ในเวลานี้เป็นห้วงความทุกข์ของคนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หลายพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 เดือน บางพื้นที่ก็เป็นเดือน ต่างอยู่ในสภาพน้ำท่วมขังและเน่าเหม็นอย่างน่าเป็นห่วง
วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้นับเป็นภาวะฉุกคิดอย่างจริงจัง ถึงความเสี่ยงภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว สึนามิ ที่จะมาเมื่อไหร่ก็ได้ และความรุนแรงจะสูงมากถ้ารัฐบาลยังไม่มีแผนป้องกันที่เป็นรูปธรรม และไม่มีการเตรียมพร้อม เพราะความเสียหายเป็นแสนๆล้านบาทปรากฏชัดแล้ว
วันนี้กรุงเทพน้ำท่วมใหญ่และท่วมขังนานได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นการเฉลี่ยทุกข์กันถ้วนหน้า เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ให้เห็นทั้งความขัดแย้งในการบริหารจัดการน้ำระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ประชาชนกับประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขังระดับสูง ต่างหมดความอดทนได้รวมตัวรื้อถุงทราย ทำลายประตูระบายน้ำรื้อบิ๊กแบ็ค ปิดถนน แย่งถุงยังชีพ แต่อีกด้านได้สร้างความปรองดองของชุมชนสู้ภัยน้ำท่วม มีทั้งสะพานสร้างสุข มีเครือข่ายจิตอาสาเกิดขึ้นมากมาย นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมสำหรับคนไทยที่ช่วยเหลือกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม
บ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็น ความเสียหายครั้งนี้จึงรุนแรงในแง่จิตใจและทรัพย์สิน โดยเฉพาะผลกระทบในภาคครัวเรือนที่เสียหายนับล้านคน จึงเป็นความทุกข์ที่แสนสาหัสสำหรับผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ผู้ป่วย และผู้ยากไร้ คนจนที่รับจ้างรายวัน คนจนเมืองในกรุงเทพ รวมทั้งภาคธุรกิจและภาคเกษตรกรรม
การฟื้นฟูเยียวยาจิตใจและทรัพย์สิน จึงหนักหนาสากรรจ์จริงๆ
สำนักข่าวไทยพับลิก้า ก็ไม่ต่างกัน ออฟฟิศน้ำท่วมมาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2554 แม้เตรียมเก็บข้าวของล่วงหน้าพร้อมรับมือน้ำท่วมในสภาพที่ท่วมขัง เพราะดูจากปริมาณน้ำแล้วก็ทำใจว่าคงใช้เวลานาน(มาก)กว่าจะสู่สภาพปกติ สภาพน้ำนิ่งและน้ำเน่าจากวันนั้นจนถึงเวลานี้ การทำงานจึงขลุกๆขลักๆตามสภาพผู้ประสบภัย
ท่ามกลางการรอรับน้ำของคนกรุงเทพและปริมณฑลในช่วงที่ผ่านมา ทุกคนใจจดใจจ่อกับข้อมูลน้ำ กระหายที่จะได้ข้อมูลถูกต้อง เข้าใจง่าย และชัดเจน ทุกคนแค่อยากรู้ว่าบ้านฉัน บ้านพ่อแม่ ญาติ เพื่อนฝูง น้ำจะท่วมไหมและนานแค่ไหน แต่การได้รับข้อมูลไม่ครบ ข้อมูลผิดพลาด ไม่บอกความจริงทั้งหมดคือการซ้ำเติมปัญหาให้ซับซ้อนขึ้น คนแห่กักตุนอาหาร ขณะบางส่วนไม่ได้ตั้งตัวกับน้ำที่ไหลทะลักอย่างรวดเร็วทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ยังไม่นับรวมข้อมูลน้ำประปาที่ปนเปื้อน โดยไม่ยอมชี้แจงข้อเท็จจริงตั้งแต่แรกต้องรอให้ประชาชนร้องเรียนจึงออกมาชี้แจงความจริง
ข้อมูลที่ถูกต้องและความโปร่งใสในทุกๆด้าน เป็นเครื่องมือการบริหารจัดการและการป้องกันที่ดีของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้อง โปร่งใส สามารถสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง ยิ่งในภาวะวิกฤตหากทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะป้องกันตัวเองอย่างไร เพราะประชาชนต้องการความมั่นใจในการใช้ชีวิตในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลอย่าได้คิดแทนและตัดสินใจแทนประชาชน
สำนักข่าวไทยพับลิก้าขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ประสบภัยพิบัติรอดพ้นวิกฤตน้ำท่วม และสามารถฟื้นฟู เยียวยาเพื่อชีวิตที่ดีต่อไป
บุญลาภ ภูสุวรรณ
บรรณาธิการบริหาร