ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเพิ่มผู้เสียหายสินเชื่อศรีสวัสดิ์ พฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย

สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเพิ่มผู้เสียหายสินเชื่อศรีสวัสดิ์ พฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย

12 กรกฎาคม 2022


ผู้เสียหายการกู้สินเชื่อบ้านที่ดินศรีสวัสดิ์

เปิดเพิ่มผู้เสียหาย ถูกเอาเปรียบจากสัญญากู้สินเชื่อศรีสวัสดิ์ บางรายถูกเรียกทำสัญญาใหม่ 4 ครั้งจนเงินกู้จาก2แสนเพิ่มเป็น 3.5 แสนบาท ขณะที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ชัดสินเชื่อศรีสวัสดิ์เอาเปรียบผู้บริโภค เข้าข่ายพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เรียกร้อง ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง

สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดแถลงรับฟังปัญหาผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อบ้านที่ดิน ศรีสวัสดิ์ โดยพบ ปัญหาการทำสัญญาสินเชื่อของบริษัทศรีสวัสดิ์ที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค ได้มีผู้เสียหายจำนวนมากติดต่อขอให้ข้อมูลการทำสัญญาเอาเปรียบ

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยหลังจากการออกมาให้ข้อมูลการทำสัญญาสินเชื่อบ้าน ที่ดินไม่จดจำนองของบริษัทศรีสวัสดิ์ว่า ได้มีผู้บริโภคจำนวนมากติดต่อมาขอให้ข้อมูล ซึ่งหลังจากสภาองค์กรของผู้บริโภคลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานพบว่ามีพฤติการณ์ทำสัญญาเงินกู้ไม่แตกต่างกัน เช่น ไม่ให้คู่สัญญาเงินกู้กับผู้กู้ และมีการเรียเก็บค่าธรรมเนียมภายหลัง โดนเมื่อผ่อนชำระเงินหมดแล้วไม่ให้โฉนดคืน แต่อ้างว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม

ทั้งนี้ผู้เสียหายรายแรกที่ติดต่อมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อเดือนกรกฎาคม 64 เนื่องจากผู้เสียหายรายนี้ไม่ได้รับโฉนดคืนหลังจากผ่อนชำระเงินกู้ครบจำนวนคือ 2แสนบาท โดยบริษัทอ้างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 8,000บาท โดยที่ไม่อยู่ในข้อตกลงกันตั้งแต่แรก

หลังผู้เสียหายรายแรกร้องขอความช่วยเหลือทำให้ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง และพบผู้เสียหายอีกจำนวนมาก เช่นกรณีพนักงานแห่งหนึ่ง นำทะเบียนรถยนต์ไปขอสินเชื่อแต่เมื่อผ่อนชำระหมดแล้วบริษัทอ้างว่าต้องจ่ายเพิ่มเพราะยังมีค่าธรรมเนียมไม่คืนทะเบียนรถยนต์จนต้องไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

นายภัทรกร กล่าวว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพบว่า เกือบทุกรายผู้เสียหายไม่ได้รับคู่สัญญาเงินกู้ บริษัทให้เซ็นเอกสารเปล่า นอกจากนี้ยังพบว่าบางสาขายังมีการปล่อยสินเชื่อพ่วงกับขายประกันชีวิตโดยไม่แจ้งผู้เสียหาย ซึ่งการดำเนินการขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยจี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของบริษัท และกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทได้อย่างไรบ้าง

“สภาองค์กรของผู้บริโภคอยากให้ผู้เสียหายที่ถูกเอาเปรียบจากการทำสัญญาสินเชื่อไม่ว่าจะเป็นของบริษัทศรีสวัสดิ์ หรือบริษัทปล่อยสินเชื่ออื่นให้ร้องเรียนมายังสภาองค์กรผู้บริโภคเพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือได้” นายภัทรกร กล่าว

ผู้เสียหายไม่ได้รับคู่สัญญาเงินกู้จากบริษัท

ขณะที่ผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อบ้าน ที่ดินไม่จดจำนองให้ข้อมูล เช่นกันว่า ภรรยาได้เข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทศรีสวัสดิ์ หลังจากได้เห็นโฆษณาในโทรทัศน์ว่าสามารถกู้ยืมโดยไม่มีค่าธรรมเนียม โดยไปกู้เงินกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด จำนวน 1 แสนบาท และใช้โฉนด

ผู้เสียหายรายนี้บอกว่า การทำสัญญาบริษัทโดย2 แผนที่มีข้อความว่าใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน ส่วนอีก 4 แผ่นเป็นการเซ็นสัญญาในกระดาษเปล่าไม่มีรายละเอียด อย่างไรก็ตามผู้เสียหายรายนี้ ไม่ได้รับคู่สัญญาเงินกู้จากบริษัท โดยอ้างเป็นนโยบายบริษัท

นอกจากนี้ผู้เสียหายยังได้รับเงินกู้ไม่ตรงจำนวนที่ยื่นกู้ คือ 1 แสนบาท แต่ได้รับเพียง 92,000 บาทที่โอนเข้าบัญชีธนาคาร ส่วนอีก 8,000 บาท บริษัทอ้างว่าจ่ายเป็นเงินสดโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าว แต่เมื่อทวงถามไปยังเจ้าหน้าทีของบริษัทแจ้งว่าเป็นค่าธรรมเนียมการประเมินที่ดิน ซึ่งในความเป็นจริงผู้เสียหายเป็นผู้ติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อประเมินโฉนดด้วยตัวเอง

“ ผมไม่ได้คู่สัญญาเงินกู้ แม้ว่าจะทวงถามไปหลายครั้ง ขณะที่บริษัทหักเงินสด 8000 บาทอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมแต่ในโฆษณาบอกว่าฟรีค่าธรรมเนียม ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นธรรมกับผม”

ผู้เสียหายรายนี้บอกว่า ถูกฟ้องร้องจากบริษัทศรีสวัสดิ์เงินกู้ จำกัด (มหาชน) แต่ในวันที่ไปทำสัญญาเป็นบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ขณะที่ใบเสร็จรับเงินเมื่อจ่ายชำระหนี้ มาจากหลายบริษัท

“เงื่อนไขการชำระหนี้บริษัทบอกว่าให้จ่ายทั้งหมด 12 งวด งวดละ 2000 บาทดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน โดยเมื่อชำระหนี้แล้วใบเสร็จรับเงินที่บริษัทออกให้ไม่เหมือนกัน”

ผู้เสียหายรายนี้บอกว่า เห็นสัญญาคู่ฉบับเงินกู้เมื่อบริษัทฟ้องร้องดำเนินการคดี โดยที่ผ่านมาไม่เคยเห็นสัญญาดังกล่าวมาก่อนเลย ขณะที่ที่อยู่ที่ระบุในสัญญาก็ไม่ถูกต้องโดยระบุว่า เป็นอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง แต่ผู้เสียหายรายนี้อยู่กรุงเทพมหานคร

กู้ 2 แสนดอกเบี้ยพุ่งจ่าย 3 แสนยังใช้หนี้ไม่หมด

นายการวิก มามีชัย ซึ่งเป็นทนายความที่ดูแลคดีนี้กล่าวว่า ผู้เสียหายรายนี้ ได้ไปกู้เงินที่บริษัทศรีสวัสดิ์จำนวน 2 แสนบาทเพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ไฟแนนซ์ แต่ผ่อนชำระการกู้เงินงวดแรกไม่ไหว บริษัทเรียกไปทำสัญญาใหม่ 4 ครั้ง และได้ชำหนี้ไปแล้วทั้งหมด 3.5 แสนบาท แต่ยังเหลือต้องชำระคืนบริษัทอีก 1.9 แสนบาท

“ รายนี้บริษัทเรียกไปทำสัญญาใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้เก่าที่ผ่อนไม่ไหวหรือเรียกส่ารีไฟแนนซ์ โดยแต่ละครั้งไม่ได้รับเงินส่วนต่างในการทำสัญญาทำให้เงินต้นเพียง 2 แสนบาท แต่ผ่อนชำระไปแล้ว 3.5 แสนบาท ยังผ่อนชำระไม่หมด”

นายกรวิก กล่าวว่า ผู้เสียหายรายนี้มีการผ่อนชำระเงินกู้ทั้งหมด 4 ครั้ง โดยครั้งแรกกู้เงิน 2 แสนบาทมีเงื่อนไขการผ่อนชำระ 36 งวดงวดละ 8,085.00บาทสามารถผ่อนชำระไปได้ทั้งหมด 15 งวดคิดเป็นเงินต้นกับดอกเบี้ย 1.2 แสนบาทเหลือเงินงวดต้องจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 1.6 แสนบาท

ครั้งที่ 2 เมื่อผ่อนชำระครั้งแรกไม่ได้บริษัทให้ไปทำสัญญาใหม่เป็นการสัญญาให้กู้เงินจำนวน 1.9 แสนบาท ผ่อนชำระเดือนละ5,632.00 บาท โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินส่วนต่างในสัญญาใหม่ ซึ่งครั้งนี้ผู้เสียหายผ่อนชำระได้เพียง 17 งวดรวมเงินที่ผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ย 9.5 หมื่นบาทเหลือที่ต้องผ่อนชำระอีก 1.7แสนบาท

ครั้งที่ 3 เมื่อผ่อนชำระเงินงวดที่ 2ไม่ไหว บริษัทก็เรียกไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ โดยครั้งหนี้ทำสัญญากู้ 198,428.00 บาท โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินส่วนต่างในการทำสัญญาใหม่ ซึ่งครั้งนี้ผู้เสียหายผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ยไปแล้ว98,925 บาท แต่เหลือเงินที่ต้องผ่อนต่อจำนวน 1.6 แสนบาทที่ผ่อนชำระไม่ไหว

ครั้งที 4 บริษัทเรียกทำสัญญาใหม่เป็นครั้งที่ 4 จำนวน 1.8 แสนบาทผ่อนชำระไปแล้ว 34,340.00 บาท เหลือ1.9 แสนบาท ซึ่งหากรวมเงินที่ผู้เสียหายรายนี้ผ่อนชำระไปแล้วจำนวนกว่า 3.5 แสนบาท แต่ยังผ่อนชำระไม่หมด

“ผู้เสียหายรายนี้ถูกฟ้องดำเนินคดีเพราะผ่อนชำระเงินกู้ไม่หมดตามสัญญา แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วพบว่าผู้เสียหายรายนี้ผ่อนชำระเงินงวดรวมทั้งหมด 4 สัญญา จำนวนกว่า 3.5 แสนบาท จากเงินต้นเพียง 2 แสนบาทเท่านั้น”

นายการวิก กล่าวว่า รัฐบาลเป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ควรจะเข้ามาดูแลปัญหาการทำสัญญาเงินกู้จากบริษัทเหล่านี้ ที่ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริษัทเข้าดูแลการทำสัญญาเงินกู้ที่ผู้บริโภคเสียเปรียบด้วย

สอบ.ชี้สินเชื่อบ้าน-ที่ดิน ศรีสวัสดิ์เอาเปรียบผู้บริโภค

ทนายจิณนะ แย้มน่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า พฤติการณ์ณ์ของบริษัทศรีสวัสดิ์เข่าข่ายผิดกฎหมาย ใน 8 พฤติกรรม ดังนี้คือ บริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์เปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ออกโฆษณา สินเชื่อบ้านและที่ดินวงเงินสูงไม่ต้องจดจำนอง อยู่ไหนจัดได้ฟรีค่าธรรมเนียม แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคทำสัญญากับบริษัท ศรีสวัสดิพาวเวอร์ 2014 จำกัด และบริษัทให้ผู้บริโภคนำโฉนดที่ดินไปประเมินราคาที่กรมที่ดินเพื่อคำนวณเงินก็ก่อนไปวางกับบริษัทศรีสวัสดิ์

นอกจากนี้หลังการอนุมัติเงินกู้แล้วบริษัทฯมีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย 8 ข้อ ดังนี้ 1.คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2ต่อเดือนซึ่งเกินอัตราที่กฏหมายที่ธปท.ห้ามเรียกเกิน15%ต่อปี 2.ไม่มอบสัญญาคู่ฉบับให้ผู้บริโภค 3 โฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียมแต่สุดท้ายเรียกเก็บ 4 ขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยโดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคปฏิเสธ 5 จ่ายเงินไม่ครบตามสัญญา 6 พนักงานบางสาขาไม่มีใบอนุญาตขายประกัน 7 จำกัดการชำระเงินต้นเพียงแค่12เดือน 8 ผู้บริโภคบางรายชำระหนี้คครบแต่บริษัทไม่คคืนโฉนดที่ดินเรียกเก็บคค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม

ทนายจิณนะ กล่าวว่า ขณะนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ช่วยเหลือผู้เสียหายในแต่ละกรณี ในทางกฎหมาย ส่วนในระดับนโยบายได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขในเชิงนโยบายเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการทำสัญญาดังกล่าวแล้ว

ขณะที่ นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ได้รับหนังสือชี้แจงจากบริษัทศรีสวัดิ์ ซึ่งไม่ได้ชี้แจงตรงกับประเด็นปัญหาเช่นกรณีไม่ส่งมอบคู่สัญญาเงินกู้ให้กับคู่สัญญา บริษัทชี้แจงว่า แจ้งแต่ผู้ขอสินเชื่อทุกรายว่าติดต่อขอสำเนาเอกสารและข้อมูลได้ภายหลังตามสะดวก พร้อมระบุว่าหากมีการฟ้องร้องบริษัทต้องชี้แจงรายละเอียดรวมทั้งส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับศาลและผู้รับสินเชื่อได้พิจารณาโดยละเอียดอยู่แล้ว นั่นเท่ากับว่าบริษัทไม่ได้ส่งคู่สัญญาให้กับผู้บริโภคจริง

“สภาฯยืนยันว่าการไม่ส่งสัญญาคู่ฉบับให้กับผู้บริโภค เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคและผิดกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทส่งคู่สัญญา ถ้าไม่ส่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”นาย โสภณกล่าว