจำนั้นต่างจากผู้ประกอบอาชีพอิสระตรงที่ไม่สามารถนำเงินที่กู้ไปลงทุนในสินค้าและเพิ่มรายได้หลังจากกู้ยืมเงินได้ ดังนั้น เว้นแต่พวกเขาจะสามารถลดการผ่อนชำระรายเดือนหรือรวมหนี้จากหลายๆ ที่ พวกเขาไม่ควรมากู้ยืมจากเรา ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าเราจะไม่สนับสนุนการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภค แต่การแยกวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการกู้ยืมก็เป็นไปได้ยาก เพราะเงินนั้นสามารถหมุนเวียนได้

    เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ลองพิจารณาเรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวกับการหมุนเวียนของเงินและวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม ที่ผมจำได้จากการฝึกอบรมที่ Boulder Institute of Microfinance:

    บริษัทไมโครไฟแนนซ์แห่งหนึ่งในอินเดียให้เงินกู้แก่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการซื้อจักรเย็บผ้าเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของเธอ วันรุ่งขึ้นหลังจากการเบิกจ่ายเงินกู้ ผู้ให้กู้ได้ส่งพนักงานไปตรวจเยี่ยมสถานที่เพื่อยืนยันว่าเงินที่เบิกจ่ายถูกนำไปใช้เพื่อซื้อสินทรัพย์เพื่อการประกอบอาชีพจริงหรือไม่ พนักงานกลับมารายงานว่าการใช้เงินกู้นั้นได้บรรลุวัตถุประสงค์การให้กู้ยืมของบริษัทแล้ว และทุกคนก็รู้สึกดีกับบทบาทของตนในการช่วยให้ลูกค้าได้เข้าถึงบริการทางการเงิน

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พนักงานไม่สามารถรู้ได้ระหว่างการตรวจเยี่ยม คือ หนึ่งวันก่อนที่ผู้กู้จะยื่นขอสินเชื่อ สามีของเธอได้นำเงินในกระปุกออมสินของครอบครัวไปซื้อโทรทัศน์ในราคาใกล้เคียงกับจักรเย็บผ้า แท้จริงแล้วผู้ให้กู้ได้ให้เงินเพื่อซื้อทีวีหรือจักรเย็บผ้ากันแน่?

    มีบทเรียนมากมายที่ต้องเรียนรู้จากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ อย่างแรก หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อจำกัดตามธรรมชาติในการกำหนดนโยบายที่มีเจตนาดีเกี่ยวกับการประเมินรายได้ วัตถุประสงค์ในการกู้ยืม และประเภทของหลักประกันที่สามารถประเมินได้ ผู้ให้กู้ในตัวอย่างนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายของพนักงานที่ต้องเดินทางไปตรวจสถานที่เพื่อยืนยันวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม โดยสิ่งที่ทำอาจจะไม่บรรลุผล ประการที่สอง ประเด็นนี้เน้นย้ำเรื่องความรู้ทางการเงิน การวางแผน และระเบียบวินัยภายในครัวเรือนของผู้กู้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราจะกลับมากล่าวถึงในภายหลัง

    ……

  • ข้อมูลเชิงลึก 4. เงื่อนไขการกู้ยืม คุณภาพการบริการ และมาตรฐานการติดตามทวงถามมีความสำคัญมากกว่าอัตราดอกเบี้ย
  • แม้ว่าการกำหนดราคา จำนวนเงินกู้ และความพร้อมในการให้สินเชื่อจะได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ เมื่อพูดถึงสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ แต่สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มองข้ามคือการให้บริการลูกค้าภายหลังจากการปล่อยกู้ สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจว่าเมื่อผู้กู้ได้รับเงิน ความสัมพันธ์ของพวกเขากับผู้ให้กู้จะคงอยู่ตราบเท่าระยะเวลาที่ต้องใช้ในการชำระคืนเงินกู้ก้อนนั้น

    ความสัมพันธ์นี้ครอบคลุมองค์ประกอบที่ควรมี คือความโปร่งใสในสัญญาเงินกู้ (ตามหลักการแล้วควรเป็นในรูปแบบของสัญญาที่เขียนภาษาเข้าใจง่าย) การแจ้งเตือนการชำระค่างวด การส่งมอบใบเสร็จรับเงินเมื่อชำระค่างวด การตรวจสอบข้อร้องเรียนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ตลอด 24 ชั่วโมง

    แอปพลิเคชันที่ผู้กู้สามารถใช้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง การปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ การให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระอย่างยั่งยืน และการสนับสนุนลูกค้าในการสร้างและรักษาประวัติการชำระเงิน ขั้นตอนการปฏิบัติหลังการให้เงินกู้นี้ ทำให้ผู้ให้กู้ในระบบที่มีใบอนุญาตแตกต่างจากเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ

    การกู้เงินนอกระบบเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ที่ต้องการเงินด่วน หลักๆ เป็นเพราะการเข้าถึงเงินกู้นอกระบบเป็นเรื่องง่าย เจ้าหนี้นอกระบบมักเป็นคนในชุมชนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก สบายๆ ยืดหยุ่น และสามารถให้เงินได้อย่างรวดเร็ว

    ในแง่ของขั้นตอนการให้เงินกู้ พวกเขาชนะผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถที่มีใบอนุญาตได้อย่างง่ายดาย ทั้งในแง่ความใกล้ชิด ความเร็ว ความแน่นอนในการอนุมัติ และความคุ้นเคยกับผู้กู้ เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือแนวทางใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC) หรือการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อแลกกับการปล่อยเงินกู้อย่างง่ายดาย เจ้าหนี้นอกระบบจึงคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงและมีกำหนดเวลาการชำระคืนที่สั้นและถี่เกินสมควร

    นอกจากนี้ เจ้าหนี้นอกระบบมักจะไม่ออกเอกสารหลักฐานใดๆ และไม่สนใจความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากผู้กู้ชำระเงินล่าช้า เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ก็จะเรียกเก็บค่าติดตามหนี้ในอัตราที่สูง ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ข่มขู่สมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความอับอายทางสังคม หรืออาจลามไปถึงการทำร้ายร่างกาย

    อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายว่าถึงแม้กระบวนการติดตามทวงถามหนี้ จะมีความสำคัญพอๆ กับวงเงินสินเชื่อ ความเร็วในการได้รับสินเชื่อ และความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ เมื่อพวกเขาหมดหวังที่จะหาเงินได้อย่างรวดเร็วจึงมีผู้กู้เพียงไม่กี่รายที่เปรียบเทียบองค์ประกอบอื่นๆ เหล่านี้ และจะรู้ถึงข้อผิดพลาดของตนเมื่อสายเกินไปเท่านั้น พฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เมื่อผู้กู้ที่มีรายได้น้อยและไม่สม่ำเสมอขาดเงินกะทันหัน สิ่งสำคัญอันดับแรก คือการหาเงินให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อลดสถานการณ์ที่ตึงเครียด

    ปฏิกิริยาตามธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ก็คือการติดต่อกับคนที่พวกเขารู้จักก่อนเพื่อขอความช่วยเหลือ บ่อยครั้งที่ความไว้วางใจกับเพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนของเพื่อน ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือคนคุ้นเคย กลายเป็นกับดักที่ส่งผลให้พวกเขายืมเงินจากคนผิด

    เปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อคุณได้รับบาดเจ็บขาหัก คุณจะรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที โดยไม่หยุดหรือใช้เวลาสอบถามแพทย์ที่รักษาคุณเมื่อคุณไปถึง เพราะคุณแค่อยากให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป คนที่มีเหตุฉุกเฉินทางการเงินก็มีพฤติกรรมที่คล้ายกัน

    ดังนั้น เราจึงมองว่าการเข้าถึงบริการทางการเงิน หมายรวมถึงความมั่นคงทางการเงินและความอุ่นใจสำหรับผู้ที่มีฐานะทางการเงินย่ำแย่ตลอดระยะเวลาความสัมพันธ์กับเรา ไม่ใช่แค่ในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อเท่านั้น เมื่อคนมีความเครียด พวกเขามักจะตัดสินใจผิดพลาดและมักจะมองข้ามความเสี่ยงต่างๆ

    ที่เงินติดล้อ เราพยายามตอบสนองความต้องการฉุกเฉินของผู้ที่ต้องการเงินกู้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ให้ความสบายใจแก่ลูกค้าในขั้นตอนการทำงานและเอกสารที่โปร่งใส

    นอกจากนี้ เรายังออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้ลูกค้าจัดการกระแสเงินสดได้ดีขึ้น เราพยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเราให้ตอบโจทย์และเกิดประสิทธิผลอยู่ตลอดโดยไม่ทำให้เกิดต้นทุนหรือความเสี่ยงเพิ่มเติม ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บโดยเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ

    ความท้าทายของเราคือการหาวิธีแข่งขันให้เราสามารถปล่อยสินเชื่อเหล่านี้ได้อย่างมีกำไรและให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างมาตรฐานการบริการลูกค้าภายหลังการให้สินเชื่อที่เหนือกว่าเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ นอกเหนือจากการเข้าถึงสินเชื่อที่มีคุณภาพแล้ว คุณค่าที่เรามอบให้กับลูกค้าคือความอุ่นใจ


    ……

  • ข้อมูลเชิงลึก 5. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงเป็นแนวคิดที่ดีและน่าสนใจ แต่เป็นแนวคิดที่ยังไม่สมบูรณ์ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามต้นทุนมีความเหมาะสมกว่า
  • หน่วยงานที่กำหนดนโยบายและนักวิชาการหลายคนที่มีเจตนาดีได้พยายามสนับสนุนแนวคิดเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยง หากลูกค้ามีความเสี่ยงน้อยกว่า ผู้ให้กู้ควรคิดดอกเบี้ยน้อยลง และในทางกลับกันหากลูกค้ามีความเสี่ยงสูงกว่า ผู้ให้กู้ควรคิดดอกเบี้ยมากขึ้น ในทางทฤษฎีวิธีการนี้มุ่งเน้นไปที่ความเป็นธรรมและมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้ที่มีคุณภาพสูงกว่าซึ่งอาจมีต้นทุนด้านความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

    ในขณะเดียวกันก็เพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้ที่มีสถานภาพที่อ่อนแอกว่าเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ ตามหลักการแล้ว หากผู้ให้กู้สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง พวกเขาก็เต็มใจที่จะให้กู้ยืมมากขึ้น ผู้ให้กู้เองก็มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และพยายามที่จะนำปัจจัยเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เกี่ยวข้องไปใช้ในระดับหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม ผู้ให้สินเชื่อตระหนักดีว่าความเสี่ยงในท้ายที่สุดจะส่งผลให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งเป็นต้นทุนอีกประเภทหนึ่ง หรือถ้าเรียกเจาะจงกว่านั้นคือต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit cost) ดังนั้น หากเราขยายตรรกะนี้ให้กว้างขึ้น เราควรได้ข้อสรุปเดียวกันว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามต้นทุน และหลักการเบื้องหลังการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงนั้นไม่แตกต่างจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามต้นทุนตรงที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอัตราการทำกำไร

    เราเสนอว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงอย่างเดียวนั้นไม่สมบูรณ์ เนื่องจากจะทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจผิดและวิพากษ์วิจารณ์อัตราการทำกำไรที่ค่อนข้างสูงของผู้ให้กู้รายย่อยที่เห็นได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (อัตราดอกเบี้ยที่คิดลบด้วยต้นทุนการกู้ยืมหรือ NIM) และต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ

    ในขณะที่ผู้คนทั่วไปและหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นกับผู้ให้กู้ในการให้บริการ ในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและการบริการลูกค้าข้างต้นนั้น ผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตจะมีต้นทุนจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการลงทุนในระบบไอที ทีมวิเคราะห์ความเสี่ยง ค่าเช่าสาขา ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน เงินเดือนพนักงาน รวมถึงต้องมีกระบวนการที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกระบวนการต่างๆ

    ต้นทุนที่ควรถูกนำมารวมเพื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ ต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่ และต้นทุนแบบผสม ซึ่งต้นทุนเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยโดยขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ อัตราการเติบโต และวัฏจักรการลงทุน สัดส่วนของต้นทุนเหล่านี้สะท้อนถึงกลยุทธ์และความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการแต่ละราย

    ข้อความต่อไปนี้ถูกตัดทอนมาจากบทความเรื่อง “เหตุใดอัตราดอกเบี้ยของไมโครไฟแนนซ์จึงสูงมาก” โดย Elisabeth Rhyne อดีตกรรมการผู้จัดการ Centre for Financial Inclusion ได้สรุปความสำคัญของต้นทุนเมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ย ดังนี้

    เศรษฐศาสตร์ของสินเชื่อขนาดเล็ก อัตราดอกเบี้ยควรถูกคำนวณเทียบกับองค์ประกอบของต้นทุนหลักสามประการ ตามบริบทต่างๆ สินเชื่อมีขนาดใหญ่แค่ไหน? เจ้าหน้าที่สินเชื่อสามารถพิจารณาจำนวนเคสสินเชื่อได้มากสุดเท่าไหร่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง? เจ้าหน้าที่สินเชื่อได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่? ผู้ให้กู้สามารถให้กู้ยืมเงิน 1,000 ดอลลาร์ในตลาดกลางเมืองที่ประชากรหนาแน่น และมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ได้รับเงินเดือนพอประมาณ สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ (ให้ลองนึกถึงประเทศโบลิเวีย ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงร้อยละ 20 ต่อปี) กว่าผู้ให้กู้ที่ให้กู้ยืมเงิน 100 ดอลลาร์ในพื้นที่ชนบทของประเทศที่รายได้ของเจ้าหน้าที่สินเชื่ออยู่ในระดับปานกลาง (ให้ลองนึกถึงประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วง ร้อยละ 60 ต่อปี)

    สังเกตได้ว่าไม่มีต้นทุนด้านความเสี่ยงในองค์ประกอบของต้นทุนทั้งสาม เศรษฐศาสตร์ของสินเชื่อขนาดเล็กมีความอ่อนไหวต่อต้นทุนในการให้บริการมากกว่า เราสามารถอธิบายสิ่งนี้ผ่านตัวอย่างที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย สาขาใหม่ที่ให้บริการเฉพาะลูกค้าสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ให้กู้โดยเฉลี่ย 25,000 บาทในอัตราดอกเบี้ยสูงสุด โดยมีสัญญา 24 เดือน สมมติว่าผู้กู้ที่สาขาสมมุตินี้ไม่เคยผิดนัดชำระและชำระเงินตรงตามวันครบกำหนด (ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างเห็นได้ชัด) สมมติว่าสาขานี้มีพนักงานสองคนซึ่งได้รับค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 15 พร้อมด้วยสวัสดิการพนักงานมาตรฐาน อัตราค่าเช่าสาขา 15,000 บาทต่อเดือน และค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ความสามารถของสาขานี้จะถูกจำกัดอยู่ที่จำนวนพนักงานสองคนนี้ที่สามารถทำงานได้วันละแปดชั่วโมง หากต้องการมีรายได้ดอกเบี้ยเพียงพอที่จะจ่ายเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนโดยตรงของสาขานี้สาขาเดียว เราจะต้องมีลูกค้าใหม่มากกว่า 180 รายต่อเดือน ตลอดระยะเวลาหนึ่งปี พนักงานสองคนนี้จะต้องให้บริการลูกค้ามากกว่า 2,160 ราย นอกจากนี้ ภายในหนึ่งเดือน พวกเขาจะต้องรับชำระคืนเงินกู้จากลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ทำให้กินเวลาในการให้บริการผู้กู้รายใหม่ หลังจากการดำเนินงานหนึ่งปี ต้นทุนเฉลี่ยในการดำเนินงานสาขานี้คือร้อยละ 11 ของยอดสินเชื่อคงค้าง

    อย่าลืมว่าการคำนวนนี้เราตั้งสมมติฐานว่าไม่มีการผิดนัดชำระและไม่มีค่าใช้จ่ายด้านความเสี่ยงหรือการติดตามหนี้ ดังนั้นจึงไม่มีต้นทุนของความเสี่ยง เศรษฐศาสตร์สำหรับสาขาเดียวที่มีการตั้งสมมติฐานต้นทุนทางตรงเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ไม่สมเหตุสมผลในความเป็นจริง

    ทีนี้ลองพิจารณาว่าสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ ราย (รวมถึงเงินติดล้อ) จำนวนเงินกู้ขั้นต่ำอยู่ที่หลักพันต้นๆ (ของเราคือ 4,000 บาท) เนื่องจากเวลาและทรัพยากรที่ใช้เท่ากันไม่ว่าผู้กู้จะกู้เงิน 4,000 บาท หรือกู้ 35,000 บาท หรือผ่อนชำระ 2,000 บาท หรือผ่อนชำระ 500 บาท การให้สินเชื่อและรับชำระค่างวดในขนาดสินเชื่อที่เล็กจึงมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก และอาจเกิดการขาดทุนเนื่องจากสามารถคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 24 ต่อปี

    เพื่อให้เกิดกำไร ผู้ให้กู้จะต้องหาวิธีลดต้นทุน คัดกรองลูกค้าที่ฉ้อโกงและลูกค้าที่ไม่ดีออกเพื่อลดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด และเพิ่มขนาดสินเชื่อให้ใหญ่ขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ แต่สินเชื่อทะเบียนรถยังคงเป็นรูปแบบธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยสาขาเป็นหลัก สิ่งนี้เห็นได้จากจำนวนสาขาของผู้ประกอบการสินเชื่อทะเบียนรถเกือบ 30,000 สาขาที่เปิดดำเนินการในปัจจุบัน เทียบกับสาขาของธนาคารทั้งประเทศที่มีน้อยกว่า 10,000 แห่ง

    สังเกตได้ว่าผมยังไม่ได้รวมต้นทุนของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาระบบงาน สายด่วนบริการลูกค้า ค่าใช้จ่ายในการจัดการ และฝ่ายงานสนับสนุนอื่นๆ เช่น ฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายการเงินในตัวอย่างข้างต้น เราจะพูดถึงความจำเป็นสำหรับต้นทุนเหล่านี้ในลำดับต่อไป

    ……

  • ข้อมูลเชิงลึก 6. ผู้ให้กู้สามารถเลือกที่จะป้องกันหรือลดต้นทุนด้านความเสี่ยงได้
  • หากผู้ให้กู้ต้องการลดความเสี่ยงด้วยการป้องกันล่วงหน้า ผู้ให้กู้จะเพิ่มตัวกรองซึ่งจะทำให้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเข้มงวดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และจะส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อน้อยลง ผู้กู้จะถูกกีดกันออกจากการให้บริการทางการเงินในระบบเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาหนี้นอกระบบในสังคม ในทางกลับกัน หากผู้ให้กู้มีความสามารถในการรองรับอัตราการผิดนัดชำระที่มากขึ้น พวกเขาจะผ่อนปรนเกณฑ์และลงทุนในกระบวนการติดตามหนี้มากขึ้นแทน เช่น การโทรแจ้งเตือนหรือการไปเยี่ยมบ้านของลูกค้า ซึ่งเมื่อกลับมามองถึงอัตราดอกเบี้ย หากอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับต้นทุนของความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้เพียงอย่างเดียว ก็จะไม่มีทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการให้เกิดการกู้ยืมที่ง่ายขึ้นโดยยอมลงทุนในกระบวนการติดตามหนี้

    ในช่วงปี 2554 ถึง 2560 หลังจากเงินติดล้อเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (นาโนไฟแนนซ์) เราก็ได้ดำเนินโครงการนำร่องที่พยายามจะแข่งขันกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ปล่อยเงินกู้ในตลาดสด หลังจากศึกษาแนวทางปฏิบัติในการปล่อยสินเชื่อและการติดตามหนี้แล้ว เราได้เลียนแบบการดำเนินงานทั้งหมดของเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งรวมถึงการให้สินเชื่อที่ง่ายและการเก็บหนี้รายวัน เรามีแผนที่ของพ่อค้าแม่ค้าทุกรายและทุกแผงในตลาดสดที่เราเลือกทำโครงการนำร่อง 80 แห่งทั่วประเทศ โดยเราปรับกระบวนการทำงานจากวิธีของเจ้าหนี้นอกระบบเพียงเล็กน้อยดังนี้:

    1. เราจัดเตรียมสำเนาสัญญาเงินกู้และใบเสร็จรับเงิน ให้ผู้กู้
    2. เราเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 36 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินต้นคงที่ร้อยละ 360 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินต้นคงที่ร้อยละ 30 ต่อเดือน) ที่เรียกเก็บโดยเจ้าหนี้นอกระบบ
    3. เราจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการตามมาตรฐาน (ในขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน)
    4. เราปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการติดตามหนี้และหลักปฏิบัติด้านข้อมูลส่วนบุคคล

    สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ การส่งพนักงานไปตามเก็บเงินค่างวดรายวันไม่กี่ร้อยบาทต่อวัน ทำให้เราสามารถลดอัตราการผิดนัดชำระหนี้และ NPLs ให้เหลือตัวเลขที่ต่ำเพียงหลักเดียวได้ เราแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้เพราะอัตราดอกเบี้ยของเราค่อนข้างต่ำ และจำนวนการผ่อนชำระรายวันก็ใกล้เคียงกันกับเจ้าหนี้นอกระบบ

    อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของเราขาดทุน ปัญหาของโมเดลธุรกิจนี้คือ ค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้และรักษาระดับ NPL ให้ต่ำนั้นสูงจนเกินไป พนักงานหนึ่งคนสามารถตามเก็บค่างวดลูกค้าได้สูงสุด 50–70 คนในวันทำงานปกติวันละแปดชั่วโมง เราทดลองลดความถี่ในการผ่อนชำระโดยพยายามให้เป็นวันเว้นวันและทุกสัปดาห์เพื่อปรับต้นทุนการดำเนินงานให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนด้านความเสี่ยง ซึ่งไม่ได้ผล

    ในที่สุดหลังจากสี่ปีของการลองผิดลองถูก เราก็ยอมแพ้ ในสี่ปีของการทดลองเราขาดทุนสะสมเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท บทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากทดลองนั้นได้ส่งผลถึงแนวความคิดของเราเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดการความเสี่ยง พฤติกรรมผู้บริโภค และการเข้าถึงบริการทางการเงิน

    อ่านต่อตอนจบ : “เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน 4 หลักการลดหนี้นอกระบบและการให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม(ตอนจบ)