มูลค่าตลาดความงามไทยเกือบแตะแสนล้านบาท เติบโต 2.3 – 3.6% แต่เป็นรอง ‘เกาหลี’ เพราะรัฐไทยยังไม่สนับสนุนอย่างจริงจัง
วันที่ 22 มกราคม 2566 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดงานสัมมนาแฟล็กชิปประจำปี KKP YEAR AHEAD 2024 เพื่อฉายภาพทิศทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การลงทุน ตลอดจนวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำคัญให้แก่ลูกค้าของกลุ่มธุรกิจฯ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของ KKP ตลอดจนวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายสาขา มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหลากหลายเวทีภายใต้ตีม “เส้นทางสู่ความมั่งคั่ง (Pathway to Prosperity)”
การสัมมนาในหัวข้อ The Future Trends of Thailand’s Aesthetic Surgery Industry ทิศทางและอนาคตอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามของประเทศไทย มีวิทยากรคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) นายแพทย์คงศักดิ์ เตชะวิบูลย์ผล กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน)
โดยได้ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีเม็ดเงินในอุตสาหกรรมความงามสะพัดกว่า 87,000 ล้านบาท เติบโต 2.3 – 3.6% ต่อปี และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2027 มูลค่าตลาดจะเติบโตไปถึง 193,000 – 248,000 ล้านบาท
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องความงาม-ศัลยกรรม ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทำให้คนหลายประเทศทั่วโลกยอมบินมาประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายรองอย่าง กัมพูชา ลาว และเมียนมา อย่างไรก็ตาม ‘คนไทย’ ยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมในประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ค่อยมาใช้บริการในไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ข้อมูลจากแพทยสภา ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งประเทศ 75,199 คน แบ่งเป็น เพศชาย 40,539 คน และเพศหญิง 34,660 คน และในจำนวนนี้มีแพทย์ด้านศัลยศาสตร์ 3,754 คน คิดเป็น 4.99% ของจำนวนแพทย์ทั้งประเทศ ทั้งนี้ ตัวเลขแพทย์ 3,754 คนที่แพทยสภารายงาน หมายถึงแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังไม่ได้นับบุคลากรด้านอื่นๆ ในวงการ

ปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตมาจากค่านิยม ‘ความงาม’ และความมั่นใจในตัวเอง บวกกับการได้รับการยอมรับจากสังคม นอกจากนี้จำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบนวัตกรรมความงามที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต
ค่านิยมความงามของคนไทย แบ่งได้ตามเพศสรีระ ตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้
เพศหญิง
- จมูก
- ตา
- ยกกระชับใบหน้า
- ดูดไขมัน
- หน้าอก
เพศชาย
- จมูก
- ตา
- โบท็อก ทรีตเม้นต์หน้า ร้อยไหม
- ปลูกผม
- เพิ่มขนาดอวัยวะเพศ
แต่จุดที่ทำให้อุตสาหกรรมความงามไทยเป็นรองประเทศเกาหลี ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ของโลก สัดส่วน 25% คิดเป็นเม็ดเงิน 130,000,000,000 ล้านบาท คือ ความนิยม จำนวนแพทย์ และการสนับสนุนของภาครัฐที่ยังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เริ่มจากค่านิยมคนเกาหลี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยค่านิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนเกาหลีมองว่าการทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องแปลก คนหน้าตาดีมีโอกาสมากกว่า พ่อแม่ สนับสนุนให้บุตรหลานทำศัลยกรรม และความเชื่อด้านโชคลาง
ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในมิติ Soft Power หรือการส่งออกวัฒนธรรมผ่านซีรีย์และภาพยนตร์ไปทั่วโลก นับเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
กลับมาที่ประเทศไทย ทุกวันนี้ภาคเอกชนยังเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน ดังนั้น หากภาครัฐเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังจะช่วยให้อุตสาหกรรมความงามไทยเติบโตได้มากกว่าเดิม โดยสิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ ดังนี้
- จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำศัลยกรรมความงาม
- สนับสนุนอาชีพด้าน agency ให้เป็นรูปธรรม
- สนับสนุน visa ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจทำศัลยกรรม
- จัดงานที่เกี่ยวข้องให้ตรงกลุ่มเป้าหมายของประเทศต่างๆ