ThaiPublica > คนในข่าว > “เวือง ดิ่งห์ เหวะ” ประธานสภาแห่งชาติ เวียดนามชี้ ถึงเวลายกระดับ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เวียดนาม-ไทยให้รอบด้าน”

“เวือง ดิ่งห์ เหวะ” ประธานสภาแห่งชาติ เวียดนามชี้ ถึงเวลายกระดับ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เวียดนาม-ไทยให้รอบด้าน”

8 ธันวาคม 2023


นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ (Vuong Dinh Hue) ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/na-chairman-delivers-keynote-speech-at-thailand-s-chulalongkorn-university/274573.vnp

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติ National Assembly (NA)สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เสริมสร้างความผูกพัน ความไว้วางใจ และความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เวียดนาม-ไทย เพื่ออนาคตร่วมแห่งสันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Strengthening Viet Nam-Thailand engagement, trust and strategic partnership for a common future of peace, cooperation and sustainable development) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม ตามคำเชิญของประธานรัฐสภาไทย นายวัน มูฮัมหมัด นอร์ มะทา

การบรรยายพิเศษของ นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจด้านความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามและไทย เพื่อสร้างสันติภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ประเทศไทยและเวียดนามเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน

นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ปัจจุบันอายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองนายกรัฐมนตรี สมาชิกคณะกรมการเมืองลำดับที่ 4 สมัชชาพรรคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 13 ฯลฯ ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามสมัยที่ 15

นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ กล่าวว่า ปัจุบันมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งสงครามในยุโรปตะวันตก และสงครามในตะวันออก อีกทั้งยังมีประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคนที่ยังยากจนและประสบกับความหิวโหย ตลอดจนยังมีการแบ่งแยก การกีดกันกำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เวียดนามซึ่งเคยผ่านความสูญเสียจากจากสงครามมาก่อนจึงมีความเข้าใจลึกซึ่งถึงสะันติภาพ จึงพยายามในการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ และมีความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆประเทศให้มีความมั่นคง ส่งเสริมความสัมพันธ์ทุกภาคีกับบูรณาการอย่างรอบด้าน มีประสิทธิภาพเป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

เวียดนามตระหนักดีว่าอนาคตเชื่อมโยงกับสันติภาพ เสถียรภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาในภูมิภาคและโลก ดังนั้น เวียดนามต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาสันติภาพ เสถียรภาพ ความยั่งยืน ในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อสันติภาพที่ยาวนานและความยั่งยืนในภูมิภาค

เวียดนามและไทยล้วนเป็นสมาชิกอาเซียน ก็ต้องมีบทบาทในการส่งเสริมการหารือร่วมมือกัน ซึ่งสอดคล้องกับกฎบัตรของสหประชาติและ กฎหมายระหว่างประเทศในการจัดการให้มีสันติภาพ

โดยที่อาเซียนมีที่ตั้งที่เชื่อมโยงสองมหาสมุทรคือ มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย เป็นคาบสมุทรอินโดจีน ดังนั้นเวียดนามและไทยร่วมมีวิสัยทัศน์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ก็มีบทบาทสำคัญ อาเซียนได้กลายเป็นศูนย์กลางของโลก ภูมิภาคนี้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมกันถึง 60% ของโลก เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เปิดโอกาสในการพัฒนาประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค

ด้วยศักยภาพจากยุทธศาสตร์การรวมตัวของภูมิภาคนี้ ก็สามารถพูดได้ว่าไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะมีการเชื่อมโยงเอเชียและแปซิฟิกดังเช่นในปัจจุบัน และไม่มีเวลาไหนที่จะพูดได้ว่า เอเชียแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดียมีความท้าทายหลายด้านจากหลายประเด็นที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องเผชิญกับการแบ่งขั้ว ซึ่งแม้จะเป็นประเทศใหญ่ก็ไม่สามารถจัดการทุกอย่างได้โดยลำพัง

“วิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาได้ ก็คือส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ จากทุกประเทศ โดยฉพาะประเทศที่แข็งแกร่งทั่วโลก ให้มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง ดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพ รวมทั้งส่งเสริมบทบาท ประสิทธิภาพของกลไกความร่วมมือในภูมิภาค ในการรักษาสันติภาพและเผชิญหน้ากับความท้าทายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย”

อาเซียนมีแนวทางในการที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคในการดำรงความสันติภาพ เสถียรภาพ และส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค และตอกย้ำว่าอาเซียนมีความสามารถในการปรับตัว เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าสมาคมอาเซียนปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม และการร่วมมือก็มีคืบหน้าที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพในวิถีแบบอาเซียน

เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนและยืนยาว ทุกประเทศ รวมทั้งเวียดนาม ไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือ โดยเคารพหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงการระงับข้อพิพาทอย่างสันติและ ละเว้นจากการใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง

นอกจากการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าวไทยกับเวียดนามแล้ว ทั้งสองประเทศต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 และอาเซียนต้องขยายความร่วมให้ลึกขึ้น ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของอาเซียนในปี 2045 ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ก็ต้องมีความร่วมมือกัน ส่งเสริมการปรับตัว

ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/politics-laws/1637758/na-chairman-delivers-keynote-speech-at-thailand-s-chulalongkorn-university.html

เวียดนามและไทยยังเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ(greater mekong subregion-gms อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้) เป็นหุ้นส่วนในกลไกความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง จึงต้องส่งเสริมความร่วมมือใน GMS รวมไปถึง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

เวียดนามและไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาเกือบ 50 ปี ตั้งแต่ปี 1976-2023 โดยเฉพาะช่วงปี 1990 มีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและแน่นแฟ้น จากการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โด๋ เหมื่อย ในปี 1993 และจากนโยบายการเปลี่ยนสนามรบอินโดจีนเป็นสนามการค้าของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ในปี 1989 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาไปมากขึ้นลงไปถึงระดับประชาชน

เวียดามและไทยมีความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ที่มีความใกลชิด มีความเชื่อมั่นระหว่างกัน “เวียดนามและไทยเป็นประเทศคู่แรกในอาเซียนที่สถาปนาและยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ในปี 2013 และการเยือนไทยของนายเหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่ของพรรค ได้เปิดศักราชใหม่ในความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับไทย”

นอกจากนี้เวียดนามกับไทยยังกลไกความร่วมมืออื่น คือ มีคณะรัฐมนตรีร่วม “ซึ่งในช่วงที่ผมดำตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมด้วย 2 ครั้งแล้ว”

เมื่อปี 2015 ทั้งสองประเทศได้ยกระดับหุ้นส่วนยุทธศาสตรให้กระชับมากขึ้น มีคณะตัวแทนเยือนระหว่างกันในทุกระดับและในทุกช่องทาง ความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ประสบความสำเร็จ และมีการขยายไปสู่ด้านอื่น ที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว พลังงานสะอาด

  • >เวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนามเยือนไทย กระชับสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
  • ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจากการยกระดับเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศทวิภาคีเพิ่มขึ้น 230% จาก 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2013 เป็น 27.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2022

    ในอาเซียนไทยเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่สุดของเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 9 ของเวียดนาม ด้วยมูลค่าลงทุน 14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    เวียดนามและไทยยังมีความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา และในระดับประชาชน โดยในด้านท่องเที่ยวในปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเยือนเวียดนามจำนวน 510,000 คน และในต้นปีนี้จนถึงเดือนกันยายน นักท่องเที่ยวไทยไปเยือนเวียดนามกว่า 826,000 คน นักท่องเที่ยวเวียดนามมาเยือนไทย 391,000 คน

    นอกจากนี้ยังมีชาวเวียดนามอาซัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 100,000 คน ซึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลไทย “และในวันนี้ผมจะเดินทางไปที่อุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ชาวเวียดนามอาศัยอยู่จำนวนมากเพื่อเปิดตัวเวียดนามทาวน์ ก็ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่เอาใจใส่และอำนวยความสะดวกให้กับชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย”

    “การมาเยือนไทยของผม ถือว่าเป็นผู้นำระดับสูงรายแรกรายเดียวที่มาเยือนไทยในปี 2023 เพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และเป็นการมาเยือนหลังไทยมีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของเวียดนามที่มีต่อความสัมพันธ์กับไทย”

    “จากความร่วมมือที่ยาวนานเกือบ 50 ปีแล้วถึงเวลาที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะต้องยกระดับเป็นความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน”

    ในบริบทใหม่ การสร้างอาเซียนที่เข้มแข็ง เป็นเอกภาพ และยืดหยุ่น โดยมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างระดับภูมิภาคและความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรภายนอกถือเป็นทิศทางสำคัญสำหรับ ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เวียดนาม-ไทย

    โดยจะต้องส่งเสริมความร่วมมือของทั้งสองประเทศ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์และการพัฒนาในภูมิภาค จึงขอเสนอ 4 แนวทางในการยกระดับความสัมพันธ์

    แนวทางที่หนึ่ง ส่งเสริมความเชื่อมั่นทางด้านการเมือง ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ส่งเสริมความร่วมมืออย่างแท้จริง ในการใช้กลไกความร่วมมือต่างๆของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพ “ซึ่งหลังจากนี้ผมจะเข้าคารวะนายกรัฐมนตรีเพื่อนำคำเชิญจากนายกรัฐมนตรีเวียดนามในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมในปีหน้า”

    นอกจากนี้เสริมสร้างความร่วมมือบนพื้นฐานของจุดแข็งของสองประเทศ ส่งเสริมความสามัคคีและนวัตกรรมที่มากขึ้นภายใต้หลักการชี้นำ “ความน่าเชื่อถือ ความรับผิดชอบ ความจริงใจ ความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และความก้าวหน้าร่วมกัน

    รัฐสภาเวียดนาม และรัฐสภาไทยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองรัฐสภา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

    แนวทางที่สอง ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยความคิดริเริ่ม “สามการเชื่อมโยง” หรือ “Three Connections” initiative (เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงเศรษฐกิจ ธุรกิจ และท้องถิ่น เชื่อมโยงกลยุทธ์การเติบโตที่ยั่งยืนระหว่างทั้งสองประเทศ)
    ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่วางไว้ที่ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะบรรลุเป้าหมาย

    แนวทางที่สาม ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม ในด้านการท่องเที่ยวเวียดนามและไทยมีเที่ยวบินเพียง 270 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่เวียดนามมีเที่ยวบินกับเกาหลีใต้ถึง 1,260 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

    นอกจากนี้ต้องมีความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด ส่วนในด้านความยั่งยืน เวียดนามมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 และไทยมีนโยบายเศรษฐกิจ BCG

    ในระดับท้องถิ่น จังหวัดของเวียดนามและไทยลงนามจับคู่เป็นเมืองพี่เมืองน้องกันถึง 19 คู่ รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ภาษาเวียดนาม ศูนย์เวียดนามศึกษา

    แนวทางที่สี่ ส่งเสริมความร่วมมือระดับพหุภาคี ภายใต้กรอบความร่วมมือ และส่งเสริมบทบาทของอาเซียน มีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาต่างๆในสหประชาชาติ เวียดนามและไทยต้องร่วมมือกันส่งเสริมความร่วมมือในกรอบความร่วมมือต่างๆทั่วโลก เช่น APEC, ASEM

    “รัฐสภาเวียดนาม พร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐสภาไทย ในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลกับรัฐบาล ประชาชนกับประชาชนให้ลึกมากขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เวียดนามกับไทยกำลังอยู่ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก มีคุณค่า และมีผลต่อออนาคตของอาเซียน ประชาชนของอาเซียน”

    ที่มาภาพ: https://www.chula.ac.th/news/143721/

    ในช่วงเปิดให้มีการซักถาม นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ กล่าวว่า ในความสัมพันธ์ที่มียาวนานเกือบ 50 ปี โดยที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กันมา 10 ปี ไทยเป็นคู่ค้าอันดับใหญ่สุดของเวียดนามด้วยมูลค่าการค้า 22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่แล้ว และน่าจะสูงเกินเป้าหมาย 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปีนี้ แต่การค้าทวิภาคีระหว่างเวียดนามไทยยังมีสัดส่วนหน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างประะเทศ 735 พันล้านเหรียญสหรัฐฯของเวียดนาม และติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก

    ไทยและเวียดนามมีจุดแข็งด้านการเกษตร เวียดนามมีการส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนมาก ในปีที่แล้วเวียดนามส่งออกข้าวสูงถึง 73 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยก็มีจุดแข็งด้านการค้าข้าว ก็หวังว่าทั้งสองประเทศจะมีความร่วมมือกันได้ในด้านนี้

    “ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับเวียดนาม และได้ดำเนินการตามข้อตกลงที่ลงนามอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแผนปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในช่วงปี 2565-27 นอกจากนี้ยังมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในไทย มีวัดเวียดนามในไทย 21 แห่ง มีแหล่งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีโฮ จิมินห์ในไทย 3 จุด ซึ่งผมก็คิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวยึดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอย่างชัดเจน

    ในสถานการณ์โลกที่กำลังผันผวน เวียดนามและไทย ยังมีความร่วมมือและมีบทบาท มีความเชื่อมั่นสูงในอาเซียน ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่เวียดนามและไทย จะยกระดับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และในอนาคตอันใกล้นี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของทั้งสองประเทศที่จะสามารถยกระดับความร่วมมือ ส่งเสริมการพัฒนาในอาเซียนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

    นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/75883

    “อนาคต และวิสัยทัศน์ ก็มีแล้ว ที่สำคัญก็คือ ความตั้งใจของรัฐบาล และประชาชนของทั้งสองประเทศ”

    สำหรับอนาคตของอาเซียน นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ กล่าวว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ประุชุมสุดยอดอาเซียนให้การรับรองร่างวิสัยทัศน์ 2045 ของอาเซียน ซึ่งสรุปได้ ว่า ต้องมีการพึ่งพาตนเอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเพื่อที่จะบรรลุวิสัยทัศน์นี้ ต้องคำนึงข้อสำคัญ 4 ข้อ คือ

    หนึ่งต้องส่งเสริมความสามัคคี จุดแข็งของกลุ่มอาเซียน ในการปรับตัวและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก สองเพิ่มการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายใน อาเซียน มีความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมรากฐานความมั่นคง และต้องมีกลไกความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านด่านพลังงาน ซึ่งประเทศเดียวไม่สามารถดำเนินการได้ สามส่งเสริมความเท่าเทียม สี่ ต้องอำนวยความสะดวกในการเข้ามีส่วนร่วมของประชาชน

    นอกจากนี้ควรส่งเสริมบทบาทของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพราะไม่ได้เกี่ยวโยงเฉพาะผลประโยชน์ของประเทศในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังมีหลายประเทศทั่วโลกที่สนใจต่อความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำโขง

    ดังนั้นสองประเทศต้องร่วมมือกัน แบ่งปันข้อมูล การพัฒนาในประเทศ ในอาเซียน รวมทั้งความร่วมมือในการใช้น้ำจากแม่น้ำโขง รวมทั้งความร่วมมือในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor – EWEC) ตลอดจนร่วมมือในกลไกของแม่น้ำโขงที่มี 15 กลไก

    นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ย้ำว่า ในขณะที่ทั้งสองประเทศคำนึงถึงผลประโยชน์ แต่ก็เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของภูมิภาค ทั่วโลก ทีเ่ป็นผลประโยชน์ระยะยาว ถ้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เหล่านี้ กลไกความร่วมมือก็จะไม่มีประสิทธิภาพ เวียดนามและไทยต้องทบทวนกลไกความร่วมมือเหล่านี้ ซึ่งค่อนข้างจะมีจำนวนมาก