ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีมติเอกฉันท์คุมการพัฒนา AI

สมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีมติเอกฉันท์คุมการพัฒนา AI

22 มีนาคม 2024


ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2024/03/1147831

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์รับรองร่างข้อมติฉบับแรกเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเสนอโดยสหรัฐฯ พร้อมด้วยประเทศสมาชิกมากกว่า 120 ประเทศ

เมื่อวันพฤหัสบดี(21 มี.ค. 2567)ที่ผ่านมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ( UN General Assembly)ได้มีมติสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence:AI) ที่ “ปลอดภัย มั่นคง และวางใจได้” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

ข้อความในร่างมติมีสหรัฐเป็นผู้นำ และมีประเทศอื่นลงนามร่วม ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสมาชิกอื่นๆ มากกว่า 120 ประเทศ

สมัชชาใหญ่สภายังเน้นย้ำถึงการเคารพ การคุ้มครอง และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการออกแบบ การพัฒนา การใช้งาน และการใช้ AI และตระหนักถึงศักยภาพของระบบ AI ในการเร่งและช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ

นับเป็นครั้งแรกที่สมัชชาได้มีมติเกี่ยวกับการควบคุมสาขาที่เกิดขึ้นใหม่ ตามการเปิดเผยจากเว็บไซต์ของสหประชาชาติ

มีรายงานว่าที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกากล่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่าการนำ AI มาใช้จะถือเป็น “ก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์” สำหรับการใช้ AI อย่างปลอดภัย

  • ต้องควบคุม AI
    ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาและผู้แทนถาวรของสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงโอกาสและความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศโดยกล่าวว่า “เราต้องควบคุมเทคโนโลยีนี้ แทนที่จะปล่อยให้เทคโนโลยีมาควบคุมเรา”

    “เราขอยืนยันอีกครั้งว่า การสร้าง และการใช้ AI ต้องให้ความสำคัญกับ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความปลอดภัยและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” โทมัส-กรีนฟิลด์กล่าว

    “ขอให้เรามุ่งมั่นที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลทั้งภายในและระหว่างประเทศ และใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆร่วมกัน”

  • สิทธิเดียวกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์
    สมัชชาฯเรียกร้องให้รัฐสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด “งดหรือยุติการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเกินสมควรต่อการใช้สิทธิมนุษยชน”

    “สิทธิ์แบบเดียวกันที่ผู้คนมีแบบออฟไลน์จะต้องได้รับการคุ้มครองทางออนไลน์ ไปตลอดวงจรชีวิตของระบบปัญญาประดิษฐ์” แถลงการณ์ยืนยัน

    สมัชชาฯ ยังเรียกร้องให้รัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรวิจัย และสื่อ พัฒนาและสนับสนุนกฎระเบียบและแนวทางการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ AI อย่างปลอดภัย มั่นคง และวางใจได้

  • ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
    สมัชชาฯยังได้ตระหนักถึง “ระดับที่แตกต่างกัน” ของการพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างประเทศและภายในประเทศ และประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับความท้าทายที่เป็นการเฉพาะของตนเองในการตามทันนวัตกรรมที่รวดเร็ว

    โดยเรียกร้องให้รัฐสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมมือและสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และมีความรู้ด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น

  • คาดหวังเป็นต้นแบบให้ภาคอื่นๆ
    ในการพูดคุยก่อนการรับร่างมติ ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ได้นำเสนอร่างข้อมติดังกล่าว โดยแสดงความหวังว่า “การหารือที่ครอบคลุมและสร้างสรรค์ซึ่งนำไปสู่การร่างมตินี้ จะเป็นต้นแบบสำหรับการหารือในอนาคตเกี่ยวกับความท้าทายด้าน AI ในเวทีอื่นๆ เช่น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและความมั่นคง และการใช้ AI ทางทหารอย่างมีความรับผิดชอบ”

    โทมัส-กรีนฟิลด์กล่าวว่า มติดังกล่าวจัดทำเพื่อขยายงานที่สหประชาชาติดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(International Telecommunication Union) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ( Human Rights Council)

    “เราตั้งใจที่จะส่งเสริมโครงการริเริ่มของสหประชาชาติในอนาคต รวมถึงการเจรจาเพื่อข้อตกลงดิจิทัลระดับโลก และการทำงานของหน่วยงานที่ปรึกษาระดับสูงของเลขาธิการด้านปัญญาประดิษฐ์” โทมัส-กรีนฟิลด์กล่าว