ThaiPublica > คอลัมน์ > ฝึก “วิชาตัวเบา” ทักษะแห่งการปล่อย

ฝึก “วิชาตัวเบา” ทักษะแห่งการปล่อย

31 มีนาคม 2024


Hesse004

เวลาที่ได้อยู่กับตัวเองตามลำพัง สิ่งหนึ่งที่คิดอยู่เสมอ คือ การทบทวนตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ท่ามกลางความวุ่นวายของตารางชีวิต…ความเงียบ คือ สมบัติล้ำค่าอย่างหนึ่ง พอ ๆ กับการนั่งดื่มด่ำมีสมาธิกับการอ่านหนังสือเล่มโปรด

หลายปีมานี้ ผมแทบไม่ได้ฟังเพลงเลย ส่วนหนึ่งเริ่มเบื่อและหันไปฟัง Podcast โดยเฉพาะเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รอบโลก

พออายุมากขึ้น… ผมชอบฟังเรื่องผี สลับกับฟังเรื่องพระ

ฟังรายการเล่าเรื่องผีอย่าง The Ghost Radio หรือ คืนเผาผี เราได้ชุดความรู้อีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนทั้งเรื่องไสยเวทไปจนถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ

คนเล่าเรื่องผีเก่ง ๆ มักเป็นมีทักษะการเล่าเรื่องหรือ Story telling ที่ดี…เช่นเดียวกับ คนจัดรายการเล่าเรื่องผีเก่ง ๆ มักเป็นคนที่มีทักษะการฟังเชิงลึก หรือ Deep listening ที่ดี

สลับจากฟังเรื่องผี บางวันผมชอบฟังพระเทศน์…สวดมนต์บ้าง แม้ไม่ได้ทำเป็นกิจวัตร แต่รู้สึกสงบทุกครั้งที่ได้สวดภาวนาในใจ

การฟังเรื่องผีก็ดี ฟังพระเทศน์ก็ดี ล้วนเป็นชุดความรู้แบบหนึ่งในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องว้าวุ่นใจ

เราได้ยินเรื่อง Mindfulness ก็ดี หรือ การฮีลใจ ก็ดี อย่างน้อยมันเป็นทักษะทางการรักษาใจของคนรุ่นเราที่มองเห็นแล้วว่า โลกวันหน้าอยู่ยากขึ้นทุกวัน… ต้นทุนในการใช้ชีวิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ระหว่างเดินทางไกล…ผมนั่งฟัง Podcast ประวัติศาสตร์ บังเอิญหน้า Feed ใน Youtube โชว์เพลง “วิชาตัวเบา” ของ Bodyslam ขึ้นมา

เพลงนี้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2561 …เพลง Bodyslam ยังคงเอกลักษณ์เหมือนเดิม คือ เนื้อเพลงมีทั้งปรัชญา ข้อคิดและมุมมองที่ดีในการใช้ชีวิต

“วิชาตัวเบา” ของคนอายุ 40+ และกำลังย่างเข้าใกล้ 50 แล้ว คงพอตอบอะไรกับชีวิตตัวเองได้พอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเป้าหมายชีวิต สถานีข้างหน้าของตัวเอง… โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ และความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว

อายุใกล้ ๆ 50 สิ่งที่ผมพบเจอกับตัวเอง คือ แม้มีหลายเรื่องที่อยากทำ แต่เราควรเลือกเรื่องสำคัญจริง ๆ ไม่เกิน 2-3 เรื่องที่เราอยากฝากไว้ให้เป็นความทรงจำของตัวเอง ก่อนเวลาของเราจะหมดลง

ยิ่งอายุมากขึ้น “ทักษะทางใจ” อย่างหนึ่งที่ผมอยากฝึกฝนแต่เนิ่น ๆ คือ คือ ทักษะวิชาตัวเบา
…ทำอย่างไรให้เราเรียนรู้ที่จะ “ปล่อย” เป็น

จะพูดว่า “ปล่อยวาง” ก็เกรงจะดัดจริตเกินไป แต่อย่างน้อย หลายเรื่องในชีวิต หากเรา “ปล่อย” ได้ เราน่าจะเบาได้เช่นกัน

เมื่อหลายปีก่อน ผมชอบคำว่า “วางให้ลง ปลงให้เป็น” แต่เอาเข้าจริง ผมยังทำไม่ได้เช่นกัน สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือ เรียนรู้ที่จะปล่อย

“หนักก็เพราะยังเก็บ
เจ็บก็เพราะยังคิด
มีทุกข์ใจ มีสุขใจ
เตือนหัวใจ ต่างต้องพบเจอ”