ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > Bai Po Business Awards ความสำเร็จที่ SME สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นควบคู่สร้างความยั่งยืน

Bai Po Business Awards ความสำเร็จที่ SME สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นควบคู่สร้างความยั่งยืน

6 มีนาคม 2024


ไทยพาณิชย์ร่วมกับศศินทร์มอบรางวัลเชิดชูเอสเอ็มอีไทย 5 บริษัท คว้ารางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 19 โชว์วิสัยทัศน์ทำธุรกิจยั่งยืนสู่อนาคต

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบรางวัลให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่สร้างความแตกต่างทางธุรกิจได้อย่างโดดเด่นและสามารถพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ด้วยพลังผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืน โดยประกาศผลรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 19 ยกย่อง 5 ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพนำพาธุรกิจฝ่าฝันจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ 5 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด บริษัท โกไฟว์ จำกัด บริษัท ชู โกลบอล จำกัด บริษัท ลายวิจิตร จำกัด และบริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด โดยมี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัล

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงหลังวิกฤติการณ์โควิด 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลและบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรให้บุคลากรมีความตื่นตัวที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบเดิมให้มีความคล่องตัว ทันต่อเทคโนโลยี ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และทันต่อคู่แข่งจากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ซึ่งครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งนับเป็นหัวใจในการทำธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญและพร้อมเป็นที่ปรึกษาธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและช่วยพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่าเอสเอ็มอีเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้จักและเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงดังวิสัยทัศน์ของธนาคารในการเป็น Digital Bank with Human Touch ที่รู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล รู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก นอกเหนือจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว ธนาคารมองว่าการเสริมภูมิองค์ความรู้ที่จำเป็นก็เป็นอีกบทบาทที่ธนาคารให้ความสำคัญเพื่อติดปีกให้เอสเอ็มอีไปได้ไกลกว่าเดิม หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความผันผวน การพัฒนา Digital Platform ต่างๆ ก็จะช่วยตอบโจทย์ให้เอสเอ็มอีลดต้นทุน และมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยธนาคารเชื่อว่าพลังแห่งเทคโนโลยีจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างดี สำหรับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ธนาคารสนับสนุน ยกย่องเชิดชูเกียรติธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ประกอบการ รายอื่น ๆ

การตัดสินรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ในครั้งที่ 19 นี้ มีธุรกิจที่ได้รับรางวัล จำนวน 5 ราย ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ให้มีความกล้าที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยมีธุรกิจที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ดังนี้

1. บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

2. บริษัท โกไฟว์ จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

3. บริษัท ชู โกลบอล จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และ การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

4. บริษัท ลายวิจิตร จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) และ การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing)

5. บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลรวมครั้งนี้ด้วยแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 99 ราย และมีบริษัทที่ได้รับรางวัลเติบโตและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ไปแล้ว 15 บริษัท

ตัวแทนบริษัทที่ได้รับรางวัลทั้ง 5 รายได้แก่ นายรุ่งโรจน์ บุนฑารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด นางสาวสุวิสุทธ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด นายจุติพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกไฟว์ จำกัด นายพีระศิลป์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลายวิจิตร จำกัด และนางสาวกรกนก สว่างรวมโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชู โกลบอล จำกัด ได้ร่วมแบ่งปันความเห็นถึงการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการและการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ในช่วง Press Briefing ในหัวข้อ Building a Sustainable Business for Tomorrow

ปรับตัวคือทางรอดและยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ บุนฑารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด ให้ข้อมูลบริษัทว่า จุดเริ่มต้นจากธุรกิจโรงกลึง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจผ่านการรับฟังความต้องการของลูกค้า จึงขยายไลน์ธุรกิจมาผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกควบคู่ไปกับโลหะ โดยเป็นผู้ออกแบบ และผลิตบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียม และพลาสติกสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้มาตรฐานระดับสากล ทั้ง ISO 9001 และ IATF โดยพัฒนากระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย มีการนำแนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เข้ามาใช้ในโรงงาน จัดทำ Zero Bin อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Zero Waste รวมถึงมีผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเป็นทางเลือกให้ลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ คนใช้ ใส่ใจโลก

“เราเป็นบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรากลัวว่าเราจะถูกดิสรัปต์ จึงพัฒนามากขึ้นมีทั้งกระปุกครีมมีขวด หลอดโฟม ตั้งแต่ออกแบบ ขึ้นรูปจนถึงบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป เมื่อ 20 ปีที่แล้วงานโลหะบูม แต่ผ่านมาระยะหนึ่งพลาสติกก็เข้ามาแทนที่ ถ้าเราไม่ทำอะไรจะถูกกลืนอย่างแน่นอน จึงเพิ่มงานพลาสติกเยอะ แต่ตอนนี้พลาสติกกลับถูกมองว่าสร้างปัญหา เพื่อให้งานพลาสติกอยู่ได้ และไม่ถูกดิสรัปต์อีก เราจึงนำหลักศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ นำเศษและที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ Circular Economy ใช้ได้หมดไม่ว่าจะเป็นพลาสติกหรือโลหะ และไม่ใช่เพียงหมุนเวียนแต่ยังต่อยอดได้หมด”นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ บุนฑารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า สำหรับข้อคิดในการทำธุรกิจ คือ ต้องปรับตัว “ถ้า 20 ปีที่แล้วเราไม่ปรับมาเป็นพลาสติก โลหะอาจจะเจ๊งไปแล้วก็ได้ แต่ตอนนี้พลาสติกถูกมองว่าเป๋นผู้ร้าย เราก็พยายามปรับตัวต่อ นอกจากการปรับตัวแล้วต้องมีการรวมกลุ่ม หรือสมาคมที่หาความรู้ได้ เพราะการทำธุรกิจทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีอยู่รอด และยั่งยืนต่อไป”

ยืนหยัดซื่อตรงในสิ่งที่ทำ

นางสาวสุวิสุทธ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด ให้ข้อมูลว่า กราน-มอนเต้ เริ่มจากไอเดียตั้งต้นที่ตั้งใจซื้อที่ดินบริเวณหุบเขาอโศก เขาใหญ่ ไว้ทำไร่องุ่นเป็นที่พักตากอากาศผนวกกับการมองเห็นโอกาสธุรกิจไวน์ในประเทศไทยที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก สู่จุดเริ่มต้นของอาณาจักร “กราน-มอนเต้” ที่ไม่ได้มีเพียงไวน์ไทยเป็นไฮไลท์ แต่ยังต่อยอดไปสู่อีกหลากหลายธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มระบบนิเวศของธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน บุกเบิกการผลิตไวน์ไทยให้พัฒนาสู่มาตรฐานสากลและเป็นไวน์หนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรติให้เสิร์ฟในงานประชุมเอเปค 2022 สะท้อนคุณภาพไวน์ไทยแก่ผู้นำระดับโลก พร้อมสร้างความยั่งยืนด้วยการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมด้วยการนำ Zero waste ที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น

“กราน-มอนเต้ ปลูกองุ่นและทำไวน์ที่ปรุงเอง ที่เขาใหญ่ ที่มาของเราสำคัญมาก เราจึงเป็นไวน์ที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จึงเป็นเขาใหญ่ไวน์ GI และรอบๆเรามีธุรกิจท่องเที่ยว ที่พักและอาหารด้วย เพื่อให้คนได้เข้าสัมผัสและรู้จักไวน์ของเรา นอกจากนี้มีการจัดจำหน่ายเอง เพื่อให้ไวน์ของเราไปสู่ร้านอาหาร โรงแรม เพื่อเป็นกระบอกเสียงที่จะทำให้ผู้บริโภครู้จักสิ่งที่เราทำ

นางสาวสุวิสุทธ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด

กราน-มอนเต้ เป็นผู้ผลิตไวน์สัญชาติไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรติให้เสริฟในงานเอเปค 2022 สะท้อนคุณภาพไวน์ไทยแก่ผู้นำระดับโลก

กราน-มอนเต้ ยังให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน ทั้งในด้านการพัฒนาธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยนางสาวสุวิสุทธ์กล่าวว่า สำหรับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยน แปลงซึ่งมีผลต่อผลผลิตองุ่นทำให้บริษัทต้องปรับตัว มีทั้งการเร่งเก็บองุ่นในช่วงระดับความร้อนสูงขึ้น แต่บริษัทมีความรู้ในการทำไวน์ในเขตร้อนอย่างดี จึงรับมือได้ อีกทั้งความตั้งใจเดิมก็คือ การทำเกษตรยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะสภาพสิ่งแวดล้อม ดินฟ้า อากาศ แต่เป็นเรื่องของธุรกิจ ทุกกระบวนการธุรกิจของบริษัท

“สำหรับเรา sustainable vineyard มีสิ่งที่เรียกว่า natural substitute หรือ สิ่งทดแทน input ที่นำมาใช้ให้เป็นของธรรมชาติมากที่สุด เช่น การควบคุมศัตรูพืช ก็เอาแมลงมาไล่แมลง หรือการทำปุ๋ยหมักจากสิ่งที่เหลือจาก กิ่งก้านใบ นำเมล็ดองุ่นมาสกัดเป็นน้ำมันองุ่น เปลือกองุ่นนำไปกลั่นเป็นสุราขาว นำถังโอ๊คที่เลิกใช้แล้วไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือหมักเมล็ดกาแฟ เป็น zero waste และทำธุรกิจตามแนวคิด เติบโตร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม สร้างงานให้คนในพื้นที่ชุมชน พร้อมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปลูกองุ่นในเขตร้อนอย่างยั่งยืน”นางสาวสุวิสุทธ์กล่าว

สำหรับแนวคิดในการทำธุรกิจของกราน-มอนเต้ นางสาวสุวิสุทธ์กล่าวว่า “สิ่งที่ กราน-มอนเต้ ยืนหยัดในสิ่งที่ทำได้นาน คือ integrity ความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในสิ่งที่เราบอกว่าเราเป็น สิ่งที่เราบอกว่าเราทำ บนทุกขวดไวน์ของเราจะเขียนไว้ว่า Wine of Thailand ที่บอกว่าองุ่นเรามาจากไหน วิธีการทำของเรา เราไม่เคยหนีจากตรงนั้น ความซื่อตรงที่เสนอสินค้า ความซื่อตรงที่เสนอว่าเราเป็นอะไร ทำให้ ชื่อเสียง ความเชื่อมั่นของเราไม่หายไป การที่เรายึดความซื่อตรงทำให้เราอยู่ได้นาน และชื่อเสียงเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ”

ปัจจุบัน กราน-มอนเต้เน้นจำหน่ายในประเทศ 80% มีทั้ง B2C คือ ขายผ่านหน้าไร่ ซึ่งทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ลูกค้ามาชมไร่ ส่วนที่เป็น B2B เจาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยงทั่วประเทศ อีก 20% ส่งออกไปขายต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง ฝรั่งเศส สวีเดน เป็นต้น
มิติที่ได้รับรางวัล

ต้องมีจุดแข็งที่คู่แข่งไม่มี

นางสาวกรกนก สว่างรวมโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชู โกลบอล จำกัด ให้ข้อมูลว่า จากจุดเริ่มต้นที่ชื่นชอบแฟชั่น มีการ Mix & Match สไตล์เครื่องแต่งกายใช้เองด้วย Sense of Fashion จนสามารถทำรายได้เลี้ยงตนเองได้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา แบรนด์ SHU สะท้อนภาพลักษณ์ด้วยคอนเซ็ปต์ Everyday Lifestyle Fashion และเป็นผู้พัฒนารองเท้า SOFASHOES ที่ผ่านการรับรองโดยแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ว่ารองเท้าช่วยลดอาการจากโรครองช้ำได้จริง จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2013 โดดเด่นด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถนำพาแบรนด์ไทยให้ก้าวเข้าสู่รันเวย์ระดับโลกได้ รวมถึงสร้างความยั่งยืนด้วยการออกแบบสินค้าให้มีสไตล์การใช้งานได้ยาวนานในทุกยุคสมัย เพื่อช่วยลดการเกิดขยะ พร้อมวางแผนจะนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมาใช้ในการผลิตสินค้าในอนาคต

นางสาวกรกนก สว่างรวมโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชู โกลบอล จำกัด

“เรามีรองเท้า SOFASHOES ที่ทำให้เราฝ่าวิกฤติและรอดมาได้ เราเป็นบริษัท Big Small company บริษัทเล็ก แต่เราฝันใหญ่ อยากให้แบรนด์เราเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งเราก็ทำได้สำเร็จ มีเซเลบริตี้ระดับโลกอย่าง ปารีส ฮิลตัน เลือกใช้รองเท้าเรา SHU ทั้งหมดใช้ความพยายามและความมุ่งมั่น การพัฒนาสินค้า” นางสาวกรกนกกล่าว

นางสาวกรกนกกล่าวว่า สินค้าแฟชั่นสร้างขยะส่วนใหญ่ SHU ได้ใช้วัสดุชีวภาพหรือ bio ราว 90% ในการผลิตสินค้า รวมทั้งวางแผนการผลิตให้เหมาะสม เหลือเป็นขยะ ต้องนำออกมาจำหน่ายในราคาส่วนลดอย่างมาก และใช้วิธีการออกแบบที่สามารถใช้งานได้นานไม่ตกยุค ตัวอย่างก็คือ รองเท้า SOFASHOES ที่ออกแบบและจำหนายมานานกว่า 10 ปีแล้ว

นางสาวกรกนกให้ข้อคิดในการทำธุรกิจว่า “ต้องคิดว่าลูกค้าคนแรกของเราคือใคร คู่แข่งของเราคือใคร เขามีอะไรดีที่ลูกค้าเราต้องการ แต่เราต้องมีของดีและจุดแข็งที่คู่แข็งไม่มี และเราต้องมีสิ่งที่เหนือกว่า ซึ่งเป็นพื้นฐานที่อยู่รอด

ปัจจุบันมีหน้าร้านทั้งหมด 41 สาขา ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ และจุดที่ทำให้แบรนด์พลิกผันกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ การพัฒนานวัตกรรมรองเท้า SOFASHOES ที่พื้นมีความนุ่มและรองรับน้ำหนักเท้าได้ดี ผ่านการรับรองโดยแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ว่ารองเท้าช่วยลดอาการจากโรครองช้ำได้ จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปี 2013 ส่งให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

นายพีระศิลป์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลายวิจิตร จำกัด

ESG ในธุรกิจครอบครัว

นายพีระศิลป์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลายวิจิตร จำกัด ให้ข้อมูลว่า จากโรงงานไม้ เจี่ย เซ่ง ฮวด ที่ทำธุรกิจปูพื้นไม้ นำไม้มาแปรรูปทำเป็นไม้ปาร์เกต์ ซึ่งเป็นเจ้าแรกในไทย จนมาเจอวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้ออเดอร์จากต่างประเทศลดลง ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ จึงมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อตอบโจทย์และแก้ Pain point ให้แก่กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ช่วยลดระยะเวลาในการติดตั้งหน้างาน สามารถให้บริการได้แบบ One Stop Services และตอบโจทย์ลูกค้าด้วยไอเดียเพิ่มพื้นที่ใช้สอย เพิ่มความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเดินหน้านำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อป้องกันปัญหาปลวก พร้อมสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจด้วยแนวคิด Zero Waste นำเศษวัสดุเหลือใช้ มาต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ภายใต้แบรนด์ ลลิต บาย ลายวิจิตร อีกด้วย

นายพีระศิลป์กล่าวว่า ตนเองเป็นทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 “รุ่นที่สามเป็นรุ่นที่กล่าวกันว่า ธุรกิจครอบครัวมักสิ้นสุดในรุ่นนี้ไม่ไปต่อ เพราะฉะนั้นรุ่นผมจึงมีความท้าทายมากในแง่การส่งต่อไปรุ่นที่4 ซึ่งบริษัทเราในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาได้มีการจัดทำธรรมนูญครอบครัว มีการจัดโครงสร้างเรื่องของครอบครัวด้วย ซึ่งจะสร้างความยั่งยืน ธุรกิจครอบครัวต่างจากธุรกิจทั่วไป ตรงที่ไม่ได้บริหารเฉพาะธุรกิจ แต่บริหารความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย มันเป็นศิลปมากมาก และต้องมีหลักการในการบริหารจัดการ ถึงจะบริหารธุรกิจและบริหารความสัมพันธ์ครอบครัวไปพร้อมๆกันได้”

นายพีระศิลป์กล่าวอีกว่า บริษัทเป็นเอสเอ็มอีรายแรกๆที่นำหลัก E Environment S Social G Governance มาปรับใช้ได้ 2 ปีแล้ว โดยในด้าน สิ่งแวดล้อม เน้นไปที่ zero waste เศษไม้ที่เหลือจากการผลิตสินค้าชิ้นใหม่นำไปผลิตสินค้าไลฟ์ไสตล์ และเน้นการผลิตสินค้าที่ไม่ใช้เวลาในการติดตั้งมากไป โดยปกติงานก่อสร้างบันไดจะมี waste ในการเก็บงาน จึงออกแบบสินค้าใหม่ที่ลดการทำงาน ลดการเก็บงาน ส่วนด้านสังคม ได้มีการสร้างeco-culture เน้นไปที่พนักงานเพื่อดึงศักยภาพ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้องค์กรสำเร็จ คนสำเร็จองค์กรก็สำเร็จ และสุดท้ายธรรมาภิบาล บริษัทเป็นธุรกิจครอบครัว ความโปร่งใสในการทำธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญมาก

นายจุติพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกไฟว์ จำกัด

ซอฟต์แวร์เครื่องมือช่วยเอสเอ็มอีเติบโต

นายจุติพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกไฟว์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า บริษัทเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ที เค เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ตั้งขึ้นจากแรงบันดาลใจในการ Transforms ธุรกิจของครอบครัวให้เปลี่ยนจากการใช้ระบบเอกสารมาสู่ระบบดิจิทัลได้สำเร็จ เพื่อให้บริการซอฟต์แวร์ระดับมาตรฐานสากลเพื่อช่วยเหลือองค์กรในประเทศไทย ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้สำเร็จ และจะช่วยยกระดับระบบการทำงานด้านต่างๆ ของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เช่น โปรแกรม empeo ที่ช่วยบริหารงาน HR แบบครบวงจร โปรแกรม Venio ที่ช่วยบริหารงาน CRM บริหารทีมขาย และดูแลลูกค้า ซึ่งทั้งสองโปรแกรมนี้ได้รับรางวัล Thailand ICT Awards สาขา Big data และ Business Service จากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสภายใต้หลักธรรมาภิบาลและช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีบุคลากรน้อยกว่า 20 คน ให้ใช้ซอฟต์แวร์ empeo ได้ฟรี เพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน

“ระบบของเรามีส่วนที่องค์กรเอสเอ็มอีสามารถนำไปมใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย องค์กรที่มีขนาด 20 คนก็สามารถใช้ระบบเราได้ เราเป็นบริษัทที่เปิด ใครสนใจสามารถมาทดลองใช้งานได้ ระบบเราใช้งานได้กับบริษัทเล็กๆ เอสเอ็มอีที่เริ่มตั้ง ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลังช่วยเป็นรากฐานในการเติบโตของธุรกิจเล็กอย่างยั่งยืน” นายจุติพันธุ์กล่าว

นายจุติพันธุ์ฝากข้อคิดในการทำธุรกิจไว้ว่า “การทำธุรกิจไม่ควรอยู่กับที่ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

การพิจารณาตัดสินรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแขนง ผู้ประกอบการที่สมัครเข้ารับการพิจารณาไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์หรือศศินทร์ฯ สนใจสมัครหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.baipo-business-award.org หรือ 02-2184001-9 ต่อ 179