ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > ยู-โซลาร์ หนุนอุตสาหกรรมลดปล่อยคาร์บอน เดินหน้า Net Zero

ยู-โซลาร์ หนุนอุตสาหกรรมลดปล่อยคาร์บอน เดินหน้า Net Zero

13 ธันวาคม 2023


เราปรับ โลกเปลี่ยน We Shift, World Change เป็นรายงานพิเศษด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)กับไทยพับลิก้า เพื่อนำเสนอ วิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน ในบริบทของธุรกิจขององค์กร การมีส่วนร่วมพัฒนาและสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร เช่น คู่ค้า ลูกค้า ในห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับตัว และการมีส่วนร่วมยกระดับชุมชนและสังคม ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

ภายใต้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ได้รับการตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะต้องอาศัยเม็ดเงินจำนวนมากในการลงทุน แต่พบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้น หากมีความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างจริงจังแบบครบวงจร โดยเฉพาะจากภาคการเงิน ย่อมทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เร่งการเปลี่ยนผ่าน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นางสาวอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พาณิชย์ธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารยูโอบี ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่ยึดมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ยูโอบี ประเทศไทยพร้อมผนึกความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผ่านโครงการเพื่อความยั่งยืน ที่หลากหลาย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น

“เรื่องความยั่งยืนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และธนาคารตระหนักดีว่า ภาคการเงิน มีบทบาทสำคัญมากต่อการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ อีกทั้งประเด็นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นประเด็นที่ประเทศไทยและทั่วโลก ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในขณะนี้”

นางอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พาณิชย์ธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารยูโอบีได้ประกาศคำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2593 ภายใต้เป้าหมายนี้ ธนาคารมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงทั้ง 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน ยานยนต์ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และเหล็กกล้า ซึ่ง ทั้ง 6 อุตสาหกรรมนี้ คิดเป็น 60% ของพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อของธุรกิจธนาคารยูโอบี

ธนาคารได้ยึดกรอบแนวคิดที่เรียกว่า Sustainable Finance Framework เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แบบครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ธนาคารได้มีส่วนร่วมช่วยลูกค้าในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย โดยการสนับสนุนทางการเงินผ่านสินเชื่อเพื่อ ความยั่งยืนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืนภายใต้กรอบความคิดนี้ เช่น สินเชื่อเพื่ออาคารสีเขียว หรือ Green Building สินเชื่อเพื่อเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สินเชื่อบริการและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศสีเขียว หรือ Green Trade Finance และสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition Financing โดยในปี 2565 กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้กับบริษัทต่าง ๆ รวมแล้วมากกว่า 25,000 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์

ยู-โซลาร์ เชื่อมผู้ประกอบการและลูกค้า สู่เส้นทางพลังงานสะอาด

ยู-โซลาร์ (U-Solar) เป็นหนึ่งในโครงการหลักของธนาคาร เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี 2563 เพื่อสนับสนุนการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจและผู้อยู่อาศัย โดยยูโอบี ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ผ่านการสนับสนุนทางการเงิน และ เชื่อมต่อพันธมิตรผู้ประกอบการในให้บริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัวโครงการในไทย ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว รวมวงเงินกว่า 3,800 ล้านบาท

“ผลตอบรับ ยู-โซลาร์ เป็นไปด้วยดี ปีที่ผ่านมามีลูกค้ามาขอวงเงินสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการให้ไฟแนนซ์ EPC (Engineering Procurement and Construction) หรือสินเชื่อสำหรับผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ สินเชื่อสำหรับองค์กรที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟ เพราะต้องการลดค่าไฟและมีส่วนร่วมเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการโปรโมทสินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟ สำหรับประชาชนทั่วไปหรือลูกค้ารายย่อย ที่มีความต้องการ ติดตั้งโซลาร์รูฟที่บ้าน ถือว่าให้บริการครบวงจรตั้งแต่ผู้ให้บริการติดตั้ง ลูกค้าอุตสาหกรรม และผู้บริโภค” นางสาวอัมพร กล่าว

ยู-โซลาร์ ในไทยจะมีกรอบการทำงานเหมือนกลุ่มธนาคารยูโอบีในทุกประเทศ แต่อาจมีการปรับเปลี่ยน บางอย่างให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยอัตราดอกเบี้ยของโครงการยู-โซลาร์ อาจไม่ได้ แตกต่างจากสินเชื่ออื่นมากนัก แต่ยูโอบีจะมีการให้คำแนะนำเพิ่มเติมพร้อมทั้งรายชื่อบริษัทผู้ติดตั้งที่เชื่อถือได้ ซึ่งผ่านการคัดกรองจากธนาคารแล้ว ทำให้มั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม โดยลูกค้าที่สนใจสามารถคลิกเข้าไปรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของยูโอบี

จากข้อมูลถึงเดือนกันยายน 2566 สินเชื่อยู-โซลาร์ของกลุ่มยูโอบีทั่วภูมิภาคเอเชีย ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วกว่า 4.76 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการลดการใช้รถยนต์ 93,000 คันใน 1 ปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 6.9 ล้านต้นภายในระยะเวลากว่า 10 ปี

นายปรมัตถ์ จุฬวนิช ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน)

เชาว์ เอนเนอร์ยี่ พันธมิตรร่วมขับเคลื่อน Net Zero

บริษัท เชาว์ เอนเนอร์ยี่ เป็นหนึ่งในพันธมิตรของโครงการ ยู-โซลาร์ นายปรมัตถ์ จุฬวนิช ประธาน เจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชาว์ เอนเนอรยี่ มีประสบการณ์ด้านพลังงานทดแทนด้านพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร มามากกว่า 10 ปี ทั้ง Utility-Scale ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ การผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเชิงพาณิชย์ให้กับศูนย์การค้าและ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไปจนถึง scale เล็ก อย่างร้านสะดวกซื้อ หรือบ้านพักอาศัย โดยมีรูปแบบการทำงานในสองโมเดล

โมเดลแรก ถ้าลูกค้าสนใจติดโซลาร์รูฟโดยการลงทุนเอง บริษัทก็จะเข้าไปดูแลให้คำแนะนำว่าควรจะติดแบบไหน ขนาดการติดตั้งเท่าไหร่ และใช้เทคโนโลยีอย่างไร เป็นต้น โดยบริษัทจะมีทีมวิศวกรดูแลการให้บริการ ตั้งแต่การขอใบอนุญาตต่างๆ ออกแบบแผนผังไฟฟ้าให้เข้ากับระบบไฟฟ้าของลูกค้า ดำเนินการก่อสร้าง จนถึงการขอใบอนุญาตขนานไฟกับการไฟฟ้า และรวมถึงบริการซ่อมบำรุงรักษาระบบให้ด้วย

โมเดลที่สองเรียกว่า Zero investment คือ เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จะเป็นผู้ลงทุนให้กับลูกค้า และทำสัญญาซื้อขายไฟ 10-20 ปี แล้วแต่จะตกลงกัน โดยจะติดตั้งโซลาร์ให้ทั้งหมด เมื่อมีการเชื่อมไฟแล้ว ลูกค้าใช้ไฟไปเท่าไหร่ก็ตาม จะมีส่วนลดค่าไฟฟ้าตามที่ตกลงกัน ซึ่งทำให้ลูกค้าใช้ไฟฟ้าได้ถูกกว่าราคาของการไฟฟ้า ที่สำคัญในปีสิ้นสุดสัญญา บริษัทจะโอนกรรมสิทธ์ในระบบให้ลูกค้าไปใช้ต่อได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งขอดีขอโมเดลนี้นอกจากจะใช้ไฟในราคาถูกลงโดยไม่ต้องควักเงินลงทุนใดๆ แล้ว ยังมีทีมงานดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การติดตั้ง การซ่อมบำรุงตามเวลา หรือเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เช่น ฟ้าผ่า อุปกรณ์มีปัญหา บริษัทจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลภายใน 48-72 ชั่วโมง โดยระบบทั้งหมดจะถูกมอนิเตอร์จากส่วนกลางที่กรุงเทพฯ โดยทีมวิศวกรรม ซึ่งทุกอย่างฟรีหมด ตลอดระยะเวลาสัญญา

นายปรมัตถ์ กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการยู-โซลาร์ นั้นตอบโจทย์ด้านบริการด้านการเงินอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านสินเชื่อ การบริหาร Supply chain และการป้องกันความเสี่ยงทั้งด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งช่วยเติมเต็มในอีก segment ของธุรกิจ เนื่องจาก ยู-โซลาร์ สามารถช่วยลูกค้าของยูโอบีที่อยากลงทุนเองให้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ได้ โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการติดตั้ง และธนาคารปล่อยสินเชื่อตรงให้กับลูกค้าของธนาคารที่เป็นเจ้าของกิจการ ถือว่าเชาว์เป็นพันมิตรกับยูโอบีด้านลูกค้า และยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผ่านการคัดกรองจากยูโอบี เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและสนับสนุนให้เชาวน์ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน

เติบโตอย่างสมดุล เพื่อเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน

นายปรมัตถ์ กล่าวต่อว่า “พนักงาน ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัทมีความเชื่อจริงๆ ว่า โลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของแค่คนรุ่นเรา แต่จะไปต่อรุ่นลูกหลานเรา ถ้าไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบมาก ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการตัดสินใจง่ายขึ้น ทั้งในเรื่องการลงทุน เขาอาจจะอยากทำ แต่ใช้เงินทุนจำนวนมาก เชาว์ เอนเนอร์ยี่ เข้าไปช่วยตรงนี้ได้ อยากทำแต่ทำไม่เป็น เรามีทีมวิศวกรช่วยดูแลได้ ในฐานะลูกค้าธนาคาร ยูโอบีเข้ามาก็ซัพพอร์ตในเรื่องสินเชื่อ ทำให้พอร์ตของเชาว์โตขึ้นเรื่อยๆ และคิดว่าน่าจะเติบโตต่อไปได้อีกมาก”

ปัจจุบัน เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ ถือเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ทั้งคุณภาพและครอบคลุมพื้นที่ โดย มีงานติดตั้งโซลาร์รูฟทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึง 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ แล้วรวมกว่า 8,000 ไซต์ ขณะที่ในรอบ 10 ปีของการดำเนินงาน ได้ทำการสร้าง Solar farm ไปแล้วกว่า 100 กว่าเมกะวัตต์ (MW) และในส่วนของโซลาร์รูฟท็อป Commercial and Industrial มีการติดตั้งและจ่ายไฟแล้ว รวมถึงที่กำลังขอใบอนุญาตขั้นสุดท้าย รวมอีก 100 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีเป้าหมายเติบโตเป็น 250 เมะกวัตต์ในปีหน้า และ 350 เมกะวัตต์ในปี 2568 และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้ ถ้าจะเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ต้องทำให้เร็วที่สุด ยูโซล่าร์ คือตัวอย่างหนึ่งของการเร่งการเปลี่ยนผ่าน และทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ด้วย สำหรับเชาว์ นอกจากมีส่วนร่วมลดคาร์บอน ผลตอบแทนที่ได้ คือ กิจการมีกำไรและมีการจ้างงาน เรียกง่ายๆ คือ มอง 3 ขา ทั้ง Profit People และ Planet ให้มีความสมดุล เป็นเป้าหมายที่ต้องการจะเดินไปสู่ความยั่งยืน พร้อมกับดูแลผู้ถือหุ้น และมองไปอนาคตว่า เชาว์จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทเปลี่ยนผ่านสู่สังคมแห่งความยั่งยืน” นายปรมัตถ์ กล่าว

ชมเราปรับ โลกเปลี่ยน ยู-โซลาร์ เดินหน้าสู่ Net Zero