ThaiPublica > เกาะกระแส > SET เผยแผน 3 ปียกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน เปิดรับฟังความเห็น Naked Short ก.พ.นี้

SET เผยแผน 3 ปียกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน เปิดรับฟังความเห็น Naked Short ก.พ.นี้

21 มกราคม 2024


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก้าวสู่ปีที่ 50 โดยกำหนดแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2567-2569) มุ่งสร้างตลาดทุนไทยที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Delivering Market Quality x Growth) ยกระดับความเชื่อมั่นด้วยการพัฒนาระบบและนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการป้องปรามการกระทำผิด ปกป้องผู้ลงทุน รวมทั้งติดตามคุณภาพบริษัทจดทะเบียน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยและสนับสนุนบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาจดทะเบียน ดึงดูดผู้ลงทุนผ่าน In-bound / Out-bound roadshow พร้อมทั้งสนับสนุน SMEs / Startups ผ่าน LiVE Platform พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานระดับโลกเพื่อเป็น Platform ในการขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระสำคัญของตลาดทุนไทยและประเทศสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายในปี 2050

วันที่ 19 มกราคม 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2567-2569) โดยดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย ดร.ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดร.ภากร เปิดเผยว่าท่ามกลางความท้าทายและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะการกำกับดูแลให้ตลาดทุนมีความโปร่งใสและเป็นธรรม (Market Integrity) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยเพิ่มการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ไปจนถึงการเพิกถอน โดยทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน พร้อมเสริมศักยภาพการแข่งขัน สร้างความน่าสนใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งการระดมทุนและการลงทุน สร้างโอกาสแก่ผู้ร่วมตลาดทุน รวมทั้งขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ พร้อมก้าวสู่ปีที่ 50 พัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ผ่านแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567-2569 “สร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน” ใน 3 ด้านหลัก 1) ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน 2) เสริมศักยภาพการแข่งขัน 3) สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

“แผนงานของเราในปีนี้ให้ความสำคัญกับการยกระดับความเชื่อมั่น เพราะมีความกังวลต่อการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน high frequency trading ว่าเรากำกับดูแลอย่างไรบ้าง เราให้น้ำหนักกับการทำงานในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สองตลาดต้องมีประสิทธิภาพต้องแข่งขันได้ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เราจะส่งเสริมศักยภาพ และเรื่องที่สามจุดแข็งของตลาดไทยว่าน่าลงทุน คือ การขับเคลื่อนความยั่งยืน”ดร.ภากรกล่าว

ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน

ดร.ภากรกล่าวต่อว่าตลาดหลักทรัพย์จะเสริมสร้างคุณภาพและเครื่องมือในการปกป้องผู้ลงทุน โดยพัฒนาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์และติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการจัดทำระบบ Financial Data Health Check และ Surveillance Prevention and Analytics (SPA) รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร เช่น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียน และนำมาใช้ประมวลผลได้อย่างรวดเร็วขึ้น

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง กล่าวเสริมว่า ในแง่การยกระดับความเชื่อมั่น ในปีที่ผ่านมาได้มีการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีกฎเกณฑ์ต่างๆที่ดีขึ้น ตลาดฯจะพัฒนาเครื่องมือให้ทันกับสถานการณ์และเหตุการณ์ โดยเรื่องแรกจะพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่รวบรวมงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนเรียกว่า Financial Data Health Check เพื่อที่จะดูว่า ข้อมูลที่ส่งเข้ามานั้นมีสิ่งผิดปกติ ที่จะต้องดำเนินการหรือไม่ และให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มกรณีมีเหตุสงสัย ส่วนด้านการซื้อขาย ในการแจ้งเตือนจากปัจจุบันที่ได้นำ AI เข้ามาใช้อยู่แล้ว ปี 2567 ก็จะเพิ่มเติมในเรื่อง Surveillance Prevention and Analytics ระบบแจ้งเตือนที่จะนำไปสู่การดำเนินการ

“โดยในส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนจะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จากกรณีตราสารหนี้ก็จะประสานกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อจะได้วิเคราะห์เพิ่มเติม ในเบื้องต้นจะเป็นเครื่องมือที่ตลาดหลักทรัพย์ฯใช้เองก่อน และหากมีตรงไหนที่จะใช้ได้ ก็จะพิจารณาเผยแพร่และให้นักลงทุนใช้ได้” นางสาวปวีณากล่าว

ดร.ภากรอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวคิด Financial Data Health Check คือ การให้ข้อมูลมากขึ้น โดยที่ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลในงบการเงิน เพียงแต่ทำให้นักลงทุนได้รับข้อมูลนี้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯอาจจะรอเป็นรายงวด แต่สิ่งที่จะปรับในอนาคตคือ แทนที่จะต้องรอทุกไตรมาส แต่จะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ แบบรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ โดยสิ่งที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูล คือ ตัวเลขเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือเมื่อเทียบกับคู่เทียบ ซึ่งตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะบ่งชี้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ตลาดหลักทรัพย์ฯตระหนักว่าการออกกฎกำกับต่างๆ แม้ว่าจะเป็นเกณฑ์ที่ดีก็ไม่สามารถทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกปัจจุบันได้

ขณะที่ดร.ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย กล่าวถึงการปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนว่า จะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจจับข่าวปลอมหลอกลงทุนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อเตือนผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายงานไปยัง Anti-Fake News Center ในการดำเนินการเตือนสาธารณชนต่อไป นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบที่จะแจ้งไปยังผู้ประกอบการสื่อโซเชียลในการนำข่าวปลอมออกและปิดเพจปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่มากขึ้น คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

เสริมศักยภาพการแข่งขัน

เพิ่มความน่าสนใจดึงดูดการลงทุน

ในด้านSupply side นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ กล่าวว่า สนับสนุนบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Target industries) เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตร พร้อมนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งบริษัทที่จะระดมทุนและบริษัทจดทะเบียน เช่น One Report และ Digital IPO System และสนับสนุนการทำงานของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนา LiVE Platform ให้ผู้ประกอบการ SMEs / Startups สามารถเข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และเข้าใช้งานง่าย นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียนเพื่อดึงดูดผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศผ่านการทำ In-bound / Out-bound roadshow

“สี่เรื่องที่เราจะทำเป็นเรื่องหลัก เรื่องแรกคือการพัฒนากฎระเบียบ เรื่องที่สองคือการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่และนักลงทุนได้เห็นข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น เช่น Financial Health Check ทั้งของ SET และ Mai หรือ Live Platform ที่ช่วยให้ตรวจสอบตัวเองว่ายังห่างกับอุตสาหกรรมแค่ไหน ส่วนของ SET กับ Mai ในเบื้องต้นเพื่อเจ้าหน้าที่ได้เจาะลึกลงไปในงบการเงินว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เป็นการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ไปในตัวว่าควรเข้าติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดในแง่บริษัทจดทะเบียนจากข้อมูล และยังมีเครื่องมืออื่นที่อยากจะพัฒนาเพื่อให้นักลงทุนให้มีข้อมูลในเรื่อง ESG Data Platform เรื่องที่สาม การพัฒนากระบวนการ process คือการทำให้ บริษัทจดทะเบียนสามารถติดต่อสื่อสารหรือการทำกิจกรรมในแง่องค์กรเช่น XD, XR ผ่านตลาดฯได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้ข้อมูลมีคุณภาพ และเรื่องที่สี่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัโดยในดการข้อมูล นำมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนากฎระเบียบในอนาคตเพื่อให้สอดคล้อง และมีเสถียรภาพในการกำกับดูแลมากขึ้น ตลอดจนการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจที่อยู่ในส่วนของตลาดแรก ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุน การตรวจสอบ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ได้รู้ว่าจุดอ่อน จุดบกพร่องอยู่ตรงไหน”

สำหรับ Live Platform ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็น SME กว่า 3,000 ราย แต่มีเพียง 4 รายที่เข้าจดทะเบียน

ในปี 2567 มี IPO ยื่นใหม่เข้าตลาด 40 บริษัท ทั้ง SET และ Mai อย่างละครึ่ง และมีการยื่นเพื่อเข้าจดทะเบียนใน Live Exchange เพิ่มอีก 3 ราย ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ยื่นเข้ามามาก คือ ภาคบริการ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน รองลงมาคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และอันดับสามคือ ภาคการผลิต โดย 11 บริษัทในบริษัทที่ยื่นเข้ามา นับว่าเป็น new economy แต่ไม่ได้ยื่นเข้ามาด้วยเกณฑ์ new economy โดยเป็น เมดิคอล ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และเชื้อเพลิงชีวภาพ

ในด้าน Demand side ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ กล่าวว่า เพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้เหมาะสมกับผู้ลงทุนแต่ละกลุ่ม (More Choice) โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะของผู้ลงทุนรุ่นใหม่ เช่น Small Size Thai Share รวมถึงสภาวะตลาดเพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยง เช่น Inverse ETF เตรียมพร้อมขยายระยะเวลาการซื้อขายหลักทรัพย์ ปรับปรุงการพัฒนาดัชนีใหม่ ๆ การทำให้การเข้าถึงตลาดทุนเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (More Streamline) ทั้งการเปิดบัญชีซื้อขายที่สะดวกรวดเร็ว และพัฒนาช่องทางที่เข้าถึงการลงทุนที่ง่ายขึ้นและรองรับการซื้อขายสินทรัพย์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ จะมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชนในวงกว้างผ่านโครงการต่างๆ พร้อมให้ความรู้เชิงลึกเพื่อเพิ่มทักษะแก่ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน

“ปัจจุบันมีนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์จำนวน 5.5 ล้านบัญชี และคิดเป็นจำนวนนักลงทุน 2.5 ล้านคน แนวโน้มเป็น Gen Y กับ Gen Z มีจำนวนมากเพิ่มขึ้นจากราว 10% เป็น 30% ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนที่เข้าใจการลงทุน ดังนั้นระบบการซื้อขายจะต้องรองรับทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ต้องทำให้การเปิดบัญชีง่ายขึ้น อีกทั้งมีการกระจายสินทรัพย์ จึงต้องการซอฟต์แวร์ในการลงทุนต่างจากนักลงทุนรุ่นเก่า นักลงทุนรุ่นใหม่ยังใช้แอพลิเคชันในการซื้อขาย จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นทางเลือก”ดร.รินใจกล่าว

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ขยายความร่วมมือในรูปแบบพันธมิตรทั้ง IT Service และ Data Solution

ในปีที่ผ่านตลาดหลักทรัพยฯได้จ้าง IT outsource จำนวนมาก แต่ในปีนี้จะยกระดับขึ้นเป็น IT Partnership กับบริษัทเอ้าท์ซอร์ส ซึ่งจะช่วยให้ได้รีซอร์ส(resource) เข้ามาเมื่ออุตสาหกรรมมีโครงการเร่งด่วนก็จะสามารถสนับสนุนความต้องการได้เร็วขึ้น นอกจานกี้ยังพิจารณาจะมี Data Partnership ซึ่งปัจจุบันหลายตลาดก็ได้ใช้รูปแบบนี้ ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี ที่จะนำข้อมูลตลาด(Market data) ไปวางในแพลตฟอร์มของบริษัท เช่น แอมะซอน กูเกิล เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาได้

ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเริ่มสำรวจว่ามีข้อมูลส่วนไหนของตลาด ี่สามารถนำไปวางในแพลตฟอร์มนั้น เพื่อให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางมากขึ้น

สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร กล่าวถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนว่า มีสองแนวคิดหลักได้แก่ เรื่องแรกการเป็น Enabler ให้บริษัทจดทะเบียน บริษัทกองทุนต่างๆ ปรับรับความท้าทายและใช้โอกาสจากกระแสความยั่งยืน เรื่องที่สองคือ การยกระดับกระยวนการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯสู่ความยั่งยืน

ในด้านแรก จะเป็นการสนับสนุน 3 ด้านคือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)

ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) มุ่งให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ SET ESG Academy และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ESG ผ่านโครงการ Climate Care Collaboration Platform และ SET Carbon ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดจาก ESG Data Platform นอกจากนี้ จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการยกระดับ SET ESG Assessment สู่มาตรฐานระดับโลก

“ด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมามุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งปัจจุบันทุกคนทราบแล้ว ขั้นต่อไปซึ่งยาก คือ การลงมือทำ How to เราก็มีบริการช่วยให้บริษัทจดทะเบียนได้ปรับตัว ทั้งมีไกด์ไลน์จากบริษัทที่ทำแล้วสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางให้บริษัทที่เริ่มทำ รวมถึงบริษัทที่ต้องการจะทำในขั้นที่สูงขึ้น เช่น อยากจะเข้าดัชนีสำคัญของโลก ก็มีการจัดเวิร์คชอปให้ และมีบริษัทจำนวนมากต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทำเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้บริษัทเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้ประโยชน์จากความยั่งยืนมากขึ้น” ดร.ศรพลกล่าว

ดร.ศรพลกล่าวว่า จากบริษัทจดทะเบียนที่มีจำนวน 800 บริษัท ประมาณ 74% หรือกว่า 600 บริษัทเปิดเผยข้อมูล ESG แล้ว และในจำนวนนี้ 200 บริษัทเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน และมีเพียง 55 บริษัทที่ทเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน ที่เป็นข้อมูลที่ได้รับการรับรองจากบุคคลภายนอกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกหรือ อบก. ยอมรับ และเป็นบริษัทที่เปิดเผยเป้าหมายว่าจะลดลงเท่าไร

“มีบริษัทจำนวนมากที่ต้องการจะทำ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุน ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำให้ปีนี้ คือ การมีเครื่องคำนวณคาร์บอนมาตรฐานที่สามารถนำไปใช้ได้ หรือที่เราเรียกว่า SET Carbon” ดร.ศรพลกล่าวและว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯจะพัฒนา ESG Data ระยะที่สาม มีจำนวนข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการรายงาน ตามาตรฐานที่เข้มข้นมากขึ้น และขับเคลื่อน ESG Academy ต่อเนื่อง

ด้านสังคม (Social) มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยเชื่อมโยงธุรกิจครอบครัวสู่ LiVE Platform ให้มากขึ้น รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนให้กับกลุ่ม Multi-jobber & Freelance

“เราจะให้ความรู้ต่อเนื่องเพราะหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ปีที่แล้วตลาดฯได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มคือ happy young old คนที่มีอายุ 45-55 ปี ซึ่งพบว่า คนเกษียณไปแล้วมีเงินก้อนแต่ถูกหลอก ซึ่งมีคนเข้ามาอบรวมแล้วกว่า 6,000 คน ส่วนปีนี้จะเพิ่มกลุ่ม multi-jobber กลุ่มคนอาชีพอิสระ เช่น ไรเดอร์ Grab, Uber, shopee ซึ่งทำงานหลายที่แต่ไม่มีเงินเกษียณ เราจะทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทเพื่อถ่ายทอดให้ความรู้” ดร.ศรพลกล่าว

ส่วนอีกด้านที่จะทำต่อเนื่องคือธุรกิจครอบครัว ปัจจุบันบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 800 บริษัท 57% ของจำนวนบริษัทเริ่มจากธุรกิจครอบครัว บางบริษัทก็ยังเป็นธุรกิจครอบครัวอยู่ มูลค่าตลาด(Market Capitalization) คิดเป็น 43% ส่วน IPO ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 60-70% เป็นบริษัทที่เริ่มต้นเริ่มจากธุรกิจครอบครัว

“ธุรกิจครอบครัวสำคัญกับประเทศอย่างมาก และสำคัญกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 57% สร้างงาน 900,000 ตำแหน่ง เคยมีคำพูดที่ว่า ธุรกิจครอบครัวอยู่ได้แค่ 3 รุ่น ซึ่งไม่รู้ว่าคำพูดนี้เป็นจริงหรือไม่ แต่ถ้าเป็นจริงก็จะเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวสำหรับประเทศและตลาดทุน เพราะโลกเปลี่ยนเร็วแล้วตามไม่ทันหรือไม่ หรือเพราะมีปัญหาการวางตัวผู้สืบทอด succesion plan” ดร.ศรพลกล่าว

ด้านบรรษัทภิบาล (Governance) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุนและการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสนับสนุนให้มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน

ขณะเดียวกัน กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation) พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance)

สรุปพัฒนาการสำคัญตามแผนงานปี 2566
1) สร้างโอกาสการระดมทุนและลงทุน

  • หุ้น IPO มีมูลค่าระดมทุน 38,260 ล้านบาท สูงสุดอันดับ 7 ในเอเชีย โดยมี 12 บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy
  • ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2566 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 53,331 ล้านบาทต่อวัน
  • TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 534,898 สัญญา
  • เพิ่ม 11 สินค้าที่อ้างอิงหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ฮ่องกง ยุโรป อเมริกา (รวม 23 หลักทรัพย์) SMEs / Startups กว่า 3,000 รายเข้าร่วม
  • LiVE Platform และมี 4 บริษัทจดทะเบียนใน LiVEx ผลักดันจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG Fund) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

    2) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและรักษาความน่าเชื่อถือตลาดทุน

  • SET CONNECT เปลี่ยนระบบซื้อขายใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่เป็นมาตรฐานสากล มีประสิทธิภาพสูง
  • TDX เปิดซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เรียลเอ็กซ์ (RealX) เป็นสินค้าแรก
  • สนับสนุนการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนผ่าน ESG Data Platform โดยมี 658 บริษัทเข้าร่วม (74% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด)
  • ยกระดับกระบวนการกำกับดูแลทั้ง 5 ขั้นตอน
      1.Listing: เพิ่มคุณสมบัติบริษัทเข้าจดทะเบียน
      2.Ongoing Obligations: เพิ่มการกำกับดูแล บจ. ที่มีปัญหาด้านผลการดำเนินงาน โดยเพิ่มเหตุ C-sign
      3.Trade Surveillance: เพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ และศึกษาแนวทางการจัดตั้ง “Securities Bureau”
      4.Delisting: เพิ่มเหตุในการถูกเพิกถอน
      5.Escalation to Public: ให้ บจ. เปิดเผยข้อมูลเพิ่มกรณีมีเหตุสงสัย และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ข้อมูลกรณีการซื้อขายร้อนแรง รวมทั้งเปิดเผยข้อมูล Program trading

    3) พัฒนาตลาดทุนเพื่อสังคมและประเทศ

  • 28 บริษัทจดทะเบียนอยู่ในดัชนี DJSI มากที่สุดในอาเซียน และมี 40 บริษัทอยู่ใน ESG Rating ของ MSCI ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากในอาเซียน
  • จัดทำ “คู่มือการใช้สัญญามาตรฐานสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต” แก่บริษัทจดทะเบียนและสร้าง ESG partners ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
  • ประกาศเป้าหมาย Net-Zero Commitment ในปี 2050 และเข้าร่วมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD)
  • ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงิน / การลงทุนแก่คนไทยและธุรกิจ ผ่านโครงการ Happy Money, รู้สู้หนี้, LiVE Platform และ Family Business
  • ร่วมมือกับพันธมิตร องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ จับปลอมหลอกลงทุน”
  • เสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม โดยมี 51 business co-creation ระหว่างพันธมิตรภาคธุรกิจและ Social Enterprise

    สรุปผลศึกษา Naked Short-selling ต้น ก.พ.พร้อมเปิดรับฟังความเห็น

    ในช่วงให้ซักถามได้มีคำถามจากสื่อมวลชนถึงการยกระดับความเชื่อมั่นว่า นอกเหนือจากการปกป้องผู้ลงทุน การกำกับดูแล อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการเอาผิดกับผู้กระทำผิด บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯในแง่การทำกระบวนการให้สั้นลง เพื่อไม่ให้ย่ามใจในการเอาผลประโยชน์ จะดำเนินการอย่างไร

    ดร.ภากรกล่าวว่า สำหรับการจับผิดผู้กระทำผิด อย่างแรกต้องมีการดำเนินการเชิงป้องกัน preventive ให้ได้มากที่สุดก่อนการกระทำผิด อย่างที่สอง ต้อง Escalate ยกเรื่องขึ้นมาว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ผิด และอย่างที่สาม prosecute ซึ่งหากจะแก้ไขต้องแก้ไขทั้งสามเรื่องนี้

    “ในด้าน Escalation เกี่ยวเนื่องกับที่เราพยายามให้ข้อมูลมากขึ้น ทำอย่างไรให้เหตุการที่จะถูกโกงเกิดขึ้นยากที่สุด ตั้งแต่แรกเลย อันที่สอง ต้องเตือน ด้วยการให้ข้อมูล เช่น การที่บอกว่าบริษัทจะต้องทำอะไรบ้าง ส่วนเรื่องที่สาม prosecution เรากับหน่วยงานที่กำกับดูแล พยายามทำงานร่วมกันเพื่อที่จะให้ระยะเวลาในการฟ้องร้องเร็วที่สุด แต่ไม่ได้ง่ายแต่คดีอาญาเป็นการพิสูจน์ความผิด และต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบกันยาวมาก ส่วนขั้นตอนในทางแพ่งทำได้เร็วขึ้น แต่ในมุมมองของผมยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เกิดความขยาด ไม่กล้าทำในอนาคต” ดร.ภากรกล่าว

    ดร.ภากรกล่าวว่า สิ่งที่เห็นมากขึ้นคือความร่วมมือของหน่วยงานกำกับ ไม่ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ซึ่งดีขึ้น เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีความสำคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯก็หวังว่า จะสามารถดำเนินการในขั้นที่สาม prosecution ได้เร็วขึ้น

    นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล เสริมว่า บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ เป็น market place ไม่ได้เป็น regulator แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการประสานงานกับสำนักงานก.ล.ต. เมื่อพบความผิดเกิดขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งเป็น front line ใน market place มีโอกาสที่จะเห็นผู้กระทำความผิด แต่ไม่ใช่ตำรวจที่จะเข้าไปจับ สิ่งที่งตลาดหลักทรัพย์ฯทำคือบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าพบผู้กระทำความผิด

    “สิ่งที่เราทำคือ ประสานความร่วมมือกัน ส่งข้อมูล ให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในการที่จะเข้าไปดำเนินการ ย้อนกลับไปในกรณีของ MORE สิ่งที่เราทำให้คือให้ข้อมูลของผู้ที่เข้ามาทำความผิด มาซื้อขายหลักทรัพย์ สิ่งที่เราทำคือประสานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) ส่งข้อมูลให้ บก.ปอศ. ส่งข้อมูลให้ ก.ล.ต. ดังนั้นจะเห็นว่ากระบวนการ enforcement ไม่ได้อยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เป็นจุดเริ่มในการส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เราจะพยายามทำให้เร็วที่สุดและพยายามทำงานร่วมกันมากขึ้น” นายรองรักษ์ กล่าว

    คำถามต่อมา คือความคืบหน้าของการนำระบบ Auction และ Auto Halt เข้ามาใช้ ดร.ภากรกล่าวว่า เป็นการศึกษาในเบื้องต้น ซึ่งได้หารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า ด้วยระบบใหม่ที่มี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถทำอะไรได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เพราะระบบซื้อขายใหม่มีฟีเจอร์ส( features) มากกว่าที่เคยใช้ เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถที่จะ facilitate การปรับไปในทางนั้นได้ดีขึ้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะอยู่ระหว่างการศึกษาและหารือกับอุตสาหกรรม เพื่อกลับไปเสนอก.ล.ต.อีกครั้งหนึ่ง

    “ถามว่ามีความเป็นไปไหม มี แต่ถามว่าเมื่อไร ตลาดหลักทรัพย์ฯจะแจ้งความคืบหน้าในระยะต่อไป เนื่องจากทั้งสองเรื่องไม่ใช่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำคนเดียว แต่อุตสาหกรรมต้องปรับตัว เพราะมีกฎระเบียบ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกมาก” ดร.ภากรกล่าว

    คำถามต่อมา คือการว่าจ้างโอลิเวอร์ ไวแมน(Oliver Wyman) บริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศ เข้ามาทำการศึกษาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ตลาดหุ้นไทย ดร.ภากรกล่าวว่า มีผลออกมาที่น่าสนใจหลายด้าน ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยน่าจะสามารถรองรับการซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิด naked short-sell สนับสนุนให้เกิด program trading ที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงอย่างแน่นอน และคาดว่าจะได้รับผลในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะ รวมทั้งสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องดำเนินการในระยะสั้น กลาง และยาว

    “สิ่งที่พบ โอลิเวอร์ ไวแมน ไม่ได้แค่มองว่า เรากำลังทำอะไร อย่างไร แต่เปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั้งที่ใกล้เคียง และประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ว่าทำเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรบ้าง ซึ่งผลที่ออกมาน่าสนใจมาก ตอนนี้ยังทำได้ไม่ครบ มีเพียง ตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาด Nasdaq ยังมีของเกาหลี ยังมีของไต้หวัน ของอินโดนีเซียที่เราจะต้องไปดู” ดร.ภากรกล่าว

    คำถามต่อมาความคืบหน้าของเปิดรับฟังความคิดเห็น การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียนที่เป็น investment company เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยในด้านการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ จะกำหนดให้เปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของทุนชำระแล้ว แต่ไม่น้อยกว่า 10 ราย จากปัจจุบันเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์รายใหญ่หรือรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ 10 รายแรก โดยจะใช้กับบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์เพื่อการลงทุน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

    ดร.ภากรกล่าวว่า “การที่จะเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์มากขึ้นเป็นแสดงให้เห็นว่าหุ้นถูกควบคุมด้วยใคร จะสามารถ manipulate อย่างไรได้บ้าง ยิ่งมีข้อมูลมาก เราจะยิ่งสามารถใช้ในการตัดสินใจได้ว่า IPO อันนี้เหมาะกับเราไหม เราต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และองค์กรที่จะต้องตัดสินใจในอนาคตจะมีหลากหลายมากขึ้น อยากได้ข้อมูลอะไร เราจะพยายามทำให้ข้อมูลเยอะที่สุด โลกการเงินในอนาคตต้อง preventive และใช้ข้อมูลเยอะ”

    สำหรับการได้รับการแจ้งเบาะแสข้อมูลการทำ naked Short จำนวน 4 เคส ดร.ภากรกล่าวว่า เมื่อเข้าไปตรวจสอบแล้วในทุกเคสไม่พบว่ามีการทำ naked short เกิดขึ้น เป็นการขายจากผู้ที่มีหุ้น และเป็นการขายอย่างถูกต้อง “ถ้ามีข้อมูลแจ้งเข้ามา ตลาดหลักทรัพย์ฯตรวจสอบให้หมด และเป็นการตรวจสอบแบบ trade by trade ถ้ามีหลักฐานส่งมาเราจะตรวจให้ แต่ตอนนี้เท่าที่ส่งมายังไม่พบเลย”