ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาองค์กรผู้บริโภค เสนอธปท.กำกับดูแล “สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง”

สภาองค์กรผู้บริโภค เสนอธปท.กำกับดูแล “สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง”

7 กรกฎาคม 2022


สภาองค์กรของผู้บริโภค เตือนภัย บริษัทปล่อยกู้สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ทำสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่ให้คู่สัญญา เงินกู้ ดอกเบี้ยงอกเพิ่มภายหลัง โดยมีผู้บริโภคกว่า 150 รายถูกบริษัทฟ้องดำเนินคดีแล้ว เตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข พร้อมเสนอธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล ธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค(สอบ.) จัดแถลงข่าว “เปิดกลลวง บริษัทสินเชื่อ” เพื่อเตือนภัยผู้บริโภคในการใช้บริการสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ที่มีการทำสัญญาไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งการไม่มอบเอกสารคู่สัญญา เสนอขายประกันพ่วงโดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคในการปฏิเสธ ให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวน คิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม และท้ายสุดฟ้องคดีเรียกชดใช้เงินตามสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการขายประกัน (คปภ.) และเตรียมทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้แก้ไขปัญหาผู้บริโภค และมีข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ทั้งเรื่องการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม สัญญาต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ความถูกต้องของการโฆษณา มาตรฐานทางจริยธรรมของบริษัท รวมไปถึงเรื่องการขายประกันพ่วง

ในเวทีการแถลงมีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการกู้สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ซึ่งระบุว่าในฐานะเป็นผู้บริโภครายหนึ่งจากจำนวนหลายร้อยคนที่ได้กู้สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนองกับบริษัทนี้ โดยรู้จักบริษัทผ่านสื่อโฆษณาโทรทัศน์ และเห็นว่าเป็นบริษัทมหาชนที่น่าเชื่อถือ จึงได้ไปขอกู้สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนองที่บริษัทแห่งนี้ โดยบริษัทได้เรียกร้องให้เอาโฉนดที่ดินมาค้ำประกัน โดยจะขอกู้ 1 แสนบาท และเซ็นสัญญากู้เงิน แต่จ่ายจริงแค่ 92,000 บาทเท่านั้น

“บริษัทบอกว่าจะจ่ายเงิน 2 ทาง คือ โอนเงิน 92,000 บาท เข้าบัญชี และจะจ่ายเงินสดอีก 8,000 บาท แต่ในส่วนของเงินสดนั้นไม่ได้รับเงินจริง ได้รับเพียงเงินที่โอนเท่านั้น ”

ผู้บริโภครายนี้ยังบอกอีกว่า บริษัทยังให้เซ็นสัญญาเงินกู้เป็นกระดาษเปล่า ประมาณ 4-5 ฉบับ แต่ให้ลงชื่อเซ็นสัญญาไปก่อน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้ทวงถามสัญญาแต่บริษัทไม่ให้เพราะว่าเป็นกฎของบริษัท จึงแปลกใจว่าทำไมไม่มีคู่สัญญา ซึ่งทำให้ไม่รู้ว่าการจ่ายเงินตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายสัญญา

อย่างไรก็ตามผู้บริโภครายนี้ถูกบริษัทฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง และใช้สัญญาซึ่งไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงกับสิ่งที่ผู้บริโภครับรู้ และไม่เคยเห็นสัญญาฉบับนี้ และใช้หลักฐานไปรับเงินกู้ แต่ผู้บริโภคไม่เคยเซ็นสัญญาฉบับนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบบริษัทสินเชื่อ

ตรวจพบ 8 ประเด็นทำสัญญาไม่เป็นธรรม

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ศูนย์บริการผู้บริโภคฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด ที่มีการทำสัญญาไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค โดยผู้บริโภคผ่อนชำระเงินแล้วแต่ไม่คืนโฉนดที่ดิน และระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ทั้งนี้จากการโฆษณาของบริษัท ประกาศเชิญชวนในหน้าเว็บไซต์ของบริษัทได้ระบุว่าสามารถจ่ายวงเงินกู้สินเชื่อบ้านที่ดิน วงเงินสูง โดยไม่มีการจดจำนอง ซึ่งเมื่อผู้บริโภคสมัครยื่นกู้สินเชื่อแล้ว บริษัทยื่นเอกสารกรอกโดยไม่มีละเอียดเงื่อนไขสัญญา แต่ได้ลงลายมือชื่อ ก็จะปล่อยสินเชื่อ 40% ของการประเมิน โดยไม่ต้องจดจำนอง โดยกรณีผู้บริโภครายนี้ตกลงวงเงินกู้ 2 แสนบาท

แต่รายละเอียดในสัญญากู้ผิดแปลกออกไปจากบริษัทเจ้าของเว็บไซด์ โดยคู่สัญญาเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 ซึ่งเป็นบริษัทลูกโดยใบเสร็จรับเงินระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินสดไปแล้ว 4,000 บาท แต่ความจริงไม่ได้รับเงินจำนวนนั้น ทำให้เงินคงเหลือที่ต้องโอน 205,000 บาท แต่ท้ายที่สุดให้ทำประกันอัคคีภัยบ้าน และประกันชีวิต แต่ข้อเท็จจริงเอกสารที่ส่งมาให้ภายหลังมีเพียงเอกสารประกันชีวิตเท่านั้น และทำให้ยอดวงเงินกู้ที่เดิมตกลงกันไว้ 2 แสนบาทนั้น กลับมียอดสินเชื่อเพิ่มมาเป็น 209,000 บาท แต่ยอดได้รับการโอนจริงคือ 199,461 บาท ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นายภัทรกร ระบุว่า หลังจากเข้าไปตรวจสอบพบว่า กรณีนี้มีการทำสัญญาไม่เป็นธรรมดังนี้

    1) ผู้ขอสินเชื่อไม่ได้รับเอกสารคู่สัญญา โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทอ้างว่าเป็นนโยบายของบริษัท
    2) ขายประกันชีวิตและประกันวินาศภัยพ่วง โดยไม่ให้สิทธิผู้บริโภคในการปฏิเสธ
    3) คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน
    4) ได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ขอสินเชื่อ
    5) โฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียม แต่มีการเรียกเก็บ
    6) บริษัทจำกัดการชำระเงินต้น ทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
    7) กำหนดให้ผู้กู้ชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือน หากไม่สามารถชำระได้ จะให้ทำสัญญากู้ใหม่ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอีกครั้งหนึ่ง
    8) เมื่อชำระเงินกู้ครบตามสัญญาแล้ว บริษัทไม่คืนโฉนดกลับเรียกเก็บค่าประเมินหลักประกันคงค้างต่างๆ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วผู้บริโภคเป็นคนขอหนังสือประเมินจากสำนักงานที่ดินด้วยตัวเอง

“จากการตรวจสอบพบว่าพนักงานบางสาขาของบริษัทฯ ไม่มีใบอนุญาตขายประกันภัย ทั้งประกันชีวิต และประกันวินาศภัย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ามีผู้บริโภคถูก บริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี 150 คดี ซึ่งความจริงแล้วการไม่ส่งมอบคู่สัญญา จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคเวลาถูกฟ้องคดี ทำให้ไม่มีเอกสารไปต่อสู้ในชั้นศาล และผู้บริโภคไม่เคยเห็นสัญญาเงินกู้เหล่านี้เลย แต่ปรากฏในสำนวนฟ้องคดีซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบให้กับผู้บริโภค”

ที่มาภาพ: https://www.tcc.or.th/deed-pawning/

สอบ.ชี้ บริษัทผิดไม่ส่งมอบคู่สัญญาผู้กู้ยืม

ด้านนายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค และทนายความ กล่าวว่า สำหรับแนวทางเบื้องต้นของผู้บริโภคที่จะประสงค์จะใช้บริการกู้ยืมเงิน ควรเริ่มต้นจากการตรวจสอบผู้ประกอบการที่ให้กู้เงิน ว่าเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของหน่วยงานใด ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ และหากเกิดปัญหาผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้กับหน่วยงานนั้นได้โดยตรง

สำหรับข้อเท็จจริงของบริษัท บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 2014 จำกัด นั้น เข้าข่ายมีความผิดในหลายส่วน ทั้งการไม่ส่งมอบคู่ฉบับสัญญาให้ผู้กู้ยืมเงิน ถือว่าฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 สำหรับเรื่องการขายประกันพ่วงนั้น การทำประกันไม่ควรถูกใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการให้สินเชื่อ เพราะถือว่าผิดหลักการอิสระในการแสดงเจตนาทำสัญญา

ส่วนประเด็นเรื่องดอกเบี้ย จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท. จึงต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 คือไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หากฝ่าฝืนมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามว่าการที่บริษัทไม่ได้จ่ายเงินเต็มตามจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ อาจเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่ระบุลงในสัญญา ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินคืนตามจำนวนที่ขอกู้ แต่ให้คืนเงินเท่ากับจำนวนที่ได้รับจริงเท่านั้น

สำหรับกรณีที่มีการโฆษณาว่าไม่มีค่าธรรมเนียม แต่สุดท้ายมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้นเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ส่วนประเด็นการจำกัดการชำระเงินต้น ทั้งยังกำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือนนั้น สะท้อนว่าบริษัทไม่ได้มีธรรมาภิบาลหรือคุณธรรมเพียงพอในการประกอบธุรกิจ โดยมุ่งหาประโยชน์หรือกำไรจากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งกรณีดังกล่าว ก็เข้าข่ายเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และสื่อไปในทางไม่สุจริต เนื่องจากการกำหนดให้ชำระภายใน 12 เดือน ทำให้ผู้บริโภคต้องหาเงินมาชำระให้หมดภายในเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถชำระจนครบ จะต้องทำสัญญาใหม่ไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบ เรื่องเรียกเก็บค่าไถ่โฉนด โดยอ้างว่าเป็นค่าประเมินหลักประกันนั้น ตามความเป็นจริงแล้วผู้บริโภคเป็นคนขอหนังสือประเมินจากสำนักงานที่ดินด้วยตัวเอง

เสนอธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลธุรกิจ

ด้านนายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจะช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้ผู้บริโภคได้โฉนดคืน ในส่วนหน่วยงานควรหามาตรการ แนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบายไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเรื่องการขายประกัน (คปภ.) และเตรียมทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว

สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเรื่องการขายประกัน (คปภ.) และเตรียมทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้แก้ไขปัญหาผู้บริโภค และมีข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง ทั้งเรื่องการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม สัญญาต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ความถูกต้องของการโฆษณา มาตรฐานทางจริยธรรมของบริษัท รวมไปถึงเรื่องการขายประกันพ่วง

นอกจากนี้ขอให้ สคบ. ตรวจสอบการโฆษณาและดำเนินการตามกฎหมายกรณีไม่ส่งมอบสัญญาให้ผู้บริโภค และขอให้ คปภ. ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่กระทำการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนประกอบกิจการที่เกี่ยวกับประกันภัย และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงการคลัง กำกับดูแลสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินที่ไม่มีการจดจำนอง เช่นเดียวกับที่เคยกำกับทะเบียนรถยนต์

ทั้งนี้ ผู้เสียหายที่พบเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th หรือโทรศัพท์ : 02 239 1839 ต่อ 101 หรือติดต่อร้องเรียนได้ที่หน่วยงานประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภคทั้ง 13 จังหวัด (ข้อมูลติดต่อ หน่วยงานประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค คลิ้กที่นี่ https://bit.ly/3Np19No)