การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 เสร็จสิ้นลงในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ด้วยภาคี 198 ประเทศเห็นพ้องกับฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE Consensus)เพื่อเร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยข้อตกลงที่จะเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงเป้าหมายเฉพาะใหม่เพื่อเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3 เท่าและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2 เท่าภายในปี 2573
หนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ คือ การใช้พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ สามารถเป็นพลังงานทางเลือกที่เข้ามาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel)ได้ ปริมาณความต้องการพลังงานไฮโดรเจนจึงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
รายงาน Global Hydrogen Review 2023 ซึ่งเป็นรายงานประจำปีโดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ที่ติดตามการผลิตและความต้องการไฮโดรเจนทั่วโลก รวมถึงความคืบหน้าในด้านที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า นโยบาย กฎระเบียบ การลงทุน และนวัตกรรม ระบุว่า ความต้องการไฮโดรเจนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 แต่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในการใช้งานแบบดั้งเดิม การใช้ไฮโดรเจนทั่วโลกสูงถึง 95 ล้านตัน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และคาดว่าการผลิตไฮโดรเจนจะสูงถึง 38 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030
นายอะกิฮิโระ ออนโดะ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก (Mitsubishi Power Asia Pacific Pte. Ltd.) ให้ความเห็นในการให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า เชื่อว่า การบรรลุข้อตกลงที่จะเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emission) ในการประชุม COP28 จะส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฮโดรเจนมากขึ้น
“ข้อตกลงของ COP28 นับเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียวในเชิงพาณิชย์อย่างมาก และจากการที่ COP28 บรรลุข้อตกลงด้านพลังงานก็ทำให้ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เร่งเดินหน้าไปร่วมกับพันธมิตร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในด้านพลังงานสะอาด” นายออนโดะกล่าว
สำหรับประเทศไทยซึ่งได้ประกาศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ก็มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน ขณะเดียวกันแอมโมเนีย ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานยั่งยืน
นายออนโดะซึ่งประจำที่สำนักงานสิงคโปร์ให้ข้อมูลว่า บริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด(Mitsubishi Heavy Industries Ltd) เองก็ได้ประกาศ MISSION NET ZERO ซึ่งเป็นการตั้งเป้าที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานทั้งหมดภายในปี 2040 และเพิ่มเป้าหมายใหม่เพื่อให้บรรลุ Net Zero จากห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดภายในปี 2040 ซึ่งเร็วขึ้น 10 ปี และเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศส่วนใหญ่ที่ตั้งไว้ในปี 2050
ในระยะยาว มิตซูบิชิ พาวเวอร์ มุ่งมั่นในการนำเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ เช่น ไฮโดรเจนและแอมโมเนียมาใช้มากขึ้น
ในญี่ปุ่น มิตซูบิชิมีศูนย์หลักของเครื่องกังหันก๊าซตั้งอยู่ใกล้กับโอซาก้า โดยในศูนย์แห่งนี้ มีสายงานออกแบบและผลิต นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วมที่ใช้เครื่องกังหันก๊าซที่ได้รับการรับรองในเชิงพาณิชย์ในพื้นที่เดียวกัน โดยมีกำลังการผลิต 550 เมกะวัตต์
“โรงผลิตไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เราจ่ายไฟฟ้าให้กับบริษัทสาธารณูปโภคของญี่ปุ่นในช่วงที่มีความต้องการสูง ส่วนในช่วงที่มีความต้องการต่ำ เราก็นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในศูนย์ทดสอบและตรวจสอบ หลังจากตรวจสอบว่าสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้แล้ว เราก็นำเสนอนำเทคโนโลยีใหม่ให้กับลูกค้าของเรา ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการของศูนย์ทดสอบและรับรองของเราสำหรับระบบผลิตไฟฟ้าร่วมที่ใช้เครื่องกังหันก๊าซ” นายออนโดะกล่าว
ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว Takasago Hydrogen Park ซึ่งเป็นศูนย์ตรวจสอบไฮโดรเจนแบบครบวงจรแห่งแรกของโลก ได้เข้าสู่การดำเนินงานเต็มรูปแบบ Takasago Hydrogen Park แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การผลิตไฮโดรเจน การจัดเก็บ และการใช้
นายออนโดะกล่าวต่อว่า ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ได้ทำการทดสอบการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วม ซึ่งประสบความสำเร็จและสามารถรับรองการใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสม 30% กับก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์
“เรามีตั้งแต่การผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วม ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผสมกับเครื่องกังหันก๊าซรุ่นเก่าไปจนถึงรุ่นล่าสุด JAC ที่ช่วยในการเพิ่มกำลังการผลิต เราก็ยังมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วม 30% แม้ว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ก็ตาม แต่ก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 50% และเต็ม 100% ในที่สุด” นายออนโดะกล่าว
สิ่งที่ทำให้มิตซูบิชิ พาวเวอร์และมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ มีความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ในโซลูชันด้านพลังงาน นายออนโดะกล่าวว่า “สำหรับผมที่มีจุดเริ่มต้นจากญี่ปุ่น ซึ่งต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เราต้องมุ่งไปที่การใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆให้เป็นประโยชน์มากที่สุดและคุ้มค่า ไม่ว่าแหล่งพลังงานธรรมชาติ พลังงานจากพลังงานหมุนเวียน และเรามุ่งไปที่การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และการที่จะใช้พลังงานให้คุ้มค่าที่สุด เราต้องมุ่งไปที่การดูแลให้พลังงานนั้นมีราคาที่สมเหตุสมผลและวางใจได้”
เดินหน้ามีส่วนร่วมในภาคพลังงานของไทย
บริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก ให้บริการโซลูชั่นการผลิตไฟฟ้าทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย โดยในไทยให้บริการผ่านบริษัทในเครือของกลุ่มมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ ได้แก่ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ประเทศไทย และ มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ ประเทศไทย
กลุ่มมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ มีบทบาทด้านพลังงานในประเทศไทยกลุ่มบริษัทด้วยการเริ่มให้บริการโซลูชั่นการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2511 หรือกว่า 50 ปีมาแล้วนับตั้งแต่การสร้างเขื่อนสิริกิติ์ในปี 2511 ด้วยความร่วมมือพัฒนาพลังงานจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยรวมคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 25 กิกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของกำลังการผลิตในไทย การให้บริการดังกล่าวรวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Gas Turbine Combined Cycle Solutions หรือ GTCC เป็นระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วม ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ผสมผสานกระบวนการทำงานของ Gas Turbine (กังหันก๊าซ) เช่น โรงไฟฟ้าหนองฉาง อุทัยธานี โรงไฟฟ้าขนอม และโรงไฟฟ้าถ่านหินของ BLCP
“ช่วงแรกที่เราเข้ามาในประเทศไทย เริ่มต้นด้วยโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วมที่ใช้ทั้งน้ำมัน ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิง และเราก็ยังต้องการที่จะมีส่วนร่วมในด้านพลังงานของไทยต่อไป” นายออนโดะกล่าว
มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ ยังได้ร่วมลงทุนในรูปแบบ Joint Venture กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จัดตั้งบริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด (EGAT Diamond Service Co.,Ltd) เมื่อปี 2552 เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการ ซ่อมอุปกรณ์เครื่องกังหันก๊าซของระบบผลิตไฟฟ้า ทั่วประเทศไทย และต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมก๊าซธรรมชาติ หรือ GTCC ขนาด 5 กิกะวัตต์ ในจังหวัดระยองและชลบุรี โดยจากหน่วยผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 8 หน่วย ได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 6 หน่วย และมิตซูบิชิ พาวเวอร์ ภูมิใจเป็นอย่างมากที่ทั้ง 6 หน่วยผลิตนี้สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนดเวลา ไม่มีการล่าช้า แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการระบาดของโควิดก็ตาม และเป็นโรงไฟฟ้าที่มีสมรรถนะสูง
“ทั้งหมดคือการมีส่วนร่วมของเราในปัจจุบันในประเทศไทย และเราต้องการที่มีบทบาทสำคัญในประเทศไทยต่อไป ในการสร้างความสมดุลด้านความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน และเรามุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมกับการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย” นายออนโดะกล่าว
ในระยะสั้น มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ตั้งใจที่นำเสนอโซลูชัน Gas Turbine เครื่องกังหันก๊าซธรรมชาติรุ่นล่าสุด J-Series (JAC) ซึ่งเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงและเชื่อถือได้ ซึ่งมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 65% เมื่อเปรียบเทียบกับโรงงาน Coal-fired power plants เครื่องกังหันก๊าซ JAC รุ่นล่าสุดนี้มีความสามารถในการการเผาไหม้เชื้อเพลิงร่วมไฮโดรเจน 30%
“ด้วยเครื่องกังหันก๊าซ JAC รุ่นล่าสุดนี้ เราสามารถมอบโซลูชันการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สมเหตุสมผลและราคาไม่แพง ให้กับอุตสาหกรรมและตลาดไฟฟ้าของไทย” นายออนโดะกล่าว
พร้อมหนุนไทยบรรลุเป้า Net Zero ด้วยโซลูชันไฮโดรเจน
บริษัท มิตซูบิชิ พาวเวอร์ แบรนด์โซลูชั่นด้านพลังงานของบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด (MHI) ซึ่งให้บริการอุปกรณ์และบริการด้านการผลิตไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาค เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ก็พร้อมที่จะนำเสนอโซลูชันพลังงานที่สามารถนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
โดยในด้านพลังงานจากไฮโดรเจนนั้น นายออนโดะ มองว่า มีศักยภาพค่อนข้างสูงในประเทศไทย เนื่องจากในประเทศไทย 60% ของการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซเป็นหลัก
สำหรับประเทศไทย มิตซูบิชิ พาวเวอร์จะนำเสนอเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสม ที่ผ่านการทดสอบและตรวจสอบแล้วให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพและพันธมิตรในประเทศไทย โดยกำลังหารือกับ กฟผ. ภายใต้บันทึกความเข้าใจที่มีอยู่ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันในการใช้เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ไฮโดรเจน และแอมโมเนีย ร่วมกับการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage:CCS)
นอกจากนี้ยังมีกรอบการทำงานที่ในลักษณะเดียวกันกับบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล เพื่อศึกษาการใช้เชื้อเพลิงสะอาดและ CCS
สำหรับพลังงานแอมโมเนีย มิตซูบิชิ พาวเวอร์มีเทคโนโลยีที่สามารถเผาแอมโมเนียได้ถึง 100% สำหรับโรงผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กลงมาในขนาด 14 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) ในการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงร่วม สำหรับโรงผลิตไฟฟ้าเดิม
“เมื่อพิจารณาความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยเรื่องความเป็นกลางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 เราก็พร้อมที่นำเสนอความเชี่ยวชาญของเรา บวกกับโรดแมปภารกิจ net zero mission ภายในปี 2040 ของกลุ่มมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ เราพร้อมยิ่งกว่าพร้อมที่จะนำเสนอโซลูชั่นทางเทคนิคร่วมกับโซลูชันที่สามารถใช้ได้ในเชิงพาณิชย์” นายออนโดะกล่าว
นายออนโดะกล่าวว่า พลังงานไฮโดรเจนและแอมโนเนียเป็นแหล่งพลังงานระยะยาว เพราะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับใช้ได้ และประเทศไทยมีศักยภาพในระะยะยาวที่จะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
โดยชี้ว่า การผลิตไฟฟ้าแบบใช้เชื้อเพลิงผสมด้วยกังหันก๊าซระบายความร้อนด้วยอากาศรุ่น J-Series (JAC) ของมิตซูบิชิ พาวเวอร์ สามารถเผาไฮโดรเจน เป็นเชื้อเพลิงผสมได้ถึง 30% และยังรองรับการเพิ่มอัตราส่วนไฮโดรเจนขึ้นอีกในระยะต่อไปนั้น ทำให้ไม่ต้องสร้างโรงผลิตใหม่เพื่อแทนโรงผลิตเดิมที่มีอยู่เลย
โรงผลิตไฟฟ้าแบบเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและการทำงานของกังหันก๊าซในประเทศไทยนั้น ก็สามารถปรับมาใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างโรงผลิตไฟฟ้าใหม่ หากโรงผลิตเดิมเป็นระบบ co-firing อย่างไรก็ตามสำหรับโรงผลิตแบบ co-firing ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปต้องมีการปรับแต่ง (modify) ระบบเล็กน้อย เพราะระบบการผลิตที่ใช้กังหันก๊าซร่วมด้วยนั้นมีระบบเผาไหม้ (combusion) ในตัวเครื่องอยู่แล้ว ซึ่งระบบเผาไหม้ อาจจะต้องปรับแต่งเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างใหม่แล้วการปรับแต่งระบบบางส่วนนี้ถือว่าเป็นการปรับแต่งน้อยมาก
“จะบอกว่าต้นทุนการใช้เชื่้อเพลิงไฮโดรเจนไม่สูงก็ได้ หากว่ามีการประหยัดต่อขนาดและห่วงโซ่อุปทานไฮโดรเจนในขนาดเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม”นายออนโดะกล่าว
นอกจากนี้ห่วงโซ่อุปทานของไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ค่อนข้างสำคัญ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ก็ได้มีการหารือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) ถึงแนวทางที่เอเชียแปซิฟิกและประเทศไทย จะมีพลังงานไฟฟ้าจากไฮเดรเจนในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นหากห่วงโซ่อุปทานของพลังงานไฟฟ้าไฮโดรเจนรวมตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในเชิงพาณิชย์ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ก็พร้อมที่จะให้บริการด้านเทคนิคและนวัตกรรม
สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศไทยกับกฟผ.และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC นายออนโดะกล่าวว่า เป็นการศึกษาถึงความสามารถของโรงผลิตไฟฟ้าเดิมที่จะนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าในปีหน้าจะสามารถเริ่มหารือถึงความเป็นไปได้และแนวโน้ม
ในอีกด้านหนึ่งก็เห็นความท้าทายในตลาดของประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปรับสูงขึ้นจากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น เพื่อให้มีค่าไฟฟ้าในประเทศในระดับที่ยอมรับได้ อย่างแรกต้องพิจารณาการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าแบบ Gas Turbine Combined Cycle ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคาค่าไฟ ดังนั้นการมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ประหยัดและเชื่อถือได้ ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายที่ต้องคำนึงถึง
นายออนโดะกล่าวว่า ในปัจจุบันพลังงานไฮโดรเจนใช้ได้กับโรงผลิตไฟฟ้าแบบ Gas Turbine Combined Cycle ขนาดใหญ่ 600-700 เมกะวัตต์ หรือกับโรงผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer:IPP) แต่พลังงานแอมโมเนียเหมาะกับโรงผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก 40 เมกะวัตต์ หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer:SPP)
ภาครัฐต้องมีนโยบายสนับสนุน
ทางด้านความท้าทายของการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้น นายออนโดะกล่าวว่า ในด้านเทคโนโลยีแล้ว การใช้ทั้งเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ไม่มีความท้าทาย และสามารถทดสอบและรับรองได้หมดภายในปี 2040 แต่การสร้างระบบนิเวศในเชิงพาณิชย์ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งห่วงโซ่อุปทานของไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ต้องมีการดำเนินการอย่างแข็งขันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
นายออนโดะขยายความเพิ่มเติมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า ครอบคลุมถึงรัฐบาลและภาครัฐ ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญ ที่จะมีผลต่อห่วงโซ่อุปทาน การวางแผนด้านพลังงาน ไปจนถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ
“มิตซูบิชิ พาวเวอร์พร้อมในการจัดหาเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์และวิธีปฏิบัติทางเทคนิค แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีการสร้างห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงสะอาด เช่น ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย และท้ายที่สุด สิทธิประโยชน์จูงใจหรือกลไกด้านเพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงสะอาด จนสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในระดับเดียวกับก๊าซธรรมชาติ” นายออนโดะกล่าวและว่า มิตซูบิชิ พาวเวอร์รอการเปิดตัวแผนพลังงานแห่งชาติ และแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของไทยในเร็วๆ นี้ เพื่อดูว่าจะมีการบรรจุกลไกหรือเงื่อนไขใดเข้าในนโยบายใหม่บ้าง
นายออนโดะกล่าวว่า มิตซูบิชิ พาวเวอร์ขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้ศึกษากฎระเบียบการใช้ภาษีคาร์บอน (carbon tax) และจะหารือกับพันธมิตรเช่น กฟผ. เพื่อประเมินแนวทางของกฎระเบียบที่สามารถปฏิบัติได้จริงและสมเหตุสมผล
นอกจากนี้ความร่วมมือระหว่างประเทศก็มีความสำคัญเช่นกัน ขณะนี้ญี่ปุ่นและไทยกำลังมีการเจรจาตามกลไกของ AZEC หรือ Asia Zero Emission Community ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่น มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านกระบวนการการบูรณาการ เช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของไฮโดรเจน และการกำหนดมาตรฐานการลดคาร์บอน และรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะสนับสนุนในบางด้านแก่บริษัทในภูมิภาคเอเชีย เพื่อใช้พลังงานสะอาด
“มิตซูบิชิ พาวเวอร์มีส่วนร่วมในการศึกษาบางด้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการดำเนินงานของ AZEC ดังนั้นเราจึงอยากเห็นแนวทางระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระเบียบ ข้อบังคับที่สอดคล้องกัน” นายออนโดะกล่าว
นายออนโดะยกตัวอย่างการให้สิทธิประโยชน์จูงใจและการพัฒนากลไกในการสนับสนุนการใช้พลังงานไฮโดรเจนจากประเทศอื่นๆว่า ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ สหรัฐอเมริกา ที่มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ได้เข้าร่วมในโครงการ Advanced Clean Energy Storage Hub หรือ ACES Delta Hub ซึ่งเป็นการผลิตไฮโดรเจนพลังงานสะอาดระดับโลก ในรัฐยูทาห์ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
การมีส่วนร่วมของ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ในโครงการนี้คือ เป็นการใช้พลังงานส่วนเกินที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อผลิตไฮโดรเจน ด้วยเทคโนโลยีแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) และกักเก็บพลังงานไฮโดรเจนในถ้ำเกลือใต้ดิน ACES Delta Hub สามารถแปลงพลังงานหมุนเวียน 220 เมกะวัตต์ให้เป็นไฮโดรเจนสีเขียวได้เกือบ 100 ตันต่อวัน จากนั้นจะถูกเก็บไว้ในถ้ำเกลือขนาดใหญ่สองแห่ง โดยมีความจุมากกว่า 300 กิกะวัตต์ชั่วโมงสำหรับการจัดส่งพลังงานสะอาด
ACES Delta Hub จะจ่ายไฮโดรเจนให้กับโครงการโรงไฟฟ้าของหน่วยงาน Intermountain Power Agency ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้สามารถจัดเก็บพลังงานหมุนเวียนตามฤดูกาลและจัดส่งได้ โดยใช้กังหันก๊าซซีรีส์ J ขั้นสูงของ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ สองเครื่อง โดยกังหันนี้สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมสูงถึง 30% กับก๊าซธรรมชาติในช่วงเริ่มต้น และมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไฮโดรเจนให้สูงถึง 100% ภายในปี 2588 หรือเร็วกว่านั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลิตไฟฟ้าในระดับสาธารณูปโภคที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอน
โครงการนี้ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ได้รับการค้ำประกันเงินกู้มูลค่า 630 ล้านดอลลาร์ จากกระทรวงพลังงานของสหรัฐ
“การสนับสนุนที่สำคัญจากรัฐบาล ช่วยส่งเสริมให้เราลงทุนในเชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น ดังนั้นการมีส่วนร่วมของรัฐบาล ของภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐจึงมีความสำคัญในการเกื้อหนุนกิจกรรมที่มีส่วนต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน”
…นายออนโดะกล่าว
นายออนโดะเสริมว่า การสนับสนุนของรัฐบาล ภาครัฐทั้งในรูปตัวเงินหรือที่ไม่ใช่เงินถือว่ามีความสำคัญ
นายออนโดะกล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่กับการตอบสนองความต้องการในตลาดที่ต้องการพลังงานราคาไม่แพงและเชื่อถือได้ ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนไปแล้ว 15% จากนั้นจะเพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า
นายออนโดะยกโครงการ ACES Delta Hub ประกอบเพื่ออธิบายให้เห็นว่า โครงการ ACES Delta Hub ในส่วนของการผลิตและกักเก็บไฮโดรเจนมีศักยภาพอย่างมากในการรองรับหรือช่วยหนุนพลังงานหมุนเวียน ดังนั้น ด้วยการรวมพลังงานหมุนเวียนและการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนเข้าด้วยกัน ก็สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นระบบกักเก็บพลังงานหมุนเวียนชนิดหนึ่งได้
นายออนโดะกล่าวว่า แม้จะมีพลังงานทดแทนเพิ่มเติมโดยผสมผสานเข้าระบบนิเวศเดิมแล้ว ก็สามารถนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ได้ ในฐานะแหล่งกักเก็บชนิดหนึ่งจะทำให้สามารถผลิตพลังงานราคาไม่แพงและเชื่อถือได้ รวมถึงพลังงานหมุนเวียนด้วย
นายออนโดะกล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศกำลังพิจารณาที่จะนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ สำหรับมิตซูบิชิ พาวเวอร์ นอกจากโครงการในสหรัฐฯแล้วยังได้มีการพูดคุยกับหลายประเทศที่มีศักยภาพ ในการนำไฮโดรเจนมาใช้ ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย ขณะที่สิงคโปร์ก็มุ่งมั่นที่จะนำนำไฮโดรเจนและแอมโมเนียมาใช้
“เราเชื่อว่าพลังงานไฮโดรเจน เป็นโอกาสที่ดีและมีศักยภาพ ที่จะเป็นแหล่งพลังงานที่ดีในการผลิตไฟฟ้า และการจากการใช้ร่วมกับพลังงานทดแทน เราก็ต้องการที่นำเสนอเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราในประเทศไทย” นายออนโดะกล่าว
นายออนโดะกล่าวว่า หลังจากศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้พลังงานร่วมกับพันธมิตรเสร็จสิ้น ในระยะต่อไปก็ต้องการที่จะหารือร่วมกับพันธมิตรเพื่อสาธิตการใช้เชื้อเพลิงร่วม ทั้งการใช้ไฮโดรเจนหรือแอมโมเนีย ในโรงผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลจริงและภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ไฮโดรเจนหรือแอมโมเนียนั้นสามารถใช้ได้จริงในประเทศไทย ซึ่ง…
“ผมว่าเป็นก้าวสำคัญ ในปี 2567 และสามารถประเมินได้ว่า การใช้พลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ในอีกกี่ปี หลังจากนั้น” นายออนโดะกล่าว
“มิตซูบิชิ พาวเวอร์เชื่อว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ และเราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมมานานกว่า 50 ปีในด้านพลังงานในประเทศไทย รวมทั้งการที่ได้นำประสบการณ์ด้านพลังงาน มานำเสนอโซลูชันด้านพลังงานที่คุ้มค่ามีประสิทธิภาพ และวางใจได้ ที่ผ่านการทดสอบ ตรวขสอบและรับรองจากศูนย์ของเราในญี่ปุ่น แก่พันธมิตรของเราในประเทศไทย” นายออนโดะกล่าว