ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ซีเค พาวเวอร์ หนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

ซีเค พาวเวอร์ หนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

27 ธันวาคม 2023


เราปรับ โลกเปลี่ยน We Shift, World Change เป็นรายงานพิเศษด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)กับไทยพับลิก้า เพื่อนำเสนอ วิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน ในบริบทของธุรกิจขององค์กร การมีส่วนร่วมพัฒนาและสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร เช่น คู่ค้า ลูกค้า ในห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับตัว และการมีส่วนร่วมยกระดับชุมชนและสังคม ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

การพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิล นำไปสู่การเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายฝ่ายมองหาทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน” (Energy Transition) โดยเปลี่ยนจากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม มาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ นับเป็นโอกาสการลงทุนอย่างยั่งยืนในธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุด และมีคาร์บอนฟุตพรินท์ต่ำที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาค เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิมหรือพลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานสะอาด

ตั้งเป้าหมายยั่งยืน สอดคล้อง SDGs สหประชาชาติ

นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า CKPower มุ่งมั่น ดำเนินธุรกิจตามหลักความยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุล ของสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล โดยได้กำหนดกรอบกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนไว้อย่างชัดเจน

นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

“CKPower วางกรอบกลยุทธ์ความยั่งยืนไว้ 3 กลยุทธ์หลัก ที่เรียกว่า “C-K-P” ครอบคลุมประเด็นสําคัญ ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม C – Clean Electricity – ไฟฟ้าสะอาด มิติสังคม K – Kind Neighbor – เพื่อนบ้านที่ดี และมิติบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ P – Partnership for Life – พันธมิตรที่ยั่งยืน”

ในฐานะสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) CKPower ได้ตั้งเป้าหมายและกําหนดตัวชี้วัดความสําเร็จในการดําเนินงาน และวางแผนการดําเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 มุ่งสู่องค์กรที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2586 และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ในปี 2567

รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างมีกลยุทธ์

นายวรพจน์ กล่าวต่อว่า บริษัทจัดทำกลยุทธ์ด้านจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบ TCFD หรือ Task Force on Climate-Related Financial Disclosure กระบวนการประเมินตามมาตรฐานสากล และแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ สู่การประเมินความเสี่ยงและโอกาสและการกำกับดูแลวางกลยุทธ์แผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อกำหนดเป้าหมายในการลดการใช้พลังงาน – เพิ่มประสิทธิภาพ – เพิ่มกำลังการผลิต – ปรับเปลี่ยน – สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งกระบวนการ รวมไปถึงแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Energy management and Climate Change Roadmap) รวมถึงได้นำไปรวมกับแผนการบริหารความเสี่ยงขององค์กร และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

ขณะเดียวกัน ได้จัดทำโครงการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 11 โครงการ มุ่งลดการสูญเสีย พลังงานโดยรวมของโรงไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึก ให้กับพนักงานด้านการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในกระบวนการผลิต และตามมาตรฐาน การจัดการพลังงาน ISO 50001: 2018 โดยในปี 2,565 บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานได้ 6,142 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,847 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

เพิ่มศักยภาพและขยายตลาดพลังงานหมุนเวียน

นายวรพจน์ ยังกล่าวถึงเป้าหมายความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ ว่าจะมีการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ 3% ของลูกค้าทั้งหมดภายในปี 2565 และดำเนินธุรกิจในประเทศใหม่ในอาเซียนอย่างน้อย 1 แห่งภายในปี 2567 โดยในปี 2566 CKPower ขยายตลาดพลังงานหมุนเวียน ลงนามในข้อตกลงกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ามหานครสองสายในกรุงเทพฯ และทางด่วน ที่จะนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการเดินรถขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าระบบรางครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ซึ่งมีระยะทางกว่า 71 กิโลเมตร ให้บริการขนส่งมวลชน 54 สถานีทั่วกรุงเทพ ซึ่งสัญญาความร่วมมือนี้มีระยะเวลา 25 ปี โดยจะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนระบบรถไฟใต้ดินในปริมาณมหาศาลถึง 452 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือคิดเป็น 12% ของไฟฟ้าที่ประเมินว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงต้องใช้รวมกันทั้งหมด

ทั้งนี้ CKPower มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ครบวงจร สำหรับการออกแบบด้านวิศวกรรม ติดตั้งและก่อสร้างระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ตลอดจนดูแลเรื่องความพร้อมในการจ่ายไฟและการบำรุงรักษาหลังการติดตั้งอย่างครบวงจร โดยคาดว่างานออกแบบจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2567 และจะเริ่มงานก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน โดยจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนสิงหาคม 2567 ให้กับรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง และจะทยอยส่งมอบจนเต็มระบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน

CKPower ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน จากปัจจุบัน 93% หรือ 3,627 เมกะวัตต์ เป็น 95% หรือ 4,800 เมกะวัตต์ในปี 2567 โดยโครงการใหม่และกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด จะมาจากพลังงาน หมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกที่มีเป้าหมาย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593

ล่าสุดในปี 2565 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม CKPower ผลิตไฟฟ้าสะอาดส่งให้ประเทศไทยได้ 9,500,000 เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็น 5% ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ เทียบเท่ากับการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยความเชี่ยวชาญ

นายวรพจน์ กล่าวว่า CKPower เชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะไฟฟ้าพลังงานน้ำ และมีบทบาทสำคัญในการ สร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน ด้วยความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าและกำลังการผลิตที่สามารถ เสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย และยังเป็นพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์การร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

“เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.4999 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่าน หรือ Run-of-River ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.0008 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เท่านั้น”

…นายวรพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ ไฟฟ้าพลังน้ำยังมีเสถียรภาพสูง สามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้ทันที และเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี ช่วยสร้างเสถียรภาพ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย และยังเป็นการผลิต ไฟฟ้าที่มี ราคาถูกเมื่อเทียบกับไฟฟ้าที่ได้จากแหล่งอื่น มีราคาเฉลี่ยประมาณ 2 บาท ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่ม ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญ คือ สอดคล้องกับข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไซยะบุรี ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

นายวรพจน์ ยกตัวอย่าง ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ประเภทน้ำไหลผ่าน ที่ทันสมัย ปล่อยให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าเท่ากับปริมาณที่ไหลออกตลอดเวลา อาศัยอัตราการไหลของน้ำในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่มีการกักเก็บน้ำ ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการไหลของน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้ง ยังใช้นวัตกรรม การออกแบบ และก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ ระบบทางปลาผ่านแบบผสม ที่เริ่มจากการศึกษา ตั้งแต่เริ่มต้น พัฒนาโครงการ เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกต่อวงจรชีวิตของปลาและพฤติกรรมการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง ลักษณะ ทางกายภาพและชนิดพันธุ์ของปลาที่แตกต่างกัน เพื่อให้ระบบทางปลาผ่านแบบผสมนี้ สามารถตอบสนองต่อ พฤติกรรมการอพยพของปลาทุกสายพันธุ์ในแม่น้ำโขงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับ “คู่มือการออกแบบรายละเอียด” หรือ Preliminary Design Guidance (PDG) 2009 ที่ทางคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) กำหนดไว้ โดยในปัจจุบันพบว่าปลามากกว่า 125 สายพันธุ์ สามารถอพยพผ่านไปยังเหนือน้ำได้อย่างปลอดภัย

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ยังเป็นโรงไฟฟ้าแรกที่ได้ออกแบบประตูระบายตะกอนให้กดระดับลงไปเท่ากับระดับ ท้องน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าตะกอนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถไหลผ่านโรงไฟฟ้าไปยังท้ายน้ำได้เหมือนเดิม ตาม ธรรมชาติและที่สำคัญ ได้สร้าง “ช่องทางเดินเรือสัญจร” เพื่อให้การสัญจรทางเรือของชาวบ้านผ่านโรงไฟฟ้าฯ สามารถทำได้อย่างสะดวกตลอดทั้งปี

“นอกจากนวัตกรรมที่ผลักดันให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นไฟฟ้าพลังสะอาดที่ดีต่อโลก ไฟฟ้าพลังน้ำยังมีราคาถูก และไม่มีผลต่อค่า Ft จากการผันผวนของราคา เช่นเดียวกับพลังงานอื่นๆ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ราคา ค่าไฟจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีราคาเฉลี่ยเพียงหน่วยละ 2.16 บาท ซึ่งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในอัตราคงที่ ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 29 ปี” นายวรพจน์ กล่าว

นายวรพจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ก้าวต่อไปของ CKPower ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 และเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน