ThaiPublica > คนในข่าว > ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ ชู “ยุทธศาสตร์ดักหน้า” ทางรอดมหาวิทยาลัยไทยในโลกยุคใหม่

‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ ชู “ยุทธศาสตร์ดักหน้า” ทางรอดมหาวิทยาลัยไทยในโลกยุคใหม่

13 ธันวาคม 2023


ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ความรู้เกิดขึ้นใหม่มากมาย ประชากรเกิดน้อยลง เทคโนโลยี AI เข้ามาแทนที่การเรียนการสอนแบบเดิม แล้วมหาวิทยาลัยไทยจะปรับตัวอย่างไร ร่วมเปิดโลกทัศน์ใหม่กับยุทธศาสตร์ดักหน้า บทบาทมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่กับ ”ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และโลกกำลังถูกท้าทายด้วยปัญหาโลกร้อน และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งการรับมือด้วยความรู้แบบเดิมๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป มหาวิทยาลัยในฐานะผู้ผลิตความรู้จะมีบทบาทในการปรับตัวอย่างไร ในภาวะที่การเรียนรู้แบบเดิมอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งถือเป็นผู้มีบทบาทการทำหน้าที่นักวิชาการ ที่จุดประกายการขับเคลื่อนสังคมมาโดยตลอด และวันนี้ได้ให้มุมมองการปรับตัวของมหาวิทยาลัยกับการเรียนรู้แบบใหม่ ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“ผมเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยได้เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมา 10 กว่าปี เคยดูแลเรื่องกิจการนักศึกษา ดูแลเรื่องงานบริหารและดูแลเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธรรมศาสตร์ คำถามใหญ่คือ มหาวิทยาลัยไทยในขณะนี้มีการปรับตัวเพื่อรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่มาเร็วมากขนาดนี้ได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หากเทียบการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคเกษตรกรรมเมื่อประมาณ 11,000 ปีใช้เวลาเปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา โดยมนุษย์เป็นโฮโมเซเปียนมากกว่า 3 แสนปีก่อนเข้าสู่ยุคเกษตรกรรม และใช้เวลาอีก 10,000 ปีเพื่อเปลี่ยนผ่านจากยุคเกษตรกรรมมาสู่ยุคอุตสาหกรรม

หลังยุคอุตสาหกรรมมา มนุษย์ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อทศวรรษที่ 70 เมื่อคอมพิวเตอร์พีซีหรือ personal computer เครื่องแรกวางจำหน่าย การเปลี่ยนผ่านของโลกก็รวดเร็วมากขึ้น จากยุคอุตสาหกรรมมาสู่ยุคคอมพิวเตอร์ใช้เวลาห่างกันแค่ 100 กว่าปีไม่ถึง 200 ปี หลังยุคคอมพิวเตอร์เครื่องแรกการเปลี่ยนผ่านก็เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เขาสู่ยุคที่ 4 เกิดโซเซียลมีเดียและสมาร์ทโฟนใช้เวลาแค่ 30 ปีเท่านั้น

ความรู้เปลี่ยนแปลงเร็วมากโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคที่ 4 เมื่อไอโฟนเครื่องแรกวางขายในปี 2007 และขณะที่โลกกำลังเดินไปสู่ยุคที่ 5 คือ Artificial intelligence หรือ AI เรามี ChatGPT และ Open Chat ต่าง ชๆ ซึ่งความรู้หลายอย่าง AI ทำแทนเราได้

โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว มหาวิทยาลัยจะปรับอย่างไร?

อาจารย์ปริญญากล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกมาอย่างรวดเร็ว คำถามคือ มหาวิทยาลัยจะปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อองค์ความรู้ยุคใหม่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ เรียกว่า exponential หรือทวีคูณแบบเรขาคณิต ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ขณะที่ในอดีตกว่าจะผลิตตำราออกมาเพื่อสร้างการเรียนรู้ใช้เวลานาน

แต่ความรู้ในยุคโซเซียลมีเดีย เกิดขึ้นแบบไม่มีเส้นแบ่งระหว่างผู้สร้างข่าวสารข้อมูลกับผู้รับข่าวสาร โดยผู้ที่รับข่าวสารสามารถสร้างข้อมูลเองได้เอง ทำให้ข่าวสารข้อมูลเกิดขึ้นโดยทั่วไป และรับรู้กันอย่างรวดเร็วทั่วโลก

“ผมเลยบอกว่า พอเทคโนโลยีในการบันทึกข้อมูลด้วยการพิมพ์หนังสือมันช้าแล้ว พอมีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น ความรู้ก็ส่งไปทั่วโลกโดยผ่านโลกโซเซียลมีเดีย ทุกคนก็เป็นผู้ให้ข้อมูลได้หมด ตัวความรู้ก็เพิ่มขึ้นทวีคูณแล้วไปด้วยความรวดเร็ว ไปด้วยความเร็วแสง เมื่อกดโพสต์มันก็ปรากฏไปทั้งโลกเลย และนี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาของมหาวิทยาลัย”

อาจารย์ปริญญา เห็นว่าการใช้วิธีการแบบเดิมในการเรียนการสอนไม่ทันกับการเปลี่ยนไปของโลก จึงเป็นปัญหาสำคัญมาก การเรียนการสอนแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป โดยเห็นว่าต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็น แบบ active learning เนื่องจากการเรียนการการสอนแบบเลกเชอร์ได้ล้าสมัยไปอย่างสิ้นเชิง ในยุคนี้ artificial intelligence หรือยุคปัญญาประดิษฐ์ ต้องฝึกไปเข้าหาความรู้ให้เป็นด้วย

“ตอนที่ผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาก็ได้ขออธิการบดีขณะนั้นว่า ขอเป็นฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ เพราะรู้ว่าต้องเปลี่ยนการเรียนรู้เป็น active learning ต้องฝึกนักศึกษาหาความรู้ เพื่อให้ทันกับความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะตำรากับความรู้ของอาจารย์ไม่อัปเดต เราต้องฝึกให้นักศึกษาหาข้อมูล และต้องฝึกการนำมาใช้ เพราะแค่ฝึกไปเข้าหาความรู้ไม่พอแล้วในโลกยุคนี้”

การออกแบบการเรียนรู้ที่ผ่านมาคาดหวังว่านักศึกษาจะมีความรู้ แล้วพอเรียนจบสามารถนำเอาความรู้เหล่านั้นไปใช้ในวิชาชีพต่างๆ ในสังคมต่อไปจึงออกแบบหลักสูตร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ดังกล่าว เช่น คณะนิติศาสตร์ เรียน 4 ปี โดยกำหนดสิ่งที่ต้องเรียนรู้ผ่านหลักสูตร และออกแบบการเรียนเป็นหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียนเพื่อให้ครบหลักสูตร

“เดิมเราออกแบบการเรียนไว้ตามหลักสูตร เช่น เรียนสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงก็ 3 หน่วยกิต ความรู้น้อยหน่อยก็สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ซึ่งหน่วยกิตคือจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ แล้ววิธีการถ่ายทอดความรู้โบราณสุดคือพูดให้ฟัง บรรยายให้ฟัง นี่คือวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งมันใช้ได้ดีพอสมควรในยุคเกษตรกรรมและยุคอุตสาหกรรม แต่พอมาเป็นยุคนี้ การเรียนแบบนั้นต้องเปลี่ยนมาเป็น active learning ต้องฝึกหาความรู้ แล้วใช้ความรู้เป็น”

อาจารย์ปริญญาบอกว่า การใช้ความรู้คืออะไร ต้องฝึกการคิด วิเคราะห์ ต้องนึก การใช้ความรู้คืออะไร มีโจทย์หรือปัญหาอยู่ข้างหน้า จะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องมีวิเคราะห์ แล้วนำความรู้มาใช้ ในการแก้ปัญหาข้างหน้า ซึ่งกลายเป็นว่าต้องฝึกตัวความคิด thinking ability กลายเป็นเป้าหมายแทน knowledge

“จากเดิมเราเชื่อว่า knowledge is power ความรู้คืออำนาจ แต่ตอนนี้มันคือ thinking ability แล้ว ความสามารถในการคิด เพราะถ้าคิดเป็นแล้วไม่รู้ ไปหาความรู้ได้ แต่ถ้ารู้แล้วไม่คิด เป็นปัญหาเลยครับ เพราะนึกว่ารู้แล้ว ทั้งๆ ที่โลกมันเปลี่ยนไปแล้วก็ยังยึดติดกับความรู้ตัวเดิม แล้วรู้แล้วเอาไปใช้ไม่เป็น ก็เป็นปัญหาเช่นกัน ดังนั้น คนที่บอกว่า knowledge is power เขามี thinking ability อยู่แล้ว เขาถึงใช้เป็นด้วย การบอกความรู้คืออำนาจ มันทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ารู้ก็พอ แต่ความจริงแล้วมีความรู้แล้วต้องคิดเป็นใช้เป็นด้วย”

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Active Learning สู่ Thinking Ability

“เปลี่ยนการเลกเชอร์ มาเป็นการฝึกคิด เพื่อให้เท่าทันกับโลก”

อาจารย์ปริญญาบอกว่า จะต้องเน้นการสร้าง thinking ability ให้กับตัวผู้เรียนโดยวิธีการสร้าง thinking ability ต้องไม่สอนความรู้แบบเดิม โดยต้องเริ่มจากการตั้งปัญหาแล้วให้ผู้เรียนไปหาความรู้มาแก้ไข หรือที่เรียกว่า problem based learning ซึ่งเปลี่ยนจาก lecture based learning หรือการสอนให้จำ

“ผมคิดว่าการเรียนแบบใหม่ต้องเอาปัญหามาตั้ง ยกตัวอย่างตอนนี้เวลาผมสอนกฎหมาย ผมใช้วิธีนี้และมักจะใช้บ่อยๆ คือ นาย ก กับ นาย ข เป็นเพื่อนบ้านทะเลาะกัน เพราะนาย ก ปลูกต้นมะม่วงไว้ริมรั้วที่ติดกับบ้านนาย ข แล้วมีกิ่งหนึ่งที่มันยื่นไปในบ้านของนาย ข แล้วมะม่วงที่กิ่งนั้นตกไปในบ้านของนาย ข มะม่วงลูกนี้จะเป็นของใคร นาย ก กับ นาย ข ทะเลาะกัน ให้นักศึกษาหาวิธีการแก้ปัญหาให้”

อาจารย์ปริญญามองว่าหากเป็นการเรียนการสอน แนว lecture based ต้องอธิบายมาตรา แล้วค่อยยกตัวอย่าง หลังจากนั้นไปสอบเพื่อวัดที่สอน แต่ถ้าเป็นการเรียนการสอน problem based ทำกลับหมดเลย เอาปัญหามาแล้วบอกมาต้องใช้มาตราอะไร โดยให้นักศึกษาไปหาความรู้เหล่านั้นมาตอบปัญหา

”วิธีนี้มีประโยชน์ คือ นักศึกษาจะฝึกในการหาความรู้ โดยใช้ตัวอย่างจริง แล้วเป็นความรู้ที่อัปเดตด้วย เพราะถ้าหากกฎหมายมันแก้แล้ว ข้อต่อมาคือตัวอย่างความรู้ที่เพิ่มทวีคูณมากขึ้น”

อาจารย์ปริญญาเปรียบเทียบวิธีการเรียนกฎหมายที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยในอดีตหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยมีกฎหมายหลักแค่ 4 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแค่เรียนรู้ให้ได้ทั้งหมด ก็สามารถไปประกอบวิชาชีพเป็นผู้พิพากษา ทนายความ หรืออัยการได้

แต่ปัจจุบัน มีกฎหมาย พ.ร.บ. มากกว่าพันฉบับ ขณะที่ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน หากการเรียนรู้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหรือใช้ความรู้ไม่เป็น จะทำให้ตามความรู้ที่เกิดขึ้นไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

“ใช้ความรู้ให้เป็น เพราะตอนนี้ พ.ร.บ. กำลังจะขึ้นเว็บไซต์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นอันตรายมากถ้าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และที่ชัดเจนที่สุดคือการเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ประเทศไทยมี 20 ฉบับแล้ว ผมเป็นอาจารย์ตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ประกาศใช้แล้วก็ถูกฉีก แล้วก็มีฉบับชั่วคราวปี 2549 และมีฉบับ 2550 แล้วต่อมาก็มีฉบับ 2557 แล้วปัจจุบันก็เป็นฉบับ 2560 ก่อนหน้า 2560 รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปทั้งหมดแล้ว”

อาจารย์ปริญญาถามว่า การเรียนวิชารัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมาเป็นการสูญเปล่าหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทยถูกยกเลิกไปหมดแล้ว ถ้าเราสอนวิธีการหาความรู้ การเรียนมาตราในรัฐธรรมนูญไม่สูญเปล่า เนื่องจากนักศึกษาจะได้ทักษะในการเปิดรัฐธรรมนูญ เข้าใจหลักการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอนาคตข้างหน้าหรือฉบับปี 2560 ที่ได้จะได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถเปิดหารัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น สวีเดน ได้ทั้งหมดหากเข้าใจหลักการวิธิคิด ซึ่งมหาวิทยาลัยสร้างกระบวนการเรียนเหล่านี้ นี่คือ thinking ability และเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาจะรู้ในวิชาชีพเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

AI เป็นภัยคุกคามมหาวิทยาลัย หรือโอกาสการเรียนรู้

หากลองมาทบทวนบทบาทของมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้มีเรื่องท้าทายเพียงการเรียนการสอนแบบใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ยังถือเป็นภัยคุกคามหรือไม่ เนื่องจากในโลกยุคปัจจุบัน AI เข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในหลายบทบาท

อาจารย์ปริญญามองประเด็นดังกล่าวว่า AI อาจจะดูคุกคามมนุษย์ แต่ AI มาพร้อมกับโอกาส จะบอกว่าเป็นภัยคุกคามก็ได้ เป็นโอกาสก็ได้ อยู่ที่ทัศนคติและวิธีการมอง

“หากมองว่าเป็นภัยคุกคามก็ได้นะครับ โดยเฉพาะโลกของวงการศึกษามีความเห็นแตกเป็นสองข้าง ข้างหนึ่งมองเป็นภัยคุกคาม คุกคามสิครับ ไม่คุกคามได้อย่างไร ในเมื่ออาจารย์ให้นักศึกษาไปทำการบ้านมา นักศึกษาในอเมริกาหลายๆ มหาวิทยาลัยให้ ChatGPT เขียนให้ ให้ AI เขียนให้ หรือว่าการให้ทำรายการก็ให้ AI ทำแทนได้ ผมถามว่าทำไมโลกยังต้องการมหาวิทยาลัยอยู่ในเมื่อ AI ทำได้หมดแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ผมถามว่านักกฎหมายใช้เวลา 4 ปีสร้างการเรียนรู้กฎหมาย แต่เราสอนกฎหมายได้ 10 กว่าฉบับเองขณะที่มี พ.ร.บ. ตั้ง 1,000 ฉบับแล้วก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจะมีกฎหมายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง AI สามารถอัปเดตแทนเราได้หมด”

อาจารย์ปริญญามองว่า หากนักกฎหมายคณะนิติศาสตร์ไม่ปรับตัว AI จะกลายเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริง ยกตัวอย่าง กรณีประเทศจีนใช้ AI เป็นผู้พิพากษาในคดีแพ่งง่ายๆ ซึ่ง AI ทำได้มากกว่า ประสิทธิภาพก็สูงกว่า ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยยังไม่ยอมรับจุดนี้ เมื่อไม่ยอมรับก็บอกเอไอเป็นภัยคุกคาม และเมื่อมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ก็จะมีคนถามว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยไปทำไม เมื่อโลกยุคใหม่ไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะโลกแห่งแรงงานภาคอุตสาหกรรมธุรกิจต่างๆ มีศาสตร์สาขาเฉพาะทางที่สามารถมุ่งสร้างไปคนให้ตอบโจทย์ได้ และความรู้เชื่อมโยงกันหมด

“โลกปัจจุบันมีความรู้อย่างเดียวไม่ได้เลย เป็นหมออย่างเดียวไม่ได้ อันนี้คือข้อสำคัญ เราก็พูดกันนั้นแหละว่าต้องมี multidisciplinary ต่างๆ คือต้องเป็นสหวิทยาการกัน แต่ประเด็นคือว่า ในทางหนึ่งเราบอกเป็นภัยคุกคาม แต่ว่าถ้าเราเข้าใจ AI จะมองว่าเป็นตัวช่วย และข้อสำคัญคือมันเป็นสิ่งที่เราไปบอกมันว่าให้เลิกไม่ได้ มันมาแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากมัน ผมมองเป็นแบบหลัง มองเป็นเรื่องโอกาส”

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

AI ไม่มีหัวใจ เห็นอกเห็นใจไม่ได้

การเข้ามาของ AI จึงไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นโอกาส โดย อาจารย์ปริญญามองว่า สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยยังมีความจำเป็นต่อโลกใบนี้ คือสิ่งที่ มนุษย์ทำได้แต่ AI ทำไม่ได้ เนื่องจาก AI คือปัญญาประดิษฐ์ เรียกว่าอัลกอริทึม คือการใส่โปรแกรมเข้าไป มันคือการโปรแกรมโดยสถานการณ์แล้วหาวิธีการแก้สถานการณ์โดยละเอียดที่สุดจนกระทั่งดูเหมือนมีสติปัญญา แต่ที่จริงแล้วทุกอย่างคือโปรแกรมที่กำหนดโดยมนุษย์ แต่มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้มากกว่านั้น นั่นคือสิ่งที่มนุษย์เหนือกว่า AI และคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องสร้างคนเหล่านั้นขึ้นมา เพื่อใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ และเป็นโอกาสของการเรียนรู้

สิ่งมหาวิทยาลัยยังคงความต้องการมากกว่า AI ในยุคปัจจุบันคือ ความมีหัวใจ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ความรู้สึก รู้ร้อน รู้หนาว รู้เจ็บปวด มีความสุข ความทุกข์ คือความรู้สึกของการมีชีวิต แต่โปรแกรมของ AI ไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้

“มีแต่มนุษย์เท่านั้นนะครับ มีแต่ human being เท่านั้นที่มีความรู้สึกในความทุกข์ร้อนของคนอื่น สิ่งมีชีวิตอื่นไม่คิดถึงความทุกข์ร้อนของคนอื่น ถ้าจะมีคือพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูง มีบ้าง แต่ว่าทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวมันนะ เพราะมันอยู่กับคน เรียนรู้พฤติกรรมคน นี้คือสิ่งที่ต้องสร้าง คือสร้างทั้ง sympathy กับ empathy คือความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม มันจะมีคนเห็นแก่ตัวไม่ได้ มันต้องมีความช่วยซึ่งกันและกัน และนี้คือคุณค่าที่มหาวิทยาลัยต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ครับ”

ยุทธศาสตร์ดักหน้า ทางรอดมหาวิทยาลัยไทย

อาจารย์ปริญญาเห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนเป้าหมาย จากเดิมสร้างนักศึกษาผู้มีความรู้ ต้องเปลี่ยนเป็นผู้ที่มีสติปัญญา คือมีความคิด แล้วก็มีทักษะในการใช้ AI ให้เป็นผู้ช่วยในการสร้างการเรียนรู้

“มหาวิทยาลัยต้องเข้าใจว่า ในสังคมอันซับซ้อน เราต้องการคนที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราอยู่ในยุคสมัยที่มีเรื่องใหญ่ๆ 2 เรื่องเรื่องแรกคือ climate change ซึ่งมาจาก global warming จากโลกร้อน climate change คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรื่องที่สอง คือ การพัฒนาให้กลายเป็น sustainable development หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

อาจารย์ปริญญาเห็นว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยอาจต้องรวมถึงการเปลี่ยนแปลงนิยามของ GDP คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติวัดจากอะไร วัดจากเงิน เงินคืออะไร เมื่อมีการซื้อการขายการบริโภคก็จะเกิด GDP ดังนั้น เมื่อบริโภคมาก ยิ่งซื้อมาก ยิ่งขายมาก ยิ่งผลิตมาก GDP ยิ่งขึ้น ถ้าเราทำอย่างนี้ต่อไปได้โลกเราผลิตสินค้ามากเกินไปแล้ว แล้วทรัพยากรก็หมดไป โลกร้อนขึ้นเพราะการผลิตสินค้ามากเกินไป จึงต้องเปลี่ยนไป ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนจาก GDP ด้วยวิธีวัดใหม่ที่สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

“ถามว่าใครจะทำ ถ้าไม่ใช่มหาวิทยาลัย คณะสถาปัตย์ก็ออกแบบบ้านแบบยั่งยืน ใช้วัสดุธรรมชาติให้มากขึ้น วิศวะ แพทย์ ก็เป็นแพทย์ในเชิงป้องกันมากขึ้น แพทย์ของเราเน้นให้รักษา ขณะที่คณะเศรษฐศาสตร์เป็นตัวอย่างสำคัญ เศรษฐศาสตร์แบบที่เรียกว่ายั่งยืนคืออะไรครับ ต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดเศรษฐกิจ”

ส่วนประเด็นที่สอง คือ เรื่องของประชากรโลกจะยังเพิ่มขึ้น แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตราการเกิดลดลงทุกประเทศ เด็กเกิดใหม่น้อยคนตาย ประเทศไทยเมื่อ ปี 2564 มีคนเกิด 540,000 คน แต่มีคนตาย 560,000 คน เราจะ aging society aging คือคนแก่ เรากลายเป็น aged society คือประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้น

ขณะที่ในปี 2565 อัตราการตายเพิ่มขึ้น จาก 560,000 เป็น 590,000 คน ส่วนคนเกิดก็ลดลงจาก 540,000 คนเหลือแค่ 500,000 ความต่างเป็น 90,000 คนแล้ว จากเดิมประเทศไทยคนเกิดปีละล้านคน ตอนนี้เหลือแค่ครึ่งเดียว

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แล้วมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไร อาจารย์ปริญญามองว่า มหาวิทยาลัยไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์ดักหน้า เพราะการไปตามหลังเขามันไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยวิธีการดักหน้าคือรู้ว่าเขาไปไหนกันแล้วไปดักข้างหน้าเลย หรือโลกมันเปลี่ยนแปลงไปทางใด ต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับเมือ เช่น โลกกำลังเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ ต้องปรับการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ส่วนประเด็นที่สอง คือ climate change เป็นเรื่องของมนุษยชาติ ต้องหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร มหาวิทยาลัยต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อทำให้เกิดแนวทางในการหยุดโลกร้อนได้อย่างไร

“การศึกษาก็ต้องใช้ปัญหามานำหน้าถ้าจะให้มีทักษะมาใช้ในการแก้ปัญหา แล้วสาม เมื่อประชากรเป็นแบบนี้แล้ว เด็กเกิดน้อยลง สุดท้ายโรงเรียนก็ต้องก่อนมาถึงมหาวิทยาลัย ตัวเลขขนาดนี้นะ ที่เรียนในมหาวิทยาลัยมีเกือบ 5 แสนที่ในปัจจุบัน แต่ว่าเด็กจบ ม.ปลายที่จะมาเรียนมหาวิทยาลัยมีแค่ประมาณ 2 แสนกว่าเอง เรามีที่เรียนเกินเด็ก ม.ปลายไปเท่าตัวแล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไร”

อาจารย์ปริญญามองว่า “วิธีแก้ก็คือต้องไปดักหน้า เมื่อเด็กเกิดน้อยลงทำอย่างไร แล้วคู่แข่งของเราคือมหาวิทยาลัยต่างประเทศชั้นนำ แก้อย่างไรครับ ต้องเปลี่ยนมหาวิทยาลัยใหม่ให้ไม่แพ้มหาวิทยาลัยชั้นนำด้วยการไปดักหน้า มัวตามหลังเขาอยู่ ตามเขาไม่ทัน เขาทิ้งห่างมากเหลือเกิน ตามเส้นทางที่เขาวิ่งไป มันก็ตามไม่ทัน เราก็ไปดักหน้าสิ ลัดไปเลย ถ้าไปตามหลังเขาไม่ทันก็ไปดักหน้า นี่คือแนวคิดที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว”

นอกจากนี้ อาจารย์ปริญญาบอกว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไปไม่ใช่รับแค่ นักเรียน ม.ปลายมาเรียนเพื่อให้ความรู้ปริญญาตรีไปประกอบอาชีพ แต่อาจต้องปรับตัวประชากรที่สูงวัยและต้องการเรียนรู้ มากขึ้น

“มหาวิทยาลัยต้องปรับให้คนสูงวัยมาเรียนมหาวิทยาลัย ผมอยากจะรู้กฎหมายบ้าง ผมอาจจะประกอบอาชีพเมื่อพ้นวัย 60 เป็นทนายความได้ต้องเปิดให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมหาวิทยาลัยต้องเป็นโอกาสในการเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งของคนสูงวัย คือต้องเปลี่ยนตรงนี้ มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง”

อาจารย์ปริญญาเรียกยุทธศาสตร์การดักหน้า ถ้าดักหน้าเขา เราจะแซงหน้าเขา ถ้าทำเป็น โดยใช้หลักทำน้อยได้มาก ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำนะครับ หนึ่งคือต้องไปดักหน้า สองคือเอาโจทย์ของประชาชน โจทย์ของประเทศ โจทย์ปัญหาของโลก มนุษยชาติมาเป็นตัวตั้ง ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาและเท่าทันโลก

อย่างไรก็ตาม บทบาทที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ที่จะทำให้เท่ากันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ การสร้างพลเมืองที่รู้จักเห็นอกเห็นใจ และช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI หรือ เทคโนโลยีทำไม่ได้