ThaiPublica > เกาะกระแส > “เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน ‘financial inclusion’ และ 4 หลักการลดหนี้นอกระบบ(ตอนจบ)

“เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน ‘financial inclusion’ และ 4 หลักการลดหนี้นอกระบบ(ตอนจบ)

17 เมษายน 2024


นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ได้เขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้น ในรายงานประจำปี 2566 เพื่อรายงานและให้ข้อมูลถึงแนวคิด เป้าหมายและบทบาทต่อการให้บริการทางการเงินที่ ‘เข้าใจ เข้าถึงและเป็นธรรม’ ในฐานะตัวกลางทางการเงิน ‘ไมโครไฟแนนซ์’ โดยมุ่งให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม (financial inclusion) แก่กลุ่มเปราะบาง

ต่อจากตอนที่2

สี่หลักการในการลดปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน

ในเดือนพฤศจิกายน 2566 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศออกทีวีว่าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เงินติดล้อสนับสนุนความคิดนี้โดยเริ่มฝึกอบรมพนักงานสาขาของเราเพื่อช่วยเหลือลูกค้าหรือบุคคลทั่วไปที่ติดหนี้นอกระบบในการลงทะเบียนเข้าสู่โครงการของรัฐ

หากจะให้เกิดประสิทธิผล หนี้นอกระบบควรถูกแทนที่ด้วยการกู้ยืมจากผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตโดยอยู่บนสมมติฐานว่าผู้ให้กู้เหล่านี้สามารถรับความเสี่ยงในระดับเดียวกันกับเจ้าหนี้นอกระบบได้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยในเรื่องนี้ได้

  • หลักการที่ 1 – เราต้องทำให้ผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตสามารถแข่งขันกับเจ้าหนี้นอกระบบได้ ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยและลดความซับซ้อนด้านกฎระเบียบเพื่อแลกกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่สูงขึ้น
  • จำนวนผู้กู้ที่มีรายได้น้อยในปัจจุบันที่ใช้บริการสินเชื่อจากผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตจะบ่งบอกขนาดของตลาดภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ยและกฎระเบียบในปัจจุบัน นี่เป็นตัวเลขที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถติดตามได้ หากผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตสามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าร้อยละ 24 ต่อปีได้ จะมีผู้ให้สินเชื่อภายใต้การกำกับจำนวนมากขึ้น และจำนวนเจ้าหนี้นอกระบบก็จะลดลง

    โดยพื้นฐานแล้ว เราเชื่อว่าเจ้าหนี้นอกระบบจะหายไปหากผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในเรื่องความง่ายและความรวดเร็วในการให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายเกณฑ์การคัดกรองลูกหนี้และยกเลิกขั้นตอนในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้เหมือนกับการกู้ยืมเงินนอกระบบจะทำให้เกิดความเสี่ยงในระดับที่สูงเกินกว่าจะยอมรับได้เมื่อเทียบกับเพดานอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

    เมื่อสินเชื่อเข้าถึงได้ง่ายเกินไป ลูกค้าจะมีแรงจูงใจและมีโอกาสในการฉ้อโกงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ให้กู้เกิดความสูญเสียมากขึ้นอย่างมากหากไม่มีกระบวนการควบคุมที่ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นก่อนที่เราจะคิดถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มคุณภาพการให้บริการสินเชื่อตามที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถยอมรับได้ ซึ่งก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน

    ดังนั้น เราจึงมีความเห็นว่านอกจากจะต้องไม่ลดเพดานดอกเบี้ยลงอีกแล้วนั้น ในทางตรงข้ามเราควรเพิ่มหรือยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ย โดยหากเราสามารถสร้างแรงกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่เหมาะสมกับผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี มีเครือข่ายที่กว้างขวาง มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง และมีขนาดใหญ่ พวกเขาจะแข่งขันกันเพื่อผลักดันผู้ให้กู้ยืมเงินทั่วไป (moneylender) ออกจากตลาด และสังคมก็จะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่มีคุณภาพและการมีแนวปฏิบัติในการติดตามหนี้ที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง

    สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่า จนถึงขณะนี้ เราได้พูดถึงเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเต็มเพดานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ให้สินเชื่อบางรายไม่ได้เสนอเงินกู้ทั้งหมดในอัตรานี้ ผู้ให้สินเชื่อหลายรายมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบผสมระหว่างการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามต้นทุนอยู่แล้ว โดยสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าที่ให้กับลูกค้าที่มีหลักฐานรายได้เพียงพอและมีประวัติเครดิตที่ดีจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ในขณะที่สินเชื่อที่มีขนาดเล็กกว่าที่ให้กับลูกค้าที่มีรายได้ไม่มั่นคงและไม่มีประวัติเครดิตมักจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า

    และหากพูดถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น แนวคิดก็คืออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะช่วยให้ผู้ให้กู้สามารถแข่งขันกับเจ้าหนี้นอกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเงินกู้ขนาดเล็ก

    หากไม่มองถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เราคิดว่าการลดความซับซ้อนสามารถช่วยส่งเสริมการแข่งขันได้มากขึ้น การดำเนินธุรกิจตามสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในปัจจุบันถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่อยากเข้ามาในตลาด และเป็นเรื่องยากแม้แต่กับผู้ให้กู้ที่อยู่ในธุรกิจมานานแล้ว เรามีใบอนุญาตและกฎหมายที่หลากหลายซึ่งอาจมีความทับซ้อน เช่น นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อทะเบียนรถ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อการจำนองที่ดิน สินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย และ พิโคไฟแนนซ์ ใบอนุญาตหรือกฎหมายแต่ละฉบับมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับค่าธรรมเนียม พื้นที่ในการประกอบธุรกิจ หลักประกัน วัตถุประสงค์ในการกู้ยืม เกณฑ์กำหนดแหล่งที่มาของรายได้ และความสามารถในการชำระคืน รวมทั้งยังมีหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ได้แก่ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (“สคบ.”) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเพิ่มความซับซ้อนของการประกอบธุรกิจ

    การมีกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในหลายหน่วยงานของรัฐ สร้างความท้าทายแก่ผู้ประกอบการในการให้บริการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดช่องโหว่ที่สามารถนำไปสู่การหาประโยชน์จากช่องโหว่ทางกฎระเบียบ (regulatory arbitrage)

    เราต้องจำไว้ด้วยว่าแม้ว่าวิธีแก้ปัญหานี้จะเกิดผลกระทบในระยะสั้น แต่ก็ต้องมองภาพในระยะยาว ในช่วงขาขึ้นของธุรกิจ เมื่อต้นทุนของเงินทุนต่ำ ผู้ให้กู้ควรได้รับอนุญาตให้มีผลกำไรที่สูงขึ้น เพื่อให้สามารถลงทุนเพื่อปรับปรุงมาตรฐานและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ใหม่กว่าและดีกว่าสำหรับลูกค้า

    นอกจากนี้ อัตรากำไรสำหรับผู้ให้กู้ควรสูงพอที่จะส่งเสริมการแข่งขันที่ดีและการลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จสามารถสะสมทุนสำรองมากขึ้น ลดภาระทางการเงิน เพิ่มขนาด ลดต้นทุนส่วนเพิ่มในการให้บริการ และลดอัตราดอกเบี้ยลงในที่สุด แนวคิดในการมองให้ยาวขึ้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการเงินที่แข็งแกร่ง เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีงบดุลที่แข็งแกร่งจะสามารถเข้ามาช่วยพักชำระหนี้ บรรเทาทุกข์ และช่วยเหลือผู้กู้ที่เปราะบาง ซึ่งเจ้าหนี้นอกระบบไม่น่าจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลได้มากนัก

  • หลักการที่ 2 – เรามีกฎหมายและข้อบังคับที่มีเจตนาดี ตอนนี้สิ่งที่เราต้องการคือการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารหลายรายที่ถือใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับ
  • ข้อกำหนดที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้กลยุทธ์นี้เกิดความสำเร็จคือความตั้งใจของผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตเอง ข้อมูลเชิงลึกที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้กู้ แม้จะดูแปลกสำหรับผู้ถือหุ้นของเงินติดล้อ แต่ก็เป็นที่รู้จักและเข้าใจดีในหมู่หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ให้กู้จำนวนมากทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ

    นอกจากนี้ เป็นที่น่าเสียดาย ไม่ใช่ผู้ให้กู้ในระบบทุกคนจะเลือกดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการที่มีจุดมุ่งหมายที่ดี แต่พวกเขาเลือกที่จะใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางการเงิน ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากการประกาศรณรงค์ต่อต้านเงินกู้นอกระบบของรัฐบาล มีเรื่องราวมากมายปรากฏในสื่อว่ามีผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถรายหนึ่ง มีส่วนร่วมในพฤติกรรมการให้กู้ยืมที่เอารัดเอาเปรียบผู้กู้ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่

    ในฐานะองค์กรที่มีพนักงานหลายพันคน เราเห็นประสบการณ์ที่ไม่ดีของลูกค้าที่เกิดจากการหลอกลวงของพนักงานซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตซึ่งเจตนาที่จะละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีขั้นตอนการควบคุมคุณภาพการบริการและไม่มีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส และถูกพบว่ามีการให้กู้ยืมที่เอารัดเอาเปรียบซ้ำแล้วซ้ำอีก ควรเผชิญกับผลที่ตามมา เรามองว่า ควรมีการตักเตือนและมีบทลงโทษสำหรับการละเมิดกฎ และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ควรถูกระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาต

    เนื่องจากสิ่งที่เรากำลังเสนอคือ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึง บนมาตรฐานการให้บริการที่สูงขึ้น เราจึงต้องมีมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ให้กู้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิผู้บริโภคและการคุ้มครองผู้กู้ มิฉะนั้นผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจของความพยายามที่มีเจตนาดีนี้อาจเป็นการผลักดันผู้บริโภคที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ให้ตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี

    อย่างไรก็ตาม มีผู้ถือใบอนุญาตในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคหลายรายที่เราเชื่อว่ามีเจตนาดีแต่ไม่สามารถนำเสนอบริการที่ดีขึ้นหรือเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลงได้ เนื่องจากพวกเขามีอุปสรรคจากการที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอได้

    ผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมให้เติบโตและมีส่วนร่วมในภารกิจการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ผู้ประกอบการหลายรายได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามภารกิจนี้ด้วยการเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรม และส่งเสริมการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เกิดประสิทธิผล

  • หลักการที่ 3 – เราต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลระดับประเทศที่แข็งแกร่งมากกว่าธนาคารดิจิทัล ในปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศแผนพัฒนาภาคการเงิน
  • มีการแถลงความคิดริเริ่มในการอนุญาตให้มีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (virtual bank) สถาบันการเงินที่อยู่บนพื้นฐานของระบบดิจิทัลเหล่านี้จะสามารถให้บริการผู้บริโภคได้มากขึ้นในขณะที่มีโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำกว่า และสามารถส่งต่อการประหยัดต้นทุนเหล่านั้นไปยังผู้กู้ เป็นการขยายขอบเขตการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือ

    หัวข้อที่ได้รับการสนใจน้อยกว่าในเอกสารฉบับนี้คือเรื่องการแข่งขันเสรี โครงสร้างพื้นฐานเสรี และข้อมูลเสรี

    ระหว่างสองวาระของภาคการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินนี้ ทีมผู้บริหารของเรายังคงสงสัยว่าการเข้ามาของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจะช่วยให้ประชากรไทยสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่ถูกกว่าได้มากขึ้นจริงหรือไม่

    เราเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการธนาคารของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยการกระจายตัวของสาขาและตู้เอทีเอ็ม ช่องทางการชำระเงินที่เชื่อมโยงต่อกัน มาตรการการกำกับดูแล องค์ประกอบของผู้ถือหุ้น การมีอยู่ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และทรัพยากรในการกำกับดูแลนั้นดีกว่าในหลายประเทศมาก เพียงแค่ผู้ประกอบการปัจจุบันลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเราก็จะสามารถมีระบบการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้หากผู้ประกอบการเหล่านี้มีแรงจูงใจ

    สิ่งที่เราต้องการมากกว่า คือส่วนที่ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงในแผนพัฒนาภาคการเงิน นั่นก็คือโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูล การบังคับให้บริษัทผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตเข้ามามีส่วนร่วมในการนำส่งข้อมูลให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) เพิ่มชุดข้อมูลที่มากขึ้นจากสหกรณ์ต่างๆ ข้อมูลการจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าโทรศัพท์เข้าในระบบ NCB ระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลที่นานขึ้นใน NCB และกฎระเบียบที่ช่วยให้ธนาคารแต่ละที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้อย่างเสรี ล้วนมีประโยชน์มากกว่าและสามารถทำได้รวดเร็วกว่า

    สำหรับการพัฒนาระบบธนาคารให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีกว่าการออกใบอนุญาตธนาคารเพิ่ม นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรไทยส่วนใหญ่มีบัญชีธนาคาร และสามารถทำธุรกรรมทางการเงินบางประเภทบนระบบดิจิทัล อย่างไรก็ตามหลายๆ คนยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินเนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านเครดิตที่เพียงพอ ไม่มีข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ให้กู้พิจารณาปล่อยสินเชื่อหรือการเข้าถึงข้อมูลมีต้นทุนที่สูง

    เราเชื่อว่า หากสมมติว่าผู้ให้กู้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านเครดิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนส่วนเพิ่มของธนาคารที่ได้ใบอนุญาตในปัจจุบันควรจะต่ำกว่าต้นทุนของผู้เล่นรายใหม่ที่ขอรับใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลอย่างมาก

    แม้ว่าธนาคารจะมีความพร้อมด้านระบบงานและการรองรับการขยายตัวของปริมาณธุรกรรม แต่การให้กู้ยืมโดยไม่มีข้อมูลในการวิเคราะห์เครดิตจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับธนาคารเป็นอย่างมาก สิ่งนี้เห็นได้จากผู้เล่น “ฟินเทค” ที่พยายามสร้างธุรกิจการปล่อยสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้ข้อมูลรายได้ พวกเขาพบว่าการอนุมัติเงินกู้ไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่ความยากอยู่ที่การติดตามหนี้มากกว่า ข้อมูลทางการเงินที่มีคุณภาพสูงและพร้อมใช้งานจะสามารถช่วยปรับสมดุลระหว่างความพยายามป้องกันความเสี่ยงกับการหาวิธีลดความเสี่ยง และช่วยให้ผู้ให้สินเชื่อทางช่องทางดิจิทัลเหล่านี้สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยสนับสนุนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงหรือต้นทุน

    อย่างไรก็ตาม เพื่อแลกกับการเข้าถึงข้อมูลที่เปิดเผยเหล่านี้ ธนาคารควรมีส่วนร่วมในการนำข้อมูลของตนเข้ามาเปิดเผยในระบบ เช่นเดียวกับการที่ธนาคารบางแห่งปรับนโยบายการให้กู้ยืมและการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อพลังงานสะอาดและรณรงค์การลดมลพิษ แนวทางปฏิบัติในเรื่องการเข้าร่วมกับ NCB ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFIs) ก็อาจถูกนำมาใช้เป็นข้อพิจารณาสำหรับผู้ให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินเหล่านี้อีกชั้นหนึ่ง

    ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคโดยทั่วไปมีความตระหนักรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาประวัติเครดิตที่ดีว่าเป็นสินทรัพย์อันมีค่านั้น ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านความสามารถในการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่อาจไม่มีทรัพย์สินที่จะนำไปจำนำหรือไม่มีสลิปเงินเดือนเพื่อใช้ในการขอสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันได้

    ความเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภคในเรื่องคะแนนเครดิตที่ดีทำให้ผู้ให้บริการสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อและแคมเปญการตลาดเพื่อช่วยผู้บริโภคเพิ่มคะแนนทางเครดิต เพิ่มความเข้าใจด้านการเงิน และนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพของตลาดธุรกิจการให้สินเชื่อได้

    เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในปัจจุบันเรามีผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีใบอนุญาตที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนในการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ความเสี่ยงพร้อมในมือ ซึ่งควรจะนำไปสู่ความสามารถในการลดบทบาทของหนี้นอกระบบได้ แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและนโยบายที่จะสนับสนุนการใช้ประโยชน์มากขึ้นจากเทคโนโลยีหรือข้อมูลพื้นฐานก็ยังไม่เกิดขึ้น

  • หลักการที่ 4 – เราจำเป็นต้องลงทุนให้ประชากรของเรามีความรู้ทางการเงินมากขึ้น
  • ระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยไม่เพียงแต่สูงเท่านั้น แต่ยังเป็นหนี้คุณภาพต่ำอีกด้วย ซึ่งเป็นเพราะส่วนใหญ่ผู้คนกู้ยืมเพื่อไปใช้ในการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าหนี้นอกระบบ ผู้กู้ที่อาจมีเจตนาไม่ดี และเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ มันแสดงให้เห็นถึงการที่ประชากรไม่มีความรู้ด้านการเงินและไม่มีระเบียบวินัยทางการเงิน

    วิธีแก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบบางส่วนคือการให้ความรู้ทางการเงินและการศึกษา เราเป็นผู้บุกเบิกความคิดนี้มาตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่คำว่าการศึกษาทางการเงินและความรู้ทางการเงินจะกลายเป็นคำศัพท์ยอดนิยมในหมู่ธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแล เงินติดล้อได้พัฒนา ทดลอง และเปิดตัวโครงการให้ความรู้ทางการเงินเชิงปฏิบัติสำหรับลูกค้า รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะทำกิจกรรมนี้และขยายการแบ่งปันความรู้ให้กับผู้คนนอกเหนือจากลูกค้าของเรา ไปยังชุมชนในชนบท คนงานในโรงงาน และพนักงานของเราเอง

    เราเชื่อว่าหากผู้คนได้รับการสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานหรือการจัดการเงินตั้งแต่ในระดับโรงเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย และในช่วงต้นของการประกอบอาชีพ ความไม่เท่าเทียมกันจะลดลง และปัญหาทางสังคมของหนี้นอกระบบจะลดลง ไม่นานมานี้ เราพบว่ามีเพียงประมาณร้อยละ 50 ของผู้กู้ของเราเท่านั้นที่รู้ว่า NCB คืออะไร หรือเหตุใดจึงสำคัญสำหรับพวกเขา เรารู้สึกประหลาดใจและผิดหวัง เห็นได้ชัดว่าหนทางในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในเรื่องการเงินนั้นยังอีกยาวไกล

    ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงและสถิติบางส่วนซึ่งเป็นผลมาจากการให้ความรู้และการศึกษาด้านการเงินและเรื่องดิจิทัลตั้งแต่ปี 2555ของเงินติดล้อ

    1. การมีส่วนร่วมกับชุมชน 220 แห่งและผู้คนมากกว่า 6,000 คนภายในชุมชนเหล่านั้น
    2. การรวบรวมบันทึกทางการเงินของผู้กู้หลายราย
    3. ระหว่างปี 2561-2566 เงินติดล้อได้ทำงานร่วมกับ “โครงการกำลังใจ” ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อให้การศึกษาทางการเงินแก่ผู้ก้าวพลาดที่ใกล้จะพ้นโทษ เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดซ้ำ
    4. การเข้าร่วมในโครงการ Happy Money ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีอาสาสมัครจากเงินติดล้อ จำนวน 56 คนที่ได้รับการรับรอง
    5. เราได้เชิญสมาชิกของสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถที่มีแนวความคิดเดียวกันให้เข้าร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน

    “ดังที่ผมได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ทีมผู้บริหารของบริษัทของเราถูกเลือกจากบุคลากรมืออาชีพที่มีทัศนคติสอดคล้องกับองค์กร สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในแคมเปญเชิงรุกของเราเพื่อลดการอุปโภคบริโภคที่สิ้นเปลือง ตัวอย่างเช่น ในปี 2562 เราเปิดตัวหลายแคมเปญ ซึ่งรวมถึงการจัดทำหนังสือความรู้ทางการเงินที่ขายดีที่สุดและออกโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเป็นหนี้ในระดับสูงเกินไปซึ่งเป็นโฆษณาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพื่อเตือนผู้คนเกี่ยวกับการใช้จ่ายที่เกินตัว และกระตุ้นให้ผู้ชมจำนวนมากขึ้นมีการตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้น”

    อย่างไรก็ตามเงินติดล้อยังมุ่งให้ความรู้แก่ลูกหนี้ในเรื่องสิทธิของพวกเขา และควบคุมข้อความการสื่อสารทางการตลาดของเรา เพื่อไม่ให้โฆษณาส่งเสริมคุณลักษณะ เช่น “ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร” “ไม่ตรวจสอบแบล็กลิสต์” หรือสนับสนุนให้ประชาชนกู้หนี้ยืมสินเพื่อการอุปโภคบริโภค

    ในส่วนนี้เราจะเน้นไปที่สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เราได้สร้าง เราภูมิใจนำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบต่อสังคมฉบับแรกของเรา

    ESG, UNSDGs, BCG, One Report, ความยั่งยืน และผลกระทบคือหัวข้อ ตัวย่อ คำศัพท์ที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง และเป็นเครื่องมือการรายงานที่นักลงทุนและผู้คนในวงการการเงินให้ความสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าร่วมงานประชุมธุรกิจและไม่ต้องเจอกับหัวข้อสนทนาที่เกี่ยวข้องกับข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อด้านบน

    “ผมต้องยอมรับว่า ในองค์กรของเรา การตั้งธงว่าเราควรมีกรอบการทำงานตามแบบใด ใช้คำจำกัดความอย่างไร ทำตามตัวอย่างไหน หรือติดตามผลจากตัวชี้วัดใด ยังคงไม่ชัดเจน เราพบว่าตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานที่มีอยู่ถูกวางไว้อย่างกว้างๆ อยู่บนพื้นฐานของการใช้แนวทางแบบเดียวที่ดูจะเหมาะกับทุกคนเพื่อพยายามวัดผลกับประเด็นที่หลากหลายในอุตสาหกรรมต่างๆ บ่อยครั้งที่เป้าหมายต่างๆ ก็ขัดแย้งกันเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรามีความชัดเจนก็คือ เรากำลังสร้างคุณประโยชน์เชิงบวกให้กับโลก และองค์กรของเราพร้อมที่จะขับเคลื่อนสังคมมากกว่าหวังผลด้านสิ่งแวดล้อม”

    แม้ว่าเราจะไม่สามารถประเมิน ESG จากเรื่องราวและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของลูกค้าที่ครอบครัวได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการของเรา แต่เราตระหนักดีว่าจำเป็นต้องมีการวัดผล การพยายามวัดผลงานออกมาเป็นตัวเลขเพื่อให้ผู้คนภายนอกสามารถเข้าใจเงินติดล้อได้ดีขึ้น น่าจะช่วยทำให้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในระหว่างที่เราพยายามหารูปแบบวิธีรายงานผลที่เหมาะสมกับเงินติดล้อ เราอยากให้ท่านผู้ถือหุ้นของเราลองไปเยี่ยมชมสาขาใดสาขาหนึ่งของเราและลองพูดคุยกับลูกค้าของเรา ท่านจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของเราในฐานะผู้ที่ให้ความช่วยเหลือและให้คำตอบทางการเงินแก่ลูกค้า และสามารถเข้าใจว่าลูกค้าของเราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการเงินกู้ที่ได้รับจากเราได้อย่างไร

    นายปิยะศักดิ์ระบุว่าเพื่อช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันถึงความหมายของสิ่งที่เราตั้งใจเรียกว่าผลกระทบ เราจึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่เรามีอยู่ รวมถึงออกแบบและจัดทำแบบสำรวจของเราเองเพื่อประเมินผลกระทบที่เกี่ยวข้อง โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้เราทำสิ่งนี้มาจากการที่เมื่อปีที่แล้วเราได้ทำโครงการร่วมกับ Center for Impact Investing and Practices ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งโดย Temasek Trust

    ด้านล่างนี้เป็นข้อมูลที่เราได้รวมรวบและกลั่นกรองออกมาเป็นตัวชี้วัดที่วัดผลได้ เราจะยังคงปรับปรุงและพัฒนาวิธีการวัดผลอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการเติบโตของบริษัท

    ผู้กู้ในพอร์ตสินเชื่อของเรา:

  • ผู้กู้ 17 คนจาก 20 คนรู้สึกว่าเงินติดล้อช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
  • เจ้าของธุรกิจอิสระมากกว่าครึ่ง รู้สึกว่าเงินกู้จากเงินติดล้อช่วยให้ธุรกิจเติบโตและเพิ่มรายได้
  • 1 ใน 2 ของผู้กู้ ไม่มีเป้าหมายทางการเงิน และ 3 ใน 4 ของผู้กู้ที่มีเป้าหมายทางการเงิน เห็นด้วยกับคำที่ว่า “เงินติดล้อช่วยให้ฉันบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้”
  • 1 ใน 5 ของผู้กู้ เคยถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันทางการเงินก่อนจะมาที่เงินติดล้อ
  • 2 ใน 5 ของผู้กู้ มีสินเชื่อกับผู้ให้กู้รายอื่น
  • 4 ใน 5 ของผู้กู้ ระบุว่าค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย การผ่อนชำระ และค่าปรับของเราสามารถเข้าใจได้ง่าย
  • 13 ใน 20 ของผู้กู้ มีความกังวลน้อยลงเกี่ยวกับการที่ตนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
  • 13 ใน 20 ของผู้กู้ กล่าวว่าตนสามารถจัดการและควบคุมการเงินได้มากยิ่งขึ้น
  • 4 ใน 5 ของผู้กู้ รู้สึกว่าเงื่อนไขการชำระคืนเงินกู้ไม่ถือเป็นภาระ โดย 1 ใน 5 ของผู้กู้ยังคงรู้สึกว่ามีภาระอยู่บ้าง และไม่มีใครเชื่อว่าการผ่อนชำระรายเดือนถือเป็นภาระหนัก
  • ประโยชน์ของข้อมูลด้านเครดิต:

  • ในปีที่ผ่านมา เราได้ช่วยเหลือผู้กู้อย่างน้อย 34,657 รายที่มีประวัติเครดิตที่ไม่ดีก่อนหน้านี้ในการปรับปรุงคะแนนเครดิตของพวกเขา
  • ในปีที่ผ่านมา เราได้ช่วยเหลือผู้กู้ที่ไม่เคยมีประวัติสินเชื่อมาก่อนหรือมีประวัติน้อยจำนวนไม่ต่ำกว่า 78,359 ราย สร้างประวัติเครดิตที่ดีกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
  • ผู้กู้ 3 ใน 5 รายที่มาหาเราโดยมีประวัติเครดิตไม่ดี สามารถปรับปรุงคะแนนเครดิตของตนได้
  • ผู้กู้ 3 ใน 4 รายที่มาหาเราโดยมีข้อมูลเครดิตน้อยหรือไม่มีเลย กำลังสร้างประวัติทางการเงินที่ดี
  • ผู้กู้ 4 ใน 5 รายที่มีประวัติเครดิตที่ดี ณ เวลาที่กู้ยืม ยังคงรักษาสถานะของตนเองผ่านความสัมพันธ์กับเรา
  • นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทอยู่บนพื้นฐานของการช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเช่นกัน โดยเริ่มจากการให้ประกันอุบัติเหตุฟรีแก่ลูกค้าใหม่ เฉพาะสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์เพื่อช่วยเสริมสร้างความรู้เรื่องประกันภัย

    เช่นเดียวกับการให้บริการหลังการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้กู้ ได้ให้บริการเช่นเดียวกันสำหรับธุรกิจนายหน้าประกันภัย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ได้เปิดตัวสายด่วน “1501” นอกจากนี้ยังมีทีมงานซึ่งมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องสินไหมและติดตามผลให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

  • ลูกค้า 3 ใน 5 ซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจครั้งแรกกับประกันติดล้อ
  • สำหรับลูกค้าที่ซื้อประกันภัยแบบผ่อนชำระ 0%
    • -1 ใน 5 จะลดระดับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยของตนหากไม่มีตัวเลือกการผ่อนชำระ 0%
      -1 ใน 10 จะไม่ซื้อประกันเลย
      -1 ใน 10 สามารถเพิ่มระดับความคุ้มครองได้จากตัวเลือกในการผ่อนชำระของเรา และ
      -4 ใน 5 ไม่มีบัตรเครดิต
  • 7 ใน 10 มียานพาหนะเพียงคันเดียว และจะไม่มีวิธีการเดินทางอื่นในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับยานพาหนะ
  • 4 ใน 5 ต้องการยานพาหนะเพื่อการใช้งานเป็นประจำ (3–4 วันต่อสัปดาห์)
  • หากพวกเขาไม่มีประกันภัยรถยนต์และประสบอุบัติเหตุ ลูกค้าครึ่งหนึ่งจะไม่มีเงินออมเพื่อซ่อมแซมรถยนต์เมื่อเกิดความเสียหาย
  • ลูกค้าร้อยละ 98 เชื่อว่ากระบวนการขายของประกันติดล้อมีความโปร่งใสและยุติธรรม
  • โดยสรุป: การแข่งขันภายใต้การกำกับดูแล ข้อมูล และความรู้ทางการเงิน

    การเข้าถึงบริการทางการเงิน การลดความไม่เท่าเทียมกัน และการกำจัดหนี้นอกระบบถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ความก้าวหน้าของการพัฒนาเป้าหมายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นได้เอง และไม่มีอะไรจะเสกให้มันขึ้นได้เอง จุดเริ่มต้นที่ดีคือการตระหนักว่าแนวทางปฏิบัติในการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบันจะเอนเอียงไปทางการปล่อยสินเชื่อให้กับพนักงานประจำ ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มเล็กราวๆ 10 ล้านคน จากประชากรวัยทำงานประมาณ 40 ล้านคน

    ดังนั้น เราควรระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติต่อคนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพอิสระ โดยการถือว่าพวกเขามีลักษณะเดียวกัน เนื่องจากลักษณะการประกอบอาชีพของพวกเขาต่างกัน แต่ละคนจึงมีกระแสเงินสดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เกิดความซับซ้อนและเกิดต้นทุนสูงในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต่างกันไป เมื่อเราเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว การออกแบบระบบการเงินของเราก็สามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสม มีผู้เกี่ยวข้องที่พยายามผลักดันวาระดังกล่าวอย่างกระตือรือร้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายรอบการเลือกตั้ง และอาจยาวนานหลายทศวรรษหรือหลายชั่วอายุคน ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการผลักดันเรื่องนี้

    เฉกเช่นเดียวกับประเด็นทางสังคมส่วนใหญ่ ปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อนและมีประเด็นมากมาย เราเชื่อว่าข้อเสนอหลักการทั้ง 4 ประการควรจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เห็นภาพ เราจะสามารถมีผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหม่ ลดความซับซ้อนของใบอนุญาต ลดการกำหนดกฎระเบียบและกฎหมายของเรา และเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคได้ก็ต่อเมื่อเราบังคับใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์อย่างจริงจัง ไม่มีเงินทุนจำนวนใดที่เพียงพอที่เราจะให้เพื่อเพิ่มความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชนเพื่อที่จะทำให้เงินกู้นอกระบบหายไป ยกเว้นแต่ว่าเราจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลและให้ความรู้ทางการเงินควบคู่กันไป

    “พูดง่ายๆ ข้อสันนิษฐานของเราคือ ภาคเอกชน พร้อมด้วยฝ่ายผู้ออกกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย กลุ่มผู้สนับสนุนผู้บริโภค และหน่วยงานกำกับดูแล จะต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิผลในการต่อสู้กับเงินกู้นอกระบบเป็นลำดับแรก”

    ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าการทำเช่นนั้นจะต้องมีการลงทุนล่วงหน้ารวมถึงการเกิดค่าใช้จ่ายระหว่างทางไปพร้อมๆ กัน การย้ายผู้คนจากเจ้าหนี้นอกระบบไปยังผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตโดยการเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เกิดภาพที่ไม่ดีและเกิดความเข้าใจผิดกับสาธารณชน

    แต่เรามองไม่เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาอื่นที่จะไม่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ความนิยมที่อาจลดลงชั่วคราวนี้อาจถูกชดเชยได้ด้วยรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าหนี้นอกระบบ (เจ้าหนี้นอกระบบไม่ต้องจ่ายภาษี)

    อย่างไรก็ตาม เราจะสามารถให้บริการลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการจากธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความมั่นใจในความก้าวหน้าของเราแล้วเท่านั้น

    เมื่อผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบริหารความเสี่ยงของเราเริ่มงานกับเงินติดล้อในปี 2550 ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันถูกให้บริการโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นซึ่งเพิกเฉยต่อกฎและข้อบังคับ ในขณะนั้น เงินติดล้อยังเป็นเสมือนโครงการทดลองในการปล่อยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์และเป็นบริษัทในเครือธนาคารแห่งแรกที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถกับเจ้าของรถจักรยานยนต์ ย้อนกลับไปในสมัยนั้น การแข่งขันและการเข้าถึงเงินทุนมีข้อจำกัด และขนาดของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์โดยเฉลี่ยอยู่เพียง 9,000 บาท จำนวนเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ก็ต่ำกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งจำเป็นต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนและส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อช้าลง

    เมื่อเวลาผ่านไป เราทำให้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อทะเบียนรถเป็นที่นิยม เราพัฒนาความสามารถในการบริหารความเสี่ยง ขยายเครือข่ายสาขา ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ขยายขนาดทีมติดตามหนี้ และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้อยู่บนความยุติธรรม โปร่งใส และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ตลอดกระบวนการนี้ เราได้ช่วยก่อตั้งสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) และสนับสนุนการให้ความรู้ด้านการเงินและการสร้างมาตรฐานทางการเงินที่สูงขึ้น

    ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เราและผู้เล่นรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเติบโต เป็นที่รู้จัก และดึงดูดเงินทุนมากขึ้น หลังจากนั้น เรายังคงพยายามลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาเงินกู้ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้และลดอัตราการยึดหลักประกันจากลูกค้า

    ในปี 2561 ลูกค้าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง วงเงินกู้ที่มากขึ้น ระยะเวลาผ่อนชำระที่นานขึ้น และลูกค้าก็มีความสามารถในการจ่ายคืนที่มากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าการแข่งขันซึ่งอยู่ภายใต้กฎและข้อบังคับต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้การแข่งขันที่เกิดขึ้นตามกลไกธรรมชาติปรับตัวลดลง

    ในปี 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าควบคุมธุรกิจการให้สินเชื่อทะเบียนรถและกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 28 และต่อมาได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 24 เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง ณ เวลานั้น บริษัทของท่านเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดไว้สำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุกอยู่แล้ว

    นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปีที่ผมใช้อ้างอิงมาตลอดคืออัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถที่ได้รับใบอนุญาตสามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ อย่างไรก็ดี เราไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 24 ต่อปีจากลูกค้าทุกคน ในความเป็นจริง มีลูกค้าจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 10 ในพอร์ตสินเชื่อปัจจุบันของบริษัทที่เราเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเท่าเพดานอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย อัตราผลตอบแทนของทั้งพอร์ตสินเชื่อของเราอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่เราเรียกเก็บคือประมาณร้อยละ 12 ต่อปี วิธีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเราถูกออกแบบมาให้แตกต่างกันไปตามกลุ่มลูกค้า และสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้สะท้อนถึงต้นทุนของความเสี่ยงและต้นทุนในการให้บริการ

    “เป็นที่น่าเสียดายที่จะต้องมีกลุ่มลูกค้าที่เราจำเป็นต้องปฏิเสธอยู่เสมอ แม้ว่าในความเป็นจริงผมเห็นว่าผู้กู้จำนวนมากมีความตั้งใจที่จะชำระคืนเงินกู้ของตน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสามารถในการชำระคืนได้มากเท่าจำนวนเงินที่ต้องการกู้ยืม หรือมีวินัยทางการเงินที่เพียงพอในการชำระเงินกู้จนครบกำหนด ผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารมักถูกมองว่ามีความเปราะบางทางการเงินด้วยเหตุผลบางประการ และเนื่องจากรูปแบบลักษณะของรายได้ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้หรือไม่มีความแน่นอนเหมือนกับพนักงานภายใต้ระบบเงินเดือน คนกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงสูงกว่าและมีต้นทุนในการให้บริการสูงกว่าเสมอ”

    มีลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อเข้ามาที่สาขาของเราบ่อยครั้ง แต่หลังจากทำการประเมิน เราพบว่าพวกเขามีความเสี่ยงหรือมีต้นทุนในการให้บริการที่สูงเกินกว่าที่จะเสนอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปี ผู้ขอสินเชื่อที่ถูกปฏิเสธเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบแม้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากและมีเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม

    ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เงินติดล้อเรียกเก็บกับอัตราดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้นอกระบบเรียกเก็บทำให้เห็นว่ามีช่องทางที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้กู้เหล่านี้ เหตุผลของเรามีเพียงว่า จะเป็นการดีกว่าสำหรับลูกค้าที่เปราะบางที่จะสามารถเข้าถึงเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 24 ต่อปีจากผู้ให้สินเชื่อที่มีใบอนุญาตซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยจะเกิดความโปร่งใสมากขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่มากกว่าที่จะถูกตัดออกจากระบบการเงินโดยสิ้นเชิง

    ตัวเลือกนี้ควรเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับรัฐบาล เนื่องจากข้อมูลจากผู้ให้สินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตจะช่วยให้รัฐบาลสามารถเห็นความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

    หนี้นอกระบบในประเทศไทยจะลดลงหากมีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนที่มีความตั้งใจที่ดี มีความรู้ มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุนสามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าร้อยละ 24 ต่อปี แต่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้นอกระบบเรียกเก็บซึ่งสูงกว่าเกือบร้อยละ 100 ต่อปี ผู้ให้กู้ที่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ควรผ่านเกณฑ์การประเมินความเหมาะสม และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎระเบียบ

    อันดับแรกเราให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ระยะสั้นที่จะสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าหนี้นอกระบบและปรับปรุงเงื่อนไขอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันเราก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อให้ความรู้แก่ผู้กู้ถึงความสำคัญของประวัติทางการเงินในฐานะสินทรัพย์ที่มีค่าของพวกเขา เมื่อโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลแข็งแกร่งและความรู้ทางการเงินเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย อุปสรรคและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตจะลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ โดยทั่วไปการแข่งขันยังผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ดีเติบโตและสามารถแข่งขันด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยได้ในท้ายที่สุด

    เราตระหนักดีว่าไม่มีระบบการเงินที่สมบูรณ์แบบ เนื้อหาในส่วนนี้ถูกเขียนขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม (financial inclusion) และอาจไม่ได้ให้ความสำคัญต่อลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อุปสรรค และความกดดันอื่นๆ ที่รัฐต้องให้ความสนใจและแก้ไข

    ผมได้อ้างอิงและให้ความเห็นเกี่ยวกับความคิดริเริ่มของรัฐบาลปัจจุบันเมื่อผมเสนอวิธีแก้ปัญหา เนื่องจากเป้าหมายของเราไม่ใช่การทำในสิ่งที่คนอื่นได้ทำมาแล้วหรืออ้างสิทธิบนแนวคิดเหล่านี้ แต่เป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในวงสนทนาเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเติมเต็มช่องว่าง เชื่อมต่อแนวคิดและประสบการณ์ ทำให้จุดยืนของเราเป็นที่รู้จัก และหวังว่าจะทำให้บทสนทนาเรื่องผลกระทบยังคงดำเนินต่อไป

    “ผมจะขอสรุปส่วนนี้โดยการอธิบายว่าทำไมเราจึงทุ่มเทเวลามากมายเพื่อสื่อสารความคิดเห็นของเราในเรื่องนี้ นักเขียน Mark Twain เคยกล่าวไว้ว่า “สองวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณคือวันที่คุณเกิด และวันที่คุณรู้ว่าคุณเกิดมาทำไม” หลังจากที่เราค้นพบจุดมุ่งหมายของเราในปี 2559 เราตระหนักดีว่าเราสามารถไปถึงเป้าหมายหลายข้อของผู้มีส่วนได้เสียของเราโดยการเปลี่ยนจากการเป็นองค์กรที่แค่ต้องการเอาชนะเจ้าหนี้นอกระบบและคู่แข่งขันรายอื่นๆ มาเป็นองค์กรที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ที่เงินติดล้อ เราทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยความเชื่อมั่นว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส คือสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ”