ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาผู้บริโภคจี้“บริษัทศรีสวัสดิ์”ทบทวนการทำสัญญาเงินกู้

สภาผู้บริโภคจี้“บริษัทศรีสวัสดิ์”ทบทวนการทำสัญญาเงินกู้

7 ธันวาคม 2023


สภาผู้บริโภคเปิดพื้นที่ช่วยไกลเกลี่ยสัญญาเงินกู้ไม่เป็นธรรมจี้บริษัทศรีสวัสดิ์ ทบทวนสัญญากู้ไม่เป็นธรรม ขณะที่บริษัทศรีสวัสดิ์ยอมรับให้ลูกค้าเซ็นสัญญาเปล่าก่อนปล่อยกู้เพื่อความรวดเร็วยืนยันไม่มีเจตนาฉ้อโกงลูกค้าโดยพร้อมปรับปรุงการปล่อยกู้ใหม่ ขณะที่ผู้บริโภคชนะคดีพอใจศาลศาลชี้บริษัทเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 15

สภาผู้บริโภค จัดแถลงข่าว เปิดคำพิพากษากรณีธุรกิจการให้กู้ยืมเงินที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

จากกรณีผู้บริโภคมากกว่า 60 รายได้เข้ามาร้องเรียนให้สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสภาผู้บริโภคช่วยเหลือ กรณีทำสัญญาเงินกู้กับ บ.เงินกู้ ศรีสวัสดิ์ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายทำสัญญาผิดกฎหมาย โดยล่าสุดศาลได้ยกฟ้องผู้บริโภค กรณีปล่อยเงินกู้ หลังถูกพิสูจน์ว่าบริษัทได้ใช้เอกสารอันเป็นเท็จ

สภาผู้บริโภค จึงจัดแถลงข่าว เปิดคำพิพากษากรณีธุรกิจการให้กู้ยืมเงินที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยมีผู้เสียหายคดีเข้าร่วมชี้แจง โดยระหว่างการแถลงได้มีตัวแทนบริษัทศรีสวัสดิ์เข้ามาร่วมชี้แจงและยอมรับว่าพร้อมปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา  รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค  กล่าวว่า มีผู้บริโภคมากกว่า60 ราย ได้เข้ามาร้องเรียนและขอให้สภาผู้บริโภคช่วยเหลือกรณีการทำสัญญากู้เงินกับบริษัทศรีสวัสดิ์ ซึ่งหลายกรณีเกิดจากทำสัญญาไม่เป็นธรรม ผู้กู้ไม่ได้รับเอกสารคู่สัญญา มีการเซ็นเอกสารในกระดาษเปล่า และ กู้ในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยกรณีดังกล่าวศาลได้ตัดสินแล้วว่าบริษัทได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดจริง

อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคได้เปิดพื้นที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและเคลียร์คดีที่เกิดขึ้นกับบริษัทศรีสวัสดิ์ โดยมีการทบทวนการสัญญาอาจจะไม่ถูกต้อง และให้มาเริ่มเจรจาทำสัญญาที่ถูกต้องใหม่ร่วมกัน

นายวัชร์บูรย์ สุรสิงห์สกฤษฎ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ บริษัทศรีสวัสดิ์

ทั้งนี้ นายวัชร์บูรย์  สุรสิงห์สกฤษฎ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ บริษัทศรีสวัสดิ์ ได้เข้ามาชี้แจงว่า บริษัทศรีสวัสดิ์ยินดีรับไปพิจารณาและปรับปรุงกระบวนการให้กู้  พร้อมชี้แจงกรณีปัญหาที่ผู้กู้ไม่ได้เอกสารคู่สัญญาเงินกู้ ว่าอาจจะเกิดจากการสื่อสารของเจ้าหน้าที่สาขา ดังนั้นบริษัทรับไปปรับปรุงแก้ปัญหา  โดยเพิ่มขั้นตอนส่งเอสเอ็มเอสให้กับผู้กู้มารับคู่สัญญาเงินกู้ได้

ส่วนการเซ็นกระดาษเปล่านั้น เห็นว่าการเช่าซื้อหรือการเซ็นสัญญากับธนาคาร หรือบริษัท อื่นๆมีการเซ็นกระดาษเปล่าเช่นกัน ซึ่งการที่ต้องทำแบบนั้นเพราะว่าบริษัทได้มองที่ลูกค้าเป็นหลัก เนื่องจากการแข่งขันธุรกิจรุนแรงจึงต้องการให้มีความรวดเร็วในการทำงาน เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมากยกเลิกสัญญาเพราะความล่าช้า ดังนั้นจึงคาดว่าเพราะเอกสารผิดพลาด จึงให้ลูกค้าเซ็นในกระดาษเปล่าไปก่อนแล้วค่อยมาพิมพ์แบบฟอร์ม ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ลงโทษพนักงานและจะไม่มีการเซ็นกระดาษเปล่าเกิดขึ้นอีก

ส่วนในเรื่องของดอกเบี้ย นายวัชร์บูรย์   กล่าวว่า นโยบายบริษัทเริ่มต้นดอกเบี้ยที่ ร้อยละ 0.49 ซึ่งหาไม่ได้ในตลาดตอนนี้  และลูกค้ายังสามารถต่อรองได้อีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของพนักงาน โดยบริษัทได้คิดดอกเบี้ยคิดตามเดือนที่ใช้ ดังนั้นอาจจะสูงคือร้อยละ 2  แต่ไม่ได้คิดดอกเบี้ยตลอดสัญญาเงินกู้ แตกต่างจากสัญญาเงินกู้อื่นๆที่คิดดอกเบี้ยตลอดสัญญา

“เรายืนยันว่าเราไม่ได้โกงลูกค้า หรือเจตนาจะหลีกเลี่ยง และเราพยายามหาทางออกให้กับลูกค้าแต่เมื่อมีข้อโตแย้งเกิดขึ้นทางบริษัทศรีสวัสดิ์พร้อมจะนำไปปรับปรุงไม่มีข้อโต้แย้ง” นายวัชร์บูรย์ กล่าว

สภาผู้บริโภค จัดแถลงข่าว เปิดคำพิพากษากรณีธุรกิจการให้กู้ยืมเงินที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

ด้าน ว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ แก้วบุญส่ง ตัวแทนผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อจำนำโฉนด จากบริษัทเงินกู้ศรีสวัสดิ์  กล่าวถึง สาเหตุการกู้เงินกับบริษัทศรีสวัสดิ์ว่าเกิดจากในช่วงปี 2562 เกิดปัญหาโควิด 19 ทำให้ธุรกิจมีปัญหาต้องกู้เงินมาเพื่อต่อลมหายใจ จึงได้ไปกู้เงินที่บริษัทศรีสวัสดิ์เพราะน่าเชื่อถือ และเคยร่วมงานกับธนาคารออมสิน จึงได้นำโฉนดไปกู้เงิน โดยกู้ไปทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกนำโฉนดบ้านไปจำนอง จำนวน 4.5 แสนบาท ครั้งที่สองนำโฉนดไปวาง 2 แสนบาท และครั้งที่สามนำโฉนดไปจำนอง 4.5แสนบาท  โดทั้ง 3 สัญญาไม่ได้รับคู่สัญญา และเซ็นเอกสารเปล่า และได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนเงินกู้โดยบริษัทอ้างค่าธรรมเนียม ค่าประกันแต่ไม่เคยได้รับเอกสารเหล่านั้นเลย

“ผมเห็นเอกสารสัญญากู้เงินตอนที่บริษัทมาฟ้องแต่เอกสารที่ส่งฟ้องศาลไม่ตรงกับที่ผมเข้าใจ เอกสารบางแผ่นไม่เคยเห็นมาก่อน  ผมยอมรับว่าผมโง่ที่เซ็นเอกสารเปล่า แต่ผมยืนยันว่าผมไม่เคยปฏิเสธที่จะจ่ายหนี้ แต่วันนี้ยอดเงินกู้ 2แสนบาทแต่ผมต้องจ่าย 4 แสนบาทผมคิดว่าไม่ถูกต้อง จึงได้รวมรวมเอกสารเพื่อต่อสู้คดี”

ว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ  กล่าวว่าศาลได้ตัดสินทั้งหมด 3 คดี รู้สึกพอใจและขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม โดยไม่ต้องจ่ายหนี้ตามที่บริษัทยื่นฟ้อง จึงอยากบอกกับผู้บริโภคที่เจอแบบเดียวกันนำคดีของตัวเองเป็นบทเรียนและอยากให้บริษัทศรีสวัสดิ์ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล

“ผมสู้เพราะต้องการความถูกต้องไม่ได้บอกว่าจะไม่จ่ายเงินกู้ แต่จ่ายบนสัญญาที่ถูกต้อง ผมอยากฝากถึงพี่น้องที่อาจจะเจอแบบเดียวกับผม บางคนอาจจะไม่รู้ว่าป่วย ไม่รู้ว่าถูกโกง อยากให้ตั้งสติและนำเอาบทเรียนคดีของผมเป็นตัวอย่างแล้วต่อสู้คดี”

ว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ แก้วบุญส่ง ตัวแทนผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อจำนำโฉนด

สำหรับคดีของว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ ศาลยังพิพากษาว่าการเก็บดอกเบี้ยดังกล่าวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือเกินร้อยละ 15 ต่อปี แต่บริษัทเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือร้อยละ 24 ต่อปี ดังนั้นศาลจึงตัดสินให้จำเลยชำระเงิน 241,286 บาทจากยอดกู้ 403,511 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี

ส่วนอีกคดีบริษัทยื่นฟ้องผิดสัญญากู้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า บริษัทได้นำหลักฐานที่มีความผิดปกติประกอบด้วย 1. วันที่ไม่ตรงกับวันที่กู้ 2. บริษัทที่ยื่นฟ้องเป็นคนละบริษัทที่ผู้เสียหายจดจำนอง กับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 แต่ถูกบริษัท เงินทุน สรีสวัสดิ์จำกัด (มหาชน )ยื่นฟ้อง  และ 3. ลายเซ็นในสัญญาเป็นลายเซ็นไม่ตรงกันกับที่ผู้กู้เซ็น และ 4. ดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญาไม่ตรงกับเอกสารที่จดจำนอง

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์  เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค  ได้แสดงหลักฐานการเซ็นสัญญาในเอกสารเปล่ามาให้เซ็นสัญญา  ซึ่งแม้ว่าการทำธุรกรรมโดยทั่วไปของธุรกิจสินเชื่อจะมีการให้เซ็นเอกสารเปล่าเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เอกสารไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่กรณีบริษัท ศรีสวัสดิ์พบว่าเอกสารเปล่าดังกล่าวภายหลังเป็นเอกสาร “คำสัญญาใช้เงินเปลี่ยนมือไม่ได้” ซึ่งไม่ใช่เอกสาร “สัญญากู้เงิน” จึงตั้งข้อสังเหตว่า การใช้เอกสาร”คำสัญญาใช้เงินเปลี่ยนมือไม่ได้ “เพราะอาจจะหลีกเหลี่ยงกฎหมายเนื่องจากสัญญาเงินกู้ต้องให้คู่สัญญากับผู้กู้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 15 อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท ในการปลอมแปลงเอกสารเอาไว้แล้ว

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

ด้านนายโสภณ หนูรัตน์  หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การดำเนินการของสภาองค์กรผู้บริโภคเป็นผู้แทนผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องคดีแทนและช่วยคนที่ถูกฟ้อง โดยที่ผ่านมามีผู้บริโภคมากกว่า 60 รายเข้ามาร้องเรียนกรณีการทำสัญญากู้เงินของบริษัทศรีสวัสดิ์  โดยพบปัญหาหลายประเด็น ตั้งแต่การคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด การไม่คืนโฉนด สัญญาไม่เป็นธรรมทำให้เสียเปรียบ ไม่ส่งมอบสัญญาคู่ฉบับและ ใช้สัญญาใช้เงิน มาใช้แทนสัญญากู้ ซึ่งคาดว่าอาจจะเหลีกเลี่ยงการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด คือคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน  ซึ่งเกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งประเด็นดังกล่าวศาลได้ตัดสินคดีแล้วว่าบริษัทได้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจริงตามคำพิพากษาของคดีของว่าที่ร้อยเอกธรรมณัฐ

นายโสภณ ยังกล่าวอีกว่า  กรณีของการทำสัญญากับบริษัทศรีสวัสดิ์ ยังพบว่ามี ผู้กู้ได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อ   เช่น สัญญาระบุวงเงินกู้ 209,000 บาท ใบรับเงินกู้ระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีแล้ว 205,000 บาทและรับเงินสด ไปแล้ว 4,000 แต่ในความเป็นจริงผู้กู้ได้รับเงินเพียง 199,946 บาท และไม่ได้รับเงินสดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้บริโภคที่มีปัญหาสัญญากู้เงินไม่เป็นธรรมสามารถเดินทางมาขอรับความช่วยเหลือกับสภาผู้บริโภคเพิ่มเติมได้

  • สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้สินเชื่อบ้าน – ที่ดิน ‘ศรีสวัสดิ์’ เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค
  • สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเพิ่มผู้เสียหายสินเชื่อศรีสวัสดิ์ พฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย
  • สภาองค์กรผู้บริโภค เสนอธปท.กำกับดูแล “สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง”