ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดตัว UOB Sustainability Compass เครื่องมือชิ้นแรกที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในทุกอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้วยการทำแบบประเมินออนไลน์ที่จะช่วยวัดระดับความพร้อมด้านความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ เพื่อรับรายงานที่ระบุแผนงานและขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย โดย นางสาวอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Commercial Banking และนางสาว พนิตตรา เวชชาชีวะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Financial Institutions and ESG Solutions ได้ร่วมให้ข้อมูล UOB Sustainability Compass Tool เครื่องมือที่จะช่วยประเมินสถานะของการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนของธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ในรูปแบบของรายงานออนไลน์ที่จะช่วยวัดระดับความพร้อมด้านความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ พร้อมแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
นางสาวอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Commercial Banking เปิดเผยว่า จากรายงานผลสำรวจ UOB Business Outlook Study 2024 ที่ได้จากการสำรวจบริษัทไทยทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือ SME ทั่วประเทศและในกรุงเทพปริมณฑลกว่า 500 รายพบว่า ในปี 2566 มีความตื่นตัวกับความยั่งยืน โดยร้อยละ 94 ของธุรกิจมองว่าความยั่งยืนมีความสำคัญ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 87 ของภูมิภาคและของอาเซียน อีกทั้งกว่าครึ่งมองว่ามีความสำคัญมาก ตลอดจนไม่มีความแตกต่างกันมากระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และ SME
ธุรกิจขนาดใหญ่หมายถึงธุรกิจที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมีมูลค่าระหว้าง 200 ล้านถึง ไม่เกิน 400 ล้านบาทขึ้นไป
ผลการสำรวจพบว่า การพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม Environment สังคม Social บรรษัทภิบาล Governance หรือ ESG ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของเป้าหมาย โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 ขณะที่เป้าหมายแรกคือ การลดรายจ่าย(ร้อยละ 89) ตามมาด้วย การมองหาฐานลูกค้าใหม่(ร้อยละ 83) การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ(ร้อยละ 86) และการมองหารายได้ใหม่(ร้อยละ 78)
“ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เรื่อง ESG ขึ้นมาติดอยู่ในท้อป 5 ส่วนเรื่องอื่นป็นเรื่องลงรองมา ทั้งการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ การเปลี่ยนโมเดลในการดำเนินธุรกิจเพิ่มทักษะให้พนักงาน หรือแม้แต่ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพราะทุกภาคส่วน และรัฐเองมองว่าเป็นเรื่องที่ช้าไม่ได้อีกแล้ว” นางสาวอัมพรกล่าว
นอกจากนี้ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ESG ก็ยังมีความสำคัญและติดใน 5 อันดับแรกของเป้าหมายสำคัญสำหรับธุรกิจ โดยร้อยละ 22 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแผนที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรค ต่อการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เรื่องแรก คือ ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจะกระทบต่อลูกค้า รองลงมาคือ ผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจในระยะสั้น มีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อกำไรของบริษัท
“สิ่งที่คิดเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าขนาดไหน เล็ก กลาง ใหญ่ คือ ค่าใช้จ่ายจะมีมากน้อยแค่ไหน ผลกระทบมีอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีเรื่องความพร้อมของบริษัท ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐานของโรงงานว่าพร้อมไหมที่จะปรับเปลี่ยน เรื่องที่สามที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ภาครัฐและภาคการเงินจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร และมีมาตรการอะไรหรือไม่ ธนาคารจะสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง และจะเข้าถึงสินเชื่อทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างไร”นางสาวอัมพรกล่าว
สำหรับสิ่งที่ธุรกิจต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหรือธนาคารเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจมีด้วย 6-7 เรื่อง คือ แรงจูงใจทางภาษี สิทธิประโยชน์ต่างๆที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลง ต้องการเชื่อมต่อกับบริษัทที่อยู่ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อเรียนรู้แนวปฎิบัติตัวอย่าง ความร่วมมือทางธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องการบริการด้านการลงทุน รวมถึงคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้าน ESG และต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
“ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญ คือ สินเชื่อในการทำธุรกิจ ซึ่งยูโอบีในฐานะสถาบันการเงิน ก็พร้อมที่จะเข้ามีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน”
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการธุรกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จึงร่วมกับ พีดับบลิวซี พัฒนา UOB Sustainability Compass ซึ่งเป็นเครื่องมือในรูปแบบของแบบประเมินออนไลน์ ที่จะช่วยวัดระดับและประเมินความพร้อมด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าอยู่ในระยะใด บริษัทสามารถลงทะเบียนเพื่อทำแบบสอบถาม และรับรายงานที่รวบรวมแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยรายงานมีการรวบรวมข้อมูลจำเพาะของกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และมาตราฐานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทของแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมให้แก่บริษัท
“เราคิดว่าเราตอบ pain-point ของผู้ประกอบการตรงกว่า ว่าก่อนที่จะทำอะไร ต้องรู้ว่าอยู่จุดไหน และถ้าไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร” นางสาวอัมพรกล่าว
นางสาวอัมพร กล่าวว่า “ความยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้แก่บริษัทในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัทที่สามารถพัฒนาธุรกิจให้มีความยั่งยืนจะช่วยสร้างความแตกต่างและขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว เราในฐานะธนาคารชั้นนำของภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าให้สามารถพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างสะดวกขึ้น ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จาก UOB Sustainability Compass เพื่อรับทราบแผนงานที่ชัดเจนเพื่อข้ามอุปสรรค และความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน”
นางสาวพนิตตรา เวชชาชีวะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Financial Institution และ ESG Solutions กล่าวว่า UOB Sustainability Compass เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศวันนี้(29 พ.ค.2567) แต่ได้เปิดให้ลูกค้าได้ทดลองใช้แล้วในเดือนเมษายนซึ่งได้รับความสนใจเข้ามาใช้ถึง 250 รายและยอดล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 300 ราย
แต่ธุรกิจที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารหากสนใจก็สามารถใช้บริการได้เช่นกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
UOB Sustainability Compass ได้เปิดตัวก่อนหน้านี้ในปี 2566 ที่สิงคโปร์ ประเทศแรก ตามมาด้วยมาเลเซีย ข้อมูล ณ เดือนมีนาคมปีนี้ มีธุรกิจกว่า 1,700 บริษัทเข้ามาใช้บริการ และจะเปิดตัวในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ยูโอบีมีเครือข่ายภายในปีนี้

นางสาวพนิตตรากล่าวว่า UOB Sustainability Compass เป็นเครื่องมือที่จะช่วยประเมินสถานะของการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนของธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ในรูปแบบของรายงานออนไลน์ที่จะช่วยวัดระดับความพร้อมด้านความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ พร้อมแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน รวมทั้งยังบอกถึงสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เครื่องมือนี้มีประโยชน์ สำหรับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ยังไม่ทราบว่าความยั่งยืนจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร ต้องการคำแนะนำในการนำแนวคิดความยั่งยืนมาใช้ในธุรกิจ และต้องการยกระดับการดำเนินงานด้านธุรกิจที่ปฏิบัติอยู้ให้มากขึ้น
UOB Sustainability Compass เป็นประเมินที่มี 14 คำถาม และจัดระดับความพร้อมไว้ 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น (Starter) ระดับกลาง(Intermedate) ระดับสูง(Advanced) ซึ่งคำแนะนำหรือแนวทางจะแตกต่างกันตามระดับความพร้อม
ระดับกลาง หมายถึง บริษัทเข้าใจความสำคัญของความยั่งยืนและมีการแต่งตั้งบุคลากรที่ทุ่มเเทและผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีเพื่อขับเคลื่อน ดูแลและติดตามความคืบหน้าของโครงการด้านความยั่งยืนของบริษัท ปัจจุบันมีการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนในกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัท
ส่วนระดับสูง ความยั่งยืนถือเป็นสาระสำคัญในวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ และบริการของบริษัท บริษัทได้บูรณาการความยั่งยืนเข้ากับรูปแบบธุรกิจของบริษัทอย่างสมบูรณ์ และมีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนในภาคธุรกิจของคุณ บริษัทมีการกำหนดเกณฑ์ด้านความยั่งยืนทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และยังคงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามด้านความยั่งยืน
สำหรับบริษัทไทย 300 รายที่ได้เข้ามาทดลองใช้ UOB Sustainability Compass นั้นพบว่าอยู่ในระดับะดับเริ่มต้นร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือร้อยละ 40 อยู่ในระดับกลางและระดับสูง
รายงานที่ได้จะรวมแผนงานและขั้นตอนอย่างละเอียดในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยจะประมวลผลตามประเภทและความพร้อมของธุรกิจในด้านความยั่งยืน และจะนำเสนอข้อมูลจำเพาะตามประเภทธุรกิจและโซลูชันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
แผนงานด้านความยั่งยืนที่ได้จากการ UOB Sustainability Compass จะมีการวางเป็นลำดับขั้นตอน 5 ระยะ คือ
-
1.การทำความเข้าใจ ผ่านการฝึกอบรม การกำหนดบทบาทและควารับผิดชอบ รวมทั้งเข้าใจถึงมุมมองของ stakeholder ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจที่เกี่ยวกับ ESG ว่าคือใคร และต้องการอะไร เช่น ลูกค้ากำลังจะเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืนอย่างไร หรือลูกค้าจะแจ้งให้ทราบหรือไม่ว่าในระยะต่อไปอาจจะต้องเพิ่มเงื่อนไขในการทำธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น
2.การชี้วัด ด้วยการใช้วิธีการและมาตรฐานที่ถูกต้องและเหมาะสม
3.กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมาย คือ การพัฒนากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนและลดคาร์บอน รวมทั้งตั้งเป้าหมายประสิทธิภาพด้สนความยั่งยืนตาม KPI
4.การนำกลยุทธ์มาดำเนินการ ด้วยการพัฒนากระบวนการต่างๆเพื่อบริหารจัดการความยั่งยืน การพิจารณาแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืน เพื่อเริ่มโครงการและกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
5.การประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ ได้แก่ บูรณาการประเด็นเรื่อง ESG ในการตัดสินใจทางธุรกิจ
“ในแผนปฏิบัติการที่แนะนำ จะเป็นไปตามความพร้อม และก็จะมีชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ด้วย เช่น กฎหมาย กฎระเบียบที่สำคัญที่อาจจะมีผลต่อธุรกิจ หรือมาตรฐานสำคัญต่างๆที่สามารถยื่นขอรับรองได้” นางสาวพนิตตรากล่าว
นอกจากจะได้รับขั้นตอนการปฏิบัติอย่างละเอียดในแต่ละระยะ เพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน และได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เช่น การฝึกอบรม โซลูชันทางการเงินเพื่อเป็นแหล่งทุนแล้ว ธุรกิจสามารถติดต่อผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า(RM) เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอสินเชื่อทางการเงินที่สนใจได้
นางสาวพนิตตรากล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่บรรษัทขนาดใหญ่นำมาพิจารณาสำหรับคัดสรรองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจร่วมกัน
ธนาคารจึงได้ออกแบบกรอบแนวคิดที่เรียกว่า Sustainable Finance Framework ที่สอดคล้องกับ Sustainable Development Goal(SDG) ของสหประชาชาติ และมีการตรวจสอบรับรองจากบุคคลที่ 3 เพื่อให้กรอบแนวคิดนี้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนประเภทต่างๆ ใน 6 ด้านได้แก่ สินเชื่อเพื่ออาคารสีเขียว (Green Building) สินเชื่อเพื่อเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) สินเชื่อเพื่อธุรกิจอาหารและการเกษตร (Food and Agribusiness) สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Financing) และสินเชื่อเพื่อสินค้าสีเขียว (Sustainable Trade Finance) ซึ่งสินเชื่อประเภทต่างๆ นี้ จะช่วยลดระยะเวลาและลดการใช้ทรัพยากรภายในองค์กรให้แก่ธุรกิจ ช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที
ด้านการดำเนินการเพื่อสนับสนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนั้น ธนาคารยังได้เปิดตัวโครงการ U-Solar, U-Energy และ U-Drive
“ทั้งสามผลิตภัณฑ์นี้ธนาคารออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งเรื่องพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตั้งแต่เปิดโครงการ U-Solar ในประเทศไทย ธนาคารยูโอบีได้อนุมัตสินเชื่อไปแล้วกว่า 3,800 ล้านบาท และตั้งแต่เริ่มปล่อยสินเชื่อสีเขียวในปี 2566 ปัจจุบันมีสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนกว่า 33,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อสีเขียวในปีทีผ่านมากว่าร้อยละ 25 ของสินเชื่อทั้งหมด” นางสาวพนิตตรากล่าว
นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ U-Solarในปี 2562 ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 300 บริษัทและกว่า 1,700 ครัวเรือนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 660,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ส่วนโครงการ U-Energy ที่เปิดตัวภายหลังได้ช่วยลดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 25,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่า
ปัจจุบันมีบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมได้ทดลองใช้เครื่องมือ UOB Sustainability Compass ประกอบด้วย บริษัท มโนห์รา อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตข้าวเกรียบรายใหญ่ของประเทศ และ บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด
นายอภิวัฒน์ วังวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท มโนห์รา อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า “การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีการแข่งขันสูง บริษัทของเรามีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เราจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปฎิบัติตามมาตราฐานระบบจัดการสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตของโรงงานอย่างเคร่งครัด หลังจากที่ได้ทดลองใช้ UOB Sustainability Compass เราได้รับรายงานที่รวบรวมกฎระเบียบสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท และเราสามารถใช้ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการหาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนวาระ ESG ของเราไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง”
นายโสฬส ยอดมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด กล่าวว่า “รายงานที่บริษัทได้รับจากการใช้ UOB Sustainability Compass ช่วยตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาธุรกิจของเราไปสู่ความยั่งยืน ข้อมูลที่เราได้รับจากรายงานฉบับนี้ทำให้เราสามารถระบุแนวทางที่บริษัทควรบฎิบัติเพื่อทำให้ธุรกิจให้มีความยั่งยืน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การคัดสรรพันธมิตรทางธุรกิจ และการเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากยิ่งขึ้น เราพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับธนาคารยูโอบีเพื่อขอสนับสนุนสินเชื่อทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งภายในและภายนอกองค์กรของเรา”
ดูข้อมูลเพิ่มเติม UOB Sustainability Compass ได้ที่ www.uob.co.th/compass-th
เกี่ยวกับธนาคารยูโอบี
ธนาคาร ยูโอบี เป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์และมีการดำเนินธุรกิจในจีน อินโดนิเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม อีกทั้งยังมีเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยสำนักงานประมาณ 500 แห่ง ใน 19 ประเทศและเขตการปกครอง ทั้งในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ 2478 ธนาคารยูโอบีได้พัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการควบรวมกิจการที่สำคัญ ปัจจุบันธนาคารยูโอบีได้รับการจัดลำดับให้เป็นธนาคารที่มีความแข็งแกร่งในระดับสากลจากบริษัทจัดลำดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้แก่ Aa1 โดย มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ AA- โดย ฟิทช์ เรทติงส์ และเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์
ตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ทศวรรษ ธนาคารยูโอบีดำเนินธุรกิจโดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจในระยะยาวโดยการปรับกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคผ่านพลังงานแห่งความสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องแก่ลูกค้า ยูโอบีพร้อมที่จะพัฒนาอนาคตของภูมิภาคอาเซียนในเติบโต ทั้งประชากรและธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงในภูมิภาค
เรายังมีส่วนในการเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจภายในภูมิภาคนี้ ผ่านเครือข่ายทางการเงินที่แข็งแกร่ง เรามีการจัดทำฐานข้อมูลและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกสำหรับพัฒนาและนำเสนอประสบการณ์ทางการเงินส่วนบุคคล และบริการทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลง ยูโอบีมีความมุ่งมันที่จะสร้างความยั่งยื่นในการดำเนินธุรกิจให้แก่ลูกค้า ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางสังคม สร้างผลกระทบที่ดีต่อสื่งแวดล้อม พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ธนาคารเชื่อมั่นในการเป็นผู้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ พร้อมทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมด้านศิลปะ เยาวชน และ การศึกษา
เกี่ยวกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีเครือข่ายทั่วประเทศ 147 สาขา และเครื่องเบิกเงินสดอัตโนมัติ 343 เครื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566) โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ได้แก่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (อันดับความน่าเชื่อถือเงินฝากระยะยาวที่ A3) และฟิทช์ เรทติ้งส์ (อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวที่ A- และความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาวที่ AAA(tha))