ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > สิงคโปร์นำลิ่วขับเคลื่อน Net Zero ในอาเซียน

สิงคโปร์นำลิ่วขับเคลื่อน Net Zero ในอาเซียน

13 ตุลาคม 2023


ที่มาภาพ เพจ:
Singapore Tourism Board

สิงคโปร์เป็นผู้นำในความพยายามที่จะขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ตามมาด้วยเวียดนามและไทย จากการสำรวจผู้นำอุตสาหกรรม 150 รายโดยสมาคมพลังงานที่ยั่งยืนแห่งสิงคโปร์ หรือ Sustainable Energy Association of Singapore(SEAS)

สิงคโปร์ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน โดย 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นตรงว่า สิงคโปร์พร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกหรือระดับภูมิภาคในด้านธนาคารและการเงินที่ยั่งยืน การค้าคาร์บอน และการคมนาคมทางไฟฟ้า

แม้ผู้ตอบแบบสอบถาม 7 ใน 10 เชื่อว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดถูกบั่นทอนลงจากการขาดแคลนที่ดิน แต่ก็ยังมองว่าสิงคโปร์ อาจมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับการเงินสีเขียว (67%) การค้าคาร์บอน (54%) ) และการขับเคลื่อนด้วยด้วยพลังงานไฟฟ้า (50%)

รายงานของ SEAS เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ก่อนการครบรอบ 10 ปีของการประชุมหลัก Asia Clean Energy Summit (ACES) ในปลายเดือนนี้

เอ็ดวิน คิว ประธาน SEAS กล่าวว่า “ไม่แปลกใจเลยที่สิงคโปร์ได้รับการโหวตให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงพลังงานของภูมิภาค ในฐานะศูนย์กลางการขนส่ง สินค้าโภคภัณฑ์ และพลังงานระดับโลก ตลอดจนศูนย์กลางด้านการเงินและการค้า สิงคโปร์อยู่ในตำแหน่งที่ดี ที่จะมีบทบาทเป็นตัวเร่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพลังงานของภูมิภาคไปข้างหน้าผ่านการวิจัยและพัฒนา และอำนวยความสะดวกในการลงทุนและความร่วมมือข้ามแดน รัฐบาลยังได้กำหนดแผนและนโยบายที่ก้าวหน้าเพื่อขับเคลื่อนภาคพลังงานหมุนเวียนให้เติบโต รวมไปถึงโครงการริเริ่มข้ามพรมแดนอื่นๆ”

ในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ตอบแบบสอบถามมั่นใจว่า ความก้าวหน้าที่ใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่การผลิตพลังงานหมุนเวียน (27%) ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ถึง 10% เชื่อว่าจะมีความก้าวหน้าในด้านนโยบายและการกำกับดูแล

ผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า อุปสรรคสามอันดับแรกในการเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอาเซียน ได้แก่ ยุทธ์ศาสตร์ที่อ่อนด้อยของรัฐบาลหรือการจัดสรรเงินอุดหนุน (64%) ความยากลำบากในการดำเนินโครงการริเริ่มข้ามแดน (63%) และการขาดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตพลังงานหมุนเวียน การจัดเก็บ การส่งและการชาร์จ (54%)

ในทางกลับกัน ผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ปัจจัยหลักในการเปลี่ยนผ่านพลังงานของอาเซียน คือ กรอบการกำกับดูแลและมาตรฐานใหม่ในการจัดการความเข้มข้นของคาร์บอนในพลังงาน รวมถึงภาษีคาร์บอนและสิ่งจูงใจสำหรับพลังงานสีเขียว (84%) ในขณะที่ช่องทางการเงินสีเขียวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน (63 %) รวมทั้งเงินอุดหนุนจากประเทศตะวันตก จะช่วยทำให้ได้เรื่องได้ราวชัดในอีก 10 ปีข้างหน้า

ไมเคิล แฮร์ริสัน หุ้นส่วนของ Baker Botts ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนระดับพรีเมียมของ ACES กล่าวว่า สิงคโปร์และรัฐบาลประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคควรจัดทำข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนพลังงานข้ามพรมแดน “หากไม่มีข้อตกลงพหุภาคีโดยเร็วทันที ด้านการส่งออกก็ต้องตกลงบนพื้นฐานของการพัฒนาระบบสายส่งกระแสตรงแรงดันสูง(High-Voltage Direct Current Interconnectors:HVDC) จากพื้นที่ผลิตไฟฟ้าไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าในอาเซียน รัฐบาลต้องตกลงแบบระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เพื่อพัฒนาข้อตกลงข้ามพรมแดนที่ให้ความแน่นอนและจะรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงเงินทุนของธนาคารพาณิชย์เพื่อพัฒนา HVDC”

ในการผลักดันให้การเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน(ASEAN Power Grid: APG) ให้เป็นความจริง ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมือข้ามพรมแดนที่มากขึ้น โดยมีกลุ่มความร่วมมือข้ามพรมแดน (72%) เป็นผู้นำ แนวทางแก้ไขอื่นๆ ได้แก่ ข้อตกลงทวิภาคีประเทศ (71%) และสนธิสัญญาทั่วทั้งอาเซียน (70%)

ภาษีคาร์บอนและการนำเข้าพลังงานสีเขียว

แม้จะมีการขึ้นภาษีคาร์บอนสูงมากในสิงคโปร์ แต่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นพ้องกันว่า อัตราปี 2567 ที่ 25 ดอลลาร์ต่อตันนั้นสมเหตุสมผล แต่ควรมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนเป็นระยะ

ผู้ตอบแบบสอบถามจัดอันดับการนำเข้าพลังงานสีเขียวเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน ความสามารถในการจ่ายได้ และความยั่งยืนในสิงคโปร์ (45%) ตามมาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนแหล่งน้ำ หลังคาบ้าน หรือที่ดินเปล่า (32%) และการผสมผสานระหว่างไฮโดรเจนที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติกับ การดักจับ การใช้และการเก็บรักษาคาร์บอน (18%)

ACES ครั้งที่ 10 จะจัดขึ้นในวันที่ 24-26 ตุลาคม ที่ แซนด์ส เอ็กซ์โป แอนด์ แซนด์ส เอ็กซ์โป แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (Sands Expo and Convention Centre) หรือศูนย์การประชุมและนิทรรศการ ที่ มารีน่าเบย์ แซนด์ การจัดงาน ACES เป็นส่วนหนึ่งของ Singapore International Energy Week (SIEW) โดยเป็นเวทีร่วมกันสำหรับผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมมือกันในประเด็นสำคัญและโอกาสในการควบคุมพลังงานสะอาดสำหรับอนาคต

SEAS เปิดตัวในปี 2549 เป็นสมาคมธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นตัวแทนของผลประโยชน์และเป็นเวทีร่วมกันสำหรับบริษัทต่างๆ ในภาคพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อพบปะ หารือ ทำงานร่วมกัน และดำเนินโครงการ