ThaiPublica > เกาะกระแส > สถิติ ‘แรงงานต่างด้าว’ ในช่วง 15 ปี – กลุ่ม CLMV ฟันเฟืองเศรษฐกิจไทย

สถิติ ‘แรงงานต่างด้าว’ ในช่วง 15 ปี – กลุ่ม CLMV ฟันเฟืองเศรษฐกิจไทย

1 เมษายน 2024


หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย คือ “แรงงานต่าวด้าว” หรือ “แรงงานข้ามชาติ” เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งจำนวนยังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำที่อยู่ในสายงานก่อสร้าง ค้าขาย และภาคบริการ ตั้งแต่คนงานก่อสร้าง แม่บ้าน พนักงานเสิร์ฟ ขายของ รวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้แรงงานเวียดนามถือเป็นส่วนน้อยกว่าชาติอื่นๆ

จากข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2547 ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นงานที่คนไทยไม่ค่อยนิยมทำ ได้แก่ แรงงานหนัก กลุ่มงานที่ต้องพบกับความสกปรก กลุ่มงานที่มีความเสี่ยง ตลอดจนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มักจะใช้แรงงานต่างด้าวแทบทั้งหมด

ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 3,289,536 คน แบ่งเป็นเพศชาย 1,859,827 คน และเพศหญิง 1,429,709 คน

ส่วนข้อมูล ณ เดือนธันวาคมย้อนหลัง 15 ปี ดังนี้ ปี 2566 3,310,090 คน ปี 2565 2,352,062 คน ปี 2564 2,181,344 คน ปี 2563 3,002,817 คน ปี 2562 3,288,079 คน ปี 2561 2,149,328 คน ปี 2560 1,470,325 คน ปี 2559 1,451,817 คน ปี 2558 1,355,258 คน ปี 2557 1,444,747 คน ปี 2556 1,062,852 คน ปี 2555 1,972,504 คน ปี 2554 1,345,728 คน และปี 2553 1,525,975 คน

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างด้าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีคือ ‘ค่าแรง’ เนื่องจากประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศกลุ่มที่สอง เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม จัดอยู่ในประเทศกลุ่มที่ 3 ซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่น้อยกว่าประเทศไทย

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน จำแนกประเภทแรงงานต่างด้าวไว้ 7 ประเภท ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับ 2) พ.ศ. 2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. คนต่างด้าวตลอดชีพ คือคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
  2. คนต่างด้าวทั่วไป ตามมาตรา 59 ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มิใช่ได้รับอนุญาตในฐานะนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน
  3. คนต่างด้าว ประเภทนำเข้าตาม MOU ตามมาตรา 59 ซึ่งรัฐบาลไทยจะทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ตลอดจนรัฐบาลประเทศคู่ภาคี
  4. คนต่างด้าว ประเภทส่งเสริมการลงทุน จากกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520, พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ฯลฯ โดยอาชีพส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับนักลงทุน ช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการ
  5. คนต่างด้าว ประเภทชนกลุ่มน้อย คือคนต่างด้าวที่อยู่ในกระบวนการพิสูจน์สถานะยื่นขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงมหาดไทย
  6. คนต่างด้าว ตามมาตรา 64 คือ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ ในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน
  7. คนต่างด้าว ตามมาตรา 63/2 คือ คนต่างด้าวกลุ่มประเทศ CLMV ที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราว ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 และมติ ครม. วันที่ 3 ตุลาคม 2566

จำนวนแรงงานแต่ละประเภท (เดือนกุมภาพันธ์ 2567) ดังนี้

  • แรงงานกลุ่มมีทักษะ 178,725 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 52,965 คน และกลุ่มทั่วไป 125,760 คน
  • ชนกลุ่มน้อย 89,663 คน
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานแบบไป-กลับ ตามฤดูกาล 21,601 คน แบ่งเป็น กัมพูชา 19,092 คน และเมียนมาร์ 2,509 คน
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานตาม MOU 565,071 คน แบ่งเป็น กัมพูชา 147,240 คน เมียนมาร์ 262,213 คน และลาว 155,618 คน
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติ ครม. วันที่ 7 ก.พ.2566 จำนวน 1,620,602 คน แบ่งเป็น กัมพูชา 190,089 คน เมียนมาร์ 1,364,828 คน ลาว 64,761 คน และเวียดนาม 924 คน
  • แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติ ครม. วันที่ 3 ต.ค.2566 จำนวน 813,869 คน แบ่งเป็น กัมพูชา 103,442 คน เมียนมาร์ 676,515 คน ลาว 31,170 คน และเวียดนาม 2,742 คน

เห็นได้ว่าแรงงาน 4 ประเภทหลังเน้นไปที่แรงงานกลุ่ม CLMV ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขแล้วจะมีจำนวนแรงงาน CLMV ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน แต่ทั้งนี้ ตามการแบ่งประเภทข้อมูล แรงงาน 1 คนสามารถอยู่ได้มากกว่า 1 ประเภท ทำให้ยังไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริงของแรงงานกลุ่ม CLMV ขณะเดียวกันสันนิษฐานได้ว่า แรงงานกลุ่มนี้มีจำนวนเกินครึ่งของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวบางกลุ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ สังเกตได้จากการไม่มีใบอนุญาตทำงานและการเข้าประเทศผ่านทางชายแดนและอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้แรงงานแบบผิดกฎหมายเลือกที่จะประกอบอาชีพจำพวกค้าขาย และกลุ่มที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ขณะเดียวกัน นายจ้างก็จะใช้วิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายวัน และไม่มีสวัสดิการต่อแรงงานกลุ่มนี้

ด้านการทำงานในแต่ละภูมิภาค จากแรงงานทั้งหมด 3,289,536 คน แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 774,587 คน ปริมณฑล 948,487 คน ภาคกลาง 755,645 คน ภาคเหนือ 299,852 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 69,329 คน และภาคใต้ 441,636 คน

ขณะที่อุตสาหกรรมของแรงงานต่างด้าว 3 ลำดับแรกของแต่ละประเทศ มีรายละเอียด ดังนี้

(1) แรงงานจีน อยู่ในอุตสาหกรรม ‘การผลิต’ มากที่สุด ตามด้วย ‘ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์-จักรยานยนต์’ และ ‘การศึกษา’ (2) แรงงานฟิลิปปินส์ อยู่ในอุตสาหกรรม ‘การศึกษา’ มากที่สุด ตามด้วย ‘บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ’ และ ‘โรงแรมและภัตตาคาร’ (3) แรงงานอินเดีย อยู่ในอุตสาหกรรม ‘ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์-จักรยานยนต์’ มากที่สุด ตามด้วย ‘การผลิต’ และ ‘โรงแรมและภัตตาคาร’ (4) แรงงานไต้หวัน อยู่ในอุตสาหกรรม ‘การผลิต’ มากที่สุด ตามด้วย ‘’ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์-จักรยานยนต์’ และ ‘บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ’ (5) แรงงานญี่ปุ่น อยู่ในอุตสาหกรรม ‘การผลิต’ มากที่สุด ตามด้วย ‘บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ’ และ ‘ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์-จักรยานยนต์’

(6) แรงงานเกาหลีใต้ อยู่ในอุตสาหกรรม ‘การผลิต’ มากที่สุด ตามด้วย ‘บริการชุมชน สังคมและบริการส่วนบุคคลอื่นๆ’ และ ‘ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์-จักรยานยนต์’ (7) แรงงานฝรั่งเศส อยู่ในอุตสาหกรรม ‘บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ’ มากที่สุด ตามด้วย ‘โรงแรมและภัตตาคาร’ และ ‘การศึกษา’ (8) แรงงานอังกฤษ อยู่ในอุตสาหกรรม ‘การศึกษา’ มากที่สุด ตามด้วย ‘บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ’ และ ‘โรงแรมและภัตตาคาร’ (9) แรงงานอเมริกัน อยู่ในอุตสาหกรรม ‘การศึกษา’ มากที่สุด ตามด้วย ตามด้วย ‘บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ’ และ ‘บริการชุมชน สังคมและบริการส่วนบุคคลอื่นๆ’ และ (10) แรงงานรัสเซีย อยู่ในอุตสาหกรรม ‘บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ’ มากที่สุด ตามด้วย ‘การศึกษา’ และ ‘โรงแรมและภัตตาคาร’

ส่วนแรงงานกลุ่มประเทศ CLMV แบ่งเป็น เมียนมาร์ 1,198,920 คน กัมพูชา 435,991 คน ลาว 225,976 คน และเวียดนาม 9 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ 7 ประเภท ได้แก่ ก่อสร้าง บริการทั่วไป เกษตรและปศุสัตว์ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม กิจการต่อเนื่องการเกษตร ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป และประมง

ทั้งนี้อุตสาหกรรของแรงงานต่างด้าว กลุ่ม CLMV 5 ลำดับแรก มีรายละเอียด ดังนี้

  1. กัมพูชา อยู่ในอุตสาหกรรม ‘ก่อสร้าง’ มากที่สุด ตามด้วย กิจการต่อเนื่องการเกษตร บริการทั่วไป เกษตรและปศุสัตว์ และผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
  2. ลาว อยู่ในอุตสาหกรรม ‘ผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม’ มากที่สุด ตามด้วย บริการทั่วไป เกษตรและปศุสัตว์ งานบ้าน และกิจการต่อเนื่องการเกษตร
  3. เมียนมาร์ อยู่ในอุตสาหกรรม ‘ก่อสร้าง’ มากที่สุด ตามด้วย กิจการต่อเนื่องการเกษตร กิจการต่อเนื่องปศุสัตว์ ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการทั่วไป
  4. เวียดนาม อยู่ในอุตสาหกรรม ‘ผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม’ มากที่สุด ตามด้วย ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป กิจการค้าส่ง ค้าปลีก แผงลอยในตลาด งานบ้าน และบริการทั่วไป