ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > กบอ.เห็นชอบตั้ง ‘EEC พัฒนาสินทรัพย์ฯ’ ยกระดับ ‘อู่ตะเภา’ สู่มหานครการบินครบวรจร

กบอ.เห็นชอบตั้ง ‘EEC พัฒนาสินทรัพย์ฯ’ ยกระดับ ‘อู่ตะเภา’ สู่มหานครการบินครบวรจร

21 กุมภาพันธ์ 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

กบอ.เห็นชอบตั้งบริษัทลูก ‘EEC พัฒนาสินทรัพย์ฯ’ บริหารธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ประสานความร่วมมือ ‘UTA’ เดินหน้ายกระดับ ‘อู่ตะเภา’ สู่มหานครการบินครบวรจร

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภายหลังการประชุม ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ที่ประชุม กบอ.ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1. อีอีซี 4 โครงสร้างพื้นฐานลงทุนได้ตามแผน EECi พร้อม 100% ต้อนรับประชุมเอเปค

ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงสร้้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุุนรััฐ-เอกชน (PPP) ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง โดยทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่อง พร้อมผลักดันให้ทุกโครงการดำเนินการลงทุนได้ตามแผนภายในปี 2565 โดย สกพอ. ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเอกชนคู่สัญญา ซึ่งทำให้การก่อสร้างทุกโครงการแล้วเสร็จตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

ส่วนความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เตรียมความพร้อมดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ปัจจุบันโครงสร้างภายนอกแล้วเสร็จ 100% มีเพียงการปรับภูมิทัศน์ และติดตั้งครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในพื้นที่ อีอีซี ที่สนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

  • สกพอ.เร่งแผนลงทุน เฟส 2-เชิญประธานาธิบดีรัสเซีย เยี่ยมชม ‘EECi’ ระหว่างประชุมเอเปค
  • นอกจากนี้ สกพอ. ได้รับทราบความคืบหน้าของ โครงการธีมพาร์คและสวนน้ำ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส” แห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นการลงทุนจาก บริษัท โซนี่พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ที่จะเป็นเมืองสวนสนุก เครื่องเล่นอัจฉริยะมาตรฐานโลก สามารถเปิดระยะที่ 1 ได้ในวันที่ 8 เมษายน 2565 นี้ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก (หากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายด้วยดี) โดยโครงการฯ นี้ จะทำให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ กระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหลังโควิด 19 ทำให้ อีอีซีและประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุนนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

    2. เร่งเครื่องโครงการ EFC ผลักดันลงทุนห้องเย็น เปิดตลาดส่งออกทุเรียนพรีเมียม เพิ่มรายได้เกษตรกรราย

    ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ซึ่ง สกพอ. ได้ประสานงานร่วมกับ ปตท. ศึกษาแนวทางขับเคลื่อนโครงการที่ได้หารือร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการห้องเย็น อบจ.ระยอง เพิ่มเติม นำไปสู่การปรับแผนการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร โดย ปตท. จะสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุน และเป็นผู้ดูแลทั้งระบบตั้งแต่การผลิต รับรองมาตรฐาน การจัดตั้งตลาดกลาง รวมถึงรองรับการซื้อขายกับต่างประเทศ ผ่าน e-commerce และ e Auction พัฒนาแพคเกจบรรจุภัณฑ์ และจัดส่งสินค้า โดยเน้นทุเรียนคุณภาพและพรีเมียม พร้อมกันนี้จะขยายความจุห้องเย็น จากเดิม 4,000 ตัน เป็น 10,000 ตัน เพื่อเป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของราคา รสชาติ ความสดของทุเรียน เพิ่มมูลค่าให้ทุเรียนพรีเมียมขายได้ตรงตลาดผู้บริโภคตลอดทั้งปี โดยคาดว่าการดำเนินงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 ซึ่งโครงการฯ นี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร หรือ ชาวสวนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกร ชุมชน มีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นต่อเนื่อง

  • สกพอ.รุก EFC นำร่องห้องเย็น คงคุณภาพทุเรียน ขายราคาดีตลอดปี เพิ่มรายได้เกษตรกร
  • 3. ต่อยอดสินค้าโอทอป เสริมทักษะผู้ค้ารายย่อยเข้าสู่ตลาดดิจิทัล เพิ่มยอดขาย-รายได้ชุมชน

    ที่ประชุม กบอ. รับทราบ โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี เน้นขยายช่องทางจำหน่าย เพิ่มความสามารถการขาย จัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน สร้างเครื่องมือการตลาด นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ส่งเสริมสินค้าโอทอปตรงความต้องการตลาดมากยิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายและสินค้าเป็นที่นิยมในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดระยอง เช่น ทุเรียนทอดกรอบ เครื่องเงิน จังหวัดชลบุรี เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน ข้าวกล้อง สบู่เปลือกมังคุด จังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ หมูแท่งอบกรอบ เป็นต้น โดยมีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. , สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และเอกชน ทำหน้าที่ วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพในระดับมาตรฐานมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับนวัตกรรมใหม่ โดยผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นจะช่วยสนับสนุนยอดขายสินค้าชุมชนให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% , ผลักดัน GDP ระดับชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% และเศรษฐกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น 20% ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค นักท่องเที่ยวได้สินค้าชุมชน และบริการที่มีคุณภาพ จูงใจให้กลับมาท่องเที่ยวซ้ำ สร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนในพื้นที่ อีอีซี ระยะยาวต่อไป

    4. รถไฟความเร็วสูงฯ ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เอกชนได้รับความเป็นธรรม

    ที่ประชุม กบอ. รับทราบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาฯได้ร่วมกับ รฟท. และเอกชนคู่สัญญากำลังดำเนินการอยู่ มีรายละเอียดดังนี้

      1) กระทรวงคมนาคมให้เอกชนสร้างส่วนทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญา โดยไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐ
      2) การบรรเทาผลกระทบโควิด 19 อย่างเหมาะสมให้กับเอกชน ซึ่งแม้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมา แต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าสิทธิ์เป็นสำคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วก่อนดำเนินการ โดยภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมต่อภาคเอกชนบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในโครงการฯ ร่วมกัน
      3) การส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ปัจจุบัน รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ หรือ เกือบครบทั้งหมด 100 % คงเหลือพื้นที่ส่งมอบเพียง 20 ไร่ หรือประมาณ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ รฟท. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565

    5. เมืองการบินภาคตะวันออก: สนามบินอู่ตะเภา ที่ประชุม กบอ.รับทราบความก้าวหน้า ดังนี้

      1) การจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง ซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมง เป็นเขตปลอดอากร และสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี รวมทั้งจะมีการสนับสนุนด้านการออก VISA และใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 ปี สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก
      2) การจัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด (EEC Airport Asset Development Co.,Ltd : EAD) โดยมีอีอีซีถือหุ้น 100% เพื่อให้เป็นหน่วยงานพัฒนา MRO ร่วมกับภาคเอกชน โดยการทำงานจะมีการประสานงานใกล้ชิดกับบริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ในการพัฒนาสนามบินให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกโดยสมบูรณ์

    สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง บริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด หรือ ‘EAD’ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การจัดตั้ง บริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด มีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน (ATZ) ในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สกพอ. ซึ่งอยู่นอกเหนือพื้นที่ของภาคเอกชนเอกชนที่ได้รับสิทธิ์พัฒนาตามสัญญาร่วมลงทุน โดยจะเร่งดำเนินการพัฒนาธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในพื้นที่ ATZ ให้ทันต่อการเปิดให้บริการสนามบิน เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาสามารถให้บริการแก่สายการบินได้อย่างครบวงจร ยกระดับเป็นสนามบินระดับโลก และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของกระทรวงคมนาคม ซึ่งการพัฒนาธุรกิจดังกล่าวจำเป็นต้องใช้บุคคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อที่จะสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และดึงดูดนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมการบินให้สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้

    2. ในอนาคต EAD ยินดีร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งพื้นที่ ATZ จะมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้เอกชนที่สนใจสามารถเช่าพื้นที่ เพื่อประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้

    3. เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ คล่องตัว และสามารถตอบสนองต่อสภาวะและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการบินได้อย่างทันท่วงที จึงจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เป็นนิติบุคคลใหม่ประเภทบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย สกพอ. ถือหุ้นใหญ่ 99.99% และ สกพอ.ยังคงมีสิทธิ์ หน้าที่ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในฐานะคู่สัญญาตามเดิม โดย EAD ให้การสนับสนุนในการบริหารสัญญา

    4. ในส่วนสัญญาร่วมลงทุน สกพอ. ยังคงเป็นคู่สัญญากับเอกชนเช่นเดิม โดยยังคงรับผิดชอบกำกับดูแลและบริหารสัญญา ซี่งในโครงสร้างยังคงมีคณะกรรมการกำกับดูแลและคณะกรรมการบริหารสัญญา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กำกับดูแลตามกฎมาย