ThaiPublica > เกาะกระแส > ฟื้นวิถีชาวยะลา ชูอัตลักษณ์ซอฟต์พาวเวอร์ “ว่าวบูรงนิบง” สร้างเศรษฐกิจฐานรากเชื่อมสันติภาพรอบด้าน

ฟื้นวิถีชาวยะลา ชูอัตลักษณ์ซอฟต์พาวเวอร์ “ว่าวบูรงนิบง” สร้างเศรษฐกิจฐานรากเชื่อมสันติภาพรอบด้าน

29 เมษายน 2024


จากมหกรรม “ว่าวนานาชาติ” ครั้งแรกของจังหวัดยะลา สู่การชูอัตลักษณ์ “ว่าวบูรงนิบง” พลังซอฟต์เวอร์ที่สร้างทุนทางวัฒนธรรม สร้างรายได้ ของคนในพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดสันติภาพ นำพาสันติสุข จากความภาคภูมิใจของภูมิปัญญาท้องถิ่น

งานมหกรรม “ว่าวนานาชาติ” ของจังหวัดยะลา ที่พึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 เมษายน 2566

คำบอกเล่าที่ว่า “สันติภาพ นำพาสันติสุข” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดูจะไม่ไกลไปนัก เมื่อความสวยงามและการแข่งขันศิลปะว่าวนานาชาติในงานมหกรรม “ว่าวนานาชาติ” ของจังหวัดยะลา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สามารถดึงดูดนักเล่นว่าว จาก 6 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง นราธิวาส, ยะลา, ปัตตานี, สงขลา, สตูล, ตรัง และจากประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมแสดงรวมกว่า 1,400 ตัว

มหกรรมแข่งว่าวนานาชาติจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างสันติภาพที่กินได้เพื่อนำพาสันติสุขให้กับคนในพื้นที่ เนื่องจากเป้าหมายปลายทางของการแข่งขันมหกรรมว่าวนานาชาติ คือการสร้างศิลปะอัตลักษณ์ลายว่าว ที่สะท้อนวิถีวัฒนธรรม ความสงบ สันติสุข และเรียบง่าย ลบภาพจำความไม่สงบของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จนสามารถสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้

ผศ. ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา บอกว่าการจัดงานมหกรรมว่าวนานาชาติ ถือเป็นการจัดงานครั้งแรกของจังหวัดยะลา และเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม “ว่าวบูรงนิบง” สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือการฟื้นฟูการเล่นว่าวบูรงนิบง ที่เป็นฐานทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมของ “ว่าวบูรงนิบง”

การจัดงานมหกรรมว่าวนานาชาติ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหา “รากเหง้า” และอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อฟื้นวัฒนธรรมและสืบสานการเล่น “ว่าวบูรงนิบง” เพื่อต่อยอดให้เกิดพลังซอฟต์พาวเวอร์ ในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ได้

“ว่าวบูรงนิบง” วิถีชาวยะลา

เหตุในการฟื้นวัฒนธรรม การเล่น “ว่าว บูรงนิบง” ขึ้นเป็นเทศกาลวัฒนธรรมการแข่งขันว่าวนานาชาติ ของจังหวัดยะลา ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม บอกว่า “ว่าวบูรงนิบง” หรือ ว่าวเบอร์อามัส มีความเป็นมาและผูกพันกับวิถีชีวิตของคนยะลา โดยเป็นที่รู้จักในนามว่าวทองแห่งมลายูเพราะ ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน และบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนเชื้อสายมลายูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ว่าวบูรงนิบง” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สร้างความภาคภูมิใจของลูกหลานคนมลายู 3 จังหวัดชายแดนใต้ในการทำว่าว นำเรื่องเล่าที่สูญหายในพื้นที่ ตลอดจนกรรมวิธีการทำว่าว ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ นำไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากรากทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และส่งต่อสู่ลูกหลาน สืบสานศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้

ผศ.นูรีดา กล่าวด้วยว่า นอกจากการสืบสานวัฒนธรรมการทำว่าวที่กำลังจะสูญหายแล้ว ยังถือเป็นการค้นหา ลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของว่าวบูรงนิบงที่เป็นความแตกต่างของจังหวัดยะลา จนสามารถนำมาพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ เสื้อ กระเป๋า หรือของที่ระลึกที่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่ได้ หลังจากได้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดยะลา จะขอจดสิทธิบัตร และผลักดันเทศกาลว่าวนานาชาติ เป็นเทศกาลวัฒนธรรมประจำของจังหวัดยะลาเพื่อความยั่งยืน

ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม

จากประเพณีแห่ “นก” สู่ “ว่าวบูรงนิบง”

ผศ.นินุสรา มินทราศักดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับทุนวิจัยจาก บพท. ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นการวิจัย ในกลุ่มวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อพัฒนาทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ให้เกิดความภาคภูมิใจ สร้างเศรษฐกิจ ทำให้เกิดตลาดวัฒนธรรม สร้างมูลค่าใหม่ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้หมุนเวียนในท้องถิ่นได้

การทำวิจัยในปีแรก ทีมวิจัยได้เลือกถอดหมายทางวัฒนธรรมจาก “นก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นของจังหวัดยะลา ที่มีนกเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกมติ ทั้งเศรษฐกิจ ประเพณี ความเชื้อดั้งเดิมของคนจังหวัดยะลา เช่น ประเพณีแห่นก จัดขึ้นทุกปีที่จังหวัดยะลา

“การแห่นก” ถือเป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวไทยมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ได้สืบสานต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีนิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา โดยจัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาสเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเฉลิมฉลอง ในงานพิธีมงคล เช่น การเข้าสุหนัต หรือที่เรียกว่า “มาโซะยาวี”

“นก” ในแหลมมาลายู เป็นนกในจินตนาการ ไม่ใช่นกที่มีอยู่จริง ทำให้การออกแบบศิลปะที่เกี่ยวข้องกับ “นก” มีทั้งนกหัวเป็นสิงโต หรือนกที่มีรูปแบบแตกต่างออกไป เนื่องจากก่อนที่จะมีศาสนาอิสลาม มีการนับถือนกเป็นสมมติเทพ แต่พอมีการนับถือศาสนาอิสลามซึ่งไม่ได้นับถือสิ่งของทำให้ปรับเปลี่ยนความเชื่อไปเป็นประเพณีที่ตกทอดสืบต่อกันมา

ผศ.นินุสรา อธิบายต่อว่า ประเพณีแห่นกมีนัยการสื่อสารถึงความสามัคคี การเข้ามาร่วมกันจัดประเพณีของผู้คน ถือเป็นพื้นที่ทางสังคมที่รวมใจของประชาชนชาวยะลา ทำให้ทีมวิจัยเห็นว่าควรจะรักษาและสืบทอดไว้ จนนำไปสู่การสืบค้น ศึกษาวิจัย เพื่อให้ทราบประวัติ ไทม์ไลน์ของประเพณีต่อยอดมาสู่การจัดกิจกรรมที่มีการปฏิสัมพันธ์ของชุมชน ไทย-พุทธ ไทย-มุสลิม มาร่วมมือกัน แบบไม่ขัดต่อหลักศาสนา

ว่าวบูรงนิบง

การสืบสานวัฒนธรรม “ประเพณีนก” ในงานวิจัยปีแรก ทำให้เกิดตลาดวัฒนธรรมที่ชื่อ ตลาดบุรงมาร์เก็ต โดย “บุรง” แปลว่า “นก” ซึ่งตลาดดังกล่าวเกิดจากการประสานร่วมกับเทศบาลเมืองยะลา ซึ่งมีการจัดงานประจำปี “ยะลามาราธอน” ติดอันดับ 5 ของเทศกาลงานวิ่งมาราธอนที่นักวิ่งทุกคนรอคอยอยู่แล้ว ความร่วมมือในการสร้างตลาดบุรง ก็เพื่อดึงเอาคนภายนอกเข้ามาร่วมในตลาดวัฒนธรรมหรือตลาดบุรงมาร์เก็ต จนขณะนี้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ส่วนงานวิจัยในปีที่ 2 ผศ.นินุสรา บอกว่าทีมนักวิจัยมองหา ทุนวัฒนธรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับ “นก”ของจังหวัดยะลา จึงเห็นว่า “ว่าว” ที่อยู่บนท้องฟ้ามีความคล้ายคลึงกับนก “ว่าว” ดั้งเดิมของจังหวัดยะลามีต้นกำเนิดมาจากทางหัวเมืองรามัญ เรียกว่า “ว่าวเบอร์อามัส”

“ว่าวเบอร์อามัส” หรือที่รู้จักในนาม “ว่าวทองแห่งมลายู” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมายาวนาน เป็นเอกลักษณ์ของชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในอดีตจมีความเชื่อ ว่าพระราชาหรือกษัตริย์เท่านั้นที่จะสามารถเล่นว่าวชนิดนี้

แต่พอมีศาสนาอิสลามความเชื่อดังกล่าวเริ่มปรับและพัฒนาจากความเชื่อมาเป็นเรื่องของการละเล่นที่มีความหลากหลายในพื้นที่ นักวิจัยจึงเข้าไปสืบค้นข้อมูลที่สามารถโยงไปในเรื่องของวิถีประเพณี อื่นๆ จนทำให้พบว่า ว่าวก็มีความเป็นนกเช่นเดียวกัน บินเหมือนกัน

“งานวิจัยในปีที่สองจึงเชื่อมโยงจากงานวิจัยปีแรกแรกที่ต่อยอดความเป็น ‘นก’ มาสู่ ‘ว่าว’ ประจวบกับปราชญ์ต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งทำว่าว ที่เหลืออยู่น้อยทำให้เห็นว่าต้องกลับมาฟื้นภูมิปัญญาในการทำสามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ได้ ต่อยอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้”

ผศ.นินุสรา มินทราศักดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

“ว่าวเบอร์อามัส” สู่ “ว่าวบูรงนิบง” อัตลักษณ์ชาวยะลา

ความงดงามของว่าวเบอร์อามัสจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหา อัตลักษณ์และการสร้างลวดลยเฉพาะของว่าวบูรงนิบง ทีมวิจัยได้เริ่มรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และสร้างเครือข่ายในการออกแบบลวดลายว่าวที่เป็นของจังหวัดยะลา

“ตอนนี้เรามีเครือข่ายที่มีคนทำว่าว นักวิชาการ ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน นักออกแบบ นักผลิตของที่ระลึกในจังหวัดมาร่วมกันระดมความคิดเห็น จัดทำเวทีประชาคม เพื่อให้มาร่วมหาตัวตนความเป็นยะลา เป็นว่าวบุหรงนิบง เป็นนกของคนยะลาที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ”

แม้กระบวนการวิจัยโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมในปีที่ 2 จะเพิ่งเริ่มได้ 3 เดือนแรก โดยเริ่มจากการจัดงานมหกรรมว่าวนานาชาติก่อน เนื่องจากลมสำหรับการละเล่นว่าว มีเพียง 3 เดือนเท่านั้นก่อนเข้าฤดูฝน แต่ปลายทางของงานวิจัยชิ้นนี้คือว่าวบูรงนิบง ที่มีอัตลักษณ์และเป็นลิขสิทธิ์ของคนยะลา

“การสร้างลวดลายว่าวบูรงนิบงได้ดำเนินการมา 3 เดือนแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล รวบรวมเครือข่ายที่เป็นทั้ง บุคคล หน่วยงาน ชมรม สมาคม ที่มีองค์ความรู้ทั้งในเรื่องว่าวในเมืองยะลา การจัดงานมหกรรมการแข่งขันว่าวนานาชาติ จ.ยะลา เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในการสร้างการรับรู้เรื่อง ว่าวบูรงนิบง ขึ้นอย่างเป็นทางการด้วย”

ว่าวบูรงนิบง

ว่าวบูรงนิบง พลังซอฟต์พาวเวอร์คนยะลา

กระบวนการออกแบบลวดลายของว่าวบูรงนิบงจึงต้องใช้ความร่วมมือกับเครือข่ายของคนยะลา เพื่อสืบค้นองค์ความรู้ เพื่อให้ได้ลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของคนยะลาอย่างแท้จจริง

อาจารย์ศฤงคาร กิติวินิต อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นผู้ออกแบบลวดลายว่าวบูรงนิบงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาสร้างลวดลายเฉพาะ โดยเก็บข้อมูลจากทั้ง วัตถุ สิ่งของ พืชพันธุ์ ประเพณี คติความเชื่อ อาคาร บ้านเรือน ของชาวยะลา เพื่อนำมาประมวลมาเป็นแบบว่าวบูรงนิบง

“ลวดลายที่ออกแบบจะมาจาก องค์ความรู้ วิถีชีวิต บ้านเรือน และสัญลักษณ์ ทุนวัฒนธรรมเช่น กริชรามัญ ที่ด้ามจับแกะสลักเป็นนกตามความเชื่อดั้งเดิมโดยกริชยังมีลวดลายที่มีความหลากหลายที่สื่อถึงความเป็นยะลา นอกจากนี้ ได้รวบรวมลายจากพืชพันธุ์ลายพรรณพฤกษา ไม้เลื้อย ใบไม้ รวมไปถึงช่องลมของบ้านเรือนที่มีหลายแบบ ทั้งช่องลมลายเรขาคณิต ลายตัวอักษรมลายู ยาวี และลายไม้เลื้อย ดอกไม้ ทั้งหมดจะถูกนำมาประมวลเพื่อสร้างลายเฉพาะของยะลาขึ้นมา”

อาจารย์ศฤงคาร เชื่อว่าการออกแบบลวดลายของว่าวบูรงนิบง ถือเป็น พลังซอฟต์พาวเวอร์ของคนยะลาโดยจะต่อยอดจากลวดลายว่าวบูรงนิบงมาออกแบบของที่ระลึกต่างๆ อย่าง เสื้อ หมอน พวงกุญแจ ซึ่งส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้คนมีรายได้มากขึ้นจากการผลิตของเหล่านี้ โดยมีว่าวบูรงนิบงเปิดทางไปสู่การสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ

“ผมคิดว่างานวิจัยที่พวกเรากำลังทำคือซอฟต์พาวเวอร์ เราสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้ในแง่มุมต่างๆ โดยการทำว่าวบูรงนิบง หรือลวดลายบนว่าวให้เป็นที่รู้จักนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป แน่นอนว่าอาจต้องอาศัยคนที่มีพลัง หรือเป็นผู้นำไปสื่อสาร เช่น ลิซ่าแบล็กพิงก์ หรือมีนำเอาว่าวบูรงนิบงไปอยู่ในภาพยนตร์สักเรื่องของ GDH ซึ่งพวกเราคาดหวังว่าจะทำให้เกิดพลังเหล่านั้น หลังจากที่สามารถออกแบบลายเฉพาะของเราขึ้นมา”

อาจารย์ศฤงคาร กิติวินิต อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ว่าวบูรงนิบงกับแบรนด์เสื้อผ้า YABULAN

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีตัวอย่างการนำลายว่าว ไปออกแบบเสื้อผ้าของชาวจังหวัดยะลาจนประสบความสำเร็จ ในแบรนด์เสื้อผ้า YABULAN ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและลูกค้าชาวอาหรับ

อนุธิดา กาญจนานุชิต เจ้าของแบรนด์ YABULAN ซึ่งเป็นดีไซเนอร์คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมในเครือข่ายการออกแบบลายว่าวบูรงนิบง

อนุธิดาบอกว่าเธอเป็นชาวยะลาโดยกำเนิด และมีความชื่นชอบลวดลายว่าวบูรงนิบง โดยเห็นว่าที่ผ่านมา วัฒนธรรมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลายผ้ามีการนำไปออกแบบเสื้อผ้าอยู่แล้ว แต่ไม่มีการนำเอาลายว่าวมาออกแบบเป็นลายเสื้อผ้า จึงเริ่มศึกษาและนำมาออกแบบเป็นลายผ้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองที่ชื่อว่า YABULAN

“ได้ค้นหาลายว่าวจากยูทูบ และเห็นว่าสวยงามมาก คิดว่าสามารถนำมาต่อยอดเป็นลายผ้าได้ จึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ายังไม่ค่อยมีคนรู้จักว่าวชนิดนี้ ซึ่งว่าวเบอร์อามัสมีจุดเด่น คือ เป็นว่าวที่ใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นโครงว่าวมากที่สุด เป็นว่าวชั้นสูงที่มีเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่า และด้วยสีสันของตัวว่าวก็สวยมากมีความเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้วจึงนำมาต่อยอดในการออกแบบเครื่องแต่งกาย”

เธอบอกว่า นำข้อมูลและการออกแบบลายว่าว เป็นวิทยานิพนธ์ตามแนวคิดของ creative wear เพื่อออกแบบลายผ้า จนเป็นที่ยอมรับ ได้นำเสนอในนิตยสารเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ หรือ Young Designer ซึ่งออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ YABULAN โดยนำคำว่ายะลามาบวกกับคำว่าบุหลันที่แปลว่าพระจันทร์ เพื่อต้องการสื่อจังหวัดยะลาให้เป็นที่รับรู้ของคนภายนอก

“คนภายนอกอาจมองว่าว่ายะลา ดูยังมีความน่ากลัว ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังเกิดอยู่ แต่ที่ยะลาก็ยังมีความงาม มีแง่งาม มีแสงนวล มีแสงสว่างเปรียบเหมือนพระจันทร์ เป็นแสงแห่งความหวัง ที่รอทุกคนมาซึมซับความสวยงามนี้อยู่ จึงอยากสร้างแบรนด์ YABULAN เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความภาคภูมิใจกับศิลปินในจังหวัดยะลาเป็นที่รู้จักในมุมที่สวยงามของพวกเรา”

อนุธิดา กาญจนานุชิต เจ้าของแบรนด์ ‘YABULAN’…Young designer รุ่นใหม่

สืบสานการทำว่าวเบอร์อามัสต่อไป

ในมุมมองของปราชญ์ชาวบ้าน ที่สืบทอดการทำว่าวเบอร์อามัสจากบรรพบุรุษ และยังคงสืบทอดวิชาการทำว่าว ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ให้กับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเรียนรู้วิธีการทำว่าวโบราณ

“แวฮามิ วานิ” อายุ 70 ปี ปราชญ์ชาวบ้านประเภทเครื่องกระดาษ (ว่าวเบอร์อามัส) อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บอกว่า ชื่นชอบการทำว่าวมาตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 8 ขวบและเริ่มทำว่าตอนอายุ 14 ขวบ บอกว่า อยากให้วิชาการทำว่าวยังคงถูกสืบทอดต่อไปยังคนรุ่นใหม่ๆ จึงได้เปิดสอนกับคนทั่วไป ใครอยากเรียนสามารถมาเรียนรู้ได้ฟรี

“มีคนสนใจเรื่องการทำว่าวมา เรียนจำนวนมากพอ ซึ่งเปิดสอนฟรี ใครมาเรียนเพื่อนำไปละเล่น หรือทำเป็นอาชีพสามารถมาเรียนได้เพราะอยากจะให้วิชาการทำว่าวสืบทอดต่อไป”

แวฮามิบอกว่า ลวดลายในว่าวเบอร์อามัสจะเป็นลายสะท้อนให้เห็นถึงลายแบบมลายูโบราณ เช่น ลายใบพลู ลายใบสาเก ลายผักบุ้ง ลายดอกชบา โดยในสมัยโบราณ ว่าวเบอร์อามัสถือเป็นว่าวชั้นสูง ชนชั้นเจ้าเมืองเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เล่นว่าวชนิดนี้

“แวฮามิ วานิ “อายุ 70 ปี ปราชญ์ชาวบ้านประเภทเครื่องกระดาษ (ว่าวเบอร์อามัส)

ในอดีตนั้นการเล่นว่าวเบอร์อามัสถูกจัดขึ้นเป็นประเพณี หลังฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงยุค 7 หัวเมืองมลายู โดยมีเจ้าเมืองแต่ละหัวเมืองเป็นผู้ขึ้นว่าวเป็นคนแรก และก่อนที่เจ้าเมืองจะขึ้นว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า จะต้องทำพิธีปิด “ทอง” ที่หัวว่าวเสียก่อน ในภาษามลายูจึงเรียกชื่อว่าวชนิดนี้ว่า “ว่าวทองคำ”

การทำว่าวเบอร์อามัสมีความยากกกว่าการทำว่าวชนิดอื่น เพราะเป็นว่าวที่ต้องใช้ไม้ไผ่ที่ใช้ประกอบขึ้นมากถึง 27 ซี่ขึ้นไป หรือ อาจจะต้องใช้ถึง 30 ซี่ หากมีขนาดใหญ่ และในอดีตว่าวเบอร์อามัสจัดได้ว่าเป็นว่าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดการทำว่าว จึงใช้ไม้ไผ่จำนวนมากเพื่อให้รับน้ำหนักและมีความสมดุลในโครงสร้างว่าวภูมิปัญญาที่สะท้อนเอกลักษณ์

“หัวใจสำคัญของการทำว่าวเบอร์อามัส อยู่ที่การเหลาไม้ไผ่ การดัดไม้ไผ่ที่ต้องใช้ภูมิปัญญาหลักร้อนเย็น ใช้ไฟและน้ำ เพื่อช่วยดัดไม้ไผ่ให้ตรง ไม้ไผ่ที่ใช้ประกอบโครงว่าวนั้นต้องเหลาให้มีความสม่ำสมอกัน และมีน้ำหนักที่เท่ากันทั้ง 27 ซี่ โดยเฉพาะในส่วนกระดูกสันหลัง หรือแกนกลางของตัวว่าว ความยากอยู่ที่ต้องผูกโครงว่าวให้ถูกตามหลักโครงสร้างน้ำหนักและความสมดุลที่ต้องมีความเท่ากันทั้งหมดทั้ง ซ้าย ขวา และศูนย์กลาง หากน้ำหนักไม่เท่ากัน ว่าวก็จะไม่ขึ้น หรือขึ้นไปก็จะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งดูไม่มีความสง่างาม”

นอกจากนี้ ยังรวมถึงวิธีการการคัดเลือกไม้ไผ่ ที่มีความแก่จัดมีอายุได้ 4 ปีขึ้นไป รวมถึงต้องเป็นไผ่ต้นตัวเมีย เนื่องจากจะมีแก่นเนื้อไม้ไผ่ที่หนา อีกทั้งต้นไผ่ที่ใช้ทำว่าวยังต้องเลือกต้นที่มียอดไม่ขาด ถ้ายอดขาดไม่สามารถนำมาทำได้ เพราะต้องใช้ไม้ไผ่ลำเดียวกันมาทำส่วนประกอบบนว่าวเบอร์อามัส 1 ตัว

หลังจากที่ตัดไม้ไผ่ที่ได้ขนาดแล้วต้องนำไปตากแดดจัดทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ให้แห้ง ก่อนนำไปตากไว้ในที่ร่มประมาณ 1-2 เดือนให้แห้งสนิท จากนั้นจึงนำมาเหลาเพื่อทำว่าวได้

แวฮามิบอกว่า แม้ว่าวเบอร์อามัสจะไม่ได้เป็นที่นิยมหรือรับรู้ในวงกว้าง แต่ในกลุ่มเฉพาะที่นิยมเล่นว่าวยังคงมาสั่งทำว่าวจำนวนมาก โดยราคามีตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน จนสูงสุดตัวละหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลวดลายว่าว จึงอยากให้การทำว่าวยังคงสืบทอดต่อไปยังลูกหลาน

“ตอนนี้มีคนที่นิยมว่าวมาสั่งทำตลอด เช่น โรงแรมในแถบมาเลเซียที่อยากได้ว่าวไปประดับ ราคาก็ขึ้นอยู่กับความยากความง่ายของลาย แต่ตอนนี้ช่างทำว่าวเหลือไม่มากแล้ว จึงอยากให้มีการสืบทอดวิชาการทำว่าไม่ให้สูญหายไป”

ฟื้นทุนทางวัฒนธรรม สร้างคุณค่า เพิ่มมูลค่า สู่ความยั่งยืน

ขณะที่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิเพื่อการพัฒนาพื้นที่ บพท. กล่าวว่า โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นการฟื้นคุณค่า สร้างมูลค่า สร้างความยั่งยืน ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมฟื้นคุณค่าของทุนที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น จะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าของทุนทางวัฒนธรรมเกิดความภาคภูมิใจและสำนึกท้องถิ่น

การหนุนเสริมให้เกิดระบบการจัดการผ่านการสร้างพื้นที่ตลาดวัฒนธรรมและย่านวัฒนธรรม สามารถนำไปสู่การสร้างมูลค่าใหม่ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม” ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนนำไปบำรุงรักษาทุนเดิม ส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดทุนทางวัฒนธรรมไปยังคนรุ่นหลังต่อไป

“การใช้องค์ความรู้ในพื้นที่มาพัฒนาพื้นที่วิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เป็นกลุ่มของสถาบันความรู้และแพลตฟอร์มความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและสังเคราะห์ความรู้ของเครือข่ายวิจัย สถาบันและศูนย์วิจัยต่างๆ ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน เสริมสร้างโอกาสและความเป็นธรรมเพื่อประชาชนในพื้นที่”

การสร้างทุนทางวัฒนธรรมจึงเป็นการเชื่อมโยงกับสถาบันความรู้และเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม ตลอดจนสถาบันความรู้เฉพาะด้านต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับแผนงานวิจัยสำคัญที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพท. เพื่อยกระดับแนวคิด ทฤษฎี สร้างชุดความรู้ที่สามารถส่งออกสู่สากล รวมถึงการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ