ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > วันดินโลก World Soil Day : ดินดี น้ำดี เกื้อกูลชีวิต หยุดโลกเดือด

วันดินโลก World Soil Day : ดินดี น้ำดี เกื้อกูลชีวิต หยุดโลกเดือด

13 ธันวาคม 2023


7 ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม ร่วมจัดงานวันดินโลก World Soil Day สร้างเครือข่ายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือพึ่งพาตัวเอง เพิ่มความมั่นคงอาหาร ตามแนวทาง ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต ช่วยหยุดโลกเดือด

เสวนาวันดินโลก

หลังจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อถวายสดุดีพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมมหาชนกาธิเบศอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร ที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้สหประชาชาติ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดให้มี รางวัล King Bhumipol World Soil Day Award เพื่อเชิดชูประเทศที่มีความร่วมมือในการดูแลฟื้นฟูดิน ซึ่งตลอด 10 ปีของการก่อตั้งรางวัลนี้ มีหลายประเทศทั่วโลกได้รับรางวัล ล่าสุดปี 2565 ประเทศเม็กซิโกได้รับรางวัลดังกล่าว

ในปี 2566 จากการประชุมวันดินโลก (World Soil Day) ขององค์การสหประชาชาติ ยูเอ็น นิวยอร์กและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้มอบรางวัล King Bhumipol World Soil Day Award 2023 ให้กับประเทศไทย

รางวัลดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของเครือข่าย 7 ภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งร่วมกันดำเนินการกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย นำเสนอแนวทางการพัฒนาดิน ภายใต้หลักการรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ในหัวข้อ “Spirit of Soil Spirit of Partnership” ภายใต้ FAO/United Nations ในธีม “Soils where Food begins” No Soil , No Food, No Healthy Soil , No Healthy Food. เชื่อ “ทุกวัน….คือวันดินโลก” Every Day is World Soil Day จนได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรด้านทรัพยากรดินจากทั่วโลกของสหประชาชาติ ให้เป็นผู้ชนะรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award

เมื่อวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ในวันดินโลก World Soil Day ครั้งที่ 6 Soil and Water, a source of life : ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม เกษตรกร และภาคประชาชน  ได้ร่วมกันจัดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ด้านดิน ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรดิน สู่พื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ตามภูมิสังคม สร้างความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหาร ขจัดความอดอยาก หิวโหย (Zero Hunger) นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ณ.ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

ร่วมกันลงมือทำ “คนดี-ดินดี-โลกดี”

ดร.วิวัฒน์  ศัลยกำธร  ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในวันดินโลกเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในการพัฒนาปรับปรุง แก้ไขปัญหาเรื่องดิน และศาสตร์ในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการสืบสานต่อยอดความรู้จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชการที่ 9) สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมกว้างยิ่งขึ้นในทุกระดับ เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคมโลก และมนุษยชาติต่อไป

“การที่ประเทศไทยได้รับรางวัลวันดินโลกในปีนี้ เกิดจากพลังสามัคคี ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เขียนตรัสไว้ ‘Spirit of Soil Spirit of Partnership’ ซึ่งหมายถึงการทำงานด้วยใจและเครือข่ายร่วมกัน ทำให้ขณะนี้มีกว่า 10 ประเทศทั่วโลกที่มีวิกฤติเรื่องดินเสื่อมโทรมสนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีการฟื้นฟูดินของไทยตามแนวทางพระราชดำริ”

ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า “หวังว่าหลังจากนี้คนไทยจะลุกขึ้นมาช่วยกันลงมือทำ ไม่ดีแต่พูด ต้องลงมือทำไปพร้อมกัน โดยเราต้องเตรียมพร้อมทั้ง พืชพันธ์ ดิน และการดูแลท้องทะเลที่เป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับมนุษย์ เราต้องไม่ทำลายทะเล และไม่ทำลายโลก”

นอกจากนี้ดร.วิวัฒน์ ยังบอกว่าการจะทำดินให้ดี ต้องเริ่มจากการทำคนให้ดีก่อน ต้องลดกิเลสไม่เอาเปรียบคนอื่น ต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมกัน และต้องมีความรู้ต้องทันโลกเนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อสร้างคนดีแล้ว คนดีจะสร้างความสามัคคีเกิดความร่วมมือ และมาแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม เมื่อดินดีจะอุ้มน้ำได้ดี พืชจะเติบโตดีและโลกก็จะดีด้วย

“เราต้องทำคนให้ดีก่อน เมื่อคนดี น้ำดี ดินดี โลกใบนี้จะดี อาหารจะดี ภูเขาดี ผืนนาจะดี ท้องทะเลดี และอาหารจะดี เนื่องจากทะเล ท้องนา ภูเขา แหล่งผลิตอาหาร ซึ่งทำให้เกิด  5  ดี คือ คนดี ดินดี  น้ำดี โลกดี อาหารและยาดี วนกลับมาที่มนุษย์ดี ทั้งหมดจะช่วยหยุดหายนะของโลกหรือหยุดโลกเดือดได้อย่างแน่นอน”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย

รางวัลดินโลกเกิดจากความร่วมมือ

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยคว้าที่ 1 รางวัลระดับโลก “King Bhumibol World Soil Day Award ประจำปี 2566” ขององค์การสหประชาชาติ สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยทั้งประเทศนั้นมาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ ของดินเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหาร

“จุดเริ่มของเรามาจากการรวมตัวกันภายใต้หลักการ ‘Spirit of Soil Spirit of Partnership’ ในการนำเสนอผลงานที่ร่วมกันแนวทางการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือ ซึ่งความสำเร็จไม่ได้เกิดจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เกิดจากการทำงานบูรณาการร่วมกัน”

นายระพีภัทร์  กล่าวว่า ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรดินและน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งเผยแพร่พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการจัดการดินและน้ำทางการเกษตร และทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร และประชาชน ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และการขจัดความอดอยากหิวโหย จึงทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ SDGs เป้าหมายที่ 17 Partnership (มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา) และได้รับรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ในปีนี้

ด้าน นายอนุวัชร โพธิ์งาม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  กล่าวว่าที่ผ่านมาเราใช้ดินอย่างไม่รู้คุณค่ากระทั่งดินเกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ผลผลิตตกต่ำ ทำให้เราย้อนกลับมามองว่าอะไรคือต้นเหตุของความยากจน และความเสื่อมโทรมของดิน

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูดิน และมีการฝึกอบรมในเรื่องนี้มานานกว่า 10  ปี โดยมีหลักการทำให้เกิดความเข้าใจและความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูดิน  จนมีหลายประเทศที่มีปัญหาวิกฤติดินเสื่อมโทรม มาศึกษาดูงานเพื่อนำไปพัฒนาฟื้นฟูดินในประเทศของตนเองในหลายประเทศ

“ผมคิดว่าดินจะดีขึ้นไม่ใช่แค่เอาอะไรไปใส่แล้วจะดีขึ้น มันต้องเริ่มจากใส่ใจ และต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีใจในการเรียนรู้ ก็จะแก้ปัญหาฟื้นฟูดินไม่ได้”

ด้านนายวันนบ ขอสุข  เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จ.อุทัยธานี กล่าวว่าวันนี้โลกเดือด เกิดมาจากความเจริญและการพัฒนา เพราะความเจริญเข้ามาทำให้สิ่งที่มีอยู่ในอดีต หายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเจริญจริงหรือไม่ เพราะว่าน้ำตามลำห้วยลำคอลง เคยกินได้ แต่ตอนนี้เรากินไม่ได้ ต้องซื้อน้ำขวดมากินแทน

ขณะที่ในอดีตเวลาเจ็บป่วยจะเริ่มตั้งแต่การดูแลรักษาในแบบพื้นบ้าน ใช้คาถาบำบัดให้กำลังใจ ไม่ไหวค่อยไปเคมีบำบัด แต่ตอนนี้ เราเริ่มจากเคมีบำบัด แล้วไม่ไหว จึงกลับมาหาการรักษาแบบพื้นบ้าน ซึ่งมันสวนทางกัน รวมไปถึงเรื่องของอาหารทุกวันนี้ อาหารมีมาตรฐานทั้งหมด แต่ทำไมคนไทยถึงมีโรคเบาหวาน ความดัน เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มลงมือสร้างอาหารเอง ปลูกเองกินเอง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเราเริ่มทำเองแล้ว จะมีคนอื่น ๆ ลงมือทำตาม เพราะอาหารที่ปลูกเองปลอดภัยกับสุขภาพมากกว่า

นายโจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์

ทั่วโลกตื่นตัว ‘พึ่งพา-ผลิตอาหารด้วยตัวเอง’

นายโจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์  กล่าวว่าที่ผ่านมาทำเรื่องการพึ่งตัวเองคืออาหาร บ้าน ข้าวของเครื่องใช้ การดูแลสุขภาพ ซึ่งการพึ่งพาตัวเองทั้งหมดต้องเริ่มจากดิน ต้องมีดินที่ดี เพราะถ้าดินดี อะไรก็ง่ายไปหมด โดยได้ตั้งศูนย์เรียนรู้การพึ่งตนเองขึ้นมา ในช่วงปีแรก 70 % ของคนที่มาเรียนรู้ คือชาวต่างชาติ หลังจากนั้นอีก 7 ปีหลังคนไทยเริ่มสนใจเรื่องนี้และเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติที่เคยมาอบรมการพึ่งตัวเองในช่วงแรกได้กลับไปประเทศของตัวเองและเริ่มเรียนรู้การพึ่งพาตนเอง ชาวต่างชาติคนแรกที่ผมเดินทางไปเยี่ยม คือชาวเม็กซิโก ซึ่งเขาเคยมาอบรมที่ศูนย์พึ่งตนเองโดยเรียนรู้นานถึง 5 ปี พอเขากลับประเทศของเขา ก็ไปซื้อที่ดินทะเลทรายเพื่อทดลองวิจัย เพราะว่าทั่วโลกพื้นที่ทะเลทราย เพิ่มขึ้นทุกปี แต่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ลดลงทุกปี ฉะนั้นสิ่งที่ มนุษย์จะเผชิญคือทะเลทราย จึงเริ่มเรียนรู้การพึ่งพาตัวเองไม่ได้ใช้ฟืนในการทำอาหา รแต่ใช้แสงแดดทำอาหาร เก็บเมล็ดพันธุ์ ปลูกเอง ทำเองกินเอง ใช้เทคโนโลยีแบบบ้านๆทั้งหมด

นายโจนบอกว่า ความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นทำให้โลกเดือดมากขึ้น เนื่องจากมีการบริโภคที่รวดเร็ว และทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ถนัดในการบริโภค แต่ไม่ถนัดในการสร้าง เราเร่งเศรษฐกิจเติบโต จีดีพีสูงนั้นหมายความว่าทรัพยากรจะลดลงเพราะเราบริโภคเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตเราต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่มีตลาด ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีเงินหรืออะไรเลย เราจะอยู่อย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากทั่วโลกเริ่มตื่นขึ้นสู้กับภาวะโลกเดือด และหันมาทำอะไรด้วยตัวเองเพื่อช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

ทั้งนี้การจัดงาน มหกรรมวันดินโลก World Soil day ครั้งที่ 6  ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีกิจกรรมต่างๆ มากมายอาทิเช่น ขบวนแห่เปิดยุทธการ “หยุดโลกเดือด .. ปิดประตูนรก เปิดประตูสวรรค์” วงเสวนา “สถานการณ์โลกเดือด คำตอบอยู่ในคัมภีร์ชาติพันธุ์” กิจกรรมเปิดห้องเรียนบน ดิน 7 ภาค กิจกรรม Walk Rally “แก้ปัญหาดินตามศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น” โดยคนคืนชีวิตให้แผ่นดินจากทั่วประเทศ เวทีรวมพลัง “เคลื่อนวันดินโลก”

นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภารกิจ “หยุดดินพัง – Stop soil Erosion, Save our Future” สร้างพื้นที่เรียนรู้แก้ปัญหาดินพังทลาย/ สร้าง โคก หนอง นา แก้ปัญหาวิกฤติ ซึ่งกิจกรรมในงานเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในการพัฒนาปรับปรุง แก้ไขปัญหาเรื่องดิน และศาสตร์ในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมกว้างยิ่งขึ้นในทุกระดับ เกิดประโยชน์ต่อประเทศและสังคมโลก