ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > มูลนิธิเสนาะฯห่วง “ปัญหาน้ำ-มลพิษ”แนะอีอีซี ลงทุนสีเขียว

มูลนิธิเสนาะฯห่วง “ปัญหาน้ำ-มลพิษ”แนะอีอีซี ลงทุนสีเขียว

22 กุมภาพันธ์ 2024


มูลนิธิเสนาะ อูนากูล ร่วมกับ EEC และ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออกปี 2565  ชี้สถานการณ์จัดการน้ำ และการจัดการมลพิษในพื้นที่น่าเป็นห่วง แนะสร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ ผลักดันลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว สู่การพัฒนาพื้นที่ EEC และชุมชนอย่างยั่งยืน ขณะที่เลขาธิการ อีอีซี ยอมรับปัญหาต้นทุนน้ำที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมในพื้นที่ เตรียมเร่งศึกษาโครงสร้างการจัดการน้ำเพื่อลดต้นทุน

ปัญหาการบริการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นประเด็นสำคัญในการบริหารจัดการอย่างสมดุลทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และ ประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง สถานการณ์ภาคตะวันออก พ.ศ. 2567 หัวข้อ “ระบบนิเวศของภาคตะวันออก และการบริหาร จัดการน้ำ เพื่อติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก เพื่อติดตามการบริหารจัดการและหาทางออกในการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี  ฉะเชิงเทรา ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

โดยมี ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล  ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EEC ร่วมปาฐกถาพิเศษ และดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมด้วยการนำเสนอกรณีศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิเสนาะ อูนากูล ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการ TDRI ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรม GISTDA นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. และมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ดำเนินการเสวนา

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี

อีอีซีห่วงต้นทุนน้ำแพงจนแข่งขันไม่ได้

ดร.จุฬา  สุขมานพ เลขาธิการ EEC กล่าวว่า โจทย์ที่ท้าทายในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี  หรือการพัฒนาเชิงพื้นที่ 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา คือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่สามารถดึงนักลงทุนมาลงทุนได้ และสร้างความเติบโตที่สามารถกระจายไปสู่สังคมและสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้

ที่ผ่านมา EEC ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์และการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมในการลงทุนออกมาเป็น 5 Cluster คือ 1. การแพทย์/สุขภาพ 2. ดิจิทัล  3. ยานยนต์ 4.  อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และ 5. อุตสาหกรรมบริการ  และแบ่งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษออกเป็น 3 ประเภท  กลุ่มที่ 1 พื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมซึ่งขณะนี้มีจำนวน 27 นิคมอุตสาหกรรม กลุ่มที่ 2 นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ  กลุ่มที่ 3 บุคคลขอตั้งเขตส่งเสริมมีผู้ที่ศึกษาในการประกาศเขตเพื่อกิจการของตัวเองจำนวนมาก

นอกจากนี้ EEC ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างท่าเรือ และสนามบินที่คาดว่าในปี 2570 จะสามารถดำเนินการได้ และการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการหากมีเริ่มก่อสร้างในวันนี้ก็คาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าจะสามารถใช้งานได้

ดร.จุฬากล่าวว่า  แม้ EEC จะเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสิทธิประโยชน์เอาไว้จำนวนมาก แต่นักลงทุนที่สิ่งที่นักลงทุนถามมากที่สุด คือ สาธารณูปโภค โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการน้ำ และการจัดการพลังงานทดแทน หรือพลังงานสีเขียว โดยนักลงทุนจำนวนมากมักจะถามว่าในพื้นที่อีอีซี มี ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% หรือ มีพลังงานหมุนเวียน 100% (RE 100 )หรือไม่

“เรื่อง RE100 เป็นโจทย์ที่ท้าทายและน่าหนักใจสำหรับผม เพราะขณะนี้นักลงทุนถามมาจำนวนมาก แต่ RE100 ในพื้นที่ EEC ยังมีไม่มากนัก เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักใจพอสมควรในการขับเคลื่อนเรื่องนี้เพราะว่ามีประเด็นในการจัดการโครงสร้างพลังงานค่อนข้างมาก โดยอยากเสนอให้พื้นทีอีอีซีเป็น Sandbox ในการนำพลังงาน RE 100 มาใช้เต็มรูปแบบ ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการผลักดัน” ดร.จุฬากล่าว

นอกจากนี้  ดร.จุฬา  เห็นว่า ปัญหาในเรื่องของการจัดการน้ำถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่อาจจะกลายเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้ EEC แข่งขันไม่ได้ เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมในพื้นที่ใช้น้ำในต้นทุนที่สูง โดยปัญหาส่วนใหญ่มาจากโครงสร้างการใช้น้ำและการจัดการระบบท่อส่งน้ำที่ทำให้ต้นน้ำค่าน้ำแพงขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะสามารถบริหารจัดการให้ต้นทุนให้ลดลงมาได้อย่างไร

“เรื่องน้ำจำเป็นต้องทำคือ ปัญหาส่วนใหญ่มาจากโครงสร้างเพราะฉะนั้นต้องหาแนวทางบริหารจัดการน้ำที่ดีเพื่อจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางคือแหล่งน้ำ ไปจนถึงการกระจายน้ำเพราะเมื่อมาดูรายละเอียดตัวเลขคิดค่าน้ำแล้วพบว่าแพงเกินไป ทำให้ราคาน้ำแพงมากกลายเป็นปัญหาที่อาจจะทำให้แข่งขันไม่ได้ในอนาคต” ดร.จุฬากล่าว

สำหรับโครงสร้างต้นทุนค่าน้ำในพื้นที่ EEC แบ่งเป็น  ราคาน้ำโรงงานนิคมอุตสาหกรรม ราคาน้ำดิบ อยู่ที่ราคา 14.00-17.15 บาทต่อ ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้ำประปา  18.00 -27.75 บาทต่อลบ.ม. ส่วนราคาน้ำในพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรม  ราคาน้ำดิบ 12.50 บาทต่อลบ.ม. น้ำประปา 18.00-32.50  บาทต่อลบ.ม.  สำหรับราคาน้ำครัวเรือน น้ำประปา 10.20-21.20 บาทต่อลบ.ม.

ดร.จุฬากล่าวด้วยว่า การประเมินสถานการณ์น้ำในปีนี้แม้จะมีปรากฎการณ์เอลนีโญ แต่คาดว่าไม่มีปัญหาในเรื่องการคาดแคลนน้ำ มีปริมาณน้ำเพียงพอในภาคอุตสาหกรรม แต่ในอนาคตอาจจะต้องพิจารณาหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการพยากรณ์ของมูลนิธิเสนาะ อูนากูล ประเมินว่าความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นมากในปี 2580

ส่วนเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งเป้าเอาไว้ 4 ปีจะระดมทุนได้จริง 5 แสนล้านนั้น ปีนี้ 2567 ได้เจรจากับนักลงทุนจำนวนมาก และคาดว่าจะมีเงินลงทุนประมาณแสนล้านตามเป้าหมายแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขการลงทุนได้ทั้งหมดเพราะจะสรุปตัวเลขการลงทุนก็ต่อเมื่อมีการนำเงินลงมาลงทุนแล้วเท่านั้น ไม่ใช้ตัวเลขคาดการณ์

ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล

มูลนิธิเสนาะฯประกาศตรวจสอบทุกมิติ

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เริ่มด้วยการให้ข้อมูลมูลนิธิเสนาะ ว่า “มูลนิธิได้ใช้ชื่ออาจารย์เสนาะ อูนากูล(อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)เป็นชื่อมูลนิธิฯ เนื่องจากอาจารย์สนใจการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกนับจากการเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 42 ปีที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ของไทย”

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดได้มีการพัฒนาจีดีพีของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่มูลนิธิฯเห็นว่ายังมีปัญหาคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม แม้ที่ผ่านมาจะมีการวางแผนขีดเส้นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่ที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปโรงงานก็ขยายตัว ที่อยู่อาศัยก็ขยายตัวจนเกิดปัญหา

เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ EEC จึงไม่อยากให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมเกิดขึ้น และเพื่อติดตามการดำเนินการของอีอีซีให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมและสังคม มูลนิธิเสนาะ อูนากูล ได้จัดทำรายงานชิ้นนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำเสนอข้อมูลโดยสรุป หรือDashboard เรื่อง State of the Eastern Region เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวว่า สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกในปีนี้พบว่า เรื่องน้ำการจัดการน้ำมีความน่าเป็นห่วง  และอาจจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงต้องหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้ เพื่อให้การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้มีใช้อย่างยั่งยืน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ตลอดจนสถาบันการศึกษาและเยาวชน

“ ปีนี้เป็นปีแรกที่ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล จัดทำรายงานเกาะติดปัญหาการพัฒนาในภูมิภาคตะวันออก และจะมีรายงานสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ทุกปี เพื่อติดตามการทำงานในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและปัญหาสิ่งแวดล้อมสังคม โดยปีนี้เราพบว่าเรื่องน้ำมีความน่าเป็นห่วง จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

รายงานภาคตะวันออกปี 65 “มลพิษ-น้ำ”น่าเป็นห่วง

ดร. ปรียานุช ธรรมปิยา  กรรมการมูลนิธิเสนาะ อูนากูล นำเสนอรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออก ปี 2565 ว่า การพัฒนาพื้นที่สถานการณ์ภาคตะวันออก ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนในพื้นที่ก้าวข้ามความยากจนได้เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ แต่ก็พบว่าการพัฒนาดังกล่าวไม่สามารถรักษาสมดุลในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้

จากการศึกษาของรายงาน เพื่อติดตามการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนปี 2565 ซึ่งจัดทำร่วมกับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยศึกษาสถานการณ์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม  3 มิติ ได้แก่การจัดการน้ำ  สถานการณ์มลพิษ  และการจัดการขยะ พบว่าใน 3 จังหวัดในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)มีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำด้อยกว่าระดับประเทศ

นอกจากนี้ยังพบว่าความต้องการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกนับจากปี 2560 จะเพิ่มมากขึ้นในปี 2580 โดย ในปี 2560 ภาคตะวันออกทั้งภาคมีความต้องการน้ำรวมทั้งสิ้น 4,167 ล้าน ลบ.ม. และจากการพยากรณ์ความต้องการน้ำใน ปี 2580 จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น 5,775 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อแยกออกมาพิจารณาเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัด EEC พบว่ามีความต้องการในปี 2560 จำนวน 2,419 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 2580 จะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 3,089 ล้าน ลบ.ม. โดยในปี 2580 แบ่งการใช้น้ำออกเป็น น้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค 10.38%  ภาคอุตสาหกรรม 25.8% และภาคเกษตรกรรม64.57% ของปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC

ดร. ปรียานุช  กล่าวว่า  ผลการพยากรณ์ชัดเจนว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทำให้ภาครัฐต้องหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการน้ำทีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจากข้อมูลพบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนของภาคตะวันออกที่มีเพียง 1,915 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี  ขณะที่การคาดการณ์ว่ามีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นในอนาคต 5,775 ล้าน ลบ.ม.ทำให้รัฐต้องพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 872 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสรางความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ทั้งนี้รัฐมีแผนในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ EEC จำนวน 38 โครงการ งบประมาณ 52,874 ล้าน ลบ.ม.

อีกทั้งยังเห็นว่า นอกจากจะสร้างแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้นแล้ว สิ่งที่รัฐยังไม่ได้ดำเนินการคือ การบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพหรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการใชน้ำ ของภาคประชาชนและภาคเกษตรกรรม

ดร. ปรียานุช ธรรมปิยา  กรรมการมูลนิธิเสนาะ อูนากูล

เสนอ 4 ข้อ จัดการน้ำภาคตะวันออก

รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออกได้เสนอ 4 ข้อหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่

1) ปรับวิธีคิดของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

2) เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยพัฒนาบุคลากรและเพิ่มทักษะความรู้ ให้กับบุคลากรในองค์กรทุกระดับ

3) พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่า Integrated Area-based Water Resource Management (IWRM) โดยอาจดำเนินการในลักษณะ Sandbox ใน EEC

4) เตรียมแผนรองรับ ป้องกัน และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเผชิญกับภัยภูมิอากาศ ในเขตพื้นที่ EEC รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย

ดร. ปรียานุช   ยังกล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกยังมีปัญหาสถานการณ์มลพิษมากกว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยพิจารณาจากอัตราการร้องเรียนปัญหามลพิษพบว่าในเขต EEC มีอัตราการร้องเรียนสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ   โดยพบว่ามีเรื่องร้องเรียนมลพิษ 1.67  เรื่องต่อประชากรแสนคน สูงกว่าระดับประเทศที่มีเรื่องร้องเรียน 1.09 เรื่องต่อประชากรแสนคน

เพื่อติดตามการพัฒนาที่สร้างสมดุลปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในปี 2568 มูลนิธิเสนาะฯจะ”รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก พ.ศ. 2566” เรื่องการบริหารจัดการคนในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพปัญหาและข้อเสนอแนะร่วมกัน โดยสรุป หรือ Dashboard เรื่อง State of the Eastern Region เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาในการจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งที่ใช้ระบบเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังของชุมชน เช่น ระบบ Actionable Intelligence Policy (AIP) ที่ GISTDA ได้พัฒนาและทดลองดำเนินการเพื่อเสริมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี และกรณีศึกษาชุมชนในท้องถิ่นที่ บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่