ThaiPublica > Sustainability > การจัดน้ำไทยไปไม่ถึงพัฒนาที่ยั่งยืน ขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

การจัดน้ำไทยไปไม่ถึงพัฒนาที่ยั่งยืน ขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

24 เมษายน 2022


กสม. ร่วมสถาบันวิชาการ จัดเวทีระดมความเห็นต่อพระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พบ 4 ปีบังคับใช้กฎหมายล้มเหลวขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน บรูณาการหน่วยงานไม่ได้ ไม่บรรลุเจตนารมณ์กฏหมาย

วันที่ 21 เมษายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์จัดการและบริการข้อมูลสาธารณะ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดเวทีเสวนา “Policy Dialogue ก้าวสู่ปีที่ 5 พระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 : สิทธิมนุษยชนในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการเพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำและปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำบนฐานสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน

4 ปี “สทนช.” ทำงานบูรณาการหน่วยงานไม่ได้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินการบังคับใช้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ว่า ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา การจัดการน้ำไม่ได้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายคือ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ และชุมชนผู้ใช้น้ำ ที่จะช่วยลดความขัดแย้งจากการจัดการทรัพยากรที่มีลักษณะจากข้างบนลงข้างล่าง

การบูรณาการของหน่วยงานรัฐที่มีมากว่า 30 หน่วยงาน ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ตามที่กำหนดไว้ในหมวดที่3 ของ พ.ร.บ.น้ำแห่งชาติ แม้มีการตั้งสำนักงานคณะกรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแล หรือ Regulator ดูแลการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์ กลั่นกรองโครงการ และตั้งคณะกรรมกรลุ่มน้ำให้ได้ใน 2 ปีหลังกฎหมายบังคับใช้

สทนช.ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมย์ หรือเป็นหน่วยงานกำกับดูแล แต่ไปเน้นการปฏิบัติ หรือการศึกษาโครงการ ขณะที่ภารกิจหลักคือ การตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำพึ่งเกิดขึ้นและไม่มีการเรียกประชุมด้วยซ้ำ

“สทนช. ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติไม่ได้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย และไม่สามารถผลักดันให้เกิดคณะกรรมการลุ่มน้ำภายใต้เวลาที่กฎหมายกำหนดคือ 2 ปี ขัดกับกฎหมายน้ำที่ภาคผนวกที่กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำใน 2 ปี แต่ไม่สามารถทำได้”

คณะกรรมการลุ่มน้ำขาดส่วนร่วมชุมชน

ส่วนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับล่างยังไม่เกิดขึ้นจริง ดังจะเห็นจากโครงสร้างของคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีกรรมการทั้งหมด 23 คน แต่มีสัดส่วนตัวแทนระดับท้องถิ่นและภาคประชาชนจำนวนน้อยมาก โดยมีกรรมการโดยตำแหน่ง 13 คน กรรมการ ภาค อปท.และประชาชน 6 คน และกรรมการผู้ทรง 4 คนมีผู้ว่าราชการเป็นประธาน

ขณะที่คณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ ก็มีสัดส่วนของภาคประชาชนน้อยเช่นกันโดยในคณะกรรมการมีกรรมการโดยตำแหน่ง 14 คน ผู้แทน อปท และเขตลุ่มน้ำจังหวัดละ 1 คน ตัวแทนผู้ใช้น้ำจากภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพานิชย์กรรม ภาคละ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวัฒนา เห็นว่า ขณะนี้กฎหมายบังคับใช้มาแล้ว 4 ปี ยังไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ต้องทำให้เกิดการบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ โดย สทนช.ต้องเข้าใจบทบาทตัวเองและทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อทำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการให้ได้

นอกจากนี้คณะกรรมการลุ่มน้ำควรปรับให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการเป็นกรรมการมากขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น เนื่องจากประเทศไทยได้มาถึงจุดวิกฤติของการใช้ทรัพยากรจากเดิมเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ไทยยังมีทรัพยากรป่าไม้ 60-70 % แต่ปัจจุบันเหลือทรัพยากรป่าไม้แค่ 24 % จึงไม่สามารถสร้างโครงการขนาดใหญ่ได้อีก เช่นเดียวกับการจัดการทรัพยากรน้ำได้มาถึงระยะที่ 4 ที่ไม่สามารถสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ฟังเสียงคณะกรรมการลุ่มน้ำและผู้ใช้น้ำได้อีกแล้ว

กรรมการสิทธิชี้ยังขาดส่วนร่วมของประชาชน

ด้าน นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกเช่นกันว่า หลังกฎหมายบังคับใช้กรรมการสิทธิได้ ตรวจสอบโครงการจัดการน้ำน้ำที่ดำเนินการได้รับการร้องเรียว่า ประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีส่วนร่วมและไม่ได้รับข้อมูล ดังนั้น จึงเห็นว่า ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำจากคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยประชาชนยังไม่รู้สิทธิของตัวเองทำให้เกิดคำถามจำนวนมากและนำไปสู่ความขัดแย้งในการดำเนินการได้

“พ.ร.บ.น้ำแห่งชาติ หากสร้างการมีส่วนร่วมและมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาคน สิ่งแวดล้อม และไปสู่การพัฒนายั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายได้”

ในงานเสวนาของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหลายหน่วยงานร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นโดย ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) นักวิชาการด้านวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และผู้แทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า การบังคับใช้กฏหมายยังขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในระดับล่างอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กสม. จะนำข้อคิดเห็นและข้อมูลที่ได้รับฟังจากเวทีไปจัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การยกระดับผลการศึกษาและถอดบทเรียนด้านแนวความคิดและปฏิบัติการของประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ต่อไป