ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาล รธน.ชี้ ‘พิธา – ก้าวไกล’ ชูแก้ ม.112 หาเสียง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ศาล รธน.ชี้ ‘พิธา – ก้าวไกล’ ชูแก้ ม.112 หาเสียง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

31 มกราคม 2024


ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยกรณี ‘พิธา – ก้าวไกล’ ชูนโยบายแก้ ม.112 หาเสียง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ฯ สั่งผู้ถูกร้องหยุดแสดงความเห็นทั้งหมด

เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านผลการวินิจฉัยในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 19/2566) โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ..เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง แล้ว อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ผู้ถูกร้องยื่นคำร้อง ขอขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา จำนวน 2 ครั้งๆ ละ 30 วัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ข้อมูลและพยานหลักฐานของบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือ ความเห็นของพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก รวมทั้งไต่สวนพยานและรับคำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ถูกร้องทั้งสองรวมไว้ในสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า “การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74”

อ่าน ข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2567 ที่นี่

ก้าวไกลกังวลกระทบความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ-สิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน

ด้านพรรคก้าวไกลแถลง กังวลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก่อปัญหาดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์ ชี้ไม่ได้กระทบแค่พรรคก้าวไกล แต่กระทบความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ-สิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน

ในวันเดียวกันที่รัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่าการกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จากการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง โดยสั่งการให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74

นายชัยธวัช กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด นอกจากนี้ พวกเรายังกังวลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาวอีกด้วย

เช่น อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต อาจกระทบต่อความเข้าใจและการให้ความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการสำคัญของระบอบการเมืองไม่มีความชัดเจนแน่นอน สิ่งที่เคยกระทำได้ในอดีต ทั้งในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือในสมัยระบอบประชาธิปไตย อาจกลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้ในปัจจุบันและอนาคต กระทบการตีความว่าอะไรคือการล้มล้างการปกครอง อาจเกิดปัญหาที่พวกเราเข้าใจหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนไม่ตรงกัน มีความคลุมเครือทั้งในแง่การตีความข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนา

คำวินิจฉัยในวันนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองไทยในอนาคต อาจทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยในการหาข้อยุติความขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมในอนาคต

สุดท้าย คำวินิจฉัยในวันนี้อาจส่งผลกระทบให้ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง

“พรรคก้าวไกลขอขอบคุณทุกกำลังใจจากประชาชนที่ส่งมาให้พวกเราตลอดหลังจากมีการอ่านคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยในวันนี้จะไม่ได้กระทบเฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องของอนาคตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”