ThaiPublica > คอลัมน์ > สร้างสวรรค์นักท่องเที่ยว มีราคาต้องจ่าย

สร้างสวรรค์นักท่องเที่ยว มีราคาต้องจ่าย

6 เมษายน 2024


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

รัฐบาลเศรษฐาขับเคลื่อนมาตรการหนุนภาคท่องเที่ยวแบบสุดตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วโดยมีเป้าหมายใหญ่ นำไทยขึ้นเป็นฮับบันเทิงแห่งเอเชีย (Entertainment Hub of Asia ) นับจากทยอยเปิดฟรีวีซ่าชั่วคราว ให้นักท่องเที่ยว จีน คาซัคสถาน รัสเซีย อินเดีย และไต้หวัน ตามด้วยการขยายเวลาให้ให้ ผับ บาร์ เริ่มจาก 5 จังหวัด นำร่อง กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และ เกาสมุย(สุราษฎร์ธานี) รวมถึงสถานบริการในโรงแรม สามารถให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ได้ถึงตีสี่ ตั้งวันที่ 15 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา

ก่อนโหมต่อด้วย มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ของกระทรวงการคลัง ที่คณะรัฐมนตรี ( ครม.) เห็นชอบในการประชุมนัดแรกของปีเมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมา

มาตรการชุดนี้แบ่งออกเป็น 3 มาตรการย่อยคือ หนึ่ง การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว สอง ลดภาษีสรรพสามิตให้สถานบริการ 1 ปี และสาม ปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT refund for Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

มาตรการชุดแรก กระทรวงการคลังวางเป้าหมายไว้ 2 ส่วนๆ แรก ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว และยกระดับ อุตสาหกรรมสุราพื้นบ้าน ด้วยการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรสำหรับ สุราพื้นบ้าน ไวน์ และสถานบริการ โดยในส่วนของ ไวน์มีการปรับภาษีนำเข้า ภาษีศุลกากรเพิ่มเติมอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ..ปรับปรุงอัตราภาษีสุราแช่พื้นบ้าน ( อุกระแช่สาโทสุราแช่พื้นบ้านอื่นและสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน7ดีกรี ) กำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ( ลดลงจากอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ )

ในส่วนของ ไวน์ และไวน์ผลไม้ ปรับปรุงอัตราภาษี ด้วยการยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา ( Price Tier ) และกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว ( Unitary Rate ) ฯลฯ พร้อมกับปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากร โดยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ในประเภทพิกัด 22.04 ( ไวน์ที่ทำจากองุ่นสด และเกรปมัสต์ ) และ 22.05 ( เวอร์มุท และไวน์ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืชหรือสารหอม ) รวม 21 รายการจากเดิมที่มีอัตราอากรร้อยละ 54 และ 60

มาตรการชุดสอง พร้อมๆกับการปรับปรุงภาษีเครื่องดื่มตามที่กล่าวข้างต้น กระทรวงการคลังยังเป็นห่วงสถานบริการบันเทิงยังไม่หายจากพิษ โควิด-19 สนิทดี จึงลดอัตราภาษีสถานบริการบันเทิงจากเดิมเก็บ 10 % ของรายรับโดยไม่หักค่าใช้จ่ายเป็น 5 % ให้นาน 1 ปี ( จบ 31 ธ.ค. 2567 )

มาตรการที่สาม คลังได้ปรับเพดานมูลค่าสินค้าที่ นักท่องเที่ยวต้องโชว์ด่านภาษี หรือ ขอคืนแวต ซึ่งมีรายละเอียดย่อยลงไปว่าวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร เดิมกำหนดไว้ 5,000 บาทเพิ่ม เป็น 20,000 บาท ส่วนของสรรพากรที่เดิมกำหนดว่า สินค้า 9 รายการคือ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่า 10,000 บาทขึ้นไปต้องโชว์เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และมูลค่าของหิ้วขึ้นเครื่องจากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50,000 บาท ปรับเป็น 100,000 บาท

การปรับปรุงมูลค่าสินค้าที่ต้องโชว์ด่านภาษีดังกล่าว กระทรวงการคลังคาดหวังว่าจะลดความแออัดของนักท่องเที่ยว เช่น การปรับเพิ่มเพดานมูลค่าสินค้าที่ต้องโชว์ ศุลกากร จะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 120,000 ายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 75 และ เป็นต้น โดยมาตรการดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ปีที่แล้ว

ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างแถลง (2 ม.ค.2567)ว่า ชุดมาตรการดังกล่าวจะหนุนให้ไทยเป็น ฮับท่องเที่ยวและกินดื่ม จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปีและ จีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073 เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า นายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะขยับเป้านักท่องเที่ยวปีนี้เป็น 40 ล้านคน เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 3 ล้านล้านบาท จากเดิมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) วางไว้ 35 ล้านคน ความคิดที่จะขยับเป้านักท่องเที่ยว นายกฯ คงเชื่อว่าชุดมาตรการดังกล่าวแรงพอที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2567 ให้เข้าไทยมากได้

แม้มีเสียงสรรเสริญ ชุดมาตรการหนุนท่องเที่ยวของรัฐบาล จากภาคท่องเที่ยวและธูรกิจน้ำเมาแต่มีหลายฝ่ายที่มองต่างมุม ไม่เห็นด้วยกับการสร้าง สวรรค์นักท่องเที่ยว ด้วยการหนุนการดริงก์ ทั้งขยายเวลาสถานบริการยามราตรีและการปรับปรุงภาษีน้ำเมาหลายประเภท ด้วยเหตุผลว่าน้ำเมานั้น เป็นสินค้าสารเสพติดซึ่งมีผลร้ายต่อสุขภาพ

หลังครม.เคาะมาตรการชุดดังกล่าว ..ธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ออกมาแถลงค้านมาตรการดังกล่าว โดยเขาตั้งประเด็นต่อมาตรการเปิดกว้างการดริงก์เพื่อหนุนท่องเที่ยวไว้ชุดหนึ่ง เช่น การลดภาษีไวน์ทำให้น้ำเมาตัวนี้เปลี่ยนจากของฟุ่มเฟือยเป็นสินค้าปกติ หรือนัยหนึ่งคือทำให้คนทั่วไปเข้าถึงง่ายขึ้น คนจะดื่มมากขึ้น

เขายังอ้างถึง องค์การอนามัยโลก ก็แนะนำว่ามาตรการขึ้นภาษีมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุม มีผลศึกษาพบว่า อัตราการลงทุนต่อการควบคุมแอลกอฮอล์ 1 ดอลลาร์ฯ จะได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ 8 ดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นไปตามหลักการ ลงทุนแก้ปัญหา จะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่จะปล่อยให้เกิดปัญหา ..

เสียงสะท้อนจากขั้วความคิดที่อยู่ตรงข้ามข้างต้น นายกฯเศรษฐา ควรรับฟังอย่างตั้งใจ และประเมินให้ถ้วนถี่ว่า การสร้างสวรรค์ให้นักท่องเที่ยว ผ่านมาตรการส่งเสริม การดริงก์ นั้น จะได้ คุ้ม เสีย หรือไม่ ? หากมองถึงผลลัพธ์ที่ไม่ถึงปราถนาที่จะตามมาจากปัญหาสุขภาพและอื่นๆ ของคนไทยจากมาตราการที่โน้มไปเฉียดจะแตะ ดื่มเสรีเพื่อท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาจากอาชญากรข้ามชาติที่เข้ามาก่อ คดีโหด ในประเทศถี่ขึ้น หลังไทยให้ฟรีวีซ่า กับหลาย ๆ ประเทศ