ThaiPublica > เกาะกระแส > “เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน 6 ข้อมูลเชิงลึก ‘financial inclusion'(ตอนที่1)

“เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน 6 ข้อมูลเชิงลึก ‘financial inclusion'(ตอนที่1)

16 เมษายน 2024


นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินติดล้อ จำกัด(มหาชน) ได้เขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในรายงานประจำปี 2566 เพื่อรายงานและให้ข้อมูลถึงแนวคิด เป้าหมาย รวมทั้งบทบาทต่อการให้บริการทางการเงินที่ ‘เข้าใจ เข้าถึงและเป็นธรรม’ ในฐานะตัวกลางทางการเงิน ‘ไมโครไฟแนนซ์’ ที่มุ่งให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม (financial inclusion) แก่กลุ่มเปราะบาง

“มุมมองส่วนตัวของผมเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม (financial inclusion) หลังจากเป็นผู้สังเกตการณ์ นักวิเคราะห์ และผู้ลงมือปฏิบัติในเรื่องนี้มานานกว่าทศวรรษ ผมเชื่อว่าในที่สุดผมก็เข้าใจปัญหาสังคมเรื่องนี้ได้ดีพอที่จะเสนอกรอบวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ จดหมายส่วนนี้เขียนขึ้นโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย และผมหวังว่าจะช่วยชี้แจงความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในธุรกิจนี้ได้”

ส่วนที่ 1 ความคิดของเงินติดล้อเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการเงินและผลกระทบ

-นอกจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน
-สี่หลักการในการลดปัญหาหนี้นอกระบบและความไม่เท่าเทียมกัน
-รายงานผลกระทบต่อสังคมฉบับแรกของเรา

  • บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุมและผลกระทบ
  • นายปิยะศักดิ์ได้กล่าวในรายงานว่าในการช่วยให้ประชากรกลุ่มฐานรากของประเทศสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบนั้นได้กลายเป็นพันธกิจของบริษัท ด้วยความเชื่อว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงเกิดจากแรงผลักดันของความตั้งใจจริง ในการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคาร ซึ่งนำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่าและนำไปสู่ผลการดำเนินงานทางธุรกิจได้อย่างไร

    “พันธกิจนี้ไม่ใช่เพราะมันสร้างหัวข้อข่าวหรือช่วยสร้างแบรนด์ที่ดี แต่เป็นเพราะมันเกิดประโยชน์ต่อสังคม สร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืนให้ธุรกิจของเรา ด้วยการให้คุณค่าเพื่อสร้างสมดุลระหว่างจุดมุ่งหมาย ผลกำไร และการสร้างบุคลากร หัวข้อนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากช่วงที่ร่างจดหมายฉบับนี้ในช่วงปลายไตรมาส 4 ของปี 2566 รัฐบาลไทยได้ประกาศแผนการต่อสู้กับปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาเทียบเท่ากับปัญหาการค้าทาสยุคใหม่ แม้ว่าแนวคิดของรัฐบาลชุดนี้อาจดูเหมือนสอดคล้องกับเป้าหมายของเงินติดล้อในการช่วยบรรเทาปัญหาความยากจน แต่ผมกลับมีความกังวลว่าอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในหมู่คนทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ”

    “ผมอยากจะกล่าวอย่างชัดเจนว่าเงินติดล้อไม่มีความเกี่ยวข้องกับกับพรรคการเมืองใดๆ และข้อความนี้ไม่ควรถูกตีความว่าเป็นการไม่ออกความคิดเห็นของเราต่อนโยบายและแนวปฏิบัติอันใดอันหนึ่ง ความสามารถในการแยกเรื่องการเมืองออกจากนโยบายมีความสำคัญต่อบทบาทในสังคมของพวกเรา”

    ในฐานะที่เงินติดล้อเป็นองค์กรที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน ความโปร่งใส ความรู้พื้นฐานทางการเงิน และมาตรฐานการให้บริการอย่างตรงไปตรงมามานานหลายปี

    ซึ่งความเห็นของเราในบางครั้งก็ไม่เป็นที่นิยมนัก ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน เรารู้สึกว่าเราจำเป็นต้องแบ่งปันมุมมองของเราที่ได้รับการหล่อหลอมจากประสบการณ์ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ และสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึก ความคิดริเริ่ม และแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้

    นอกจากนี้การสร้างผลกระทบและการให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่ดีต้องมีความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจในข้อจำกัดของลูกค้า นำมาซึ่งความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

    เรายังเชื่อมั่นว่าความสำเร็จด้านผลประกอบการขององค์กรในอนาคตจะเกิดขึ้นจากความตั้งมั่นในการพัฒนาการให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุมอย่างแท้จริง

    การสร้างผลกระทบต่อสังคมในการปล่อยสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อย ไม่ใช่แค่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเท่านั้น ที่จริงแล้วอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอาจจะต่ำเกินไป หากเราต้องการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างแท้จริง เรื่องนี้จึงเป็นหัวข้อถกเถียงที่ชัดเจนที่สุดในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง และผู้ประกอบการคืออัตราดอกเบี้ย

    ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทะเบียนรถของประเทศไทยถูกจำกัดไว้ที่ร้อยละ 24 ต่อปี และมีกฎระเบียบที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ ซึ่งรวมไปถึงลำดับการรับชำระหนี้ แนวทางการทำการตลาด และการคิดค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ อย่างไรก็ตาม การถกเถียงในวงสาธารณะส่วนใหญ่โดยนักวิชาการ บุคคลสาธารณะ และหน่วยงานกำกับดูแล มักจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของอัตราดอกเบี้ย โดยคนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเพดานดอกเบี้ยในปัจจุบันสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อทะเบียนรถ (ร้อยละ 24 ต่อปี) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป และสร้างภาระแก่ผู้กู้ และเรามักจะได้ยินคำว่า “ขูดเลือดขูดเนื้อ”

    “เมื่อมีการถกเถียงกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่ในทางตรงกันข้าม เราพบว่าโดยทั่วไปแล้วผู้กู้ยืมกลับมีมุมมองที่ตรงกันข้าม เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังมุมมองนี้”

    นายปิยะศักดิ์กล่าวว่าเป็นเวลากว่าทศวรรษที่ทีมผู้บริหารของเราได้ศึกษาเรื่องสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์และเป็นผู้สังเกตการณ์พฤติกรรมของลูกค้าอย่างละเอียด ซึ่งเราจะให้ข้อมูลเชิงลึก 6 ข้อที่เราได้รับจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการให้บริการกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารได้

    บทเรียนที่เราได้เรียนรู้หลังจากการเอาชนะอคติจากประสบการณ์ของเราเองในฐานะพนักงานกินเงินเดือน ทำให้เราสามารถบอกเหตุผล 3 ข้อ ว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปีจึงไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระรู้สึกยากลำบากกับอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้

    ความเห็นอกเห็นใจและการมองโลกผ่านสายตาของผู้กู้เป็นก้าวแรกในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ครอบคลุม ใช้งานได้ มีความรับผิดชอบ เป็นที่น่าพอใจ และยั่งยืน เราจะให้ข้อมูลเชิงลึกอีก 3 ข้อเกี่ยวข้องกับการให้บริการกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคาร

    “ผมยังมีข้อโต้แย้งอีกว่า ทำไมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเป็นเพดานอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย จึงควรเพิ่มขึ้นในระยะสั้นถึงกลาง หากประเทศไทยต้องการต่อสู้กับปัญหาสังคมของหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน”

  • ข้อมูลเชิงลึก 1. ความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็วในการหมุนเวียนทางธุรกิจ: บทเรียนจากแม่ค้าชาวนิการากัว
  • เหตุผลแรกที่ลูกค้าของเงินติดล้อสามารถยอมรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปีได้อย่างง่ายดายนั้น เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความเร็วในการหมุนเวียนทางธุรกิจ เพื่ออธิบายเรื่องนี้ ผมขอใช้ข้อความจากหนังสือ What the CEO Wants You To Know โดยกูรูด้านการจัดการ Ram Charan ซึ่งระบุไว้ดังต่อไปนี้:

    เมื่อหลายปีก่อน ผมพานักศึกษา MBA กลุ่มหนึ่งไปตลาดกลางแจ้งใกล้มานากัว (Managua) ประเทศนิการากัว (Nicaragua) ที่นั่นพ่อค้าแม่ค้า (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ขายทุกอย่างตั้งแต่สับปะรดไปจนถึงเสื้อเชิ้ตและสร้อยคอ เราเข้าไปหาผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังขายเสื้อผ้าในร้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง และผมก็ถามเธอว่า เธอได้เงินมาชำระค่าสินค้าของเธอได้อย่างไร เธอบอกว่าเธอยืมมันมา โดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อเดือน นักเรียนที่คิดเลขเร็วคนหนึ่งคำนวณ ร้อยละ 2.5 คูณ 12 เดือน และพูดขึ้นมาว่าอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 30 ต่อปี ผู้หญิงคนนั้นมองผมด้วยสายตาไม่พอใจและพูดเป็นภาษาสเปนว่านักเรียนคนนั้นผิด เมื่อทบต้นทุกเดือน อัตรานี้อยู่ที่ร้อยละ 34 ต่อปี เธอทำกำไรได้เท่าไหร่? เพียงร้อยละ 10 แล้วเธอจะอยู่รอดจากการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บเงินร้อยละ 34 ต่อปีได้อย่างไร? เราต้องถาม

    ด้วยความรำคาญกับความโง่เขลาของคำถาม เธอจึงทำมือเป็นวงกลมหลายครั้งในอากาศ ท่าทางของเธอหมายถึงการหมุน — การหมุนของสินค้าคงคลัง เธอรู้โดยสัญชาตญาณว่าการได้รับผลตอบแทนที่ดีนั้นมีสององค์ประกอบ ได้แก่ อัตรากำไรและความเร็วในการหมุนสินค้าคงคลัง ถ้าเธอขายเสื้อได้ราคา 10 ดอลลาร์ เธอทำกำไรได้เพียง 1 ดอลลาร์ เพื่อจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้และเติมสต๊อกรถเข็น เธอต้องขายสินค้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระหว่างวัน ยิ่งเธอขายได้มากเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งสะสม “ร้อยละ10” มากขึ้นเท่านั้น

    คำว่า “ความเร็วในการหมุนเวียนทางธุรกิจ” อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับความเร็ว การหมุนเวียน และการเคลื่อนไหว ลองนึกถึงวัตถุดิบที่เคลื่อนย้ายผ่านโรงงานและกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และนึกถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเหล่านั้นที่ย้ายออกจากชั้นวางไปยังลูกค้า นั่นคือความเร็วในการหมุนเวียนทางธุรกิจ

    ตัวอย่างนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่มีรายได้อัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 10 ต่อหน่วยสินค้าคงคลัง และจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อเดือน (ทบต้นก็คือร้อยละ 34 ต่อปี) ลองนึกภาพพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังขายอาหารหรือเคสโทรศัพท์มือถือซิลิโคนที่มักพบตามพื้นที่ค้าปลีกของห้างสรรพสินค้า อัตรากำไรขั้นต้นจากสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่าร้อยละ 10 เป็นอย่างมาก ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60–75 ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะได้รับผลตอบแทนร้อยละ 200-300 ในแต่ละเคสที่ขาย ในตัวอย่างนี้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อเดือนถือเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างน้อย หากการหมุนของสินค้าคงคลังเป็นสองครั้งต่อเดือน ต้นทุนในการหมุนเวียนสินค้าคงคลังในแต่ละรอบจะอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.25 ของรายได้ จากตัวอย่างนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจึงยินดีจ่ายแม้กระทั่งร้อยละ 10 หรือสูงถึงร้อยละ 30 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยปกติที่เจ้าหนี้นอกระบบทั่วประเทศไทยเรียกเก็บ

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราพยายามประเมินรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อย เราไม่เคยพบร้านค้าปลีกหรือผู้ขายอาหารรถเข็นคิดอัตรากำไรเพียงร้อยละ 10 ดังที่กล่าวไว้ในตัวอย่างของประเทศนิการากัว โดยทั่วไปแล้ว กำไรขั้นต้นต่อหน่วยจะอยู่ที่ร้อยละ 50 (ราคาขายเป็นสองเท่าของต้นทุนสินค้าหรือวัตถุดิบ) และนั่นคืออัตรากำไรระดับล่างเมื่อเราพูดถึงธุรกิจค้าปลีก

    เราอยากให้ท่านลองตรวจสอบสิ่งนี้ด้วยตนเอง ให้ลองสัมภาษณ์ผู้ขายอาหารในร้านที่ท่านชื่นชอบ และถามพวกเขาเกี่ยวกับราคาค่าเช่าร้าน วัตถุดิบ ค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้กับพนักงาน (ถ้ามี) และความถี่ที่ต้องเติมสินค้าการคำนวณง่ายๆ จะช่วยให้ท่านทราบว่าอัตรากำไรขั้นต้นนั้นสูงและต้นทุนส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยค่าใช้จ่ายและการจัดจำหน่าย ไม่ใช่วัตถุดิบ แม้ว่าตัวอย่างข้างต้นได้พูดถึงผู้ประกอบการในอเมริกากลาง แต่ก็สามารถนำไปใช้กับแทบทุกประเทศได้ เนื่องจากเศรษฐศาสตร์การค้าปลีกขั้นพื้นฐานและพฤติกรรมของผู้ต้องการเงินกู้เป็นเรื่องปกติและสอดคล้องกันทั่วโลก

    เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องหนึ่งที่ผมพบก็คือ แม้ผู้หญิงชาวนิการากัวจะเข้าใจแนวคิดของดอกเบี้ยทบต้น แต่ไม่คิดว่าผู้กู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารในประเทศไทยเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เราพบว่าประชากรที่อยู่ฐานล่างของพีระมิดทางเศรษฐกิจและสังคมมักจะมองอัตราดอกเบี้ยที่เสนอในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ยรายเดือนแบบเงินต้นคงที่ เนื่องจากการคำนวนดอกเบี้ยลักษณะนี้ง่ายกว่าในการคำนวณภาระดอกเบี้ยและการผ่อนชำระโดยใช้เครื่องคิดเลข ในความเป็นจริง คนที่ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เรียนด้านการเงิน มีความลำบากในการแยกแยะเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่กับอัตราเงินกู้รายปี และคนส่วนน้อยลงไปอีกที่สามารถแปลงอัตราเงินกู้ดังกล่าวได้

    ผู้ที่อยู่ในแวดวงไมโครไฟแนนซ์ทั่วโลกมีแนวคิดในการลดความซับซ้อนในการสื่อสารสำหรับผู้มีความรู้ทางการเงินน้อย โดยแนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เช่น IDEO ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation ที่เรียกว่า Last Mile Money ในคู่มือออนไลน์ Financial Confidence Playbook ของ Last Mile Money ได้ให้คำแนะนำเป็นพิเศษกับเหล่านักการเงินที่ต้องการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินว่า

    “อย่ายึดติดตัวเลขร้อยละต่างๆ และพยายามอธิบายข้อตกลงในภาษาที่เข้าใจง่าย”

    พูดง่ายๆ คือให้พูดเป็นจำนวนที่ต้องจ่ายที่แน่นอน (แปลว่าให้แปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นจำนวนงวดรายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายวัน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีประโยชน์มากกว่าสำหรับผู้กู้ในการพิจารณาความสามารถในการจ่าย ควบคู่ไปกับให้ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเพื่อความโปร่งใส ซึ่งข้อเสนอแนะนี้ตรงกันข้ามกับนโยบาย “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม” ที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล ที่กำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อทุกรายให้ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบร้อยละต่อปีอย่างเด่นชัดเมื่อสื่อสารกับผู้ขอสินเชื่อ

    …….

  • ข้อมูลเชิงลึก 2. ผู้กู้ให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้มากกว่าอัตราดอกเบี้ย (ควรแยกพิจารณา แม้ทั้งสองสิ่งนี้จะเกี่ยวข้องกัน): บทเรียนจากการสังเกตธุรกิจหนี้นอกระบบและการศึกษาข้อมูลทางการเงินของผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  • เหตุผลที่สองว่าทำไมลูกค้าของเงินติดล้อจึงสามารถจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปีได้อย่างง่ายดาย คือ ลูกค้ามักจะมองว่าจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนเป็นสิ่งสำคัญของการกู้เงิน ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย สิ่งนี้ไม่ต่างกับการที่คนส่วนใหญ่คิดเกี่ยวกับความสามารถในการซื้อเมื่อซื้อสินค้าที่จับต้องได้ การพิจารณาว่าสินค้ามี “ราคาเหมาะสม” หรือไม่นั้น เกิดขึ้นเมื่อผู้ซื้อเปรียบเทียบจำนวนเงินที่ต้องจ่าย (หรือราคา) กับเงินทุนที่มีอยู่ หากราคาของสินค้าสูงกว่าเงินทุนที่ผู้ซื้อมีอยู่ สินค้านั้นจะถือว่าไม่สามารถจ่ายได้ และสามารถมองในทางกลับกันเช่นกัน ในทางเดียวกัน สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกู้จากธนาคารได้ ความสามารถในการจ่ายเงินของพวกเขาจะสัมพันธ์กับจำนวนการผ่อนชำระหรือจำนวนเงินที่ผู้กู้จะต้องจ่ายคืนต่อครั้ง หากพูดถึงต้นทุนของการกู้ยืม ผู้คนจะสับสนระหว่างเงินต้นบวกดอกเบี้ยหรือเฉพาะดอกเบี้ย หากเราค้นหาคำว่า “ต้นทุนของเงินกู้” ก็จะเจอคำจำกัดความที่หลากหลาย

    ลูกค้าของเราอยู่ในกลุ่มที่ถือว่าจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องชำระคืน (เงินต้นบวกดอกเบี้ย) เป็นต้นทุนของเงินกู้ สิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดคือ จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนและระยะเวลาในการผ่อน การทำความเข้าใจธรรมชาติของรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอของลูกค้าของเราจะช่วยอธิบายพฤติกรรมนี้ได้

    ตัวอย่างเช่น หากเราเปรียบเทียบรายได้ของชาวนากับคนขับจักรยานยนต์รับจ้าง ชาวนาเก็บเกี่ยวพืชผลปีละครั้งหรือสองครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณน้ำฝน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของที่ดิน และวิธีการเพาะปลูก การประกอบอาชีพตามฤดูกาลเหล่านี้จะทำให้รายได้ของเกษตรกรพุ่งสูงขึ้นและกระจุกตัวในช่วงเก็บเกี่ยวและการเพาะปลูก ตรงกันข้ามกับคนขับจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพฯ ซึ่งรายได้ผันผวนตามสภาพอากาศในแต่ละวัน ช่วงเทศกาลวันหยุด และสภาพการจราจรที่ไม่แน่นอน เมื่อลูกค้ากลุ่มนี้มาหาเราเพื่อขอสินเชื่อ หลังจากจัดลำดับความสำคัญว่าจำนวนเงินที่พวกเขาจะได้รับนั้นเหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการอันเร่งด่วนของพวกเขาแล้ว คำถามต่อไปของพวกเขาคือ จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนและระยะเวลาในการผ่อน ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย และจากลักษณะของรายได้ที่ไม่แน่นอน ทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้กู้กลุ่มนี้คือ การเลือกเงินกู้ที่มีจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนต่ำกว่า (นั่นคือ จำนวนเงินที่พวกเขาสามารถจ่ายได้) เพื่อลดโอกาสที่พวกเขาจะชำระคืนเงินกู้ไม่ไหว

    จากลูกค้ามากกว่า 2.5 ล้านรายที่เราให้บริการในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 70 เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งรายได้ผันผวนอย่างมากและขึ้นอยู่กับแหล่งรายได้ของพวกเขา โดยลูกค้าเกือบทุกราย เลือกจำนวนผ่อนชำระที่เหมาะสมมากกว่าการเลือกอัตราดอกเบี้ย

    ในสถานการณ์เฉพาะของการกู้ยืมสินเชื่อทะเบียนรถ บางครั้งผู้กู้ไม่ได้ต้องการวงเงินกู้ที่สูง ในกรณีนี้ เมื่อความต้องการเงินสดในขณะนั้นมีน้อยกว่ามูลค่าของรถยนต์ พวกเขาเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก: พวกเขา (ก) กู้เฉพาะจำนวนเงินที่ต้องการเพื่อประหยัดดอกเบี้ยและได้ประโยชน์จากการผ่อนชำระที่น้อยลง หรือ (ข) ขอวงเงินกู้สูงสุดที่สามารถทำได้เมื่อเทียบกับมูลค่าของสินทรัพย์ที่นำมาวางเป็นหลักประกัน เนื่องจากพวกเขามีรถที่จะใช้เป็นหลักประกันเพียงคันเดียว และไม่สามารถคาดเดาปัญหาทางการเงินที่พวกเขาอาจเผชิญในอีกไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยปกติหากผู้กู้คาดว่าสามารถผ่อนชำระไหว ผู้กู้มักจะเลือกทางเลือกที่มีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงแต่เสี่ยงน้อย โดยเลือกรับวงเงินสูง เพื่อให้มีเงินสดเหลืออยู่ในมือเล็กน้อย

    ข้อสังเกตของเราคือ ลูกค้าสามารถจัดการความเสี่ยงด้วยตนเอง โดยการลดจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือนให้น้อยที่สุดและพยายามหลีกเลี่ยงการถูกยึดทรัพย์สินที่จำนำไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    เพื่อแก้ปัญหาของลูกค้าต่อสถานการณ์นี้เราได้ออกผลิตภัณฑ์ “บัตรติดล้อ” ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้นในภายหลังแม้ว่าลูกค้าจะขอรับสินเชื่อแค่จำนวนที่ต้องการในครั้งแรกก็ตาม

    หลังจากศึกษาและแข่งขันกับผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบเป็นเวลาหลายปี เราสามารถสรุปได้ว่าการที่ผู้กู้ไม่สามารถจัดการความสามารถในการผ่อนชำระ ในจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนที่น้อยลงและเงื่อนไขการกู้ยืมที่ยืดหยุ่นได้ เป็นสิ่งที่มักจะก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ ทำให้พวกเขาติดกับดักหนี้ที่ไม่สามารถหลุดพ้นได้ เงินกู้นอกระบบส่วนใหญ่จะให้เฉพาะเงินกู้ระยะสั้นที่มีเงื่อนไขการชำระคืนที่เข้มงวดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ซึ่งมักจะมีเวลาเพียง 30–40 วันเท่านั้น นอกจากนี้ การไม่ชำระค่างวดตรงเวลามักนำไปสู่การคิดค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ยทบต้น การติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม และในกรณีที่ร้ายแรง อาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกายได้

    อ่านต่อตอนที่2 “เงินติดล้อ” ถอดบทเรียน 6 ข้อมูลเชิงลึก ‘ไมโครไฟแนนซ์’ การให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและครอบคลุม(ตอน2)